วอนแก้ไฟป่าดอยสุเทพ ดินถล่ม น้ำท่วม เผยตำหนักภูพิงค์ฯ เริ่มมีแมลงวัน

เมืองเชียงใหม่เมื่อมองลงมาจากดอยสุเทพ

 

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหัวข้อ "โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน บนดอยสุเทพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 60" โดยมีพระเทพวรสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เป็นประธาน

 

 

ผู้ดูแลพระตำหนักภูพิงค์ฯ เผยวิกฤติพระตำหนักเริ่มมีแมลงวัน

นายอำนาจ เตชะ ผู้ดูแลพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงห่วงใยผืนป่าแห่งนี้มาก ตอนที่เกิดไฟไหม้ป่าและลามไปถึงพระตำหนักฯ นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จฯไปทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องปกป้องผืนป่าแห่งนี้ไว้เพื่อไม่ให้ทุกพระองค์ทรงวิตกกังวล

 

"ผมทำงานที่นี่มาหลายปี เวลาเสด็จฯ มาประทับทรงงานที่ตำหนักภูพิงค์ฯ ไฟป่าไม่มี แต่พอเสด็จกลับจะเกิดไฟป่ามาก เมื่อไฟป่ามาลูกไม้ก็ไม่เกิด หน้าดินก็พัง น้ำป่าไหลหลากลงเร็ว เพราะไม่มีพืชคลุมดิน อากาศร้อนขึ้น ตอนนี้ที่พระตำหนักมีแมลงวันแล้วหลังจากที่ไม่เคยมี เป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัวเพราะเป็นไปในทางลบ" นายอำนาจกล่าว

 

 

เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่า โยนต่างด้าวปัญหาไฟป่าดอยสุเทพ

นายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่, สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่าปัญหาไฟป่าส่วนหนึ่งเกิดจากแรงงานต่างด้าวเข้าไปหาของป่า คงต้องขอความร่วมมือกับนายจ้างให้บอกแรงงานต่างด้าวให้ระมัดระวังเรื่องไฟ

 

นอกจากนี้นายอิศเรศกล่าวว่า สถิติไฟป่าบริเวณรอบๆ ดอยสุเทพลดลงอย่างมาก จาก 352 ครั้ง มีพื้นที่เสียหายกว่า 2,854 ไร่ ในปี 2547 เหลือเพียง 147 ครั้ง ในปี 2548 และเหลือเพียง 33 ครั้งในปี 2549 (กันยายน 2549) ทั้งนี้เป็นเพราะได้รับความร่วมมือจากราษฎร ซึ่งตนขอขอบคุณมา ณ ทีนี่ด้วย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขอความร่วมมือกับอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และได้หน่วยงานทหารมาลาดตระเวนทำให้ไฟป่าลดลง

 

"สำหรับแนวทางการดับไฟป่านั้นหากมีไฟป่าเกิดขึ้นเราจะต้องดับให้เร็วที่สุด โดยภายในรัศมี 1 กิโลเมตรรอบพระตำหนักห้ามการเกิดไฟป่าโดยเด็ดขาดและรัศมี 5 กิโลเมตรรอบพระตำหนักต้องดับไฟป่าภายใน 5 ชั่วโมง" นายอิศเรศกล่าว

 

 

ดร.ดวงจันทร์เผยเชียงใหม่อันดับ 4 มีฝุ่นละอองสูงสุดในประเทศ

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ เจริญเมือง หัวหน้าโครงการฮ่วมมือฮ่วมใจ๋หื้อเชียงใหม่-หละปูนอากาศดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าเมืองเชียงใหม่มีฝุ่นละอองสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศรองจากสระบุรีซึ่งมีการระเบิดหิน สมุทรปราการที่เป็นโรงงาน และกรุงเทพมหานครที่มีรถติดและมีตึกสูง

 

