Skip to main content
sharethis

หลังความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี โดยมีเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่หลายครั้ง ล่าสุดคือการวางระเบิดที่ อ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2549


 


แม้จะไม่รู้ว่าความรุนแรงดังกล่าวจะมาด้วยเหตุผลใดหรือคนกลุ่มใด "อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ"หรือ อับดุลสุโก นักวิชาการมุสลิม ได้เขียนบทความระบุว่า การก่อการร้ายไม่ว่ากรณีใดก็ตามไม่ใช่การกระทำตามคำสอนของศาสนาอิสลามหรือของศาสดามูฮัมมัด และไม่ควรค่าแม้แต่การเอ่ยอ้างถึงการเป็น ญีฮาด หรือการกระทำเพื่อศาสนาอย่างแน่นอน


 


ศาสนาอิสลามและคำสอนของศาสดาเป็นอย่างไร "อับดุชชะกูร์" ยกหลากคำสอนความเป็นศาสนาแห่งสันติจากอัลกุรอานมาให้คิดวิเคราะห์กันเบื้องล่างนี้


 


ooooo


 


อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ(อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา


 


ด้วยพระนามของอัลลอฮ์  ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ     มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิพระองค์ผู้ทรงอภิบางแห่งสากลโลก  ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสดามูฮัมมัด  และผู้เจริญรอยตามท่านสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน


 


จากเหตุการณ์ระเบิดหาดใหญ่และดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า เหตุระเบิดกลางเมืองหาดใหญ่เมื่อวันที่ 16 กันยายน อธิบายได้หลายเหตุผล เริ่มจากเหตุผลในเรื่องของวันก่อเหตุ คือวันที่ 16 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสถาปนาของขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี หรือ จีเอ็มพี ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2528 วัตถุประสงค์ก็เพื่อสถาปนารัฐปัตตานี โดยยึดแนวทางแบบมูจาฮีดีนที่แพร่หลายในอัฟกานิสถาน คือพยายามเคลื่อนไหวด้วยการใช้กำลัง


 


ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า การใช้ความเชื่อเรื่อง "นักรบเพื่อศาสนา" ของมูจาฮีดีน เมื่อผนวกเข้ากับยุทธศาสตร์การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จึงทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงกับสถาบันการเงิน และย่านธุรกิจกลางเมืองหาดใหญ่ ดังที่เห็นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม และ 16 กันยายน


 


ถึงแม้เหตุการณ์ระเบิดที่สังหารผู้บริสุทธิ์ที่หาดใหญ่เมื่อเร็วๆนี้จะยังไม่ทราบผู้ลงมือ แต่หลายหน่วยงาน  หลายคนพุ่งเป้าความสงสัยไปที่ผู้ก่อการที่ต้องการสถาปนารัฐปัตตานีซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม และมุสลิมเองคงปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเหตุการณ์ที่ภาคใต้เกิดจากน้ำมือมุสลิมบางคน บางกลุ่ม(ไม่ใช่มุสลิมส่วนใหญ่ที่รักสันติและเข้าใจหลักศาสนา) ดังนั้นหลักการศาสนากับบุคคลเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องแยก


 


ในขณะเดียวกันมุสลิมเองควรกลับมามองและกล้าวิจารณ์ศาสนิกตนเองเมื่อทำผิดถึงแม้ต้นสายปลายเหตุทุกคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอันเนื่องมาจากมุสลิมถูกกระทำก่อนด้วยเช่นกัน  ความอยุติธรรมที่ถูกรังแกก่อนและถูกสังสมในชายแดนใต้เป็นสาเหตุที่เติมเชื่อไฟ ในหลักศาสนาอิสลามเองสนับสนุนให้มุสลิมจงพิจารณาตนเอง


 


แนวคิดสุดโต่งด้านศาสนาในหมู่มุสลิมย่อมมีปัจจัยเกื้อหนุน ชัยคฺ ศ.ดร.ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ (ชาวอียิปต์) ประธานของสหภาพนักปราชญ์มุสลิมนานาชาติ (IAMS) ยอมรับในแนวคิดสุดโต่งในหมู่มุสลิมเองและกล่าวว่า ปัจจัยต่างๆ ของแนวคิดสุดโต่งและชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหามาจาก


1.การขาดแนวคิดสายกลาง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้แนวคิดอิสลามสายกลางเป็นที่แพร่หลายในหมู่คนหนุ่มสาว เพื่อที่พวกเขาจะพบวิถีทางที่ถูกต้องแทนที่พวกเขาจะทำตัวไม่เปิดเผย ซึ่งการขาดแนวคิดเช่นนี้ได้เปิดโอกาสให้แนวคิดสุดโต่งแทรกเข้ามา

2.
การขาดอุละมาอฺ(นักปราชญ์อิสลามศึกษา) ที่แท้จริง ซึ่งสามารถให้ความเชื่อมั่น (ต่อแนวทางสายกลาง) ด้วยหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ (วจนศาสดา) พวกเขาได้หายไปจากสนามแห่งนี้ จึงเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ขาดคุณสมบัติ ที่ถูกเรียกว่าอุละมาอฺซึ่งทำงานเพื่อผู้ที่มีอำนาจ    ดังนั้น คนหนุ่มสาวจึงสูญเสียความเชื่อมั่นไป และได้ตั้งตัวพวกเขากันเองให้เป็นชัคย์ (คือเป็นโต๊ะครูหรือนักปราชญ์อิสลามศึกษา) ในการฟัตวา (วินิจฉัยหลักศาสนา) ประเด็นปัญหาที่ซับซ้อน

3.
การแพร่กระจายของความชั่วร้ายและเพิ่มขึ้นของการกดขี่ในสังคมเป็นเหตุผลที่สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรง

(
โปรดดู  : ชัยคฺ ดร.ยูซุฟ อัล ก็อรฎอวียฺ เขียน อบูรญาล แปลเรียบเรียง คัดลอกจาก fidyah.com)


 


ดังนั้นในชุมชนมุสลิมจะต้องให้ความเข้าใจในหลักการศาสนาที่ถูกต้องแก่คนรุ่นคนหนุ่มสาวและคนที่ต้องแบกภาระดังกล่าวคืออุลามาอฺหรือปราชญ์ด้านศาสนาเพราะผู้นำศาสนาคือผู้รับมรดกจากศาสดา


ถึงแม้เหตุการณ์  11 กันยายนที่สหรัฐอเมริกาถึงเหตุการณ์ประท้วงการ์ตูนล้อเลียนศาสดาและการการประท้วงโป๊ปอย่างสุดโต่งของมุสลิมบางกลุ่ม ผู้เขียนมีทัศนะว่าโลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่า "สงครามวัฒนธรรม" (Culture Wars) หรือ "ความขัดแย้งระหว่างระหว่างอารยธรรม" (The Clash of Civilizations) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโลกทัศน์ 2 แบบที่กำลังต่อสู้กันอยู่ ความขัดแย้งระหว่างโลกทัศน์ที่แตกต่างทั้งสองนี้ กำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมโลกทั้งมวล รวมทั้งประเทศไทยโดยเฉพาะชายแดนใต้


 


"การปะทะระหว่างอารยธรรม" ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอคติ และความคลางแคลงใจระหว่างศาสนาและเชื้อชาติ  ฮันติงตันเชื่อว่าความแตกแยกระดับมหภาคระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และที่มาของความขัดแย้งต่างๆ จะมาจากด้านวัฒนธรรม การปะทะกันระหว่างอารยธรรม จะครอบงำการเมืองโลก .....   การปะทะที่สำคัญที่สุดจะเป็นการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตก กับ "อารยธรรมที่มิใช่ตะวันตก"


 


แต่เขาใช้พื้นที่ส่วนใหญ่ในบทความและหนังสือ บรรยายความขัดแย้ง ทั้งที่เกิดขึ้นจริงและมีแนวโน้มว่าจะเกิด ระหว่างอารยธรรมที่เขาเรียกว่า ตะวันตกข้างหนึ่ง และอารยธรรม "อิสลามและขงจื๊อ" อีกข้างหนึ่ง ในแง่รายละเอียด ฮันติงตันให้ความสนใจอย่างไม่เป็นมิตรเอามากๆ กับอิสลาม มากกว่าอารยธรรมอื่นใดทั้งหมด ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนับวันยิ่งทวีความรุนแรง


 


คำว่ามุสลิมสุดโต่ง  กับ   การยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism ) "อิสลามานุวัตร" (Islamization) มุสลิมเองหรือต่างศาสนิกต้องทำความเข้าใจ


            


คำว่า "ฟันดะเมนทะลิสม์" (Fundamentalism) โดยภาษาแล้วหมายถึง การยึดติดอยู่กับหลักการสำคัญหรือยึดติดอยู่กับคำสอนพื้นฐาน "ฟันดะเมนทะลิสม์" มีสองความหมายด้วยกัน ความหมายหนึ่งของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ก็คือการยึดมั่นในหลักการที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า "อิตติบะอ์"หรือการยึดมั่นทั้งในลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์


 


