Skip to main content
sharethis

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 5


"ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


 


เมื่อพูดถึงปมเงื่อนทางเมืองและปมสถานการณ์ไฟใต้ มีผู้วิเคราะห์ไว้มากมาย จากทั้งฝ่ายนักวิชาการ จากนักคิด และฝ่ายข้าราชการผู้รับผิดชอบของรัฐ แต่ในที่นี้จะขอหยิบยกในด้านของฝ่ายก่อการและชุมชนท้องถิ่น เฉพาะส่วนที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันของไฟใต้ และอาจจะเป็นประโยชน์บ้างต่อแนวทางการคลี่คลายปัญหา ประกอบไปด้วย 5 ประการ


 


ประการที่ 1 ปมเงื่อนทางความคิด ปมเงื่อนทางความคิดและความเชื่อมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างอุดมการณ์และปลุกระดมผู้คนให้ลุกขึ้นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ฝ่ายก่อการและขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตั้งแต่อดีต ได้พยายามที่จะพัฒนาชุดความคิด ความเชื่อและอุดมการณ์ ที่จะใช้สำหรับปลุกระดมเยาวชนลุกขึ้นต่อสู้ ได้ลองผิดลองถูกมาอย่างต่อเนื่อง


 


ปัจจุบันปมความคิดความเชื่อที่พบว่า ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย พอสรุปเป็นแกนของเรื่องดังนี้ "แต่เดิม ปัตตานีในอดีตเป็นรัฐอิสลามที่เจริญรุ่งเรือง แต่ต่อมาได้ถูกสยามยึดครอง จึงเกิดสภาพที่ทรุดโทรม ชาวมลายูมุสลิม ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสยามกดขี่ข่มเหง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิม ตามบทบัญญัติของศาสนาที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้กอบกู้รัฐอิสลามปัตตานีขึ้นมา (วาญิบ) หากจะต้องตายในการต่อสู้ ก็จะถือว่าเป็นการตายเพื่อพระเจ้า ที่เรียกว่า "ชะหีด" เพราะการทำสงครามต่อสู้ครั้งนี้ เป็นการต่อสู้ตามบทบัญญัติของศาสนา เป็นการทำสงครามของศาสนาที่เรียกว่า "ญีฮาด"


 


ปมความคิด เช่นนี้สามารถปลุกระดมเยาวชนและ ประชาชนมุสลิม ชายแดนภาคใต้ได้อย่างรวดเร็ว มีพลังและแผ่กว้าง จึงทำให้ฝ่ายก่อการมีแนวร่วมและมวลชนห้อมล้อมอย่างเข้มแข็ง ในการปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐและก่อเหตุร้ายทุกครั้ง จึงสามารถเก็บความลับไว้อย่างดี ทั้งก่อนและหลังปฏิบัติการ ซึ่งไม่เคยมีกระบวนการใดๆ สามารถทำได้ แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ขึ้นชื่อลือชาในอดีต


 


แต่อย่างไรก็ตาม ปมความคิดความเชื่อในข้างต้น ไม่ใช่ความจริงเสียทั้งหมดบางเรื่องปรุงแต่งขึ้นมาโดยที่ยังไม่มีใครสามารถทำให้ชุมชน มวลชน ฉุกคิดขึ้นมาได้ ปมความเชื่อนี้จึงสามารถใช้ในการปลุกระดมให้ลุกขึ้นสู้ได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้นจึงเป็นภาระหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ เสริ้มสร้างทัศนคติที่เหมาะสม เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างความเคารพท่ามกลางความแตกต่าง หลากหลาย ทั้งในมิติทางศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธ์ และพัฒนาการทางประวิติศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลา และลงมือทำอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง


 


ประการที่ 2 เอกภาพในฝ่ายก่อการ? อันที่จริงแล้วฝ่ายก่อการก็มีปัญหาในด้านความเป็นเอกภาพอยู่เหมือนกัน จากหลักฐานหลายๆ อย่างพบว่า องค์กรนำของฝ่ายก่อการ อันประกอบไปด้วย ฝ่ายทหารที่กุมกองกำลังทั้งหมดในพื้นที่ และกำลังปฏิบัติการอย่างฮึกเหิม นอกจากนั้นยังมีฝ่ายการเมือง ฝ่ายต่างประเทศ และฝ่ายผู้นำทางจิตวิญญาณ


 


ปัจจุบันฝ่ายทหารผู้กุมกำลัง มีความพึงพอใจในผลงานที่ได้ผลครั้งแล้วครั้งเล่าโดยเป็นไปตามหลักคิดใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งฝ่ายตนเป็นผู้ริเริ่มและมักจะไม่ฟังเสียงใคร ทำให้ฝ่ายอื่นๆ พากันวิตก และเอือมระอา ในระดับหนึ่ง เพราะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันต่อทิศทางและแนวทางการต่อสู้ ดำเนินไปอย่างสะเปะสะปะ แต่ก็ไม่สามารถที่จะตักเตือนและควบคุมอะไรได้ ดังนั้นทั้งสองส่วนจึงอยู่ในสภาพที่ต่างแนวทางกันในระดับหนึ่ง


 


ประการที่ 3 ปฏิบัติการทางทหารที่ขาดทิศทางทางการเมือง หน่วยปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายก่อการ หน่วยย่อยๆ อยู่ในสภาพที่ถูกตัดขาดจากฝ่ายการเมือง ทำให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างไม่มีทิศทาง และเสียผลทางการเมือง


 


ในขณะที่การจัดตั้งทางความคิดในหมู่เยาวชน เป็นบทบาทของฝ่ายการเมืองและฝ่ายผู้นำทางจิตวิญญาณ แต่เมื่อฝ่ายการทหารเป็นผู้รับช่วง คัดเลือกเยาวชนเหล่านั้นไปฝึกและจัดตั้งเป็นหน่วยปฏิบัติการ หน่วยจัดตั้งทั้งหมดก็ถูกตัดขาดจากฝ่ายการเมือง ไม่มีใครรู้ว่ามีใครบ้างที่ได้รับการจัดตั้งเป็นหน่วยปฏัติการทางทหารแล้ว สมาชิกระหว่างหน่วยก็ไม่รู้จักกัน แม้ว่าจะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เพราะถือเป็นความลับและต้องรักษาวินัย สภาพเช่นนี้ทำให้ทุกส่วนต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และคิดอ่านอย่างไร ดังนั้นสภาพเช่นนี้ อำนาจทั้งหมดจึงเบ็ดเสร็จอยู่ที่ฝ่ายทหาร ผู้กุมกำลัง และกุมการจัดตั้ง


 


ในสภาพเช่นนี้จึงเห็นได้ชัดว่า แม้ฝ่ายก่อการด้วยกันเอง ใช่ว่าจะสามารถควบคุมทิศทางกันได้ ดังนั้นการที่ฝ่ายรัฐพยายามไปจัดตั้งมวลชนให้กลับมาเป็นฝ่ายตนจึงไม่ง่าย เหมือนกับสมัยที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แต่น่าสังเกตด้วยความเข้าใจที่จำกัดของฝ่ายราชการ ทำให้มักคาดหวังผลสูงและชอบนำมาใช้ในการโฆษณาหรือแก้ตัวทางการเมือง ต่อสาธารณะอยู่เป็นประจำ


 


ประการที่ 4 ชุมชนมุสลิมได้รู้สึกร่วม ด้วยเหตุที่การปลุกระดมสร้างกระแสในชุมชนมุสลิม ด้วยปมความคิด ปมความเชื่อข้างต้น ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รู้สึกร่วมกับการต่อต้านอำนาจรัฐ แม้ว่าจะรู้สึกหวาดวิตกกับความรุนแรงรายวัน และไม่สนับสนุนกับสงครามโดยตรง แต่ก็ไม่คัดค้าน เพราะถือว่าฝ่ายก่อการกำลังทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่า การที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านลงไป ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่องทั้งช่วยเหลือเยียวยา เอาอกเอาใจ สนับสนุนการพัฒนา ทำให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็มิอาจครองหัวใจของชุมชนเท่าใดนัก และแม้รัฐบาลทุ่มกำลังทหารตำรวจลงไปนับหมื่นนาย พลัดเปลี่ยนกันตลอดปี ไม่สามารถคุมสถานการณ์ได้สักที ในขณะที่มวลชนจัดตั้งของฝ่ายก่อการ ขยยตัวออกไปตลอดเวลาท่ามกลางกระแสความฮึกเหิม


 


ประการที่ 5 ประชาคมมุสลิมนอกพื้นที่ที่มีความผูกพัน ประชากรมุสลิมในประเทศไทย มีจำนวนหลายล้านคน กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีองค์กร  คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 33 พื้นที่และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นกลไกในการดูแลบริหารกิจการทางด้านศาสนา โดยมีจุฬาราชมนตรีเป็นประมุข


 


ชุมชนมุสลิมในประเทศไทยมีจุดกำเนิดและมีประวัติการตั้งถิ่นในประเทศที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาและเหตุการณ์ในประวิติศาสตร์ แต่ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกผูกพันกันด้วยหลักศรัทธาที่ว่า มุสลิมทั่วโลกคือพี่น้องกัน ดังนั้นในเรื่องปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ปมความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับะโลกมุสลิมนั้น พวกเขามักมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกันอย่างมากทีเดียว


 


ปมเงื่อนทางการเมืองและปมสถานการณ์ในฝ่ายก่อการทั้ง 5 ประการนี้ เป็นปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย ซึ่งวิธีการคลี่คลายต้องใช้แนวทางสันติวิธี ใช้สติปัญญาใช้การพูดคุยกัน


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องไม่ถือว่าประชาชนที่ก่อการที่ลุกขึ้นต่อสู้นั้น เป็นคนอื่น แต่เป็นพวกเราด้วยกันทั้งนั้น  ไม่มีเขา ไม่มีเรา ทุกคนเป็นคนไทย ทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์


 


.....


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net