Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดยบรรณารักษ์ปลายแถว


 


ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเดินเตร็ดเตร่กลางกรุงลอนดอน และได้ลองสังเกตดูตามกำแพงตึกเก่าในย่านต่างๆ คงมีโอกาสได้เห็นภาพกราฟฟิติที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน ประชดประชัน และเสียดสีสังคมของศิลปินหนุ่มผู้ตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "แบงก์ซี" (Banksy) กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป


 


แม้จะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าแบงก์ซีเริ่มพ่นสีสเปรย์สร้างงานกราฟฟิติตามกำแพงตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่คนมากมายที่เดินขวักไขว่ในกรุงลอนดอน เริ่มสังเกตเห็นภาพกราฟฟิติที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันปรากฏอยู่บนกำแพงตึก จนกระทั่งภาพเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ใครหลายคนเฝ้าติดตามว่าจะมี "ภาคต่อ" ออกมาอีกหรือไม่


 


ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของแบงก์ซีก็คือความลึกลับเรื่องตัวตนที่แท้จริง เพราะจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัดว่าแบงก์ซีคือใครกันแน่


 


บ้างก็ว่าเขาคือนายโรเบิร์ต แบงค์ พนักงานบริษัทธรรมดาๆ ที่เกิดและเติบโตในเมืองบริสทอล ในขณะที่บางกระแสบอกว่าเขาคือช่างภาพชื่อสตีเฟน ลาซาริเดส แต่ก็ไม่มีใครบอกได้ว่าข้อสันนิษฐานเหล่านี้เป็นเรื่องจริงแท้ประการใด หรือบางทีอาจจะมีคนรู้แล้วก็ได้ แต่สมัครใจที่จะปกปิดเป็นความลับไปเรื่อยๆ


 


   


 


กราฟฟิติของแบงก์ซีที่พบเห็นมากที่สุดก็คือภาพหนูหน้าตาเจ้าเล่ห์ อันเป็นหนูในท่อระบายน้ำ ซึ่งในภาพต่างๆ หนูเหล่านั้นจะแสดงอิริยาบถแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทำให้ "หนูๆ" ในงานของแบงก์ซีโดดเด่นขึ้นมา เป็นเพราะว่ามันกำลังเลียนแบบอากัปกิริยาของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น หนูถือวิทยุบูมบ๊อกซ์ซึ่งเปรียบได้กับเด็กวัยรุ่นข้างถนนที่ชอบรวมตัวกันเล่นอะไรไปวันๆ เพื่อความสนุก (แต่ไร้อนาคต)


 


ผลงานของแบงก์ซีมีแม้กระทั่งภาพหนูสะพายกล้อง ยืนแอบอยู่ข้างตู้โทรศัพท์ สื่อถึงช่างภาพปาปารัซซี่ของหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในอังกฤษ ซึ่งขึ้นชื่อลือชาอย่างยิ่งในการเป็นต้นตำรับเรื่อง "ตามไม่เลิก-จิกไม่ปล่อย"


 


อีกภาพหนึ่งคือหนูกางร่ม (เพราะอากาศในลอนดอนก็เปลี่ยนแปลงบ่อยไม่แพ้ที่เมืองไทย...) อีกมือหนึ่งก็ถือกระเป๋าเอกสาร ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่านั่นคือชาวลอนดอนวัยทำงานที่ยังคงรอคอยบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรอรถ รอให้ฝนซา หรืออาจจะรอความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าสักวันหนึ่งชีวิตของตัวเองจะดีกว่าที่เป็นอยู่


 


แฟนคลับของแบงก์ซีพากันสรรเสริญยกใหญ่ว่าภาพหนูเหล่านี้คือการเปรียบเปรยลักษณะของชนชั้นล่างและชนชั้นกลางในลอนดอนได้อย่างเก๋ไก๋ เพราะการแก่งแย่งแข่งขันของผู้คนในเมืองใหญ่ ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษคำว่า "Rat Race" ซึ่งแบงก์ซีได้จับเอาความหมายของมันมาประกอบกับภาพหนูกราฟฟิติของตนเอง อันเป็นสัญลักษณ์แทนตัวชาวลอนดอนที่ยุ่งวุ่นวายอยู่กับความเร่งรีบและการแก่งแย่งชิงดีเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดตลอดเวลา


 


แม้ว่าภาพกราฟฟิติจะมีอยู่มากมายในเมืองใหญ่ทั่วโลก หากสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำผลงานของแบงก์ซีได้ ก็คือการใช้เทคนิคสเตนซิลสร้างผลงานเฉพาะตัว และมี "ลายเซ็น" กำกับอยู่ด้านข้างเป้นเครื่องหมายการค้า แต่สิ่งที่ใครๆ ก็เลียนแบบไม่ได้ก็คืออารมณ์ขันร้ายๆ ที่ปรากฏในงานแต่ละชิ้นของเขา ซึ่งล้วนแต่ทำให้คนที่พบเห็นเผลอยิ้มออกมาได้โดยไม่รู้ตัว


 


  


 


เมื่อปี 2005 ที่ผ่านมา แฟนๆ ของแบงก์ซีก็ได้โอกาสเก็บผลงานกราฟฟิติของเขาไว้เป็นที่ระลึกด้วย เพราะแบงก์ซีตีพิมพ์หนังสือชื่อ Wall and Piece ออกมา โดยมีวัตถประสงค์เพื่อที่จะรวบรวมงานซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เอาไว้ให้ดูกันอย่างจุใจ


 


ภาพกราฟฟิติส่วนใหญ่ของแบงก์ซี มีนัยยะของความเป็นขบถที่ต่อต้านกรอบและกฏเกณฑ์อย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงแง่มุมที่ชวนคิด และอาจสะกิดเตือนให้ใครหลายคนหันกลับมามองรอบๆ ตัวอย่างพินิจพิจารณามากขึ้น


 


สิ่งที่พบเห็นได้ในงานของแบงก์ซี คือ ภาพที่แสดงถึงการต่อต้านสงคราม การคัดง้างระบบทุนนิยม และการเชิดชูเสรีภาพในหลายๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการแสดงงานศิลปะอย่างอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องมีสถานที่หรูหราเพื่อหาทาง "ปล่อยของ" หรือไม่


 


ห้องแสดงผลงานของแบงก์ซีจึงไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะเขาสามารถสร้างผลงานได้ทุกที่... ขอเพียงให้มีพื้นที่ว่างๆ และมีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาก็พอ


 


แม้หลายคนมองว่าการพ่นสีสเปรย์สร้างภาพตามกำแพงตึก ริมรั้ว ข้างถนน หรือแม้แต่ตรงเชิงสะพาน เป็นเพียงการกระทำของอนารยชนที่คอยแต่จะแหกกฏระเบียบ และคนเหล่านั้นไม่ยินยอมเรียกผลงานกราฟฟิติว่าเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่ง


 


แต่ผลงานกราฟฟิติที่เกิดขึ้นริมถนนของแบงก์ซีก็อาจเป็นข้อยกเว้น เพราะมันสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับผู้คนจากทุกๆ แวดวง และในที่สุดก็แพร่กระจายไปทั่วโลก เพราะหลังจากที่ชาวลอนดอนจดจำผลงานของเขาได้ แบงก์ซีก็กลายเป็นศิลปินกราฟฟิติที่มีคนติตตามผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง...


 



 


ถึงขนาดที่เขาได้รับเชิญจากนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่ง เพื่อไปสร้างภาพกราฟฟิติบนกำแพงที่กั้นเขตระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล เมื่อปี 2003 และผลงานของเขาก็โด่งดังไปทั่วโลก เพราะมันสามารถสื่อถึงความฝันอันเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ได้อย่างชัดเจน


 


บนกำแพงคอนกรีตสีเทาที่สูงและยาวสุดลูกหูลูกตา... แบงก์ซีได้วาดภาพรอยแตกร้าวลงไป ซึ่งรอยแตกนั้นเผยให้เห็นทิวทัศน์ของท้องทะเลที่อยู่อีกฝั่งของกำแพง ซึ่งมันคงจะทิ่มแทงจิตใจผู้คนที่ถูกกักกันให้อยู่แต่ในเขตแดนอันจำกัด และในขณะเดียวกัน ภาพดังกล่าวก็เปรียบเสมือนความฝันของชาวปาเลสไตน์ เพราะสิ่งที่พวกเขาปรารถนายิ่งกว่าอะไรทั้งหมดก็คือการมีอิสรภาพอย่างแท้จริง...


 


นอกจากนี้ แบงก์ซียังมีผลงานกราฟฟิติเป็นรูปของนักโทษในเรือนจำกวนตานาโมที่ถูกผู้คุมชาวอเมริกันทารุณด้วยการใช้ถุงดำคลุมหัว จับแขนทั้งสองข้างไพล่หลัง และใส่กุญแจมือเพื่อป้องกันการขัดขืน ซึ่งภาพดังกล่าวคือความลับที่หลุดออกมาจากเรือนจำกวนตานาโมเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา


 


มันแสดงให้เห็นว่าความไม่ชอบมาพากลได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ใครหลายคนอาจจะลืม หรือไม่อยากพูดถึงมัน


 


แต่แบงก์ซียังไม่ลืม...


 


เขาจึงสร้างผลงานออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านสงครามและทุนนิยม รวมถึงการทวงถามถึงอิสรภาพให้แก่คนบางกลุ่มที่ถูกลืมด้วย


 


ผลงานล่าสุดของแบงก์ซี คือ การนำตุ๊กตายางเป่าลม สวมชุดนักโทษสีส้มสด อันเป็นตัวแทนของนักโทษในเรือนจำกวนตานาโม และนำไปวางไว้ในสวนสนุกดิสนีย์แลด์ แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ผ่านมา


 


และก่อนหน้านั้น แบงก์ซีได้นำซีดีเพลงที่มีหน้าปกเลียนแบบอัลบั้มเดี่ยวชุดแรกของ "ปาริส ฮิลตัน" ซึ่งเป็นลูกสาวคนโตของตระกูลฮิลตันไปวางไว้ตามร้านขายซีดีในอังกฤษ และมีคนจำนวนหนึ่งซื้อหาซีดีเหล่านั้นไปฟังจริงๆ แต่แทนที่พวกเขาจะได้ฟังเพลงของปาริส ฮิลตัน (ซึ่งว่ากันว่า "กำลังจะ" กลายเป็นนักร้องยอดนิยมในเร็ววันนี้) เพลงที่บรรจุอยู่ข้างในนั้นกลับกลายเป็นเพลงที่เขาและศิลปินอีกคนหนึ่งซึ่งใช้นามแฝงว่า Danger Mouse ร่วมกันทำขึ้นมา



เพลงทั้ง 3 ที่ถูกนำเสนอสอดใส้ในซีดีปารีส ฮิลตันปลอม ก็คือเพลง Why am I Famous? (ทำไมฉันถึงโด่งดัง?) What Have I Done? (ฉันเคยทำอะไรมาบ้าง?) และ What am I For? (ฉันเป็นอย่างนี้ไปเพื่ออะไร?)


 


การตั้งคำถามในเนื้อหาของเพลงเป็นการตีแสกหน้าปารีส ฮิลตัน อย่างตรงไปตรงมา ว่าชีวิตของเธอแทบจะไม่มีสาระอะไรเลย เพราะการที่เธอมีชื่อเสียงติดหูผู้คนขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งมาจากความร่ำรวยแต่เดิมของตระกูลฮิลตัน รวมทั้งพฤติกรรมอื้อฉาวที่เธอเข้าไปเกี่ยวข้องในอดีต


 


แม้ว่าการลากเอานักร้องสาวมาเป็นเหยื่อจะทำให้นักสตรีนิยมบางกลุ่มต่อว่าต่อขานว่าแบงก์ซีใจแคบและเลือกปฏิบัติ แต่สิ่งที่แสบสันสะใจยิ่งกว่านั้นก็คือการที่เขาเขียนไว้ที่ปกด้านในของซีดีปลอมที่ผลิตขึ้นเอง


 


ข้อความนั้นอ่านได้ว่า Thou Shalt Not Worship False Icons (อย่าได้หลงบูชาสัญลักษณ์จอมปลอม)


 


สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ Banksy ได้ที่:


http://www.banksy.co.uk/


http://banksyforum.proboards82.com/


http://flickr.com/groups/banksy/


http://www.londonist.com/archives/2005/11/booksy.php


http://www.flickr.com/photos/sharl/sets/72157594266743665/


http://www.flickr.com/photos/sharl/232881006/in/set-72157594266743665/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net