Skip to main content
sharethis

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 1


"ชุมชนบนกองเพลิง"


 


นับตั้งแต่การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา นับวันสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ยิ่งมีความรุนแรงขึ้นทุกวัน มีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก ในขณะนี้ชุมชนทุกชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมกันโดยถ้วนหน้า


 


วันนี้สถานการณ์ชุมชนชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร ในฐานะที่คอยติดตามจับชีพจรชุมชนชายแดนใต้มาตลอด 3 ปี ผมสรุปได้เป็น 4 ลักษณะ คือ


 


1.อยู่อย่างหวาดผวา


ในภาพรวมนั้นผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีชีวิตอยู่ในความเสี่ยงทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นกับตนเอง กับครอบครัว กับชุมชน กับหมู่บ้าน ณ เวลาใด เพราะทุกชุมชนอยู่ในสมรภูมิสู้รบระหว่าง 2 ฝ่ายที่ต่างก็ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาของตนเอง แต่ละฝ่ายต่างก็มีเหตุผลในการสนับสนุนความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของตน


 


ฝ่ายแรกคือฝ่ายก่อการที่มุ่งใช้ความรุนแรงเพื่อให้บรรลุผลทางการเมือง เป็นการประท้วงรัฐบาล แสดงความไม่พอใจต่อการปกครอง การดูแลบริหารจัดการของรัฐบาลและภาครัฐโดยในภาพรวมต้องการที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความสัมพันธ์ การปกครอง การจัดการตนเอง ในขั้นนี้ แม้ว่าชัยชนะสูงสุดของฝ่ายก่อการ ซึ่งมุ่งแบ่งดินแดน จะยังอยู่ห่างไกล และยากที่จะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะมองว่านี่คือรูปแบบการประท้วงอำนาจรัฐ ด้วยอาวุธของฝ่ายก่อการ ก็นับว่าฝ่ายก่อการได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว


 


ฝ่ายที่สอง คือฝ่ายทหาร ตำรวจ เป็นฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามการก่อความไม่สงบของฝ่ายก่อการ ฝ่ายทหาร ตำรวจ นั้นมีกฎหมายเป็นเหตุผลสนับสนุนและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตนเช่นกัน


 


ทั้งสองฝ่ายต่างใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาและเพื่อบรรลุเป้าหมายของฝ่ายตนทั้งสิ้น แต่ผลของความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายนั้น ผลกระทบตกอยู่ที่ชุมชน ชุมชนตกอยู่ในสภาพที่ต้องระวังภัยที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต และทรัพย์สินทุกวัน


 


ในรอบปีมีเหตุการณ์วางระเบิด เผาสถานที่ราชการทุกวันนับร้อยครั้ง ในเกือบทุกเดือนมีคนตาย คนบาดเจ็บ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน


 


2.อยู่อย่างหวาดระแวง


เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งคนไทยพุทธ และคนไทยมุสลิม ต่างได้รับผลกระทบ การปฏิบัติการที่มุ่งเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายก่อการ ยิ่งทำให้เกิดความหวาดระแวง ระหว่างกันในสังคมมากยิ่งขึ้น ทั้งระหว่างประชาชนกับประชาชน ระหว่างข้าราชการกับชาวบ้าน และระหว่างชุมชนต่างศาสนิก


 


สำหรับชุมชนนั้น ชุมชนเองก็มีความหวาดระแวงและไว้ใจใครไม่ได้ เพราะอยู่ในสภาพที่ว่า "ขวาก็นาย ซ้ายก็โจร" นาย หมายถึง เจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาหาชุมชนเพื่อซักถามข้อมูลข่าวความเคลื่อนไหว เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไป ฝ่ายโจร ก็เข้ามาเพ็งเล็งทำให้ประชาชน ชุมชนอยู่ในสถานะที่วางตัวได้ลำบากยิ่ง จึงอยู่ในสภาพที่หวาดระแวงและหวาดผวาทั้งต่อเจ้านาย และผู้ก่อการ นอกจากนั้นหวาดระแวงประชาชนด้วยกัน หวาดระแวงชุมชนที่ต่างศาสนิก หวาดระแวงเพื่อนร่วมงาน ในปัจจุบันความเป็นปกติสุขซึ่งถูกความหวาดระแวงซึ่งกันและกันเข้ามาบดบังหมดสิ้น


 


3.การพัฒนาหยุดะงัก


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีครูถูกฆ่าตายไปแล้วทั้งสิ้น 52 คน และถูกทำร้ายบาดเจ็บ 47 คน นี่เป็นเหตุให้การศึกษาของเด็กอยู่ในสภาพชะงักงัน โรงเรียนไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ หรือ เปิดเรียนได้ก็ต้องรีบสอน ทำให้มีเวลาสอนนักเรียนน้อยลง ในลักษณะเช่นนี้เป็นที่คาดว่า การศึกษาจะเกิดการขาดช่วงในเรื่องของทรัพยากร มนุษย์ นับเป็น Generation หรือช่วงอายุคนเลยทีเดียว


 


ในด้านการพัฒนาทั่วไป มีเจ้าหน้าที่ของภาคประชาสังคม อาสาสมัครและผู้นำชุมชนถูกฆ่าไปแล้วหลายคน ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ภาคประชาสังคมที่ทำงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่สตรี ผู้หนึ่งถูกยิงตายขณะทำงานอยู่ในออฟฟิศ มีเจ้าหน้าที่ผู้เก็บข้อมูลงานวิจัยให้กับ กอส. ถูกฆ่าตายในระหว่างที่ลงเก็บข้อมูลทำงานวิจัย นอกจากนั้นยังมีผู้นำชุมชนอีกผู้หนึ่งที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว อันเป็นรางวัลที่ให้กับผู้นำและชุมชนดีเด่น ในด้านดูแลรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมถูกประกบยิงเสียชีวิตในระหว่างเดินทาง


 


เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้นักพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐ และเอกชน อยู่ในสภาพที่ ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะมีความไม่ปลอดภัย เพราะอาจถูกหวาดระแวงและตั้งข้อสงสัยจากฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ก่อการ เวลาทำงานที่เคยใช้เวลาช่วงค่ำและเย็นที่ชาวบ้านสะดวก ก็ไม่สามารถทำได้เหมือนแต่ก่อน


 


การทำงานพัฒนาของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการกำหนดจากส่วนกลาง แม้ว่ารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะทุ่มเงิน 2-3 หมื่นล้านบาท สำหรับการแก้ปัญหาโดยหว่านเม็ดเงินเหล่านี้ เพื่อหวังจะช่วยให้เกิดการพัฒนา เกิดการมีงานทำ และทำให้การก่อการร้ายหยุดชะลอลง แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการพัฒนาของภาครัฐส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง คือ กรม กอง กระทรวงต่างๆ ซึ่งมักไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ทำให้ชาวบ้านอยู่ในสถานะเหมือนถูกเกณฑ์มาร่วมงาน นอกจากนี้ยังถูกเกณฑ์มาต้อนรับเจ้านายจากทุกกระทรวงที่ต่างฝ่ายต่างก็วิ่งลงไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ชาวบ้านถูกกระทำด้วยความปรารถนาดีจากภายนอก จนเกิดความบอบช้ำและเหนื่อยล้า ทำให้การพัฒนาอยู่ในสภาพที่หยุดชะงัก


 


4.ความรุนแรงกลายเป็นวิถีชีวิต


จากการที่เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง การฆ่า ความรุนแรงและการเผาและเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประจำวัน เป็นที่ประจักษ์ของประชาชน คนทั่วไป ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ประชาชนในพื้นที่ยังได้พบภาพข่าวจากสื่อ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อยู่ทุกวัน


 


สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างค่านิยมการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ถึงแม้จะเป็นปัญหาง่ายๆ ปัญหาสามัญ ระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน เพราะความรุนแรงที่เห็นเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ได้ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในวิถีคิด วิถีทางของผู้คน ทำให้มีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาง่ายๆ ตนเอง


 


ศาลเตี้ย ในระยะหลังได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น อำนาจรัฐได้อ่อนกำลังลง ไม่สามารถควบคุม บังคับใช้กฎหมายได้ และเมื่อมีการก่อเหตุแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็โยนให้เป็นเหตุการณ์ความไม่สงบ ทั้งหมดนี้ทำให้สภาพของชุมชนเหมือนตั้งอยู่ในกองเพลิง ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง


 


สำหรับข้อเสนอแนะทางออกสำหรับ ทุกฝ่ายในเบื้องต้นนี้ ผมมีข้อเสนอว่า ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันทำให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นปริมณฑลที่มีความเป็นกลาง และต้องไม่ใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือในการประกอบความรุนแรงของตน ไม่ว่าฝ่ายใด


 


ทุกฝ่ายควรปล่อยให้ชุมชนเป็นเสมือนบ้านของตน และของทุกฝ่าย ปล่อยให้ชุมชนเป็นสถานที่สำหรับเยียวยา ฟื้นฟู สำหรับทุกฝ่ายเมื่อได้รับบาดเจ็บและล้มตาย ควรปล่อยให้ชุมชนเป็นที่บ่มสอนเยาวชน ให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้มีอนาคตที่ดีในวันข้างหน้า


 


ฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง ต้องถือเป็นหน้าที่ของตนในการดูแลรักษาความสงบ จะต้องไม่เอาชุมชนเป็นเครื่องมือในงานด้านรักษาความสงบของตนช่างมักง่าย


 


สำหรับฝ่ายก่อการและฝ่ายขบวนการ จะต้องไม่ใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองหรือเป็นเครื่องในการปฏิบัติการ


 


ส่วนผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น จะต้องไม่ปล่อยให้ใครหรือฝ่ายใดมาใช้ชุมชนเป็นเครื่องมือ ประกอบความรุนแรง ต้องทำให้ชุมชนอยู่ในสภาวะที่เป็นกลาง และเป็นบ้าน เป็นที่เยียวยา เป็นที่บ่นสอนลูกหลานของเราทุกคนให้มีความรู้ความก้าวหน้าไปในอนาคตให้ได้จริงๆ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net