"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"

บทรายงานสาธารณะ ชุด

"ชุมชนบนกองเพลิง"

จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้

 

 

โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

 

...........................................................................................

 

ตอนที่ 2

"ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"

 

 

ภาพจาก Reuters

 

 

จนถึงวันนี้เหตุการณ์ความไม่สงบ ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ประชาชน ชาวบ้าน ชาวเมืองและ ข้าราชการเป็นจำนวนมากไม่อยากอยู่ในพื้นที่ ใครที่มีช่องทางมีโอกาสในการที่จะย้ายตนเองได้ ก็ไม่มีใครที่ต้องการจะอยู่ในสภาพเช่นนี้

 

มีข้าราชการขอย้ายออกเป็นจำนวนหลายพันคน แต่โยกย้ายออกจากพื้นที่ก็มีจำนวนน้อย มาก นักธุรกิจที่ มีช่องทางการลงทุนที่อื่นก็ย้ายไป ธุรกิจซบเซา คนอีสานที่ไปรับจ้างกรีดยางพารา ก็ย้ายไปที่อื่น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในภูมิภาค ถ้าเป็นคนต่างถิ่นทยอย ผู้ปกครองก็ให้ยุติการเรียน และย้ายที่เรียนใหม่ ยอมที่จะเสียเวลาในการเล่าเรียนดีกว่าให้ลูกหลานอยู่ในพื้นที่อันตราย

 

สภาพเหตุการณ์ภัยร้ายรายวัน มีลักษณะที่สรุปได้ดังนี้

 

ประการที่ 1 ความถี่มากขึ้นในแง่ความถี่ของเหตุการณ์ที่เรียกว่า การก่อการร้ายรายวันหรือภัยรายวัน มีแนวโน้มของความถี่มากขึ้น ทั้งในเรื่องของการฆ่ากันตายรายวัน การวางระเบิด การซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ การวางเพลิง การทำร้ายเจ้าหน้าที่ราชการ การตัดน้ำ ตัดไฟ การปิดเมือง

 

ประการที่ 2 ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมีแนวโน้ม พบว่าระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในแต่ละครั้งมากขึ้น พื้นที่ ที่เกิดความรุนแรงมีการขยายตัว มีการตาย การเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพ ชุมชนที่เกิดเหตุและชุมชนที่เกิดผลกระทบโดยตรงมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น

 

ประการที่ 3 ผู้รับผลกระทบถ้วนหน้า เหตุการณ์ภัยร้ายรายวันที่เกิดขึ้นขณะนี้มีลักษณะที่ไม่เลือกเพศ อายุ อาชีพ ทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์รายวันที่พอๆ กัน ชุมชนที่เป็นพุทธ และมุสลิม มีโอกาสเกิดเหตุพอๆ กัน ต่างฝ่ายต่างได้รับผลกระทบจากเหตุร้ายพอกัน ในรอบ 3 ปี มานี้ พี่น้องมุสลิมเสียชีวิตมากกว่า แต่พี่น้องคนไทยพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวนมากกว่า ข้าราชการและประชาชนต่างมีความเดือดร้อนจากผลกระทบพอๆ กัน นักเรียน พอค้า ครู ช่าง หมอ นักธุรกิจ มีโอกาสได้รับผลกระทบบาดเจ็บล้มตาย ได้เช่นกัน

 

ประการที่ 4 พึ่งราชการไม่ได้ น่าสังเกตว่า หน่วยราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยทหาร ตำรวจ ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณและกำลังคนลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังติดอาวุธของรัฐ ทหาร ตำรวจ หลายหมื่นคนแล้ว ที่ลงไปในพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ แต่ความไม่สงบก็ยังไม่ลดลงและรัฐก็ไม่สามารถที่จะช่วยคุ้มครองเหตุการณ์ร้ายรายวันให้กับประชาชนได้เลย ความพยายามที่จะตั้งบังเก้อ ตั้งด่านตรวจ จัดหน่วยลาดตระเวนหรือการจัดหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำชุมชน เราจะคุ้นชินกับภาพของทหารถือปืนอาก้า อาวุธพร้อมมือ รถหุ้มเกราะตระเวนอยู่ตามตลาด ชุมชน สถานที่ราชการ รวมถือการจัดหน่วยคุ้มครองครูและข้าราชการที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็พบว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่สามารถช่วยคุ้มครองประชาชนได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะช่วยชาวบ้านไม่ได้แล้ว ชาวบ้านยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่ออยู่ใกล้หน่วยเหล่านี้เสียด้วย กลัวที่ตกเป็นเป้าหมายหรือลูกหลง

