Skip to main content
sharethis

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"


จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้


 


โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา


 


...........................................................................................


 


ตอนที่ 6


"ปมสถานการณ์ที่ต้องช่วยกันแก้"


 


ในสถานการณ์การต่อสู้ของประชาชน และชุมชนมุสลิมท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มุ่งการยึดอำนาจรัฐ เป็นเป้าหมายนั้น ทำให้ทั้งจังหวัดชุมชนและอำนาจรัฐ กลายเป็นสองฝ่ายที่เป็นคู่กรณีซึ่งกำลังเผชิญหน้ากัน ดังนั้นการที่ฝ่ายอำนาจรัฐพยายามแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา อย่างถึงที่สุด แต่ด้วยความที่เป็นคู่กรณีกันอยู่จึงมีช่องว่าง และข้อจำกัดด้านอุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามมากมาย


 


แต่อย่างไรก็ตามในด้านของอำนาจรัฐเอง ยังมีปมเงื่อนทางการเมือง และปมเงื่อนสถานการณ์ที่สำคัญที่ขอหยิบยกมา 5 ประการ เพื่อให้มองเห็นภาพและหวังในความร่วมมือกันทั้งปผระเทศที่จะช่วยกันแก้ไข


 


ประการที่ 1 ผู้นำรัฐบาลมีความเข้าใจต่ำมาก  โดยทั่วไปแล้วอาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันและโดยฉพาะอย่างยิ่งตัวนายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจ ปมความคิด ความเชื่อ ของประชาชนและชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งมีตนเองเป็นรัฐบาลอยู่ในระดับต้ำมาก


 


รัฐบาลไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาทางการเมือง ไม่เข้าใจว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ เช่นนี้ต้องใช้มาตรการทางการเมือง การปกครองเข้าไปแก้ไข


 


รัฐบาลเข้าใจว่าปัญหาจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเพียงแค่อาชญากรรมปกติในท้องถิ่น ซึ่งลำพังมาตรการการปราบปราม การบังคับกฎหมายเข้าไปแก้ไข ก็สามารถแก้ไขได้


 


สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอาจจะเรียกได้ว่า เป็นแนวทาง "นิติศาสตร์นำการเมือง" โดยที่พยายามบอกกับสาธารณะว่าสิ่งนี้คือ "การเมืองนำการทหาร" ที่นักวิชาการ กำลังเรียกร้อง


 


อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล มีหลายฝ่ายช่วยกันทำอยู่แล้ว ทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม การคาดหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงมีไม่มากนัก


 


ประการที่ 2 อำนาจรัฐซ้อน ด้วยความห่วงใยของสังคมไทยทั้งมวลต่อปัญหาวิกฤติไฟใต้รวมทั้งความห่วงใยของสังคมชั้นสูงในประเทศ ที่ต่างก็มีความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์เป็นอย่างยิ่ง บทบาทของผู้มีบารมีนอกอำนาจรัฐจึงก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่


 


ซึ่งแนวทางของส่วนนี้ มีทั้งที่เหมือนและแตกต่างจากสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินงานอยู่ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ต่างฝ่ายต่างระมัดระวังที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน 


 


อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะหนุนเสริมกันตลอดเวลา แต่ในด้านหลักคิด และแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่าทั้ง 2 ส่วนมีความแตกต่างกันอยู่มาก ประกอบกับในขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤติทางการเมืองระดับชาติที่กำลังรอการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นปมการเมืองในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นกัน


 


ประการที่ 3 แนวทางและยุทธศาสตร์ไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากที่ผ่านการลองผิดลองถูกในการควบคุมสถานการณ์ไฟใต้มาได้ระยะหนึ่ง หน่วยปฏิบัติการทหาร ตำรวจ มีความเข้าใจต่อสถานการณ์และกุมสภาต่อฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น การปฏิบัติการทางยุทธวิธีและการข่าว ได้ผลมากขึ้น แต่ฝ่ายก่อการก็ปรับตัวสู้อยู่ตลอดวลา ด้วยเทคนิค ยุทธวิธีที่พลิกแพลงมากกว่าเดิม และมักจะประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ


 


นอกจากนั้นภายใต้พระราชกำหนดบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่รัฐบาลได้ออกมา เพื่อให้ทหาร ตำรวจ ใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้สะดวกขึ้น ขณะนี้ พบว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ก่อผลกระทบข้างเคียงเป็นอย่างมาก กล่าวคือเจ้าหน้าที่มักใช้ พ.ร.ก. ด้วยความมักง่าย และสร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน ซึ่งเกิดเป็นเงื่อนไขและเกิดแนวร่วมมุมกลับมากมาย


 


