Skip to main content
sharethis

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


 


ตอนที่ 3


"ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


 


 


จากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้วิเคราะห์ปัจจัยสาเหตุไว้หลายประการ ในจำนวนนี้มีมิติที่พูดถึงกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางประวัติศาสตร์ มิติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ทุกฝ่ายชี้ตรงกันว่า ประเด็นเรื่องการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัจจัยเงื่อนไขแห่งการต่อสู้ของฝ่ายก่อการ และเป็นเหตุที่มาของความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างต่อเนื่องยาวนาน


 


ทุกวันนี้สภาพปัญหาการจัดการการศึกษาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอย่างไร ผมของสรุปไว้ 4 ลักษณะ


 


ประการที่ 1 แกว่งไปมาจนหลงทาง การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประเด็นปัญหาเรื่องนโยบายการจัดการศึกษาที่มีลักษณะแกว่งไปแกว่งมา จนหลงทาง กล่าวคือ ในยุคเผด็จการ รัฐบาลส่วนกลาง มุ่งบังคับให้ชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับเปลี่ยนความเชื่อ พฤติกรรม และวิถีชีวิต ตลอดจนการนับถือศาสนา โดยพยายามจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดการกลืนกลาย


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการต่อต้าน การต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ในที่สุดนโยบายของรัฐที่กำหนดโดยส่วนกลางก็หันกลับมาเอาอกเอาใจชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนขาดหลักการโดยไม่ยึดถืออาศัยความรู้ และขาดวิสัยทัศน์ที่เหมาะสม ผลของการกลับไปมาเช่นนี้ ทำให้การจัดการศึกษาชายแดนภาคใต้ตกอยู่ในสภาพที่หลงทาง เกิดความอ่อนแอทั้งระบบ การศึกษาทางด้านศาสนาที่ชุมชนอยากได้ก็ไม่เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน การศึกษาทางด้านวิชาสามัญก็สู้คนอื่นไม่ได้ ไม่สามารถจะไปสอบแข่งขันเรียนต่อกับนักเรียน นักศึกษานอกพื้นที่ได้ เมื่อจบการศึกษาก็สอบแข่งขันคัดเลือกเข้าทำงานก็สู้คนอื่นไม่ไหว  เช่นนี้จึงกลายเป็นสภาพที่เหมือนเป็น "เป็ดง่อย"


 


ประการที่ 2 ขาดสมดุลย์ การจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขาดความสมดุล และหลุดลอยจากความเป็นจริง ในระดับการศึกษาพื้นฐาน อันได้แก่การศึกษาทางด้านศาสนา ความรู้ ภาษา และวัฒนธรรม พบว่าการจัดการศึกษามีลักษณะไม่ครบถ้วน ทั้ง 4 องค์ประกอบ ไม่มีจุดเน้นที่เหมาะสม ไม่มีทางเลือกและไม่มีอิสระให้กับผู้เรียนเท่าที่ควร ทำให้ลักษณะการศึกษาขาดความสมดุล


 


ในระดับการศึกษาด้านอาชีพ อาชีวะ อยู่ในสภาพที่หลุดลอยจากความเป็นจริง หลักสูตรก็เป็นลักษณะที่เหมือนกับที่อื่นทั่วประเทศ ทำให้ผู้เรียน เมื่อเรียนจบแล้วอยู่ในสภาพที่ไม่มีงานทำในพื้นที่ หรือ แข่งขันไปทำงานนอกพื้นที่ก็ไม่ไหว ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะเล่าเรียน ขาดการวิจัยและพัฒนาทางด้านตลาดและอาชีพ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ดังนั้นเป้าหมายของการจัดการศึกษาอาชีพที่เป็นอยู่ จึงเป็นเป้าที่ลอยและหลุดจากฐานความเป็นจริงในพื้นที่


 


ส่วนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา น่าสังเกตว่า จชต. มีมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา ในระดับอุดมศึกษาถึง 7 แห่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัด ทางภาคอีสาน และภาคอื่นๆ นับว่า มากกว่ามาก แต่ว่าสถาบันการศึกษาเหล่านั้นมีลักษณะที่เน้นการศึกษาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งที่จะจัดการศึกษาเพื่อชุมชนท้องถิ่น ให้เกิดความเข้มแข็งและเกิดการพึ่งตนเอง จึงถือได้ว่าเป็นลักษณะการศึกษาที่ไม่พอเพียงอย่างยิ่ง


 


ประการที่ 3 เป็นเหตุของการแยกตัวทางสังคม มีปมของการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและการจัดการศึกษา จชต. ที่ถือว่าเป็นปัญหายาวนานมาจากอดีต จนถึงปัจจุบัน  คือการเปลี่ยนแปลงให้ปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเมื่อผ่านระยะเวลาสี่สิบปีจากจุดนั้น พบว่ามีส่วนทำให้เกิดการแยกตัวทางสังคมอย่างรุนแรง


 


