Skip to main content
sharethis

ปกรณ์ พึ่งเนตร


สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราว "ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์" ที่สลับสับเปลี่ยนกันนำเสนอบนจอโทรทัศน์ และขึ้นหน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันแทบทุกฉบับในแต่ละวันนั้น หลายๆ เรื่องไม่ได้เป็นสาระหลักของสังคมไทย มิหนำซ้ำสภาพการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงเสียด้วย


 


ผู้คนทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงล้มตายกันไม่เว้นแต่ละวัน ภาคธุรกิจเจ๊งย่อยยับ รอยปริแยกของภาคสังคมกำลังดำดิ่งสู่จุดลึกที่สุด...


 


แต่ดูเหมือนสังคมไทยจะยังพูดจาและให้ความสำคัญกับวิกฤติครั้งนี้น้อยจนเกินไป กระทั่งหลายๆ ครั้งกลายเป็นความเคยชินกันไปเสียแล้ว


 


รศ.สุริชัย หวันแก้ว อดีตเลขานุการคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) วิเคราะห์ว่า สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะ "จอรับภาพของสังคมไทย" กำลังมีปัญหา ขณะเดียวกันยังสืบเนื่องมาจากการปล่อยให้วิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นนานเกินไป ฉะนั้นเขาจึงเสนอให้รัฐบาลเร่งหา "จุดเปลี่ยน" ของสถานการณ์ให้ได้เสียที


 



รศ.สุริชัย หวันแก้ว (ภาพจาก www.bangkokbiznews.com)


 


"ในความเห็นของผม  คิดว่าจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการที่รัฐบาลต้องออกมายอมรับความจริงในความผิดพลาดครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้" รศ.สุริชัย กล่าว


 


เขาขยายความว่า หนึ่งในความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่พูดถึงนั้นก็คือ เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนนำไปสู่การเสียชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมถึง 85 ราย


 


"เรื่องนี้ถ้ารัฐบาลขอโทษได้ก็ควรขอโทษ จากนั้นก็ดำเนินการตามที่เคยรับปากกับพี่น้องใน 3 จังหวัดไว้ นั่นก็คือถอนฟ้องผู้ต้องหากว่า 50 คนเสีย เพราะรัฐบาลเคยรับปากเอาไว้เอง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ยอมดำเนินการอะไร ทุกอย่างมันนิ่งไปหมด หรือหากจะไม่ถอนฟ้อง ก็ต้องเร่งกระบวนการดำเนินคดีให้รวดเร็ว โปร่งใส เพื่อให้ทุกอย่างชัดเจน รัฐจะได้อธิบายกับพี่น้องในพื้นที่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่"


 


รศ.สุริชัย กล่าวต่อว่า หลังจากรัฐบาลหาจุดเปลี่ยนสถานการณ์ที่สามารถทำให้มวลชนในพื้นที่เหลียวกลับมามองได้ว่า รัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาแล้ว สิ่งที่จะต้องดำเนินการขั้นต่อไปก็คือ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ และเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ตลอดจนเสนอทางออกของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น


 


"ผมคิดว่าทุกวันนี้เวทีลักษณะดังกล่าวยังน้อยเกินไป เราต้องดึงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป ต้องมีเวทีที่พวกเขาได้เปิดอกกับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วหาจุดร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และนำแนวทางที่ได้มาแปรเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง"


 


รศ.สุริชัย ในฐานะอดีตเลขานุการ กอส. ยังบอกว่า ที่ผ่านมา กอส.ก็คือเวทีหนึ่งที่มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย เพราะมีองค์ประกอบจากหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ซึ่งเวทีลักษณะนี้จะต้องเกิดขึ้นมากๆ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้ทุกคนได้พูด อันจะเป็นแนวทางคลี่คลายความอึดอัดจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดมาอย่างยาวนาน


 


"ผมว่าปัจจุบันเรายังพูดถึงปัญหาภาคใต้น้อยเกินไป ทั้งๆ ที่เป็นวิกฤติครั้งสำคัญของชาติ แต่เรากลับปล่อยให้เรื่องบางเรื่อง เช่น คาร์บอมบ์ ที่ไม่รู้ว่าบอมบ์จริงหรือบ๊องกันแน่ มายึดครองหัวข้อการพูดคุยของสังคมไปหมด"


 


รศ.สุริชัย ยังวิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนด้วยว่า ยังมุ่งเน้นไปที่ตัวละครหลักๆ ของประเทศเพียงไม่กี่ตัวมากเกินไป ทั้งๆ ที่ในบางเรื่องก็ไม่ได้เป็นสาระหลักของสังคมแต่อย่างใด


 


"ประชาชนรวมทั้งสื่อเองอย่าไปหมกมุ่นอยู่กับปัญหาที่ไม่ใช่สาระ หรือมุ่งความสนใจไปแค่ตัวบุคคลที่อยู่บนเวทีหลักๆ คือทำเนียบรัฐบาลเท่านั้น แต่ปัญหาความอยุติธรรมในภาคใต้ 2 ปีตายไปเท่าไหร่แล้วกลับไม่มีใครพูดถึง ถ้าเราปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็แสดงว่าจอรับภาพของคนไทยกำลังมีปัญหา เพราะมีแต่ฉากใหญ่ในทำเนียบรัฐบาล กับคาร์บอมบ์ที่จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่มีใครรู้"


 


อดีตเลขานุการ กอส. บอกด้วยว่า หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ปรับจอรับภาพของคนไทยเสียใหม่ วิกฤติต่างๆ ในบ้านเมืองก็จะไม่สามารถแก้ไขได้ และคนไทยก็จะหลงคิดไปว่า วิกฤติบางอย่างแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนพรรคการเมืองเท่านั้น ทั้งที่ในโลกของความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น


 


"หลายคนยังคิดว่าปัญหาภาคใต้จะจบลงได้หากเปลี่ยนที่หัว คือพรรคการเมืองหรือรัฐบาล แต่ความจริงแล้วปัญหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก ด้วยเหตุนี้ผมจึงบอกว่า เราจะต้องเปิดเวทีให้พูดถึงปัญหาภาคใต้กันมากขึ้น พูดกันทั้งประเทศเลยยิ่งดี เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงปัญหา และฝ่าวิกฤติร่วมกัน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net