 

ในสภาพเช่นนี้ ชุมชนและปัจเจกบุคคลที่ต้องอยู่อาศัย ทำมาหากิน เรียนหนังสือหรือทำธุรกิจอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำอย่างไรจึงจะรอดพ้นเหตุร้ายรายวันเหล่านี้ไปได้

 

ในเรื่องนี้ ผมมีแง่คิดว่า ทางออกน่าจะมีอยู่ทางเดียว คือความเป้นกลางและการพึ่งตนเอง ซึ่งมีหลักคิดและหลักการ ดังนี้

 

1.       พึ่งตนเอง เป็นหลักคิดที่พึ่งตนเอง ไม่หวังพึ่งคนอื่น ไม่มีใครช่วยเราได้ดีกว่าตัวเราเอง ทั้งชุมชน ข้าราชการ เอกชน จะต้องไม่พึ่งคนอื่น ไม่พึ่งเทวดาจากภายนอก ไม่หวังให้ใครมาคุ้มกะลาหัว ต้องคิดพึ่งตนเอง และคิดพึ่งพากันเองในชุมชนเท่านั้น จึงจะเป็นทางรอด

2.       เป็นกลาง ยึดความเป็นกลาง ชุมชน ประชาชน และข้าราชการ ที่ต้องการจะรอดพ้นจากภัยรายวัน ไม่ควรที่จะไปยุ่งกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือ จะเป็นฝ่ายผู้ก่อการ เราต้องไม่ยุ่งกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และต้องไม่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับฝ่ายใดด้วย

3.       ไม่เป็นเครื่องมือ ต้องไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดที่จะใช้เราเป็นเครื่องมือประกอบความรุนแรงของฝ่ายตนอย่างทำตัวเป็นสายข่าวของฝ่ายใดเป็นอันขาด

4.       เดินสายกลาง ควรเดินทางสายกลาง ทั้งการคิด การพูดจา ตอบโต้ การโต้เถียง และการกระทำใดๆ ต่อหน้าสาธารณชน ต้องไม่สุดโต่ง เพราะการกระทำเหล่านั้นอาจอยู่ในเป้าสายตาของผู้ก่อความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่ายได้ และอาจจะนำไปสู่การหวดระแวงและลอบทำร้ายในภายหลัง

 

สำหรับรูปธรรมการปฏิบัตินั้น ผมแนะนำว่าท่านที่เป็นราชการที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยตรง หมายถึงข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการ คือครู กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร ข้าราชการพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม เหล่านี้ ท่านต้องไม่ทำตัวเป็นฝ่ายความมั่นคงเสียเอง และท่านต้องไม่หวังพึ่งให้ฝ่ายความมั่นคงมาช่วยคุ้มครอง นอกจากนั้นท่านควรทำตัวเป็นที่รักของชุมชน ให้บริการประชาชนตามภาระหน้าที่ของท่าน ด้วยหัวใจ ด้วยความรู้ ด้วยวิชาชีพ ด้วยคุณธรรมและเชื่อได้ว่า ความดีของท่านนั่นแหละจะคุ้มครองตัวท่าน

 

สำหรับชุมชนทั้งพุทธ และมุสลิม ควรหมั่นพบปะ พูดคุยกัน ไปมาหาสู่กันให้มาก ช่วยกันทำให้ชุมชนของเราเป็นกลาง ไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด ชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิม ควรช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งระหว่างชุมชนและภายในชุมชน และต้องช่วยเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ ใครบาดเจ็บ ใครล้มตาย ใครถูกผลกระทบ เป็นหน้าที่ของชุมชนที่ต้องช่วยเหลือด้วยหัวใจ โดยที่ไม่แยกฝักฝ่าย

 

สำหรับองค์กรท้องถิ่น ท่านควรมีบทบาทดูแลให้ความสนับสนุนชุมชน ให้มีความปลอดภัยทั้งชุมชนพุทธ และมุสลิม ถ้าตัวท่านเป็นมุสลิม นับถือศาสนาอิสลาม ท่านควรเอาใจใส่ดูแลชุมชนที่เป็นคนพุทธให้มาก หรือผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เป็นคนพุทธ ท่านก็ควรต้องดูแลชุมชนมุสลิมให้มาก

 

มีแต่การดูแลกันอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ โดยเฉพาะระหว่างชุมชนต่างศาสนิก จะยิ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทางสังคมที่จะคุ้มครองและทำให้ชุมชน และปัจเจกชน สามารถเอาตัวรอดได้ ด้วยภูมิปัญญาที่เป็นกลางของเราเอง

......

 

"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท