Skip to main content
sharethis

โดย องอาจ เดชา


 



 


"พวกเรา...ชาวบ้านห้วยโก๋น มาขอความเป็นธรรมจากท่านทั้งหลาย โปรดให้ความเป็นธรรม ช่วยกันตรวจสอบปัญหาข้อเท็จจริง หาคนกระทำผิดมาลงโทษ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ตั้งตัวเป็นนายทุนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ อาศัยอำนาจเถื่อน ความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในการข่มขู่คุกคาม จับกุมและอพยพราษฎรชนเผ่าที่ไร้ทางต่อสู้"


 


นั่นคือเสียงร้องของชาวบ้านที่กลายเป็นแพะรับบาป เมื่อถูก จนท.รัฐ นำกำลังเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน ก่อนจับกุม พร้อมตั้งข้อหา "บุกรุกป่า" ทั้งที่อยู่กันมานานกว่า 50 ปี


 


ตัวแทนชาวบ้านห้วยโก๋น อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เรียกร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐสนธิกำลังเข้าปิดล้อมหมู่บ้าน ก่อนเข้าจับกุมราษฎรจำนวน 36 คน โดยอ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ทั้งที่หมู่บ้านนี้ตั้งมาอย่างถูกต้อง นานกว่า 50 ปี ตามนโยบายการจัดการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ในขณะที่ ศปส.ชี้พิรุธ นายทุนร่วมกับจนท.รัฐ แอบบุกรุกป่า แต่จนท.เลือกกลับเลือกปฏิบัติจับชาวบ้านกลายเป็นแพะรับบาป


 


ตามที่ นายอดุลย์ ทรงชัยกุล นายอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ รับแจ้งจาก อบต.ป่าตุ้ม อ.พร้าว ว่าก่อนหน้านั้น กลุ่มผู้ใช้น้ำแม่สะลวม ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สะลวม บริเวณบ้านขุนโก๋น พบว่ามีชาวเขาเผ่าอีก้อ และเผ่าลีซอ ได้บุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำ และสร้างเพิงพัก จำนวน 40 หลังคาเรือน ในเขตป่าต้นน้ำแม่สะลวมบ้านขุนโก๋น เขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา


 


นายอำเภอพร้าว ระดมกำลังออกคำสั่งอพยพ-จับกุมชาวบ้าน


หลังจากรับแจ้งทาง นายอำเภอพร้าว ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมมีคำสั่งอำเภอพร้าว ที่ 604/2549 มีมติให้ชาวเขาทั้งหมดออกจากพื้นที่ป่าบ้านขุนโก๋น เขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ภายในวันที่ 1-7 ก.ย.นี้ หากพ้นกำหนดยังไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ จะประสานงานกับ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจับกุมดำเนินคดีทันที



กระทั่งในวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางอำเภอพร้าว โดยนายอดุลย์ ทรงชัยกุล นายอำเภอพร้าว ได้สั่งการให้ นายธนวัฒน์ จิตต์กาวิน ปลัดฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลัง นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.ท.ฐานันท์ พัฒนพงศ์สิน รอง ผกก.ป.สภ.อ.พร้าว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จากหน่วยอุทยานแห่งชาติศรีลานนา สำนักงานส่วนบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 16  ชุดเจ้าหน้าที่ทหารจากกองกำลังผาเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจตะเวนชายแดน 3354  และอาสาสมัครรักษาดินแดน(อส.)  ประมาณ 300 นาย  พร้อมอาวุธสงครามครบมือ  ได้กระทำการปิดล้อมจับกุมชาวบ้านห้วยโก๋น  หมู่ที่11  ตำบลป่าตุ้ม  อำเภอพร้าว  จังหวัดเชียงใหม่


 


โดยการปฏิบัติการครั้งนี้  ชุดเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมชาวบ้านได้ 21 คน   ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซูและอาข่า พร้อมกับตั้งข้อหา  "ก่นสร้างแผ้วถางเผาป่าด้วยกระทำการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า  ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่อาศัยในที่ดิน  ก่นสร้างแผ้วถางป่าหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต"  ซึ่งการกระทำดังกล่าว  ได้มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างหนักว่า  เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่อราษฎรที่ไม่มีความผิดและไร้ทางต่อสู้ ทั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้  ก็มีใบอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้อาศัยอยู่


 




 


หลังจากนั้น  เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวชาวบ้านทั้ง 36 ราย มาทำการสอบสวนให้ปากคำที่ สภ.อ.พร้าว และมีการตรวจสอบหลักฐานเอกสารการครอบครองที่ดินพบว่า ในจำนวน 36 ราย พบว่ามีเพียง 15 ราย ที่ผ่านการตรวจสอบ ส่วนอีก 21 ราย เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาให้เจ้าของบ้านมีความผิดฐาน บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยมอบตัวให้ ร.ต.อ.ศรจันทร์ สิทธิปัญญา ร้อยเวร สภ.อ.พร้าวดำเนินการ


สจ.เขต อ.พร้าว โดดป้องชาวบ้าน ยื่นหลักทรัพย์ 3.6 ล้าน ประกันตัว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอรุณ ธนหมี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (ส.อบจ.เชียงใหม่) เขต อ.พร้าว ได้เป็นเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมนำหลักทรัพย์วงเงิน 3.6 ล้านบาท มายื่นขอประกันตัวชาวบ้านทั้ง 36 ราย ออกไป


 


นายอรุณ ธนหมี ส.อบจ.เชียงใหม่ เขต อ.พร้าว เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า ได้นำหลักทรัพย์ส่วนตัวเพื่อประกันตัวชาวบ้านทั้งหมดออกมา ซึ่งทำไปตามหน้าที่ของผู้แทนชาวบ้าน โดยไม่ได้แยกแยะว่าชาวบ้านกลุ่มไหนเป็นคนพื้นราบหรือชาวเขา และอยากเป็นตัวกลางในการประสานงานดูแลปัญหาดังกล่าวให้มีความบริสุทธิ์และยุติธรรมเกิดขึ้น 


 


"เนื่องจากมีหลายฝ่ายมองว่าว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้  เป็นการกระทำที่ดูรุนแรงเกินไป ถึงขั้นมีการขับไล่ให้อพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน  ทั้งที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้อยู่ในพื้นที่ตรงนี้มานานหลายสิบปี และที่สำคัญ พื้นที่ตรงนี้ รัฐเป็นผู้ดำเนินการอพยพชาวบ้านจากบ้านอาบอเน ให้ย้ายมาอยู่ ตามมติของรัฐบาล ที่ร่วมกันทั้ง 5 กระทรวง ตามนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2531 แล้วจู่ๆ ก็มีคำสั่งให้อพยพออกจากพื้นที่โดยชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย"นายอรุณ กล่าว


 


นายอรุณ กล่าวอีกว่า หลังจากได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวชาวบ้านออกไปแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างสอบสวนของ จนท.ตำรวจ สภอ.พร้าว อยู่ ซึ่งตนอยากให้มีการดำเนินการสอบสวนและตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลให้ถูกต้องเสียก่อน


 


ตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ


ล่าสุด ตัวแทนชาวบ้านที่ถูกไล่อพยพออกจากหมู่บ้านห้วยโก๋น และกลุ่มชาวบ้านจำนวน 21 คนที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ได้ทำหนังสือยื่นต่อ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยในหนังสือระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้  ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจรวมถึงความไม่มั่นคงต่อครอบครัวและวิถีชีวิต  เนื่องจากหัวหน้าครอบครัวถูกดำเนินคดี  และทางอำเภอพร้าวยังมีคำสั่งให้อพยพหมู่บ้านออกจากพื้นที่ทันที  โดยที่ไม่ได้เตรียมโครงการรองรับ  เช่น  พื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคอื่น ๆ แต่อย่างใด


 



 


 


ในนามผู้แทนผู้ต้องหา  ครอบครัวและญาติพี่น้อง  ใคร่ขอความเป็นธรรมมายังท่านเพื่อให้มีคำสั่ง  ให้ประธานคณะอนุกรรมการหรือผู้แทนคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ในประเด็นต่อไปนี้


 


1.  ขอให้สอบสวนตรวจสอบการจับกุมชาวบ้านห้วยโก๋น ตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว 21 ราย  ครั้งนี้ว่าเป็นการจับกุมโดยชอบหรือไม่  เพราะการจับกุมครั้งนี้ไม่มีการขออำนาจศาลและออกหมายจับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน  มาตรา 237 และมาตรา 238  โดยอำเภอและเจ้าหน้าที่ป่าไม้  อ้างว่าชาวบ้านกระทำผิดซึ่งหน้า  ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ  ข้อหา  ก่นสร้างแผ้วถางเผาป่าด้วยกระทำการใด ๆ อันเป็นการทำลายป่า  ยึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่อาศัยในที่ดิน  ก่นสร้างแผ้วถางป่าหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต  


 


และนายอำเภอพร้าว ได้มีคำสั่งให้อพยพหมู่บ้านออกจากพื้นที่โดยทันที  ซึ่งตามข้อเท็จจริงและชาวบ้านอาศัยทำกินในพื้นที่แห่งนี้มานานตั้งแต่บรรพบุรุษกว่า 50 ปี  ประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพด  ปลูกพืชผักอย่างเพียงพอมาโดยตลอด  อีกทั้งหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีโครงการดอยเวียงผามาจัดตั้ง  เพื่อส่งเสริมพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านตั้งแต่  ปี พ.ศ. 2531  สิ้นสุดโครงการปี  พ.ศ. 2535  ซึ่งเป็นที่รับรู้กันของทางราชการ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่ถูกดำเนินคดี  และให้อพยพออกจากพื้นที่แต่อย่างใด


 


2. ขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้งชาวบ้านที่ไม่มีทางต่อสู้  การเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ  และคืนความยุตืธรรมให้แก่ราษฏรบ้านห้วยโก๋น 21 ราย  พร้อมยกเลิกคำสั่งอำเภอพร้าวเรื่องการอพยพหมู่บ้านห้วยโก๋น


 


เนื่องจากการจับกุมครั้งนี้  นายอำเภอพร้าวอ้างว่า ได้รับแจ้งจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตุ้ม  ว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำแม่สะสวมในเขตตำบลป่าตุ้ม  ตำบลเวียง  ตำบลทุ่งหลวง และตำบลเขื่อนผาก  ได้ร่วมกันตรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สะลวม  บริเวณบ้านห้วยโก๋น  พบว่ามีราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่าลีซูและอาข่าได้บุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำและสร้างเพิงพักกว่า 40 หลังคาเรือนนั้น


 


จากการศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ดังกล่าว  โดยเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และเครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์ สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ  พบว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตุ้ม ไม่ได้มีมติตามที่อำเภอพร้าว กล่าวอ้างแต่อย่างใด  แต่ อบต.ป่าตุ้ม มีมติขอให้ทางอำเภอและเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติศรีลานนา เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ที่ถูกนายทุนผู้มีอิทธิพลและเจ้าหน้าที่รัฐบางคนบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำในเขตป่าอุทยานแห่งชาติศรีลานนา  หากพบว่ามีนายทุนบุกรุกป่าจริง  ขอให้ดำเนินคดีแต่กลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ขั้นเด็ดขาด 


 


แต่กลับกลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่อำเภอและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปจับกุมราษฎรและอพยพหมู่บ้านห้วยโก๋นแทน  ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่


 


นอกจากนั้น ภายในหมู่บ้านยังพบหลักฐานเสาหมุดของกรมที่ดิน เมื่อปี พ.ศ. 2549  จากการสอบถามที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้รับคำตอบว่า  ดำเนินการภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า  หากใครถือครองที่ดินและมีเอกสารสิทธิ สค.1 มาก่อน  ก็จะได้รับเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินในอนาคต  ซึ่งมีคนไปแจ้งความจำนง  ว่าที่ดินผืนนี้มีเจ้าของถือเอกสาร สค.1  ขอให้กรมที่ดินไปรังวัดปักหมุด  โดยราษฎรบ้านห้วยโก๋นไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด 


 


ชี้ให้เห็นว่า การจับกุมและอพยพชาวบ้านครั้งนี้  เป็นการสนองความต้องการของนายทุนที่ยึดครองที่ดินผืนนี้ เหมือนกับว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจหรือไม่


 



 


 


ด้าน นายวิวัฒน์ ตามี่  จากศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกคำสั่งให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ รวมทั้งเข้าจับกุมชาวบ้านอย่างอุกอาจครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ถือเป็นการการะทำที่ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง


 


"จริงๆ แล้ว ชาวบ้านห้วยโก๋น เป็นชนเผ่าดั้งเดิมติดแผ่นดิน มีสัญชาติไทย อาศัยทำกินในพื้นที่แห่งนี้มานานนับแต่บรรพบุรุษกว่า 50 ปี และมีการลงทะเบียนที่ดินไว้ตามมติ ครม. 11 พฤษภาคม 2542 แต่ต่อมา มีการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา เมื่อปี พ.ศ. 2542  ทำให้หมู่บ้านห้วยโก๋นและหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงถูกอุทยานแห่งชาติศรีลานนาประกาศทับที่ทั้งหมด จึงกลายเป็นผู้บุกรุกและอยู่ในเขตป่าอย่างผิดกฎหมาย"


 


นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา ทาง สจ.ในเขต อ.พร้าว ได้มีการเสนอโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่สะลวม ซึ่งต่อมารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และได้รับอนุมัติงบประมาณ 500 ล้าน และมีแผนจะสร้างอ่างเก็บน้ำในอีก 3-4 ปี ข้างหน้า ซึ่งนายทุนท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ จึงกว้างซื้อที่ดินทำกินของราษฎรพื้นราบที่อาศัยทำกินตลอดลำห้วยแม่สะลวมไปจนถึงบ้านห้วยโก๋นในราคาถูกและพยายามบุกเบิกป่าใหม่กว่า 1,000 ไร่ เพื่อเก็งกำไรและเตรียมขอค่าชดเชย หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ


 


"เป็นที่น่าสังเกตว่า น่าจะมีการฮั้วในเรื่องการฮุบที่ดินในบริเวณห้วยโก๋น ระหว่างนายทุน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพล ที่พยายามจะบุกรุกป่าผืนนี้ ซึ่งแทนที่จะดำเนินการกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้ แต่กลับมาจับชาวบ้านห้วยโก๋นแทน ซึ่งเราคงต้องเรียกร้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านต่อไป"


 


ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของชาวบ้านห้วยโก๋น ในตอนท้ายได้ระบุว่า สภาอบต. มีมติหลายครั้ง เสนอให้มีการตรวจสอบนายทุนบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ แต่แทนที่จะดำเนินการกับนายทุนและผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเอาราษฎรห้วยโก๋นมาเป็นแพะรับบาป สังเวยตัณหาผลประโยชน์อำนาจเถื่อนของนายทุนและผู้มีอิทธิพลเจ้าหน้าที่รัฐ...ราษฎรผู้บริสุทธิ์กลายเป็นผู้ร้ายและผู้ต้องหาอาญาแผ่นดินในชั่วข้ามคืน...


 


นี่เป็นอีกกรณีหนึ่งกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในผืนแผ่นดินไทย และคงไม่ใช่พื้นที่สุดท้าย หมู่บ้านสุดท้าย กับปัญหาบริหารงานของรัฐ การใช้อำนาจรัฐโดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย กับการเลี่ยงกฎหมายของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน นักการเมืองท้องถิ่นบางกลุ่ม เพื่อหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของแผ่นดิน โดยอาศัยชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ต้องกลายเป็นแพะ เป็นผู้ถูกกระทำแทน!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net