Skip to main content
sharethis





อรรคพล สาตุ้ม และ ทีมข่าวประชาไทภาคเหนือ

 




วัดเก่าและบ้านเรือนของชุมชนชาวยอง ที่ จ.ลำพูน


 


 


ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "สืบสานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมชาวยอง : รากเหง้า ความเคลื่อนไหว และความเปลี่ยนแปลง" ขึ้น โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จ.ลำพูน เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี แห่งการตั้งถิ่นฐานชาวยองในลำพูน ณ ห้องประชุมอาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จ.ลำพูน โดยในวันที่ 12 กันยายน ซึ่งในวันที่สองของการสัมมนาได้มีการพาผู้ร่วมเสวนาเดินทางไปเยือนถึงถิ่นวัฒนธรรมชาวยองถึง จ.ลำพูน


 


 


"เส้นทางวัวต่างป่าซาง การค้าที่หายไป" อดีตถึงปัจจุบัน


 



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูสิทธิ์ ชูชาติ


จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ให้ความรู้เรื่อง "การค้าวัวต่าง"


 


 


โดยก่อนที่ผู้จัดงานจะนำคณะผู้ร่วมเสวนาไปสู่การเดินทางย้อนรอยอดีตของเส้นทางการค้าวัวต่าง ได้มีการเสวนาหัวข้อ "เส้นทางวัวต่างป่าซาง การค้าที่หายไป" ณ ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จ.ลำพูน ทั้งนี้เพื่อจะนำเสนอภาพของอดีตของเส้นทางการค้า โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชูสิทธิ์ ชูชาติ จากโปรแกรมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


 


โดย ผศ.ชูสิทธิ์ ชูชาติ อธิบายว่า พ่อค้าวัวต่างเป็นพ่อค้าชนชั้นชาวนาซึ่งออกไปทำการค้าขายหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว  โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้าเมืองอื่นๆ เช่น ดอยสะเก็ด เมืองน่านแถวบ่อเกลือเหนือ บ่อเกลือใต้ เป็นต้น โดยพ่อค้าจะนำสินค้าที่ผลิตได้ในถิ่นไปแลกเปลี่ยนกับ เมี่ยง  เกลือ และสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ไม่สามารถผลิตได้ในแถบป่าซาง


 




คาราวานวัวต่างแวะพักริมแม่น้ำแห่งหนึ่งในดินแดนล้านนา


(ที่มาของภาพ สรัสวดี อ๋องสกุล,


ประวัติศาสตร์ล้านนา พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2544 หน้า 458)


 


 


ผศ.ชูสิทธิ์ อธิบายต่อว่าในขบวนวัวต่าง จะมีพ่อเลี้ยงใหญ่หนึ่งคนเป็นหัวหน้า ซึ่งจะคุมวัวประมาณ 20 ตัว และจะมีพ่อค้าคนอื่นๆ มาสมทบรายทาง โดยพ่อค้าย่อยเหล่านี้จะคุมวัวประมาณ 10 ตัว สำหรับการเดินทางค้าขายในแถบนี้ นอกจากนี้พ่อค้าวัวต่างยังมีความสัมพันธ์กับพ่อค้าจีน พ่อค้าจีนฮ่อ พ่อค้าไทใหญ่ ซึ่งในภาคเหนือนี้ ถือว่าเป็นศูนย์กลางการค้าอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่


 


ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อค้าวัวต่างกับพ่อค้าจีนจากเชียงใหม่-กรุงเทพ จะเป็นการค้าขายผ่านทางเรือ และพ่อค้าจีนได้นำผลผลิตทางอุตสาหกรรม อาทิเช่น น้ำมันก๊าด ไม้ขีดไฟ เครื่องเหล็ก ฯลฯ มาแลกเปลี่ยนผลิตผลทางการเกษตรของคนในท้องถิ่น


 


 


สาเหตุการหายไปของ "พ่อค้าวัวต่าง"


