"ความยุติธรรมบนพื้นฐานความมั่นคง" บทสรุปเวทีระดมความเห็น สมช.

สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 

 

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (18 กันยายน) ณ.โรงแรมซีเอส.ปัตตานี ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในลักษณะการระดมความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 - 2554 จากผู้นำศาสนาและนักวิชาการศาสนาทั้งไทยมุสลิมและไทยพุทธ รวมทั้งภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายประกิจ ประจนปัจจนึก รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน และนายดนัย มู่สา ผู้อำนวยการสำนักความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ดำเนินการระดมความคิดเห็น

 

นายประกิจ กล่าวถึงเป้าหมายของการประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทั้งผู้นำศาสนา นักวิชาการ และภาคประชาชน รวมทั้งสตรีและเยาวชน เพื่อนำผลไปจัดทำนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 - 2554 และสามารถนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงได้

 

"การแก้ปัญหาภาคใต้เหมือนกับการปิดตาคลำช้าง ตัวมันใหญ่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครไปจับโดนตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาภาคใต้ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองเพียงอย่างเดียว" นายประกิจระบุ

 

รองเลขาธิการ สมช.เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญในการจัดทำนโยบาย คือ ปัญหาที่เป็นรากเหง้าหรือแก่นของปัญหาในพื้นที่ ซึ่งควรเร่งดำเนินการ และจะเป็นแก่นของการแก้ไขปัญหา ในระยะยาว เช่น ปัญหาสังคมจิตวิทยา การแก้ไขความหวาดระแวงความไม่วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนกับประชาชน

 

"ประเด็นข้อเท็จจริงและความจริงในสิ่งที่ประชาชนเก็บกด ความรู้สึกจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ความรู้สึกและความต้องการของภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะสอดคล้องกับวิธีคิด วิถีชีวิต อัตลักษณ์เฉพาะศาสนา และวัฒนธรรม เรื่องการศึกษา การเคารพในความแตกต่างหลากหลาย นี่คือสิ่งที่ต้องพูดกัน เพื่อจะนำไปสู่การกำหนดแผนนโยบายการแก้ปัญหา" รองเลขาธิการ สมช.กล่าว

 

ส่วนผู้ที่มาร่วมงาน ได้แสดงความคิดเห็นหลายประการ โดย นายอภิรัฐ หมัดสะอิ ดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เวลาแก้ไขปัญหามักไม่ค่อยได้ผล เพราะว่าการปฏิบัติมักจะไม่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ซึ่งมักจะตรงข้ามกับนโยบายที่เขียนไว้เสมอ เช่นการยอมรับความหลากหลายในนโยบายก็มี แต่ในการปฏิบัติจริงกลับไม่ใช่ มีแต่คนพูดกันว่าเข้าใจว่าปัญหาภาคใต้คืออะไร เช่นการศึกษา แต่การจัดระบบการศึกษาของรัฐกลับไม่คำนึงว่าคนที่เรียนจะรับได้หรือไม่ แต่พอมีการโอดครวญ รัฐถึงจะลงมาดูสักครั้ง แต่ก็ไม่ได้ตรงตามความต้องการ

 

"นอกจากนี้ ยังมีคนบางคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมักจะได้รับหลังความเจ็บปวดเสมอ ถ้าหากเขาได้รับความยุติธรรมตั้งแต่เริ่มต้น เขาก็จะรู้สึกดีทั้งต่อคนรอบข้าง เจ้าหน้าที่ รัฐบาล และจะทำให้สังคมดีกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่ เพราะส่วนใหญ่แล้วเขาจะได้รับความเป็นธรรมหลังจากความเจ็บปวด เจ็บปวดจากการกระทำของคนรอบข้าง ถึงแม้จะได้รับความเป็นธรรมในภายหลังแต่เขาก็ไม่ประทับใจ" ดาโต๊ะยุติธรรมประจำศาลจังหวัดปัตตานีกล่าว

 

นายอภิรัฐ กล่าวอีกว่าสำหรับนโยบาย หากทำให้เป็นรูปธรรมตั้งแต่เริ่มต้น อาจจะใช้เวลาสัก 10 ปี รัฐก็จะได้มวลชนจำนวนมาก เพราะเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เรียกได้ว่าเป็นสงครามมวลชน ถ้าใครได้มวลชน คนกลุ่มนั้นก็จะชนะ ซึ่งชนะด้วยการให้ความเป็นธรรม

