จี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

ประชาไท - 15 ก.ย. 49 เมื่อวันที่ 14 ก.ย. มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายแรงงานนานาชาติและศูนย์อเมริกันเพื่อแรงงานนานาชาติ (ACILS) จัดโครงการสัมมนาเรื่อง นโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรมและความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายค่าจ้าง เพื่อถกเถียงประเด็นการพิจารณาตรวจสอบสถานการณ์ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และข้อคิดเห็นกรณีการร่างกฎหมายค่าจ้างและรายได้ที่กระทรวงแรงงานดำเนินการอยู่ว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพ เศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันหรือไม่ จะมีปัญหาและทางออกอย่างไรบ้าง

 

จี้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวในการอภิปรายเรื่อง นโยบายค่าจ้างที่เป็นธรรมว่า การปรับค่าจ้างขณะนี้มีการเลือกปฏิบัติ ยังไม่มีความเป็นธรรมเท่าที่ควร ดังนั้น จึงเสนอให้มีการปรับเงินค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้จะแยกไม่ได้ว่า ของจะแพงเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล อย่างน้ำมันปิโตรเลียมก็ราคาเท่ากันหมด

 

ทั้งนี้ ให้ยึดมาตรฐานสากลของอนุสัญญา หรือองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คือ ค่าตอบแทนที่เท่ากันสำหรับคนงานชายและหญิง ในงานที่มีค่าเท่ากัน และการไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานและอาชีพ โดยการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่เป็นธรรมก็เพื่อแก้ไขปัญหารายได้ที่ไม่พอจุนเจือครอบครัวของแรงงานรายได้ต่ำ

 

และเสนอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากอนุกรรมการจังหวัดไม่เห็นอำนาจในการตัดสินใจของฝ่ายลูกจ้างในการชี้ขาด รวมทั้งไม่ได้มีอำนาจในการต่อรอง โดยเสนอให้การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างกลางแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อจะได้พิจารณาอย่างเป็นธรรม

 

นักวิชาการ ก.แรงงานไม่เห็นด้วยค่าแรงเท่ากัน

ด้านนายพูนศักดิ์ ประมงค์ นักวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า ควรใช้หลักเกณฑ์ความจำเป็นของค่าครองชีพของลูกจ้าง และความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของนายจ้างจากผลกำไรทางธุรกิจที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่มีการศึกษาต่างกัน ฝีมือและความสามารถก็ต่างกันด้วย นายจ้างควรเพิ่มค่าจ้างตามความสามารถและฝีมือของแรงงาน ทั้งนี้ก็เพื่อความสมดุลระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง

 

นโยบายนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานของรัฐ ทำแรงงานไทยอดปรับค่าจ้าง

นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนฝ่ายนายจ้างในคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นว่าระหว่างนายจ้างและลูกจ้างควรแบ่งปันผลประโยชน์กันและกัน เน้นถึงความสุขที่ได้รับจากการทำงานของลูกจ้างในโรงงานมากกว่าการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และได้ให้ความเห็นว่า ในประเทศสิงคโปร์เองก็มีคณะกรรมการค่าจ้างแห่งชาติเหมือนไทย ดูแลเรื่องการกำหนดค่าจ้างประจำปี ซึ่งจะให้ข้อเสนอแนะกว้างๆ ว่าในแต่ละปีควรจะปรับค่าจ้างจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ การกำหนดค่าจ้างประจำปีไม่ควรเป็นเรื่องของการบังคับ เพราะการจ่ายเงินเป็นเงินของนายจ้าง ซึ่งสิงคโปร์จะไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

 

นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลที่นำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศมีผลให้แรงงานไทยได้ปรับค่าจ้างน้อยและไม่เป็นธรรม เนื่องจากแรงงานดังกล่าวมีค่าแรงถูกกว่า และสามารถกดขี่ได้ง่าย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคนแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการที่มีปัญหาค่าจ้างส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก จึงอยากพัฒนาฝีมือตัวเอง และรวมตัวกันต่อรองเรื่องค่าจ้าง

 

แนะจัดระบบเศรษฐกิจให้แรงงานต่อรองได้

ด้านรองศาสตราจารย์วิทยากร เชียงกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า หากแรงงานไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาดได้ ก็ให้เปลี่ยนระบบไปเลย โดยเปลี่ยนที่การจัดสรรทรัพยากร อย่างคนงานในประเทศอื่นๆ จะไม่มาต่อสู้กันในระบบค่าจ้าง เขาจะมาเป็นนายทุนเอง เข้ามาถือหุ้นในโรงงาน เรียกร้องสวัสดิการมากขึ้น หรือมาคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มการจ้างงานได้มากขึ้น หรือให้มีผลตอบแทนจากการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน

 

ตอนที่จอร์จบุช จะยกเลิกภาษีมรดกในสหรัฐ คนที่ออกมาคัดค้านคือ นายทุนอย่างบิลเกตส์ และจอร์จ โซรอส โดยให้เหตุผลว่า เมื่อรัฐบาลมีรายได้มากก็สามารถนำไปพัฒนาการศึกษา สาธารณสุขได้ เศรษฐกิจก็จะดีตาม และคนก็จะอยู่ได้ ในทางกลับกันของไทย กลับค้านการมีภาษีมรดก โดยให้เหตุผลว่ากลัวลูกหลานจะไม่มีใจจะทำงาน

 

จะเห็นว่า บริษัทเงินทุนทั้งหลายในเมืองไทย นั้นจ่ายค่าโบนัสให้พนักงาน 10 เดือน แต่กลับไม่มีการกระจายรายได้ให้คนส่วนใหญ่

 

ไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีแรงงานมาก แต่อำนาจต่อรองของแรงงานน้อย เนื่องจากติดกับระบบเจ้าขุนมูลนาย แทนที่จะคิดว่า เป็นการทำงานเพื่อแลกกับเงิน จึงกลายเป็นทุนนิยมผูกขาด ดังนั้นจึงควรจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี เมื่อนั้นแรงงานจะมีอำนาจต่อรองได้ และไม่ต้องแย่งงานกันทำ 

 

 

 

 

ต่อมาในช่วงบ่าย มีการจัดการระดมความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติค่าจ้างและรายได้ พ.ศ.... 

