Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อเสียงของผู้กำกับ "บงจุนโฮ" (Bong Joon Ho) จากเกาหลีใต้ อาจยังไม่ติดหูคนทั่วโลกสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นไปได้ นักดูหนังควรจะติดตามผลงานของเขาต่อไปด้วยความตื่นเต้น และคอยดูให้ดีว่า-ผลงานชิ้นต่อไป-บงจุนโฮจะพูดถึงเรื่องอะไรในหนังที่เขากำกับ


 


 


ผลงานล่าสุดของ ผู้กำกับบงจุนโฮ (Bong Joon Ho) เรื่อง The Host (Gwoemul)


 


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวหนังก็คือ บทบาทการเคลื่อนไหวของบงจุนโฮ ในการต่อต้านความไม่ชอบธรรมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเดือนพฤษภาคม 49 ที่ผ่านพ้นมา มีขบวนต่อต้านการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้เกิดขึ้น


 


แกนนำหนึ่งในนั้นก็คือบงจุนโฮที่ออกมาต่อต้าน โดยกล่าวว่าถ้าหากรัฐบาลเกาหลีใต้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งในวงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ รวมไปถึงชาวเกาหลีใต้ในสาขาอาชีพอื่นๆ ด้วย


 


การลงนามในเอฟทีเอจะนำไปสู่การตัดโควตาหนังเกาหลี เพราะสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเสนอก็คือข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้ลดเวลาในการฉายหนังเกาหลีที่ออกฉายภายในประเทศให้เหลือเพียง 73 วัน จากเดิมที่กำหนดให้ฉายได้ถึง 146 วัน-ต่อปี!


 


ถ้าหากว่ารัฐบาลชุดนี้สนับสนุนให้มีการตัดโควตาหนังเกาหลีจริงๆ ก็จะถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่หนังฮอลลีวู้ดจะรุกเข้ามายึดครองตลาดภาพยนตร์เกาหลีใต้อย่างสะดวกดายกว่าเดิม


 


และนั่นหมายถึงการรุกรานทางวัฒนธรรมอีกทางหนึ่งโดยประเทศมหาอำนาจทุนนิยม...


 


บงจุนโฮเป็นคนหนึ่งซึ่งถือป้ายประท้วงที่มีใจความว่า "ไม่เอาเอฟทีเอ" ไปยืนหน้าสถานที่จัดงานเทศกาลประกวดหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป


 


ช่วงเวลาเดียวกัน คนในวงการหนังเกาหลีอีกราวๆ 800 คน ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงภายในประเทศเพื่อกดดันให้กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวทบทวนเรื่องการลงนามในเอฟทีเออีกครั้งหนึ่ง


 


ด้วยเหตุนี้ การประกาศศึกกับการรุกรานและครอบงำทางวัฒนธรรมที่ผู้กำกับบงจุนโฮแสดงออกมาเสมอๆ จึงถูกยักย้ายถ่ายเทไปสู่หนังเรื่องล่าสุดของเขาด้วย


 


แม้ว่าหน้าตาของ The Host ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของเขาจะไม่ต่างจากหนังสัตว์ประหลาดดาษๆ ที่ขายแค่ความเร้าใจและเทคนิคพิเศษชวนให้อ้าปากค้าง แต่ถ้ามองให้ดีจะเห็นว่าการเกิดขึ้นของหนังเรื่องนี้มีนัยยะแห่งการวิพากษ์วิจารณ์สังคมเกาหลีอย่างเข้มข้นดุดัน


 


เพราะสัตว์ประหลาดของบงจุนโฮไม่ได้มาจากนอกโลกเหมือนอย่างที่พบเห็นในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง


แต่สัตว์ประหลาดจากแม่น้ำฮัน เกิดจากการกลายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตธรรมดาๆ แต่ถูกกระตุ้นจากสารเคมีที่กองทัพสหรัฐฯ ทิ้งลงในแม่น้ำ


 


เอาแค่ว่าบงจุนโฮได้พล็อตหนังเรื่องนี้จากเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2544 ที่ฐานทัพสหรัฐซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโซลทิ้งสารฟอร์มัลดีไฮด์ลงในแหล่งน้ำ และรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ไม่มีศักยภาพพอที่จะคัดง้าง...


 


เพียงเท่านี้ก็คงพอทำให้เราเข้าใจได้ว่าจุดมุ่งหมายแห่งการวิพากษ์ของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ไหน


 



 


เมื่อสัตว์ประหลาดแห่งแม่น้ำฮันออกอาละวาดสร้างความหวาดผวาแก่ผู้คนในเกาหลี ชาวอเมริกันที่เข้ามาช่วยเหลือในยามคับขันถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ แต่ชาวเกาหลีที่เข้าไปช่วยในเหตุการณ์เดียวกันและรอดชีวิตมาได้ กลับกลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโรคร้ายแรงจากสัตว์ประหลาดแห่งแม่น้ำฮันไปเสียเอง และในที่สุดตัวละครตัวนั้นก็กลายเป็นหนูทดลองให้นักวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเป็นชาวเกาหลีเช่นกัน) จับไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อหาแหล่งที่มาของเชื้อโรคให้ได้


 


นั่นเป็นเพียงการประชดประชันเล็กๆ น้อยๆ ที่บงจุนโฮต้องการส่งไปยังกลุ่มผู้นิยมอเมริกาที่อยู่ในประเทศของตัวเอง และเป็นเรื่องตลกร้ายที่ชาวเกาหลีใต้น่าจะหัวเราะออกมาด้วยความสะใจแบบขื่นๆ


 


นอกจากนี้ตัวละครหลักซึ่งเป็นคนในตระกูลปาร์กทั้งห้าคน (ปู่ พ่อ ลูก อา และอาผู้หญิง) ก็มีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไปอย่างชัดเจน และเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการวิพากษ์จุดยืน ความเชื่อ และค่านิยมในการดำเนินชีวิตของคนเกาหลี ณ ปัจจุบัน


 


ความสัมพันธ์ของคนในตระกูลปาร์กถูกเปรียบเทียบกับคนแต่ละรุ่นในสังคมเกาหลี โดยที่คนรุ่นปู่คือชาวเกาหลียุคเก่าที่ยึดมั่นในเกียรติยศ ซึ่งค่านิยมแบบนี้ถูกหล่อหลอมขึ้นมาหลังจากที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความสูญเสียเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้คนรุ่นนั้นต้องพยายามสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้นมาด้วยการทำงานหนัก และชีวิตก็เต็มไปด้วยการพิสูจน์ว่าตนเองสามารถประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ได้


 


คนรุ่นพ่อที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของครอบครัวก็คือตัวแทนชาวเกาหลียุคกลางที่ประสบกับความผันผวนทางสังคมและเศรษฐกิจในช่วงเวลาหลายสิบปีให้หลังอยู่หลายครั้งหลายคราจนรับมือไม่ทัน สุดท้ายจึงต้องออกมาทำงานที่ "ไร้เกียรติ" ในสายตาคนรุ่นเก่าอย่างคุณปู่


 


เช่นเดียวกับที่อาสาวและอาผู้ชายเป็นตัวแทนของคนเกาหลียุคกลางเก่ากลางใหม่ที่มีความคิดขัดแย้งกับคนอีกสองรุ่นที่พูดมาแล้ว เช่นเดียวกับที่ผู้หญิงในเกาหลีมักจะถูกมองว่าเป็นเพียงตัวถ่วง ตัวละครที่เป็นอาสาวในหนังเรื่องนึ้จึงมีความมั่นใจในตัวเองน้อยมาก และอาผู้ชายอีกคนก็ชอบคัดค้านในเรื่องต่างๆ จนถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรงไป


 


ศูนย์รวมใจที่เปรียบเสมือนความหวังของคนในตระกูลปาร์กก็คือ ฮุนโซ (Ah sung-Ko) ซึ่งเป็นเด็กสาวหน้าตาน่ารัก มองโลกในแง่ดี แต่ก็ค่อนข้างจะเอาแต่ใจ และคำนึงถึงวัตถุนอกกายมากกว่าจะคำนึงถึงคนรอบข้าง


 


สาวน้อยฮุนโซคนนี้เองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และเป็นสิ่งที่คนเกาหลีใต้ทั้งสามรุ่นทำทุกวิถีทางที่จะปกป้องให้เธอรอดพ้นจากเงื้อมมือของสัตว์ประหลาดร้ายที่แทรกซึมอยู่ในสังคมมานานและเพิ่งได้โอกาสแสดงตัว ซึ่งบางทีเราอาจอนุมานได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ของการรุกรานทางด้านต่างๆ ที่เกาหลีใต้ได้รับจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีทุนนิยมใหม่ที่กำลังวิ่งไล่งับประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างขมีขมัน หรือบางทีอาจจะหมายถึงการครอบงำทางวัฒนธรรมที่คนทั่วโลกทำได้เพียงแค่ติดตามข่าวคราวของหนังเรื่องใหม่จากฮอลลีวู้ดเท่านั้น (ในขณะที่ความหลากหลายและแตกต่างในศิลปะภาพยนตร์เป็นเรื่องไกลตัวยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด)


 


แต่กระนั้นก็ดี ความสัมพันธ์ของตัวละครเหล่านี้ก็ตัดกันไม่ขาด ไม่ว่าอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ขนาดไหน ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ของผู้คนในเกาหลี ที่แม้จะเห็นต่างกันบ้าง แต่ก็พยายามหาทางจะอยู่ร่วมกันให้ได้ และลักษณะเฉพาะแบบนี้เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมของเกาหลีใต้เติบโตอย่างเข้มแข็งจนสามารถต่อรองกับอำนาจภายนอกประเทศได้อย่างไม่ต้องเจ็บตัวมากนัก…


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net