โดย ผศ.ชูสิทธิ์ ชูชาติ กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของอาชีพนี้ว่า พ่อค้าวัวต่างเริ่มหายไปพร้อมกับการเข้ามาของเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะเส้นทางรถยนต์ ระหว่างปี พ..2500 - 2510 และมาหมดสิ้นไปอย่างถอนรากถอนโคนในยุคสมัยของ "เงินผันคึกฤทธิ์" (..2518-2519) เนื่องจากพ่อค้าวัวต่างไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้


 


ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในชุมชนของพ่อค้าวัวต่าง ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มชาวนากันเอง ด้านเศรษฐกิจพ่อค้าวัวต่างจะเป็นผู้มีความมั่งคั่งกว่าชาวนา เนื่องจากเป็นทั้งผู้ทำการผลิตและค้าขาย ส่วนในด้านการเมืองจะมีลักษณะของพ่อเลี้ยงขนาดย่อมๆ  มีอำนาจ-อาคม  มีความเด็ดขาด-เป็นนักปกครอง จึงทำให้หลังจากที่พ่อค้าวัวต่างเลิกอาชีพนี้ไปแล้ว มักที่จะได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือ กำนันเสมอ ผศ.ชูสิทธิ์กล่าว


 


นอกจากพ่อค้าวัวต่างจะฐานะทางสังคมในชุมชนแล้ว ยังเป็นกลุ่มคนที่มีสายตายาวไกล เนื่องด้วยการที่มีโอกาสเดินทางออกไปดูโลกภายนอก ทำให้ลูกหลานของพ่อค้าวัวต่างมักจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับการศึกษาดีกว่าชาวบ้านทั่วไปๆ และกลุ่มคนลูกหลานพ่อค้าวัวต่างเหล่านี้ กลายเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางด้านเศรษฐกิจ-สังคม-การศึกษา ในเวลาต่อมา


 



ตามรอยเส้นทางการค้าวัวต่างที่ "ป่าซาง"



 



เรือนโบราณของนายวัง ใจจิตร "สล่า" (ช่างหรือสถาปนิกในภาษาเหนือ)


ในชุมชนชาวยอง จ.ลำพูน


 


 


หลังจากนั้นผู้ร่วมสัมมนาก็ได้ออกทัศนะศึกษาซึ่งนอกจากผู้ร่วมสัมมนาจะได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมชุมชนชาวยองซึ่งได้ลงหลักปักฐานในแผ่นดินนี้กว่า 200 ปีแล้ว เรายังได้ร่วมลงพื้นที่เส้นทางการค้าและตามรอยเส้นทาง "การค้าวัวต่าง" ในอำเภอป่าซาง ซึ่งในปัจจุบันเส้นทางวัวต่างดังกล่าวเหลือเพียงร่องรอยแห่งความทรงจำ เพราะสภาพปัจจุบันของเส้นทางค้าวัวต่างเหลือเพียงถนนสายเล็กๆ ขนาดพอให้รถสวนผ่านกันได้อยู่ติดกับถนนสายหลัก และเนื่องจากไม่มีป้าย หรือสัญลักษณ์บอกความสำคัญ ดังนั้นถ้าการมาครั้งนี้ของเราไม่มีวิทยากรคอยบอกว่าเส้นทางนี้เคยเป็นเส้นทางการค้าในอดีตเราก็คงรับรู้ไม่ได้ว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร


 


คณะผู้ร่วมสัมมนาเดินสำรวจร่องรอยของการค้าวัวต่างเลียบเข้าไประหว่างทางซึ่งเต็มไปด้วยเสาไฟฟ้าขึ้นเกะกะรกหูรกตาและบ้านเรือนรายทางใกล้ริมแม่น้ำ เราได้เดินทะลุซอยเข้าไปกระทั่งถึงจุดบรรจบของสบทา (บริเวณที่ลำน้ำแม่กวงบรรจบกับลำน้ำทา) และสบกวง (บริเวณที่ลำน้ำแม่กวงบรรจบกับลำน้ำปิง)


 


 


เส้นทางอันทรหดของการค้าวัวต่าง


จากการบรรยายของวิทยากรภาคสนามทั้งอาจารย์แสวง มาละแซม อาจารย์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และคุณเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และบรรดาวิทยากรพ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ย ที่ร่วมเป็นวิทยากรด้วย ทำให้คณะผู้ร่วมสัมมนาทราบเพิ่มเติมว่าการค้าวัวต่างจะทำในฤดูแล้ง โดยพ่อค้าจะรวบรวมกันเป็นขบวนวัวต่าง มีคนคอยควบคุมการบรรทุกสินค้าวัวต่างจากชนบท โดยมีปลายทางอยู่ที่หัวเมืองที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินตอนเหนือทั้งในรัฐฉานและสิบสองปันนา ผ่านเส้นทางทุรกันดารซึ่งใช้เวลายาวนานผิดกับการใช้เส้นทางรถยนต์ในปัจจุบัน


 


ที่ป่าซางนี้เองซึ่งใกล้กับจุดเส้นทางการค้าทางเรือ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้าพื้นเมืองและสินค้าเกษตรของพ่อค้าวัวต่างกับพ่อค้าจีนที่จะนำสินค้าแบบอุตสาหกรรมต่างๆ ล่องเรือหางแมงป่อง ขึ้นมาแลกเปลี่ยน จวบจนปัจจุบันชาวจีนได้เข้ามาตั้งรกรากทำการค้าขายย่านดังกล่าวจนทำให้อำเภอป่าซางได้รับการขนานนามว่าเป็นย่าน "เยาวราช" ของจังหวัดลำพูน


 


 


สู่ความเปลี่ยนแปลงแห่งปัจจุบันที่บ้านดอนหลวง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน


จากการค้นหาร่องรอยของอดีตในเส้นทางการค้าวัวต่าง นอกจากจะทำให้เราได้เรียนรู้อดีตของเส้นทางการค้าวัวต่างแล้ว ยังทำให้เราได้สัมผัสถึงพลวัตใหม่ทางการค้าของย่านนี้ โดยในปัจจุบันที่ ชุมทางบ้านดอนหลวง ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน สถานที่ซึ่งคณะผู้ร่วมการสัมมนาได้ไปเยือนนี้ ในอดีตนับเป็นชุมทางการค้าหนึ่งของคาราวานวัวต่าง โดยเคยเป็นตลาดแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าและเส้นทางการค้าที่มีการค้าคับคั่งเช่นเดียวกับ กาดงัวในอำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ และกาดโต้งเกวียน ใน จ.ลำปาง ซึ่งความคึกคักนี้ยังคงทิ้งรองรอบให้เราเห็น ผ่านปัจจุบันของบ้านดอนหลวงที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า OTOP เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ และแหล่งจำหน่ายที่มีอนาคตแห่งหนึ่งของ จ.ลำพูน.


 


นอกจากนี้วิถีชีวิตพ่อค้าวัวต่างในอดีตยังมีความสำคัญต่อที่นี่ โดยเฉพาะต่อการสร้างตลาดท่องเที่ยวในปัจจุบันสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่ชุมทางบ้านดอนหลวงมีทั้งที่พักแบบ "โฮมสเตย์" และ "ลองสเตย์" ผุดขึ้นมารองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นประจักษ์พยานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี


 


ซึ่งการเดินทางเพื่อตามหาร่องรอยเส้นทางการค้าวัวต่างในครั้งนี้ อาจมีข้อสรุปเหมือนดังที่ ผศ. ชูสิทธิ์ ชูชาติ ได้สรุปว่า การเคยมีอยู่ของพ่อค้าวัวต่างและความเจริญทางการค้าในเขตล้านนา สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ-สังคม ไม่ได้อยู่นิ่งหรืออยู่แบบพออยู่พอกิน หากแต่ชุมชนเหล่านี้ถูกหล่อเลี้ยงด้วยระบบเศรษฐกิจ มีความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กันในแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา


 


... ใช่ เหมือนกับวิถีชีวิตของชุมชนการค้าวัวต่าง ที่ปัจจุบันแม้ไม่เหลือร่องรอยแห่งอดีต แต่ทุกชีวิตต้องมีปรับเปลี่ยน เหมือนกับที่วิถีชีวิตปัจจุบันของชุมทางบ้านดอนหลวงแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net