Skip to main content
sharethis

14 ก.ย. 2549 - กระทรวงแรงงานจัดประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง "เอฟทีเอ: แรงงานไทยได้หรือเสีย" เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา


 


ในการประชุมดังกล่าว น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่าการทำเอฟทีเอเป็นเพียงเครื่องมือในการแข่งขันระหว่างกลุ่มธุรกิจการเมือง แต่ประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย โดยเฉพาะคนงาน เพราะนักลงทุนยังมุ่งเข้ามาแสวงหาแหล่งที่ต้นทุนการผลิตต่ำ ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยในปัจจุบันมีความยืดหยุ่นมาก มีทั้งการทำงานแบบเหมาช่วง และการเหมาค่าแรง ซึ่งคนงานไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะเป็นการหลบเลี่ยงการให้สวัสดิการให้แก่คนงาน และถือเป็นการกดค่าจ้าง


 


ทางด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยสิทธิแรงงาน มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวเพิ่มเติมว่าคนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอฟทีเอน้อยมาก สิ่งที่สำคัญคือควรให้กลุ่มองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้กำหนดความต้องการของตัวเองด้วย เพื่อดูถึงความเหมาะสมว่าอยู่ที่ไหน และนำไปต่อรองกับรัฐบาล ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจแบบรวมอำนาจไว้ที่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งรัฐบาลก็ควรจะเปิดกว้างเพื่อต้อนรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วยความจริงใจ


 



นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการทางการค้ากระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบข้อกล่าวหาที่ผู้นำแรงงานระบุว่าการทำเอฟทีเอไม่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรและผู้ใช้แรงงาน และยังมีการปกปิดข้อมูลจากภาครัฐ รวมทั้งไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยกล่าวว่าภาคเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์จากการทำเอฟทีเอแน่นอน เพราะเป็นการเจรจาเปิดตลาดสินค้าด้านการเกษตร ซึ่งประเทศมหาอำนาจมักให้เงินอุดหนุนสูง ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องเจรจาให้ลดเงินอุดหนุน และในส่วนของผู้ใช้แรงงานเอง เมื่อมีการเจรจาในสินค้าอุตสาหกรรม ก็จะส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น


 



ตัวแทนจากภาครัฐกล่าวว่าไม่เคยเก็บเรื่องข้อตกลงเอฟทีเอเป็นความลับ และพยายามจะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จะทำได้ มีเพียงในส่วนที่ทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่เปิดเผยได้ระดับหนึ่ง เพราะหากเปิดหมดอาจทำให้ท่าทีในการเจรจาของไทยอ่อนลงในบางเรื่อง และที่ผ่านมารัฐพยายามให้ฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่อาจยังไม่มากพอ


 


อย่างไรก็ตาม ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่าการทำเอฟทีเอทางด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอกับประเทศจีนและเวียดนาม ส่งผลให้แรงงานไทยในภาคนี้ตกงานสูงขึ้น และไม่มีระบบการจ้างงานที่มั่นคง เนื่องจากนายจ้างไทย หรือกลุ่มทุนในสถานประกอบการขนาดใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในสองประเทศที่ยกตัวอย่าง เพราะค่าจ้างแรงงานถูกกว่า


 


น.ส.วิไลวรรณจึงเสนอแนวทางแก้ปัญหา 3 ประการ คือ 1.) ควรให้ภาคประชาชนเข้าร่วมทุกขั้นตอนในการทำเอฟทีเอ  2.) ประชาชนต้องได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารครบถ้วน 3.) ข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานจะต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาด้วย


 



นอกจากนี้ ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ได้ระบุว่า ประเด็นต่างๆ ในการทำเอฟทีเอยังกำกวมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงขอบเขตอำนาจหรือไม่ จึงเสนอให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นอีก 1 ฉบับเพื่อกำหนดประเด็นให้ชัดเจน


 



ท้ายที่สุด นางอัญชนากล่าวถึงกรณีที่ไม่ได้นำเรื่องเอฟทีเอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยกล่าวว่าเป็นเพราะการเจรจาเรื่องลดภาษีเป็นอำนาจของรัฐมนตรี และประเด็นที่เหลือก็อยู่ในอำนาจที่มีกฎหมายอื่นๆรองรับ ซึ่งยังไม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงของกรอบอำนาจแต่อย่างใด


    


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net