ในอดีตการศึกษาแบบพหุศาสนิก และการศึกษาแบบสหศึกษา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลายและเหนียวแน่น เยาวชนทั้งพุทธและมุสลิมที่ศึกษาด้วยกันในโรงเรียนเดียวกัน มีสายสัมพันธ์ของความเป็นเพื่อนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น


 


แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดการแยกตัวเป็นโรงเรียนสอนศาสนา โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ปัจจุบันเด็กส่วนใหญ่ในขั้นมัธยม จะเกิดการแยกตัวออกจากกัน เยาวชนพุทธก็จะเรียนในโรงเรียนของรัฐ แต่เยาวชนมุสลิมส่วนใหญ่จะไปเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีเด็กมุสลิมล้วน ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การแยกตัวของชุมชนพุทธ ชุมชนมุสลิมก็เกิดขึ้นย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


ประการที่ 4 รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง อำนาจการกำหนดนโยบาย การจัดการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยู่ในสภาพที่รวมศูนย์อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบและโครงสร้างเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ แต่เนื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะที่แตกต่างจากภาคอื่นๆ มาก ทั้งในเรื่องของศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและ ภาษา ดังนั้นกลไกในการจัดการศึกษาของท้องถิ่น ในรูปแบบที่ใช้อยู่ทั่วประเทศ เมื่อมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่สอดคล้อง


 


การกระจายอำนาจทางการศึกษาและการปฏิรูปยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะคณะกรรมการสถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาตใต้ แม้จะมีคณะกรรมการสถานศึกษาอยู่ ทั้งผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการจัดตั้งขึ้นแต่เพียงรูปแบบ ไม่มีบทบาทจริง ไม่มีการทำงานจริง ผู้นำของชาวบ้าน ตัวแทนผู้ปกครองที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ก็ไม่มีบทบาทในการช่วยกำหนดและดูแลการพัฒนาโรงเรียน


 


สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเช่นกัน ในโครงสร้างจัดให้มีคณะกรรมการของสำนักเขตพื้นที่การศึกษาขึ้น โดยมีผู้แทนภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิท้องถิ่นเข้าไปเป็นกรรมการ แต่ในสภาพที่เป็นจริง ก็เป็นเพียงรูปแบบ ไม่สามารถช่วยให้เกิดการบูรณาการได้เลย หรือแม้แต่ตัวองค์กรดังกล่าวในพื้นที่จะมีความคิดความอ่าน ริเริ่มอะไรก็ไม่สามารถกำหนดนโยบายของตนเองเช่นกัน


 


ในสภาพเช่นนี้การปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากต้องการที่จะแก้ไขปัญหาและดับไฟใต้อย่างยั่งยืนนั้น หนึ่งในเรื่องสำคัญก็คือเรื่องของการปฏิรูปการศึกษา


 


การปฏิรูปการศึกษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรดำเนินการอย่างจิรงจัง การจัดการศึกษาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จำเป็นที่จะต้องปฏิรูปทั้งระบบ ทั่วทั้งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง เกิดการบูรณาการ เรียนแล้วมีงานทำ มีความสมดุลในชีวิตและชุมชนต่างๆ ชุมชนท้องถิ่นต้องสามารถได้รับอานิสงค์จากการจัดการศึกษา มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนาพึ่งตนเองได้ ในเรื่องนี้ใครที่มาเป็นรัฐบาลก็ควรที่จะมาทำอย่างจริงจัง


 


การปฏิรูปการศึกษาของประเทศ อาจจะดูเป็นเรื่องยาก แม้ว่าเราจะมี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติมา 8 ปีแล้ว มีความพยามที่จะปฏิรูปการศึกษาทั้งประเทศ กันมาหลายรัฐบาล หลายรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามถ้าแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ถือเอาการปฏิรูประบบการศึกษาเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียก่อน น่าจะเป็นความเร่งด่วนที่ควรทำและให้เป็นตัวอย่าง บทเรียนของการปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป


 


อย่างไรก็ตามถ้าจะหวังผลให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งระบบดังกล่าว ควรที่จะต้องมีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การศึกษา จชต.เป็นการเฉพาะ อย่าปล่อยให้งานเช่นนี้เป็นงานที่ฝากไว้กับกลไกปกติ ของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่เป็นอันขาด เพราะอำนาจยังรวมศูนย์อยูที่ส่วนกลาง


 


ดังนั้น ควรมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นเป็นการเฉพาะ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาเป็นประธาน มีผู้นำชุมชนท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพื้นที่เขตการศึกษาแบกรับโดยลำพัง ก็ไม่มีความหาย เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงอะไรได้


 


และถ้าจะปฏิรูปการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งระบบ รัฐบาลต่อไปไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดควรมี แผนงาน โครงการ งบประมาณสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแน่นอน อย่างน้อยก็ตลอดช่วง 4 ปี ของการเป็นรัฐบาลชุดหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้มีหลักประกันว่า การปฏิรูปการศึกษา จชต. จะดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องและจริงจัง จนเกิดสัมฤทธิ์ผล


......


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net