 

ด้านนายแวยูโซ๊ะ สามะอาลี ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีเปิดเผยว่า เมื่อก่อน ใครก็ตามที่เข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ หากเกิดเหตุความไม่สงบ ชาวบ้านเขาจะเป็นห่วงมาก ดูแลรับส่งเป็นอย่างดี เพราะเกรงว่าคนที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้รับอันตราย แต่ปัจจุบันนี้คนกลุ่มดังกล่าวไม่รู้หายไปไหน เกิดเหตุขึ้นมาต่างคนต่างก็ต้องระวังตัวเอง เพราะไม่มีใครที่คอยมาดูแลใครเหมือนในอดีต

 

"ปัจจุบันชาวบ้านกลายเป็นคนเก็บกดมากขึ้น เพราะเวลามีญาติพี่น้องเสียชีวิต เขาก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำให้ญาติเขาตาย ส่วนคนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับคุมขัง ญาติเขาก็ไม่รู้ว่าคนที่ถูกคุมขังทำผิดจริงหรือเปล่า เวลาที่เขาไปติดต่อหน่วยงานราชการ เขาไม่รู้ว่าทำไมเขาต้องจ่ายเงิน ซึ่งมันไม่เหมือนกับคนอื่นๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านมันสร้างแรงกดดันให้ชาวบ้านเยอะ ความคลางแคลงใจก็เกิดขึ้นได้ง่าย ยิ่งเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่ไม่ใช่คนมุสลิม ชาวบ้านก็ยิ่งเกิดความรู้สึกแตกต่าง โอกาสที่ชาวบ้านควรจะเข้าใจภาครัฐก็หายไป"

 

เขากล่าวอีกว่ากรณีที่ชาวบ้านถูกทำให้กลายเป็นคนเก็บกด ทำให้เขาไม่พูดความจริง หรือพูดความจริงไม่หมด ซึ่งจะกลายเป็นว่าพูดความจริงทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และทั้งชาวบ้าน

 

"เพราะฉะนั้น การร่างนโยบายเพื่อหาทางออก จะต้องมีคนรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ศูนย์ดำรงธรรม คนที่รับผิดชอบจะต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และคนมุสลิมจะต้องอยู่อย่างมุสลิมในสังคมไทยเท่านั้น เพราะคนมุสลิมที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีความเป็นศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความเป็นชาติพันธุ์ด้วย" ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี

 

ทางด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(มอ.ปัตตานี) กล่าวถึงความมั่นคงว่า มีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ความมั่นคงของรัฐ ซึ่งจะต้องมีความต่อเนื่องของนโยบาย การยอมรับการอยู่ร่วมกันของสังคมที่หลากหลาย ซึ่งเป็นหัวใจของความมั่นคง และแนวคิดเรื่องสันติ ที่เป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งความยุติธรรมจะต้องอยู่บนพื้นฐานดังกล่าว

 

"ความมั่นคงของมนุษย์ เน้นการสร้างเสริมพลังอำนาจ หมายถึงคนในท้องถิ่นจะต้องมีสวัสดิการที่ดี การให้หลักประกันในเรื่องของสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เปิดโอกาสให้คนและแรงงานในท้องที่มีงานทำ เช่น อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และเสริมสร้างศักยภาพให้คนในท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

 

รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาชุมชนกล่าวอีกว่า ความมั่นคงของชุมชนจะต้องมาเป็นอันแรก เพราะหากชุมชนไม่มีความมั่นคงแล้วรัฐก็คงไม่มีความหมาย ไม่สามารถทำอะไรได้ ความมั่นคงของชุมชนหมายถึง การให้ชุมชนมีสิทธิในการแก้ไขปัญหาเอง เช่นปัญหาเรื่องทรัพยากร รวมถึงการกระจายอำนาจเพื่อสร้างความเข้มแข็งของการปกครองส่วนท้องถิ่น

 

"ถ้าหากนโยบายมีจุดเน้นทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมา ภาพใหญ่ที่จะทำตอนนี้จะเห็นชัดขึ้นในการสนองตอบความต้องการ จะมองเห็นทางออกของการแก้ปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น" รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท