Skip to main content
sharethis

กรณีศึกษา : เส้นทางทางของเมล็ดกาแฟในแคนาดา


 






โดย วิทยากร บุญเรือง


 




 


การช่วงชิงนิยามของ "การค้าที่เป็นธรรม" (Fair Trade) ระหว่างผู้ผลิตรายย่อย,ผู้ผลิตรายใหญ่,องค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจและขบวนการต่อต้านความคิดกระแสหลัก ในปัจจุบันนั้น ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ "กำกวม" ในความหมายว่าเราจะให้ความหมายมันว่าอย่างไร? และใครบ้างที่ควรได้ประโยชน์* ซึ่งในปัจจุบัน กระแสการทำธุรกิจ "การค้าที่เป็นธรรม" นี้ เป็นกระแสใหม่ของการทำธุรกิจบนโลกทุนนิยมที่ไม่อาจจะละเลยและมองข้ามไปได้ เพราะมันถูกนำมาใช้ ทั้งเป็นการสร้างภาพของบรรษัทใหญ่ๆ และถูกนำมาใช้ในภาคธุรกิจทางเลือก (Alternative Business)


 


*ยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงเรื่อง "ตัวกลาง-คนกลาง" ว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดสำหรับการค้าที่เป็นธรรม และส่วนแบ่งของ "ตัวกลาง-คนกลาง" ควรเป็นเท่าใด? สมควรที่จะลดบาทบาทลงจากเดิมหรือไม่?


 


ในบทความชิ้นนี้จะขอนำเสนอตัวอย่างเล็กๆ ของ "ธุรกิจกาแฟ และความพยายามสร้างการค้าที่เป็นธรรมในธุรกิจ" โดยผู้ผลิตรายย่อยและการทำธุรกิจทางเลือก อันเป็นการสำรวจโลกธุรกิจอีกมุมหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อการปรับปรุงแก้ไขและหาวิธีต่อสู้กับการผูกขาดจาก "จักรวรรดิบรรษัทนิยม" และทุนนิยมผูกขาดในปัจจุบัน


 


0 0 0




เบื้องต้นกับ "การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade)"*


 



สัญลักษณ์ของ International Fair trade Certification Mark


ที่มา http://en.wikipedia.org/


 



* ในบทความชิ้นนี้ยังไม่ขอกล่าวถึงการค้าที่เป็นธรรม ในส่วนปลีกย่อยเกี่ยวกับประวัติและขอบเขตความครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งความน่าสนใจของ Fair Trade นั้นมีความน่าสนใจมาก และผู้เขียนกำลังรวบรวมข้อมูลทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับการค้าที่เป็นธรรมนี้โดยเฉพาะ โปรดเฝ้ารอในโอกาสต่อๆ ไป

 


การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) เป็นขอบเขตหนึ่งในหลายของการใช้ระบบตลาดและการค้า-ขายทางเลือก (alternative trade) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะหนีออกจากระบบการค้าที่มีอยู่ในระบบตลาดปัจจุบัน นั่นก็คือการค้า-การให้บริการ-การแลกเปลี่ยน เพื่อผลกำไรและการสะสมทุนให้สูงที่สุดในธุรกิจหนึ่งๆ (capital accumulation) หรือที่เรียกว่า การผูกขาดเพื่อฆ่าคู่แข่งขันรายอื่น (monopoly) 


 


แนวคิดการค้าที่เป็นธรรมนี้เกิดขึ้นที่ซีกโลกเหนือ (ประเทศที่มีความเจริญทางอุตสาหกรรม) แล้วส่งออกไปทั่วโลก จุดประสงค์แรกเริ่มนั้น อาจจะเป็นการที่ภาคธุรกิจในระบบตลาด พยายามสร้าง "อุดมคติอันดีงามผ่านระบบตลาด" เพื่อการขับเคี่ยวกับระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนอย่างเบ็ดเสร็จ (total planning economic) - ของประเทศจากค่ายสังคมนิยม


 


ภายหลังการล่มสลายของเศรษฐกิจแบบวางแผนเบ็ดเสร็จ อุดมการณ์นี้ยังคงโลดแล่นและกลับเข้าหันมาเล่นงานระบบผลิตแบบเสรีแทน ด้วยการคำนึงถึงสภาพแวดล้อม,สวัสดิการค่าแรงของแรงงาน,การแบ่งผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและบริโภค ฯลฯ ถือว่าเป็นหนทางการชะลอการสะสมมูลค่าส่วนเกินของบรรษัทใหญ่ๆ ที่ไม่มีจิตสำนึกไปได้อีกเปลาะหนึ่ง! 


 


แต่ในขณะเดียวกัน บ่อยครั้งที่การค้าที่เป็นธรรมถูกทึกทักให้อยู่ในขอบเขตและเป็นส่วนหนึ่งของ "การค้าเสรี" (free trade) ตามแนวนโยบายที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) วางไว้ ไม่ว่าจะเป็น การยกเลิกข้อจำกัดที่ขัดขวางการกอบโกยของบรรษัทข้ามชาติ , การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการทำให้พลังการต่อรองของแรงงานอ่อนลงไป ตัวอย่างเช่น ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแรงงาน (labour moment) บางกลุ่มมองว่า ข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรมที่ถูกยัดเข้าไปในตัวสินค้าที่ผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม , การจำกัดเวลาแรงงาน , การห้ามใช้แรงงานเด็ก ฯลฯ เหล่านี้ทำให้แรงงานบางส่วนต้องเสียโอกาส หรือ ถูกลดค่าแรงลงไป --- ในความเป็นจริงแล้ว ข้อตกลงเหล่านั้นจำเป็นต้องปฏิบัติและนายทุนผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระต้นทุนในการผลิตนั้นเอง ด้วยการลดกำไรจากการขายผลผลิตที่ตนเองได้รับ มิใช่การผลักภาระไปให้แรงงานและสังคม  --- ปัญหาจึงอยู่ที่นายทุนที่ทำการผลิต ไม่ใช่อยู่ที่ข้อตกลงการค้าที่เป็นธรรม


 


 


อุตสาหกรรมกาแฟโดยสังเขป


 


 




 


เมล็ดกาแฟเป็นสินค้าที่มีความผันแปรไม่แน่นอนทางด้านราคา ซึ่งขึ้นอยู่กับผลผลิตในแต่ละปีนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.. 1985 ราคาซื้อต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 4.71 US$ แต่ในปี ค.. 1998 ราคากลับตกลงไปที่ 2.86 US$  หนึ่งในความผันแปรของตลาดเมล็ดกาแฟ นั่นก็คือการสร้างพื้นที่เพาะปลูกใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ และแข่งขันกับแหล่งอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น กรณีของประเทศเวียดนามที่ใช้เวลาเพียง 10 กว่าปี จากการเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ (virtual non entity) สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับสามของโลก


 


ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟรายใหญ่ของโลก 10 ประเทศ


 


Brazil                                                    Ethiopia


Colombia                                               Ivory


Gautemala                                             Uganda


Mexico                                                  India


Indonesia                                              Vietnam


 


นอกจากนี้ตลาดเมล็ดกาแฟยังถูกกำหนดรูปแบบโดยผู้ค้ารายใหญ่ไม่กี่เจ้า ในปี ค.. 1992 ประมาณ 70% ของสัดส่วนตลาดเมล็ดกาแฟ ถูกควบคุมโดยผู้ค้ารายใหญ่เพียงสี่เจ้าเท่านั้น คือ Phillip Morris (ซึ่งเป็นเจ้าของ Kraft Food International อีกทอดหนึ่ง) ,Nestle, Proctor and Gamble และ Sara Lee


 


แต่ผู้ผลิตที่สำคัญที่ป้อนให้แก่คนกลางรายใหญ่เหล่านั้นก็คือ "ชาวไร่กาแฟ" ที่ต้องแบกรับภาวะความเสี่ยงไว้เองหากเมล็ดกาแฟมีราคาตกต่ำ  และโดยส่วนใหญ่ ชาวไร่กาแฟเหล่านั้นยังคงยังชีพแบบพึ่งตนเอง , ทำงานหนัก , ขาดความมั่นคงในชีวิต แต่พวกเขากลับได้ส่วนแบ่งจากราคาขายไม่ถึง 12 % ที่ผู้ค้ารายใหญ่ตั้งราคาไว้


 


 




สัดส่วนรายได้จากราคาขายของผงกาแฟสำเร็จรูป


ผ่านการค้าที่ถูกครอบงำโดยผู้ขายรายใหญ่ในปี 1992


ที่มา www.oxfam.ca


 


 


โดยส่วนใหญ่แล้วการซื้อขายเมล็ดกาแฟ จะทำในตลาดซื้อขายกาแฟ (coffee exchange) ที่ New York และ London --- และก็เหมือนการค้าขายเพื่อเก็งกำไรอื่นๆ คือมีการซื้อขายล่วงหน้า (futures contracts) เช่นเดียวกับการกำหนดราคา ที่จะทำในสองตลาดนี้แล้วใช้เป็นราคามาตรฐาน และมีส่วนน้อยมากที่จะทำการซื้อขายนอกตลาด สองตลาดนี้  เหตุผลก็เพราะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ค้าคนกลางรายใหญ่อาจจะเสียผลประโยชน์ไปเป็นจำนวนมหาศาล หากไม่สามารถนำสินค้าชนิดนี้มาทำการ - เก็งกำไร , กดราคา , ควบคุมราคา เองได้! --- ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ราคาของเมล็ดกาแฟมีความผันผวนสูง ความเสี่ยงของธุรกิจมีสูง โดยผู้ผลิตขั้นแรก (ชาวไร่กาแฟ) ต้องแบกสิ่งเหล่านี้ไว้เองหมด! 