โดยกรมควบคุมมลพิษเตือนว่าเชียงใหม่มีฝุ่นละอองสูงเกินค่ามาตรฐานที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร/วัน คืออยู่ที่ระดับ 124-249 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2547 เชียงใหม่เคยมีฝุ่นละอองสูงกว่า 291 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร/วัน จนสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาต้องเตือนประชาชนอเมริกันที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจไม่ให้เข้ามาเชียงใหม่ กล่าวว่าเชียงใหม่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เมืองในฝันแต่เป็นเมืองในควัน เพราะเต็มไปด้วยหมอกควันจนบางเดือนคนในเชียงใหม่มองไม่เห็นดอยสุเทพ

 

 

วอนคนเชียงใหม่ "จะไม่เผาเหมือนกับช่วงที่ท่านอยู่ตลอดไม่ได้เลยหรือ"

ดร.ดวงจันทร์ ยังกล่าวต่อว่า แม้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะมีการรณรงค์งดการเผา แต่หลังจากวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เสด็จกลับก็มีการเผาเหมือนเดิม ราวกับอั้นเอาไว้ทำให้เมืองเชียงใหม่กลับมามีฝุ่นละอองเหมือนเดิม "เราจะไม่เผาเหมือนกับช่วงที่ท่านอยู่ตลอดไม่ได้เลยหรือ เพราะไฟป่ามีผลต่อสภาพอากาศเมืองเชียงใหม่ชัดเจน" ดร.ดวงจันทร์กล่าว

 

 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2549 ที่ผ่านมา เมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยหมอกควัน

และฝุ่นละอองจนมองไม่เห็นดอยสุเทพ แม้จะอยู่มองดอยสุเทพจากเชิงดอยก็ตาม

ภาพนี้ถ่ายจากถนนสุเทพ หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(ที่มาของภาพ สไลด์นำเสนอของ ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์)

 

 

ฝุ่นควันทำคนเชียงใหม่เป็นมะเร็งปอดสูงรองลำปาง

ดร.ดวงจันทร์ กล่าวว่า หมอกควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อสุขภาพของเรา โดยทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ทำให้เกิดมะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจตีบ โดยในปี 2547 เชียงใหม่มีผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจสูงกว่าร้อยละกว่า 51% ของประชากร (818,043 คน) นอกจากนี้เชียงใหม่ยังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับ 2 รองจาก จ.ลำปาง ที่มีเหมืองลิกไนต์

 

สาเหตุของฝุ่นละอองในเชียงใหม่เกิดจากการเผากิ่งไม้ใบไม้ การเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในไร่นา โรงงานอุตสาหกรรม ยวดยานพาหนะ และการเผาขยะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะท้องถิ่นหลายแห่งไม่มีการกำจัดขยะ ชาวบ้านจึงกำจัดขยะเองด้วยการเผา นอกจากนี้การที่เมืองเป็นภูเขาล้อมรอบจึงทำให้มลพิษที่เกิดจากการเผา คนเชียงใหม่กำลังเหมือนกบต้มสุก โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมค่อยๆ เสื่อมลง โดยที่เราไม่รู้ตัว ดร.ดวงจันทร์กล่าวในที่สุด

 

 

นักวิชาการชวนงดเผาใบไม้ทำปุ๋ยหมัก

ดร.อรวรรณ ฉัตรสีรุ้ง จากภาควิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอให้มีการเลิกเผาใบไม้และเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แต่ควรนำมาทำปุ๋ยหมักแทน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดมลพิษแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทุนสามประการคือ หนึ่งเพิ่มทุนให้แก่ดิน เพราะทำให้ดินมีธาตุอาหารและทำให้มีไส้เดือนเพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลดีกับสภาพดิน สองเพิ่มทุนให้แก่เกษตรกร ซึ่งสามารถนำปุ๋ยหมักไปอัดเม็ดหรืออัดเป็นแท่งขายได้ สามเพิ่มทุนให้กับป่าไม้และบ้านเมือง

 

สำหรับการประชุม"โครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า ดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลัน บนดอยสุเทพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ 60" ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเพื่อหาแนวทางป้องกันไฟป่า การเผาในที่โล่ง ปัญหาดินถล่ม และน้ำท่วมฉับพลันจากดอยสุเทพ โดยทุกภาคส่วน ทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลทรงฉลองสิริราชสมบัติปีที่ 60

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท