Skip to main content
sharethis


                                                                                                       สิริลักษณ์  ศรีประสิทธิ์

สำนักข่าวประชาธรรม


           


หลังจากฟันฝ่ามรสุมกันมาหลายทศวรรษของพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือ ทั้งราคาข้าวโพดตกต่ำ ผลผลิตจากลำไยที่ล้นตลาดกินกันแทบไม่หวาดไม่ไหว อีกทั้งผลผลิตจากลิ้นจี่ก็กำลังจะเดินตามประวัติศาสตร์ลำไยอีกเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้นกับคำพูดที่เรามักได้ยินกันอยู่ทุกยุคทุกสมัยว่า "ชาวนามักยากจน-เกษตรกรก็เป็นหนี้" และแม้ว่าจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรมาเป็นพักๆ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน


 


เพราะพายุลมมรสุมดังกล่าวเหล่านี้ ต่างก็เกิดมาจากนโยบายของรัฐเช่นกัน ที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก มากกว่าการทำเพื่อการยังชีพ อีกทั้งยังขาดมาตรการประกันราคาพืชผล ส่งเสริมให้ปลูกแต่ไม่มีตลาดรองรับ นี่ยังไม่รวมถึงนโยบายการค้าเสรี ซึ่งทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องเดือดร้อน เช่น ผู้ปลูกกระเทียมในภาคเหนือ ที่ถูกกระเทียมจากจีนแย่งตลาดไปเกือบหมด


 


จนมาถึงสถานการณ์ล่าสุด "ยางพารา" ซึ่งพี่น้องเกษตรกรทางภาคใต้อาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่พืชเศรษฐกิจตัวนี้กลับเป็นพืชตัวใหม่ในภาคเหนือ ที่เกษตรกรกำลังให้ความสนใจกันอย่างมาก นอกจากนี้ ทั้งเจ้าหน้าที่ทางด้านเกษตร และเกษตรกรต่างมองกันว่าเป็น "พืชความหวังใหม่" ที่จะช่วยชุบชีวิตเกษตรกรเหนือให้ดีขึ้นได้อีกด้วย  แต่สำหรับเกษตรกรจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ต้องติดตามดู


 


พาราอเมริกา สู่พาราไทยแลนด์


 


การใช้ยางได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวทุก 10 ปี ปัจจุบันนี้โลกต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ปีละประมาณ 11 ล้านตัน แต่มียางที่จะได้จากต้นยางพาราหรือที่เรียกกันว่า ยางธรรมชาติเพียงปีละประมาณ 4 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่ขาดอีกประมาณ 7 ล้านต้น จำเป็นต้องใช้ยางเทียมที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ยางเทียมจึงกลายเป็นคู่แข่งของยางธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ตามโลกยังคงต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นในทุกปี จึงไม่มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง


 


สำหรับประเทศไทยเอง มีการนำต้นยางพาราเข้ามาปลูก ตั้งแต่ปี 2444-2445 มาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ปลูกในภาคใต้ จนกระทั่งปี 2534  ไทยก็สามารถผลิตยางธรรมชาติได้มากที่สุดในโลกจากสภาพอากาศร้อนชื้นที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของยางพารา


 


ฉะนั้นช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยจึงมีหน่วยงาน และองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนที่ดูแลสนับสนุน และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราหลายหลายฝ่าย และด้วยความต้องการในการบริโภคของตลาดโลกสูงขึ้น ยางพาราก็กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของหลายประเทศ เช่นเดียวกับไทย รัฐจึงมีโครงการเพิ่มขยายพื้นที่ปลูกยางมายังภาคเหนือและภาคอีสานด้วยนั่นเอง ปัจจุบันไทยสามารถผลิตยางได้ 2.9 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของปริมาณผลผลิตรวม พื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศไทย 13 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่กรีดยางได้แล้ว 10 ล้านไร่


 