 


 




ภาพเส้นทางการเดินทางของเมล็ดกาแฟจากอเมริกากลางถึงอเมริกาเหนือ


ในรูปแบบของการค้าที่ไม่เป็นธรรม


ที่มา www.oxfam.ca


 


 


จากเส้นทางการเดินทางของกาแฟในการค้าโดยอาศัยตัวกลางนั้น เราจะพบว่าชาวไร่กาแฟผู้เป็นฐานของห่วงโซ่นี้กลับได้รับผลประโยชน์น้อยที่สุด และขาดอำนาจต่อรองใดๆ  การค้าโดยผ่านพ่อค้าคนกลางหลายๆ ทอด ผลต่างจากมูลค่าส่วนเกินเหล่านั้นตกไปอยู่ในมือของคนกลางต่างๆ รวมกัน มากกว่าที่ผู้ผลิตระดับปฐมภูมิ (Primary Producer) ที่เป็นชาวไร่ยากจน กว่า 200% ;-( 


 


… เหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึง "ความอุบาทว์" ของธุรกิจน้ำดำอันหอมกรุ่นนี้!


 



 


เส้นทางการค้าเมล็ดกาแฟที่เป็นธรรมในแคนาดา


การค้ากาแฟแบบเป็นธรรมแรกเริ่มเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้วแถบยุโรป โดยในประเทศเนเธอร์แลนด์ OXFAM ได้เปิดร้านค้าที่ขายสินค้าของธุรกิจสหกรณ์จากประเทศโลกซีกใต้  ในทศวรรษที่ 1960"s และตามมาด้วย สหราชอาณาจักร และ Switzerland ในกลางทศวรรษที่ 1980"s --- สินค้ามากกว่าพันรายการจากโลกที่สามได้บุกซีกโลกเหนือเป็นครั้งแรก และในปี 1987 มูลนิธิ Max Havelaar และองค์กร TransFair เสนอนโยบายการค้าขายแบบเป็นธรรมสู่บรรษัทต่างๆ โดยใช้กับสินค้าที่ผลิตจากประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งกาแฟเองก็เป็นสินค้าแรกๆ ที่นำมาใช้ใน Campaign นี้  


 


ในช่วงทศวรรษที่ 70"s และ 80"s ทวีปอเมริกาเหนือต้องเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ของกลุ่มประเทศในแถบอเมริกากลาง  ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มทางสังคมกลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศาสนา หรือองค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคมที่เป็นธรรมต่างๆ ในแคนาดา ร่วมมือกันสนับสนุนซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟจากชาวไร่กาแฟนิคารากัว เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันคว่ำบาตรและไม่ให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจแก่นิคารากัว เพื่อตอบโต้การปฏิวัติสังคมนิยมจากกลุ่ม Sandinista


 


จนถึงในปัจจุบัน การค้าขายกาแฟแบบเป็นธรรมในแคนาดาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่มีความเข้มแข็ง กาแฟมีคุณภาพดี ราคาเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และชาวแคนาเดียนเองส่วนใหญ่ก็มีจิตสำนึกพร้อมใจกันที่จะจ่ายในราคาที่เป็นธรรมนั้น!



 

การบริโภคกาแฟในแคนาดา

 

·         คนแคนาเดียน 67% ดื่มกาแฟทุกวัน


·         เฉลี่ยแล้วเขาเหล่านั้นดื่มวันละ 3 ถ้วย


·         52% ของการดื่มกาแฟ ดื่มในช่วงเช้า


·         19% ดื่มในตอนหัวค่ำและช่วงอาหารเย็น


·         69% ดื่มกาแฟที่บ้าน


·         13% ดื่มกาแฟที่ที่ทำงานและสถานศึกษา , 12% ดื่มที่ร้านอาหาร


·         9% ดื่มกาแฟที่ปราศจากคาเฟอีน


 


 


Transfair Canada (TFC) เป็นกลุ่มความร่วมมือ ของกลุ่มการค้าที่เป็นธรรม ไม่มุ่งหวังผลกำไร ธุรกิจที่จะนำตราสินค้าที่ได้รับการรับรองจาก TFC จะต้องผลิตสินค้าภายใต้หลักการของการค้าที่เป็นธรรม ในส่วนของกาแฟนั้นผู้นำเข้าจะต้องรับซื้อจากเกษตรกรในราคาที่กำหนด ถึงจะสามารถใช้ตราของ TFC ได้


 




ตราสินค้าที่รับรองกาแฟที่ทำการค้าที่เป็นธรรม


ที่มา http://fairtradenetwork.ca/


 


 


TFC เองก็เป็นสมาชิกของ Fair Trade Labeling Organizations (FLO) ซึ่งในรายชื่อของกลุ่มสหกรณ์เกษตรกรรายย่อยที่ FLO รับรองและช่วยเหลือมีมากกว่า 300 กลุ่ม  ซึ่งเป็นองค์กรรากหญ้าและมีความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสูง  กลุ่มเหล่านั้นอยู่ใน 18 ประเทศโลกที่สาม คือ Bolivia, Brazil, Cameroon, Colombia, Costa Rica, Dominican Republic, El Salvador, Guatemala, Haiti, Honduras, Mexico, Nicaragua, Peru, Sierra Leone, Tanzania, Uganda, Venezuela, Congo


 


โดยการค้ากาแฟแบบยุติธรรมนี้ ช่วยลดช่องทางของพ่อค้าคนกลาง ทำให้ไม่เกิดการสร้างมูลค่าส่วนเกินในกระบวนการนี้ --- ชาวไร่กาแฟรวมตัวกันสร้างกลุ่มสหกรณ์แล้วก็ส่งผ่านสินค้าสู่บรรษัท หรือองค์กรที่ได้ตรารับรองการค้าที่เป็นธรรม* แล้วก็นำสินค้าสู่ผู้บริโภค


 


*ในแคนาดาผู้ทำการค้ารายย่อยเกี่ยวกับกาแฟที่ได้รับตราสินค้าที่ได้การรับรองจาก TFC นั้นได้รับการตรวจสอบและมีความเป็นธรรมมากกว่าส่วนใดในโลก รวมถึงการเปรียบเทียบกับบรรษัทขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นธรรมเช่น Starbuck ที่ยังซื้อเมล็ดกาแฟจากแหล่งที่มีตรารับรองการค้าที่เป็นธรรมน้อยกว่า 1%    


 



 



 


ภาพเส้นทางการเดินทางของเมล็ดกาแฟจากอเมริกากลางถึงอเมริกาเหนือ


ในรูปแบบของการค้าที่เป็นธรรม


ที่มา www.oxfam.ca


 


 


โดยหลักการของการค้ากาแฟแบบเป็นธรรมในแคนาดา คือ ซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิต , ให้ราคาตามราคาตลาดแท้จริงโดยไม่ข้องเกี่ยวกับการเก็งกำไร , ให้ราคาตามความต้องการของผู้บริโภคปลายสุดห่วงโซ่ (ประเทศในซีกโลกเหนือ) , ทำสัญญาระยะยาวกับชาวไร่ , สร้างความสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร ระหว่าง ผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้บริโภค.


T


0 0 0


 


กาแฟเป็นสินค้าอีกหนึ่งชนิด ที่ผู้ผลิตรายย่อย อันเป็นรากฐานของธุรกิจและเป็นผู้ที่อยู่จุดแรกเริ่มของห่วงโซ่ ... ต้องกลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจมูลค่าแสนกว่าล้านนี้เพียงน้อยนิด


 


สำหรับการค้าที่เป็นธรรมนั้น การช่วงชิงความหมายเพื่อการนำไปใช้ของทุกฝ่ายยังคงมีอยู่ ซึ่งคงจะต้องใช้วิจารณญาณรวมถึงข้อมูลในการสนับสนุน "การค้าที่เป็นธรรม" นี้ ว่าในผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ ใครได้ประโยชน์-เสียประโยชน์ เราควรอุดหนุนบรรษัทข้ามชาติที่ติดตรานี้ หรือ ธุรกิจรายย่อยที่ติดตรานี้ นำไปขบคิดเพื่อตัดสินว่าจะเลือกสินค้าตัวไหนดี?


 


…  และวันนี้ --- คุณดื่มกาแฟแล้วหรือยัง?



 


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""


ประกอบการเขียน-แหล่งข้อมูลแนะนำ


 


ภัควดี วีระภาสพงษ์  "เบื้องหลังผ้ากันเปื้อนสีเขียวและรอยยิ้ม คือคนที่ต้องดำรงชีวิตด้วยความแร้นแค้น" ใน http://www.fridaycollege.org


 


Douglas Murray, Laura Raynolds, Peter taylor "The future of Fair Trade coffee : dilemmas facing Latin America"s small-scale producers" ใน Development in Practice, Volume 16 :  Routledge . 2006


 


http://fairtradenetwork.ca/


www.oxfam.ca

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net