 

แจงร่างพ.ร.บ.ฯบังคับใช้เอกชน-รัฐวิสาหกิจ

นางสหัทยา นากชื่น ผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมาย สำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้คือ จะบังคับใช้กับเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการค่าจ้างและรายได้มีอำนาจหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปี และกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพื้นฐาน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลูกจ้างควรได้รับตามความเหมาะสม อัตราค่าจ้างตามการประเมิน และค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ

 

นางสหัทยา ชี้แจงว่า ในการปรับค่าจ้างประจำปี ซึ่งให้นายจ้างยึดถือหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างประจำปีที่คณะกรรมการกำหนด แต่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษกรณีที่ไม่ทำตามไว้ตายตัวนั้น เนื่องจากต้องการให้สหภาพแรงงานนำไปใช้เพื่อเจรจาต่อรองกับนายจ้างตามความเหมาะสม เช่น แม้เศรษฐกิจจะดี แต่อาจดีเฉพาะบางธุรกิจ ซึ่งสหภาพก็จะเข้าใจสภาพของธุรกิจของนายจ้างดีที่สุด หากเห็นว่า นายจ้างของตัวเองขาดทุนจะได้รู้ว่าควรเจรจาในลักษณะใด

 

ชี้ร่างพ.ร.บ.ฯขยายอำนาจคณะกรรมการฯ มากกว่าแก้ปัญหา

นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า การร่างพ.ร.บ. นี้ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานที่ทำให้แรงงานไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ดูเหมือนว่าร่างพ.ร.บ.นี้จะมีขึ้นเพื่อขยายอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างในการกำหนดรูปแบบประเภทของค่าจ้าง อัตราค่าจ้างตามการประเมิน รวมทั้งกำหนดค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจมากกว่า ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะใช่บทบาทหลักขององค์กรนี้ สิ่งที่ควรทำคือ การพัฒนาการบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมให้ได้เสียก่อน และส่งเสริมให้เกิดการต่อรองของแรงงานที่ชัดเจน โปร่งใส และเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ก่อนการยกร่างพ.ร.บ. ก็ควรมีการสังคายนาว่า ปัญหาเรื่องค่าจ้างของแรงงานอยู่ตรงไหน ความต้องการของแรงงานคืออะไร และทำไมคณะกรรมการค่าจ้างจึงควรจะมีอำนาจมากกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ นายบัณฑิต แสดงความเห็นว่า ในร่างพ.ร.บ. มีการแบ่งประเภทของค่าจ้างออกเป็น ค่าจ้างซึ่งหมายถึง ค่าตอบแทนในวันและเวลาทำงานปกติ และรายได้ ซึ่งหมายถึง เงินหรือประโยชน์ที่ได้รับจากนายจ้างหรือบุคคลที่มารับบริการจากกิจการของนายจ้าง อาทิ ค่าล่วงเวลา ค่าเบี้ยขยัน โบนัส เป็นต้น แต่ในร่างพ.ร.บ. กลับไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงหน้าที่ของคณะกรรมการในส่วนของรายได้ จึงเป็นไปได้ว่า อาจมีการจำกัดความไว้ก่อนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ในภายหลัง

 

จวกร่างพ.ร.บ.ฯเพื่อคุ้มครองแต่ไม่มีบทลงโทษ

ด้านนายปิยเชษฐ์ แคล้วคลาด ประธานพันธมิตรเครือข่ายแรงงานนานาชาติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้บอกว่าเป็นการคุ้มครองแรงงาน แต่กลับไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีบทลงโทษในกรณีที่นายจ้างไม่ปรับค่าจ้างประจำปี ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้สหภาพไปต่อรองเอง ทั้งที่สหภาพมีอยู่ไม่กี่แห่ง เช่นนี้แล้วจะเกิดประสิทธิภาพตามที่กำหนดอย่างไร

 

การยกร่าง พ.ร.บ. ในขณะที่การเมืองยังมีปัญหาเป็นเรื่องผิดมารยาท ช่วงนี้อยู่ในขณะปฏิรูปการเมือง เป็นช่วงฟังพรรคกำหนดนโยบาย ถ้าข้อเสนอนี้เสนอโดยรัฐบาลว่าจะออกอย่างนี้ ก็จะทำให้ตัดสินใจไม่เลือกพรรครัฐบาลได้เช่นกัน

 

ส่วนตัวคิดว่า การที่จะมีรายได้และกระจายรายได้ได้มากกว่านี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมา แรงงานไม่ได้มีอำนาจอะไรในการทำให้ได้ตามความต้องการ ดังนั้น จึงต้องเลือกที่นโยบายของพรรคที่สร้างสังคมให้มีความสุขอย่างยั่งยืน

 

อย่างไรก็ตาม นายปิยเชษฐ์ กล่าวว่า จะรวบรวมประเด็นของแรงงานเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ส่งถึงกระทรวงแรงงานในภายหลังด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท