Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 14 ก.ย.2549 ที่ศาลจังหวัดปัตตานี ศาลนัดไต่สวนคำร้องอุทธรณ์ให้มีการไต่สวนสืบพยานในคดีวิสามัญฆาตกรรมในมัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 อีก 2 ปาก ศาลแจ้งว่า ไม่ต้องการสืบพยานที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เนื่องจากมีข้อมูลเพียงพอแล้ว ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบพยานเพิ่มเติมอีกปากเดียว คือ พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ข้าราชการบำนาญ ส่วนนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ศาลเห็นว่าไม่อยู่ในเหตุการณ์ ศาลจึงสั่งตัดพยานปากนี้


           


พล.ต.ต.จำรูญ ให้ปากคำต่อศาลว่า ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ตนอยู่ในตำแหน่งรองผบก.ตชด.ภาค 4 ขณะนั้นกำลังอยู่ที่บ้านพักที่จังหวัดสงขลา เวลา 06.00 น. วันที่ 28 เม.ย.ได้รับโทรศัพท์จากหน่วยสื่อสาร กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 จังหวัดยะลา ป้อมยามที่มัสยิดกรือเซะถูกคนร้ายยึด ช่วงเวลา 08.00 น. ได้รับโทรศัพท์อีกครั้งว่า ฐานบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ถูกโจมตีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 5 คน คนร้ายเสียชีวิต 7 คน ในฐานะตนเป็นผู้เกี่ยวข้อง จึงเดินทางไปตรวจสอบ จากนั้น เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา พบคนร้ายเสียชีวิตหลายคน


           


พล.ต.ต.จำรูญ ให้การต่อไปว่า เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ได้รับโทรศัพท์จากหน่วยสื่อสาร กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน 44 ว่า ที่มัสยิดกรือเซะมีการจับตัวประกันหลายคน และมีการยิงต่อสู้กัน ตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต 1 คน และทหารเสียชีวิต 1 คน ตอนนั้นยังไม่ทราบข่าวคนร้ายเสียชีวิต ตนจึงเดินทางจากสถานีตำรวจภูธรกรงปินังมาที่มัสยิดกรือเซะ พบผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 คือ พ.ต.ต.เชษวิทย์ นีระฮิล ได้รายงานให้ทราบว่า เหตุการณ์ยุติแล้ว คนร้ายถูกฆ่าตายทั้งหมด รวมทั้งตัวประกันด้วย


           


"เมื่อเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุ เวลา 15.00 น. พบว่า ทหารกำลังพลิกศพ เพื่อตรวจดูว่าใต้ศพมีระเบิดหรือไม่ จากนั้น จึงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปตรวจที่เกิดเหตุ เมื่อตรวจเสร็จได้มอบศพให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานีนำไปชันสูตร ซึ่งน่าจะนำไปยังโรงพยาบาลแห่งใดแห่งหนึ่ง เนื่องจากที่มัสยิดไม่สะดวกต่อการชันสูตร เพราะมีคนมุงดูเป็นจำนวนมาก แต่ก็ได้เห็นสภาพศพก่อนเคลื่อนย้าย จนกระทั่งย้ายศพเสร็จสิ้น และได้ถ่ายภาพที่เกิดเหตุไว้ด้วย" พล.ต.ต.จำรูญ ให้ปากคำศาล


           


พล.ต.ต.จำรูญ ให้ปากคำอีกว่า จากสภาพศพเกิดจากทั้งระเบิดและปืน สภาพมัสยิดเปลี่ยนแปลงไป คือ หลังคาพังลงมา และมีร่องรอยกระสุน ประเภทอาวุธปืน เอ็ม 16 เอชเค และเครื่องยิงระเบิด ส่วนหน้าต่างมีลูกกรงหลุดบ้าง บิดเบี้ยวบ้าง  ส่วนอาวุธของคนร้ายที่เจ้าหน้าที่นำมากองรวมไว้ เป็นปืน 5 กระบอก เป็นอาวุธของเจ้าหน้าที่ประจำป้อมยามกรือเซะ ที่ถูกคนร้ายปล้นมา ส่วนบริเวณรอบมัสยิด มีเจ้าหน้าที่อยู่ทั้ง 4 ด้าน กั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปในที่เกิดเหตุ ประชาชนมุงดูอยู่ห่างๆ ประมาณ 100 เมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งถนนด้านทิศใต้ของมัสยิด


 


พล.ต.ต.จำรูญ ให้ปากคำด้วยว่า ตนอยู่ที่เกิดเหตุจนกระทั่ง 18.00 น. วันเดียวกัน จึงเดินทางกลับ ขณะนั้นยังมีประชาชนมุงดูอยู่ แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาที่จะเข้ามาขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ละคนไม่มีอาวุธในมือ  โดยยืนตามถนนไปจนถึง 4 แยกกรือเซะ ผู้ใต้บังคับบัญชาบอกตนว่า นำกำลังมาที่เกิดเหตุ 1 หมวด ประมาณ 30 - 40 คน แต่ละคนมีเพียงปืนเอ็ม 16 คนละ 1 กระบอก เท่านั้น


           


ต่อมา นายไกรศักดิ์ ได้มอบเอกสารรายงานการประชุมพิจารณาสถานการณ์ภาคใต้กรณีกรือเซะ ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ต่อศาล


           


ทั้งนี้ ศาลจังหวัดปัตตานี ได้นัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์กรือเซะ 32 ศพ ดำเนินการโดยชอบหรือไม่ ถ้าดำเนินการโดยชอบคดีเป็นอันยุติ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ดำเนินการมิชอบ ก็จะดำเนินคดีอาญา กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป


           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net