ภาคเหนือ "ยางบูม" คุณภาพสู้ยางใต้ได้


 


ปัจจุบันสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปในพื้นที่ทางภาคเหนือ ทั้งที่ลุ่มที่ดอนจำนวนหลายพันไร่ ก็คือ ต้นยางขนาดอายุประมาณ 1-3 ปี ซึ่งเกษตรกรได้รับการสนับสนุนกล้ายางจากภาครัฐ โดยเกษตรกรจะต้องลงทะเบียนผู้ปลูกยางใน "โครงการปลูกยางเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางใหม่ ระยะที่ 1" ซึ่งโครงการนี้มีแผนขยายพื้นที่ปลูกยางให้ได้ถึง 1 ล้านไร่


 


โดยแบ่งพื้นที่ให้ปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 700,000 ไร่ และในภาคเหนือ 300,000 ไร่ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (ปี 2547-2549) มีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ทำหน้าที่ดูแลสนับสนุน ส่งเสริม และให้บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ หรือ ซีพี เป็นผู้รับผิดชอบผลิตกล้ายางพาราให้กับ สกย. ตามที่ได้ชนะการประมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


 


ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ปลูกต้นยางไปแล้วเป็นจำนวนมาก  เกษตรกรจะได้รับกล้ายาง ไร่ละ 90 ต้น (สำหรับปลูก 76 ต้นต่อไร่ อีก 14 ต้นเพื่อการปลูกซ่อมแซม)  ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จ.เชียงราย ระบุว่า สำหรับผู้ปลูกยางรายใหม่ สกย. จะสนับสนุนเพียงต้นกล้า แต่หากเป็นผู้ปลูกรายเก่า ตามมาตรา 8 พระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง 2530 แล้ว เจ้าของสวนยางที่มีต้นยางอายุกว่ายี่สิบห้าปีขึ้นไป หรือต้นยางทรุดโทรมเสียหาย ต้นยางได้ผลน้อย ก็จะได้รับการสงเคราะห์ด้วยการปลูกแทน โดยจะจ่ายยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือ เครื่องใช้ให้แก่เจ้าของสวนยาง พร้อมทั้งช่วยเหลืออย่างอื่นด้วย


 


ส่วนต้นยางเก่าที่ต้องโค่นทิ้ง ก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น นำไปทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์ แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ปลูกรายเก่ารายใหม่ สกย.ก็จะสนับสนุนดูแลตั้งแต่ก่อนปลูก เริ่มปลูก จนกระทั่งฝึกอบรมเรื่องการกรีดยาง ตลอดจนด้านการตลาดด้วย  ขณะนี้ ในส่วนของภาคเหนือยังอยู่ในโครงการปลูกยางพาราระยะที่ 1 ปี 2547-2549


 


นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเกษตรกรบางรายหัวใสนำพันธุ์ยางมาจากภาคใต้มาปลูกไว้นานกว่า 10 ปีแล้ว และสามารถกรีดยางขายได้ทั้งปริมาณและคุณภาพใกล้เคียงกับยางทางภาคใต้ หรืออาจจะมากกว่าอีกด้วย เพราะมีจำนวนวันกรีดยางที่มากกว่าเนื่องจากภาคเหนือไม่มีฝนตกชุกเหมือนทางภาคใต้


 


ด้านการขายยาง เกษตรกรจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ให้ สกย.ด้วย อัตราในปัจจุบันคือ 1.40 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเงินสงเคราะห์ที่เก็บได้ทั้งหมด จะจัดสรรไปตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์ฯ 2530 โดย 1) จำนวนไม่เกินร้อยละห้า ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับกิจการยาง 2) จำนวนไม่เกินร้อยละสิบ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานการสงเคราะห์การทำสวนยาง และ 3) จำนวนเงินที่เหลือ จัดสรรไว้เพื่อสงเคราะห์เจ้าของสวนยางตามพ.ร.บ.นี้ทั้งหมด


 


ทั้งนี้การส่งเสริมการปลูกสวนยางของ สกย. ทำให้ในพื้นที่ จ.เชียงราย รวมสามปีหกหมื่นกว่าไร่โดยในปี 2547 มีผู้ปลูกทั้งสิ้น 3,502 ราย เป็นพื้นที่ 29,317 ไร่ ปี 2548 เพิ่มขึ้นอีก 1,488 ราย/ 12,843 ไร่ และปีล่าสุด 2549 เพิ่มขึ้นอีก 3,174 ราย เป็นพื้นที่กว่า 19,805 ไร่ แต่ในปีนี้กลับพบว่า มีเกษตรกรจำนวนอีกว่า 1,700 รายซึ่งแจ้งความจำนงขอรับต้นกล้า และเตรียมพื้นที่ไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้รับต้นกล้า เนื่องจากต้นกล้าที่ทางบริษัทซีพีรับผิดชอบ สัมปทานไปไม่สามารถส่งต้นกล้าได้ทันกำหนด


 


มุ่งผลิตยาง - ป้อนตลาดโลก


 


การส่งเสริมปลูกยางของภาครัฐเกิดจากผลผลิตของยางพารา หรือยางที่ได้จากธรรมชาติ ไม่ใช้ยางสังเคราะห์นี้ มีราคาดีมาก ในอดีตราคายางสดอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันไต่ระดับมากอยู่ที่ราว 60-97 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเฉียด 100 บาทแล้ว


 


ผลผลิตที่ได้จากยางพาราขั้นต้น แบ่งออกได้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางเครป ยางผึ่งแห้งและน้ำยาง ยางพาราขั้นต้นเหล่านี้จะนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราสำเร็จรูป เช่น ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และยางรัดของ เป็นต้น ตลอดไปจนยางคุณภาพดีที่นำไปผลิตยางท่อยาง หรือยางที่เป็นส่วนประกอบในรถยนต์อีกด้วย


 


จากข้อมูลวิจัยขององค์กร TERRA ระบุว่า แหล่งการผลิตยางธรรมชาติที่สำคัญของโลก คือ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  สามารถผลิตยางพาราธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของกำลังการผลิตทั่วโลก ปริมาณผลผลิตยางโลกในสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 เป็นผลผลิตที่ได้จาก 3 ผู้ผลิตรายใหญ่ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย 


 


ยางแผ่นที่ไทยสามารถผลิตได้มากที่สุด คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่รองลงมาเป็นอันดับ 2  และผลิตยางแท่งมากที่สุดในโลก  สำหรับมาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตอันดับสามของโลกโดยเน้นที่การผลิตยางแท่งเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย  แต่อย่างไรก็ตามทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซียก็มีการผลิตยางแผ่นรมควัน แต่ส่วนใหญ่เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 1


 


แต่ในปัจจุบันศักยภาพการผลิตยางธรรมชาติของมาเลเซียเริ่มลดลง เนื่องจากขาดแรงงานและมีการลดพื้นที่การปลูกยางมาปลูกปาล์มน้ำมันแทน และหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางภายในประเทศ โดยเน้นการใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการจึงต้องนำเข้าน้ำยางดิบจากประเทศไทยบางส่วน


 


สำหรับการค้ายางพารา ไทยส่งออกยางธรรมชาติมากที่สุดคือ ร้อยละ 78 ของการส่งออกยางพาราทั้งหมด โดยส่งออกไปจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 755.67 ล้านเหรียญ ในปี 2547 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.60 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ไทยเป็นผู้นำในตลาดของจีน โดยมีสัดส่วนการตลาดร้อยละ 50 


 


ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2549 กรุงเทพธุรกิจ หน้า 5 ระบุถึงงานวิจัยด้านราคายางพาราของมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยถึง สาเหตุที่ราคายางพารามีความผันผวนสูง เนื่องมาจากสาเหตุ 5 ประการ ดังนี้


 


1) ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องการยางธรรมชาติ 2) ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นช่วงไตรมาสที่ 3 ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นจาก 49.69-60.92 ต่อกิโลกรัม 3) การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทั้งภายในและต่างประเทศ  เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าที่เปิดเสรี 4) ความผิดปกติของฤดูกาลซึ่งปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบันเกิดภาวะเอลนีโญ่ ส่งผลให้เกษตรกรกรีดยางได้น้อยลง และ 5) การบริหารจัดการผลิตและการส่งออกของประเทศผู้ผลิต 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเชีย และอินโดนีเซีย แต่กำลังลดอัตราการผลิตและการส่งออก ทำให้ปริมาณยางไม่เพียงพอต่อความต้องการ


 


นอกจากนี้ ยังพูดถึงทิศทางยางในปี 2549 และอีก 5 ปีข้างหน้าว่า ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นจากราว 4-5 แสนตัน เป็นกว่า 1.2-1.3 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัว และราคายางก็จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 63-97 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รัฐบาลไทยควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์ยางธรรมชาติช่วง 5 ปีข้างหน้าโดยสนับสนุนเงินดอกเบี้ยต่ำ เทคโนโลยีการผลิต จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะราคายางสูงผิดปกติอีกด้วย โดยเฉพาะราคายางที่ส่งป้อนให้กับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์


 


กระแส "ยาง" ลุกลามหนักจากจีนสู่ลาว


 


อีกทั้ง TERRA ยังระบุว่า แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บริโภคยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ต่อมาภายหลังปี 2545 จีนขึ้นแซงหน้าสหรัฐฯ เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน "ทะลุจุดเดือด" ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.3 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2535-2545 การบริโภคยางพาราของจีนมีประมาณ 3.45 พันล้านตัน หรือร้อยละ 18.2 ของการบริโภคยางโลก


 


ไม่เพียงแค่จีนเท่านั้นยังรวมถึงอินเดียด้วย ซึ่งทั้งสองประเทศถือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบต่อเนื่องมีการบริโภคยางเพิ่มสูงขึ้น จีนและอินเดีย ระหว่างปี 2541 ถึงปี 2544 จีนมีการบริโภคยางเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีการสร้างทางขึ้นเพื่อการติดต่อระหว่างมณฑล โดยยางธรรมชาติได้ถูกแปรรูปเป็นยางล้อรถยนต์และยางคอสะพานของถนนที่สร้างใหม่ในจีน


 


กระนั้นจีนก็ปลูกยางในประเทศเช่นกัน โดยปลูกในพื้นที่ทางตอนใต้ที่สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการปลูกยาง ซึ่งจีนเริ่มปลูกยางพาราตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440  ในมณฑลกวางตุ้งและเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2494 โดยขยายพื้นที่ปลูกยางพาราไปยังมณฑลไหหลำ รวมถึงมณฑลยูนนาน และกวางสี จากนั้นขยายไปสู่มณฑลฟูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ โดยแหล่งปลูกยางที่สำคัญ คือ เกาะไหหลำ และ เขตสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน


 


ปัจจุบัน การปลูกยางในมณฑลกวางตุ้งนั้นมีน้อยลง เพราะมีการปลูกพืชอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่ามาทดแทน ปัจจุบัน ประเทศจีนมีการปลูกยางใน 5 มณฑลเท่านั้น โดยมณฑลไหหลำและมณฑลยูนนานมีการปลูกรวมกันร้อยละ 96 ทั้งนี้ มณฑลไหหลำมีการปลูกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มีการผลิตยางรวม 316,041 ตัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 56 ของปริมาณการปลูกทั้งประเทศ รองลงมาคือมณฑลยูนนาน มีปริมาณยางรวม 223,354 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ส่วนมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และฟูเจี้ยน แม้จะมีการปลูกยางพาราบ้างแต่ก็มีปริมาณที่ต่ำมาก


 


และอย่างที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ จีนกลายเป็นประเทศผู้บริโภครายใหญ่ของโลก ในปี 2547 แม้จีนจะมีความต้องการบริโภคยางธรรมชาติเป็นปริมาณ 1.5 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 18 ของปริมาณการใช้ยางทั่วโลก แต่ปีหนึ่งๆ จีนสามารถผลิตยางได้ไม่เกิน 0.5 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 4 เท่านั้นเอง จึงทำให้จีนต้องนำเข้ายางจากแหล่งอื่น ฉะนั้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณการบริโภคในตลาดโลก ก็ถือว่ายางพาราตัวนี้เป็นที่ต้องการอย่างมาก


 


แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ไม่ใช่แค่ไทยเราเท่านั้นที่ผลิตยังมีที่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนามอีกด้วย ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดยางมีมากขึ้นและอาจเพิ่มขีดการแข่งขันได้ในอนาคต ส่วนตามมาติดคงจะเป็น สปป.ลาว ซึ่งมีนักลงทุนจากจีน และเวียดนามเข้าไปลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยการเช่าที่ดินจากรัฐบาลทำให้การปลูกยางพาราขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ที่ให้สัปทานที่ดินกับบริษัทขนาดใหญ่ แต่ลาวยงไม่มีกฎหมาย หน่วยงานรับผิดชอบ สถาบันศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเกี่ยวกับยางพารามากนัก ทำให้ขาดข้อมูลด้านพันธุ์ยางที่เหมาะสม ตลาดรองรับ อาจทำให้เกษตรกรลาวต้องแบ่งรับภาวะความเสี่ยงสูงในการปลูกด้วย


 


พืชความหวังใหม่ ชุบชีวิตเกษตรกร?


 


ด้านเกษตรกรในภาคเหนือ นายเลย ผาลา เกษตรกร กิ่งอำเภอภูซาง อ.เชียงคำ จ.พะเยา ผู้ปลูกยางยุคบุกเบิกของภาคเหนือ และเป็นประธานชมรมปลูกยางภาคเหนือกลุ่มบ้านทุ่งกล้วย-วิสาหกิจชุมชนเกษตรก้าวหน้า โดยปลูกยางมานานกว่า 17 ปี และสามารถกรีดยางขายมานานกว่า 9 ปีแล้ว


 


นายเลย เล่าว่า สมัยเริ่มปลูกแรกๆ นั้น ซื้อกล้ามาจาก จ.ตรัง เป็นพันธุ์ชนิดเดียวกับที่มีการส่งเสริมให้ปลูกอยู่ในขณะนี้ พอนำปลูกถึงเวลากรีดยางก็พบว่าได้น้ำยางที่เข้มข้นดี เนื่องจากภาคเหนือนี้มีดินที่อุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้นดี จำนวนวันที่สามารถกรีดได้ก็เยอะกว่า และหากดูแลรักษาให้ดีต้นยางจะให้น้ำยางไปได้ถึง 35 ปี ช่วงปีที่ 10-20 เป็นช่วงที่กรีดยางได้มากที่สุด ส่วนผลผลิตที่ได้ต้องนำไปส่งขายที่ จ.ระยอง ซึ่งหากมียางน้อยไม่ถึง 10 ตัน ก็จะไม่คุ้มค่าเดินทาง แต่ภายหลังจากราคายางเพิ่มสูงขึ้นก็มีนายหน้ามารับซื้อถึงพื้นที่   โดยราคาที่ขาย ณ พื้นที่จะต่ำกว่า ราคาที่ขายที่ตลาดกลาง จ.สงขลา ประมาณ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งส่วนต่างตรงนี้ก็เป็นค่าขนส่งไป


 


 "เมื่อก่อน ตอนที่ผมปลูก ยังไม่มีคนสนใจมากนัก คิดว่าเป็นเพราะต้องขนส่งนำไปขายเอง จึงขาดแรงจูงใจ   แต่ตอนนี้คนปลูกกันมากทั้งในไร่ข้าวโพด บางทีก็มีในไร่ข้าวด้วย ซึ่งก็ไม่แน่ว่าต่อไปอาจจะมีสวนยางพารามากขึ้น เพื่อปลูกทดแทนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น  หากราคายางไม่ดี เจ้าของสวนยางไม่พอใจก็ไม่ต้องขาย เก็บไว้ได้ แตกต่างกับหอม กระเทียม ลำไย   เก็บได้ขายไปเลยเก็บไว้ไม่ได้ นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่คนหันมาปลูกยางเพิ่มขึ้น โดยส่วนตัวแล้วตั้งแต่ราคายางพุ่งสูงขึ้น ก็ทำให้ครอบครัวตนมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 3-4 หมื่นบาทต่อเดือนด้วย" นายเลยกล่าว


 


นายสาโรจน์ ทุ่งเก้า ผู้ใหญ่บ้านเวียงแก้ว ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า  ภายหลังจาก สกย.เข้ามาส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่เมื่อเดือนกันยายน 2547 ก็เกิดความสนใจ โดยมีโครงการเปลี่ยนสวนสักให้เป็นสวนยาง โครงการโค่นลำไยปลูกยาง (และโครงการปลูกยางทดแทนในพ.ท.ปลูกลิ้นจี่) เนื่องจากราคาลำไยตกต่ำ ขายไม่ออก ตอนนี้จึงหันไปปลูกยางโดยปลูกไปแล้วส่วนหนึ่ง 900 ต้นใน 10 ไร่ที่มีอยู่ และทาง สกย.ก็บอกว่าจะรับซื้อต้นยางที่ไม่สามารถให้ยางน้อยลงไม้คุ้มทุนในอนาคตอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ไร่ละ 30,000 บาท


 


นายสาโรจน์ กล่าวต่อว่า เคยได้ยินจากคนที่ปลูกยางในภาคเหนือซึ่งเริ่มปลูกมาก่อนกว่า 10 ปีแล้วว่า สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่ต่างจากภาคใต้ บางทีอาจได้เยอะกว่าด้วย เนื่องจากภาคเหนือมีระยะฤดูฝนที่สั้นกว่าของภาคใต้ อีกทั้งรัฐก็สนับสนุน สามารถกู้เงิน ธกส.ได้ ซึ่งให้เงินกู้ค่าปุ๋ย ไร่ละ 5,000 บาทต่อปี และให้เงินกู้สำหรับนำไปลงทุนด้านการปลูกยาง และมีเงินให้กู้ในขณะที่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ คือ ในช่วง 5-6 ปีแรกของการปลูกยาง ปีละ 10,000 บาท


 


นายสาโรจน์ ยังเล่าต่อว่า ขณะนี้นอกจากการสนับสนุนกล้ายางฟรีจาก สกย.แล้ว ยังมีพ่อค้าบางคนเพาะกล้าขายอีกด้วย   ก็มีเกษตรกรหลายรายที่ไม่สามารถรอกล้ายางได้ เนื่องจากกล้ายางจากซีพีส่งมาช้า จึงต้องไปซื้อมาปลูกเองเป็นจำนวนมาก ราคาอยู่ที่ต้นละ 18 บาท และยังมีอาชีพเกิดใหม่ด้วย กล่าวคือ อาชีพรับเหมาดูแลต้นยาง โดยจะรับประกันดูแลใส่ปุ๋ยรดน้ำให้จนต้นยางสูง 185 ซม. ภายใน 1 ปี ราคา 40 บาทต่อต้น


 


"อย่างไรก็ตาม ระหว่างช่วงที่รอนี้ ก็ปลูกพริก ปลูกข้าวโพดระหว่างแถวต้นยางได้ ซึ่งก็ยังดีกว่าการปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ซึ่งราคาขายดิบตอนนี้อยู่ที่ราว 2.75 บาทต่อกิโลกรัม และเคยขึ้นสูงสุดที่ 5.80 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อปี 2545 แต่ยังถือว่าน้อยกว่าราคายางสดมาก ตอนนี้ก็รอกล้ายางในรอบต่อไป เพื่อปลูกเพิ่มอีกในแปลงที่ 2 จำนวน 12 ไร่ หวังว่าจะสามารถทำรายได้มากขึ้นในอนาคต"


           


นายสมคิด รัตนบุรี นักวิชาการเกษตร 7 ว. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวถึงโครงการปลูกยางพารานี้ว่า พันธุ์ยางให้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกอยู่ในขณะนี้ คือ พันธุ์ RRIM600 ซึ่งมีความเหมาะสมกับพื้นที่ในภาคเหนือ เพราะมีกิ่งอ่อนขนาดเล็ก สามารถลู่ลมได้ดี ไม่หักง่าย เนื่องจากภาคเหนือมีลมพัดแรง แม้ว่าพันธุ์ RRIM600 นี้จะให้น้ำยางในปริมาณปานกลาง แต่ก็มีความเหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีแรกของการปลูกต้นยาง สามารถปลูกพืชล้มลุกชนิดอื่นแซมได้ระหว่างแถว เช่น พืชตระกูลถั่วทุกชนิด ข้าวโพด เป็นต้น


 


"ส่วนพืชจำพวกละหุ่ง ปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังไม่ควรปลูกกับต้นยางอย่างยิ่ง เพราะพืชจะแย่งน้ำกัน อีกทั้งพืชจำพวกนี้ใช้น้ำเยอะ และทำให้คุณภาพดินเสียด้วย ส่วนหลังจาก 3 ปีนั้น ต้นยางจะสูงขึ้นเป็นพุ่มมากขึ้น และพุ่มของแต่ละต้นจะชนกันบังแสงแดดทั้งหมด ทำให้จะไม่สามารถปลูกพืชแซมข้างใต้พุ่มยาง ระหว่างแถวได้อีกแล้ว" นายสมคิดกล่าว


 


นอกจากนี้ นายสมคิด ยังให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูกยางพารากันมากขึ้นนั้น ไม่เพียงแค่ราคาดีกว่าพืชชนิดอื่น แต่เพราะการปลูกข้าวโพด เกษตรกรต้องเหนื่อยในการเตรียมพื้นที่และลงทุนทุกฤดูกาลปลูก 2 ครั้งต่อปี แต่สำหรับยางพาราลงทุนเพียงแค่ครั้งเดียว รออีก 5 ปี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต กรีดน้ำยางได้ไปตลอด และหากดูแลต้นยางอย่างดีก็สามารถกรีดยางไปจนถึง 25-30 ปี กว่าต้นยางจะเริ่มโทรม ให้น้ำยางไม่ได้อีก


 


"จากการคาดคะเนแล้วพบว่า คน 1 คนมีที่ดินเพียง 7 ไร่สำหรับปลูกยางประมาณ 500 ต้น ใน 1 วัน ต่อแรงงานของคน 1 คน กรีดยางได้มาก็ทำให้แม้ว่าไม่ถึงร่ำรวย แต่ก็พอมีพอกินได้อย่างสบายแล้ว อีกทั้งการโค่นต้นยางเพื่อปลูกใหม่ ไม้ก็ยังขายได้ทั้งไร่ๆ ละกว่า หกถึงเจ็ดหมื่นบาท พ่อค้าก็นำเอาไปเฟอร์นิเจอร์ และที่สำคัญการปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชล้มลุกก็ยังทำลายพื้นที่ป่า เพราะถึงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวโพดหมดก็ไม่เหลืออะไร แต่ต้นยางทำให้ป่ากลับคืนมา ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ฝนก็กลับมาตกต้องตามฤดูกาลอีก และรากต้นยางก็ช่วยยึดหน้าดินจะทำให้ไม่เกิดเหตุดินถล่มด้วย" นายสมคิดอธิบาย


 


นักวิชาการเกษตรคนเดิมกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม มองอนาคตของตลาดยางจะยังคงสดใส ราคาไม่ตกแน่นอน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมีผู้บริโภคเยอะ และยิ่งในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ที่ยิ่งจะเติบโต ขณะที่น้ำมันราคาแพงส่งผลให้ยางเทียมที่ผลิตจากปิโตรเลียมมีราคาสูงกว่ายางธรรมชาติอย่างมาก (ประมาณ 150 บ./กก.) และไม่สามารถมาทดแทนยางธรรมชาติได้ ฉะนั้นตลาดก็ยิ่งต้องการยางพารามากขึ้น ซึ่งหากเปรียบกับลำไย มีคนกินเพียงไม่กี่ประเทศ และส้มซึ่งเป็นพืชที่ลงทุนมาก ดินเสื่อมโทรมมาก หลังจากปลูกส้มมากกว่า 5 ปีขึ้นไปก็ต้องฟื้นฟูสภาพดินใหม่หมด


 


ด้านความวิตกกังวลว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างเดียวจะทำให้พืชพันธุ์พืชต่างๆ ลดน้อยลง ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ และพืชผักกินได้เหลือน้อยลงนั้น แหล่งข่าวคนเดียวกันกล่าวว่า การปลูกพืชเพื่อขาย-ส่งออก และการปลูกพืชกินคงต้องดำเนินไปควบคู่กัน จึงแนะว่าเกษตรกรควรยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ต้องจัดสรรพื้นที่ให้ดี ส่วนหนึ่งก็ปลูกพืชเพื่อขายอีกส่วนหนึ่งก็ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินในครอบครัวด้วย


 


แม้ว่าโครงการส่งเสริมการปลูกสวนยางนี้ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรก็ตาม แต่ข้อสังเกตที่เกิดขึ้น คือ ยางพาราจะเดินซ้ำรอยเดิมลำไยอีกหรือไม่ เมื่อมีผู้ผลิตยางมากขึ้นทั้งจากประเทศไทย มาเลเชีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว หรือแม้แต่การผลิตจากจีน เมื่อนั้นราคายางจะลดลงหรือไม่ อีกทั้งใครจะทราบว่านโยบายโค่นลำไยปลูกยาง จะส่งผลให้ลำไยมีราคาแพงขึ้นในอนาคต เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมานโยบายสนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐอย่างเข้มข้น เพื่อการส่งออกนั้น กลับสั่นคลอนความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นเหตุให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาการแย่งชิงน้ำในท้องถิ่นด้วย


 


ขณะนี้ "สวนยางพารา" กำลังคืบคลานเข้าไปทดแทนสวนลำไย ลิ้นจี่ ไร่ข้าวโพด แม้แต่ไร่ข้าวด้วย ปัจจุบัน อ.เชียงของ จ.เชียงราย พืชผักที่บริโภคกันอยู่ในอำเภอกว่าร้อยละ 50 ก็นำเข้ามาจากอำเภออื่นอีกด้วย สถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร...สวนยางจะสร้างความแตกต่างให้กับเกษตรกรได้หรือไม่? คงต้องช่วยกันติดตามต่อไป


 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง



  1. รายงานเรื่องยางพารา รวบรวมโดยองค์การ TERRA, 2006

  2. สถาบันวิจัยยาง (Rubber Research Institute of Thailand) กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.rubberthai.com

  3. สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง-สกย. (Office of The Rubber Replanting Aidfund) www.thailandrubber.thaigov.net

  4.  เว็บไซต์ยางพารา www.yangpara.com

  5. "ม.หอการค้าไทย เผยผลราคายางพาราผันผวน".  กรุงเทพธุรกิจ 26 สิงหาคม 2549 น. 5.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net