อย่างไรก็ตามต้องยอมรับสิ่งที่ฝ่ายอำนาจรัฐปรับเปลี่ยน ล้วนเป็นเพียงแค่เทคนิคยุทธวิธีในการต่อสู้เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าและรัฐไม่ยอมเปลี่ยนคือแนวทางและยุทธศาสตร์ ที่มีความสำคัญมากว่า ดังนั้นแม้ว่าอำนาจรัฐจะกุมสถานการณ์ได้มากขึ้นตามที่แถลง แต่การทำงานทางการเมืองยังไม่เริ่มอย่างจริงจังและถูกต้อง ก็ยากที่จะสามารถพลิกสถานการณ์ ได้ เพราะยังไม่สามารถแก้ปมความคิด ความเชื่อ ของชุมชนท้องถิ่นได้ ยังไม่สามารถที่จะครองใจชาวบ้านได้จริง แม้ว่าจะมีงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีงานช่วยเหลือเด็กกำพร้า มีงานพัฒนาการศึกษา การพัฒนาอาชีพ


 


ประการที่ 4 ยึดพื้นที่ได้ แต่ยึดคนไม่ได้ การจัดตั้งมวลชนของภาครัฐได้ทำไปอย่างมากมาย แต่ประเมินว่าได้ผลน้อย


 


สงครามกลางเมืองในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างจากสงครามคอมมิวนิสต์ในอดีตที่ประเทศไทยเคยเอาชนะมาแล้ว ด้วยแนวทางสันติวิธี ยุทธศาสตร์การเมืองนำทหาร และนโยบาย 66/2523 ที่ลือลั่น สงครามคอมมิวนิสต์เป็นความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย เมื่อรัฐขับเคลื่อนแนวทางการปฏิวัติประชาธิปไตยเข้าแก้ปัญหา สถานการณ์จึงคลี่คลายลงได้และเกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติขึ้นอีกครั้ง จากที่เคยลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ก็กลับมาพัฒนาชาติไทยอย่างมีความหวัง


 


มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ใช้แนวทางการเมืองนำการทหารมาแก้ไขปัญหา จชต. ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องตระหนักว่าวิกฤตไฟใต้ในครั้งนี้มีบริบทที่แตกต่างจากสงครามคอมมิวนิสต์ในอดีตเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางด้านประวัติศาสตร์ ทางด้านชาติพันธุ์ ทางด้านศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งต้องการการศึกษา ค้นคว้า และออกแบบใหม่อย่างจริงจัง มิใช่ลอกเลียนนโยบาย 66/2523 มาใช้ทั้งดุ้น


 


น่าสังเกตว่าการที่อำนาจรัฐพยายามใช้แนวทางการเมืองนำทางการทหารซึ่งเคยใช้ได้ผลในสงครามคอมมิวนิสต์มาจัดตั้งมวลชน ทั้งชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิมในจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงพบช่องว่างขนาดใหญ่ทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และปมความคิดความเชื่อของชุมชนที่ยังไม่เคยได้รับการคลี่คลาย จึงมีหลักประกันน้อยมากว่าจะสามารถครองหัวใจของชาวบ้านมาด้วย จึงเข้าทำนองที่ว่า "ยึดพื้นที่ได้ แต่ยึดคนไม่ได้" "ยึดคนได้ แต่ยึดความคิดไม่ได้"


 


ประการที่ 5 สังคมใหญ่ใจแคบ ประเทศไทยและสังคมไทยทั้งหมดคือองคาพยพเดียวกัน เมื่อชายแดนใต้เจ็บป่วย ทั้งประเทศก็เจ็บปวดไปด้วย


 


แต่กระแสความเข้าใจและความต้องการของสังคมใหญ่เป็นตัวกำหนดรัฐบาล ดังนั้นหากสังคมใหญ่ ขาดความรู้ความเข้าใจต่อปัญหา และปัจจัยรากเหง้าของไฟใต้ แล้วเอาอารมณ์ความรู้สึกมากดดัน คาดหวังกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นไปด้วย


 


ปัจจุบันสังคมใหญ่มีความเข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้น้อยมาก และมีอคติอย่างสูง เพราะถูกกระแสชาตินิยมสายเดี่ยวเข้าครอบงำเป็นเวลายาวนาน ใครที่มีความคิดเห็นดีๆ จะเสนอก็ไม่กล้า มักจะถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมของฝ่ายก่อการถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะได้เห็นคนที่ไปเสียสละเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสนามรบ ต้องกลับมาถูกประชาทัณฑ์ที่บ้านของตัวเอง เพียงเพราะแสดงความเห็นด้วยความหวังดีและตรงไปตรงมา สภาพเช่นนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก หากไม่มียุทธศาสตร์ก็อย่าหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน


 


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่ใครก็ตามที่มีความห่วงใย ต้องช่วยกันแก้ไข อย่างโยนให้เป็นภาระของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และที่สำคัญแนวทางการคลี่คลายปม ก็ต้องยึดมั่นในแนวทางของสันติวิธี ใช้แนวทางทางปัญญา และมีการพูดคุยหาทางออกกันอย่างจริงจัง


 


....


 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (5) : "ปมเงื่อนที่รอการคลี่คลาย"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"


"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net