ยุคปัจจุบันเป็นยุคของเสรีภาพทางศาสนา ถ้าใครบางคนกล่าวว่า เขายึดถือศาสนาของเขาตามตัวอักษรก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้านเพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติตามเสรีภาพทางศาสนาของเขา ในขณะความหมายที่สองของ "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ถูกแปลในความหมายว่า หมายถึงการใช้กำลังบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนาของตนเอง ดังนั้นผู้เขียนมีทรรศนะว่า  "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์ในความหมายที่สอง"จะขัดกับเจตนารมณ์และเหตุผลของอิสลามทันที


 


แนวความคิดที่สองของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" นี้เองได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ยุคปัจจุบันเรียกกันว่า "ลัทธิสุดโต่ง" (Extremism) หรือลัทธิก่อการร้ายอิสลาม ทั้งๆที่ความจริงแล้วคำว่า "ลัทธิสุดโต่ง" หรือ "ลัทธิก่อการร้าย" นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเอง


 


ความเป็นจริงหลักคำสอนของอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ มันไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่จะถือว่าอิสลามเป็นที่มาของคำว่า ลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่ง ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า "ศาสนาที่ถูกประทานแก่ฉันเป็นศาสนาแห่งความกรุณาปรานีและใจกว้าง"


    


.ดร.มะฮฺมูด ฮัมดี ซักซูก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติ แห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ กล่าวว่า


 


"อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีความกรุณาปราณี และส่งเสริมให้มีความยุติธรรม และสันติภาพ นอกจากนั้นอิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศและความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นเพียงคำขวัญ แต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยวอยู่ด้วย พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ส่งศาสดามุฮัมมัด ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ โองการที่ 107 ความว่า "และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย" และศาสดาทรงตรัสเช่นเดียวกันว่า "ตัวฉันเองได้ถูกส่งมาเพื่อทำให้จรรยาบรรณที่สูงส่งนั้นสมบูรณ์ยิ่ง"


 


"มีการเปรียบเทียบกันระหว่างความศรัทธาในศาสนาอิสลามและสันติภาพ ในภาษาอาหรับทั้งสองคำคือ "อิสลาม" และ "สลาม" แปลว่า "สันติภาพ" และมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เอง ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า สันติภาพเมื่อบรรดามุสลิมทักทายกันก็จะทักทายกันด้วยการให้สลาม (อัสลามุอะลัยกุม แปลว่าขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) เสมือนเป็นการเตือนอยู่เสมอว่า ความสันตินั้นเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญของอิสลามที่จะต้องเก็บรักษาไว้ในจิตใจของมุสลิมทุกคน มุสลิมทุกคนเมื่อละหมาดวันละ 5 เวลา ก็จะจบการละหมาดลงด้วยการให้สลามโดยการหันหน้าไปทางขวา และหันหน้าไปทางซ้ายพร้อมกับกล่าวสลาม (ความสันติ)


 


" อิสลามเป็นศาสนาที่รักความสันติ โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรง ความบ้าระห่ำ การก่อการร้าย หรือการโจมตีบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม คำสั่งสอนและหลักการของอิสลามมุ่งที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในชีวิต ครอบครัว ความเชื่อ ความคิด และทรัพย์สิน หลักการศรัทธาในอิสลามห้ามไม่ให้มีการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งการทำร้ายผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการทำร้ายมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมาอีดะฮฺ โองการที่ 34 ความว่า


"แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่ทดแทนอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"


 


ดังนั้นปัจเจกชนจึงเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และความห่วงใยของศาสนาอิสลามในเรื่องการพิทักษ์รักษามนุษยธรรม จึงปรากฏอยู่ในการที่มนุษย์คนหนึ่งให้ความเคารพต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยการเคารพถึงเสรีภาพ ความมีศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของเขา ศาสดาได้ทรงตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า "มุสลิมนั้นห้ามที่จะมีการนองเลือด ลักทรัพย์ หรือทำลายเกียรติภูมิของมุสลิมด้วยกัน" นอกจากนั้นศาสดายังได้ทรงตรัสอีกว่า "ผู้ใดที่ทำลายล้างผู้ซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้า จะไม่ได้รับการให้อภัยในเรื่องของการทำร้ายนั้นในวันพิพากษา"


 


ศาสนาอิสลามได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประชาชาติและเชื้อชาติอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี อีกทั้งให้มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ด้วยความยุติธรรม ดังมีหลักฐานปรากฏใน ซูเราะฮฺที่ 60 โองการอัลกุรอานที่ 8 ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม"


 


ความรับผิดชอบที่จะรักษาสมาชิกของประชาคมใดๆ เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในประชาคมนั้นๆ การรับผิดชอบร่วมกันจึงเป็นหนทางเดียวที่จะให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพ เพื่อที่จะไม่ให้มีการโกงกินกัน มีอันตรายมาคุกคาม และเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมทรามลง


 


ในอีกตอนหนึ่ง ศาสดาได้ทรงเปรียบเทียบพวกเราทุกคนเสมือนกับบุคคลที่นั่งอยู่เต็มเรือ โดยมีคนจำนวนหนึ่งอยู่บนดาดฟ้าของเรือ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายในเรือลำนั้น เมื่อคนที่อยู่ในเรือต้องการน้ำที่จะดื่ม จึงขึ้นไปหาคนที่อยู่บนดาดฟ้าแล้วบอกว่า เขาสามารถที่จะหาน้ำดื่มได้โดยการเจาะรูที่ท้องเรือ ซึ่งในการกระทำเช่นนั้น เขาไม่ต้องการที่จะทำลายบุคคลที่อยู่ข้างบน ดังนั้น หากบุคคลที่อยู่บนดาดฟ้าอนุญาตให้เจาะรูที่ท้องเรือได้ทุกคนก็จะต้องจมน้ำตายหมด"


 


ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าในคำภีร์กุรอานของอิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองและสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด  การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดในภาษาภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเองแต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพราะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า :

"เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า "จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน"  พวกเขากล่าวว่า "เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆต่างหาก" แท้จริง  พวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (กุรอาน 2:11-12)

อิสลามต้องการให้มนุษย์ทั้งหมดทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในความสันติและความสมานฉันท์ อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมและอิสลามใช้ให้มุสลิมมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่นอัลลอฮได้ตรัสความว่า

"อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (60:8)


 


ที่ประชุมภายใต้วัตถุประสงค์พิเศษของผู้นำชาติมุสลิมที่นครมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอารเบีย  ตามคำร้องขอของ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซิส แห่งซาอุดิอารเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม2548 ได้ประกาศ  "ปฏิญญาเมกกะฮ์"   ยอมรับว่ามีมุสลิมหลายคนและหลายกลุ่มมีแนวคิดสุดโต่ง


เป้าหมายของการประชุมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย ทั้งนี้ผู้นำของ 57 ชาติสมาชิกองค์การที่ประชุมอิสลาม (โอไอซี) ได้เน้นแนวทางสันติของอิสลาม โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาวิธีคิดแบบสุดขั้วของกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งพยายามตอบคำถามกรณีที่มีผู้พยายามนำศาสนาอิสลามไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย โดยที่ประชุมเน้นเป็นพิเศษถึงเรื่องการ "ฟัตวา" (Fatwas) หรือการชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ว่า ต้องดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับเท่านั้น


 


"ซาอุด อัล-ไฟซาล" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซาอุดิอารเบีย เสนอให้จัดตั้ง "สถาบันนิติศาสตร์อิสลาม" ของโอไอซี  "ให้เป็นองค์กรอ้างอิงสูงสุด.... เพื่อกำหนดวิธีการที่จะระงับการตีความและการชี้ขาดที่แตกต่างกัน จนขยายกลายเป็นความขัดแย้ง"














   


 


 


 


ใน "ปฏิญญาเมกกะฮ์" ดังกล่าวได้เรียกร้องให้ชาติมุสลิม "ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคำสอนที่บิดเบือนหลักการสันติของอิสลาม" และสร้าง "สามัคคีมหาประชาชาติ" เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและสนับสนุนข้อเสนอของซาอุดิอารเบีย ให้จัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย (โปรดดู http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=453&Itemid=58)


 


การนำเอาลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่งมาใช้ในนามของอิสลามเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอันใดกับอิสลาม และมุสลิมที่ใช้วิธีการก่อการร้ายหรือใช้ลัทธิสุดโต่งในนามของอิสลามนั้นก็ถือว่าเป็นการนำเอาอิสลามไปใช้ในทางที่ผิด (บรรจง บินกาซัน สรุปจาก : Principles of Islam โดย วาฮิดดุดดีน คาน คัดลอกจาก ไทยมุสลิมช็อป)


นักรบด้านศาสนาหรือมุญาฮิดดีนที่ทำการญิฮาดตามหลักศาสนาเป็นสิ่งต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง  


 


ความหมายของ'ญิฮาด'
- ในด้านภาษา 'ญิฮาด' เป็นภาษาอาหรับที่มาจากคำว่า 'ญะฮฺดุน' ซึ่งหมายถึง 'การทำอย่างยากลำบาก,การปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความเหนื่อยล้า' หรือมาจากคำว่า 'ญุฮฺดุน' ที่หมายถึงความพยายามอย่างจริงจัง



- ในด้านวิชาการ ญิฮาดหมายถึงการใช้ความพยายามเพื่อบรรลุถึงความดีและการป้องกันความชั่ว ตามพจนานุกรมอาหรับ-ไทย  แปลไว้ ๒ ความหมาย  คือ  การพลีและการต่อสู้ เป็นคำที่บ่งบอกถึงจิตสำนึกอันสะท้อนถึงสัญชาตญาณแห่งการรักษาและปกป้องชีวิตของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งปวง


ญิฮาดสามารถปฏิบัติได้ในหลายๆด้านโดยวิธีการต่างๆ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย ความยากจน การไม่รู้หนังสือโรคภัยไข้เจ็บและการต่อสู้ต่อพลังความชั่วในโลกทั้งหมด การต่อสู้นั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการต่อสู้กับตัวเอง เรียกว่า  "ญิฮาดุนนัฟส์" ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด คือ ตัวเอง การต่อสู้กับตัวเอง หมายถึงการเอาชนะอารมณ์ของตนเองให้ได้ และอารมณ์ของมนุษย์นั้นถูกแบ่งออกเป็น  ๒ อารมณ์  เป็นขั้นพื้นฐาน  นั่นคือ

๑. อารมณ์ใฝ่ชั่ว คัมภีร์อัล-กุรอาน เรียกว่า "อัมมาเราะตุลบิซซูอ์เรียกสั้น ๆ ว่า "อัมมาเราะฮ์หมายถึงอารมณ์ที่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหา เช่น โกรธ หลง ริษยา เกลียด หยิ่ง ผยอง เป็นต้น




๒. อารมณ์ใฝ่ดี  คัมภีร์อัล-กุรอาน เรียกว่า "อันนัฟซุนมุฏมะอินนะฮ์เรียกสั้นๆ ว่า "มุฏมะอินนะฮ์" หมายถึง อารมณ์สงบสะอาดบริสุทธิ์เนียนนิ่ง  เนื่องจากต่อสู้เอาชนะกิเลสต่าง ๆ ได้อย่างราบคราบแล้ว


ศาสดามุฮัมมัดได้บัญชาแก่มนุษย์ทุกคนให้พยายามต่อสู้เอาชนะตัวเองให้ได้  เพื่อบรรลุสู่อารมณ์ "มุฏมะอินนะฮ์" และพระเจ้าทรงเชิญชวนคนที่เอาชนะตัวเองจนอารมณ์สงบบริสุทธิ์ดังกล่าวนั้นให้เข้าสวรรค์ดังบัญญัติในอัลกุรอาน ความว่า


"อารมณ์อันสงบเอ๋ย  เจ้าจงเข้ามาหาพระเจ้าของเจ้าโดยความยินดีและได้รับความยินดีเถิด  ดังนั้นเจ้าจงเข้ามาอยู่ในกลุ่มทาส (ผู้จงรักภักดี) ของข้า  และจงเข้าสวรรค์"  (อัลฟัจร์27)


สงครามอันยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของมนุษย์ คือ การต่อสู้เอาชนะตัวเอง  ด้วยวิธีการและยุทธวิธีอันหลากหลายเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้



๑. รู้จักตัวเอง กล่าวคือ ผู้เข้าสู่สมรภูมิรบกับตนเองจะต้องรู้จักตัวเองให้ดี  เรียนรู้ว่ากิเลสของตนเองปัจจุบันมีมากน้อยเพียงใด  สามารถนิยามกิเลสตัณหาที่อยู่ในชีวิตภายในอย่างแจ้งชัด  ผลแห่งกิเลสที่ทำให้ชีวิตต้องอับเฉาและอับปาง  กิเลสเป็นต้นเหตุแห่งความเครียดและความทุกข์อันเป็นพิษร้ายแห่งชีวิต  เมื่อมนุษย์ปล่อยให้กิเลสครอบงำมนุษย์จะอยู่ในความมืดบอดมองหนทางไปสู่สวรรค์ไม่เห็น  กระจกสะท้อนภาพแห่งกิเลสต่าง ๆ คือความศรัทธา (อีมาน)การปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ(อิสลาม)และคุณธรรม(อิห์ซาน) ที่สร้างสมอยู่ในชีวิตอย่างบูรณาการ

๒. สร้างกติกาแห่งชีวิต (มุซาเราะเฏาะฮ์) กล่าวคือ การดำเนินชีวิตในแต่ละวันจะต้องกำหนดทิศทาง เป้าหมาย และกำหนดการประจำวัน และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ให้เป็นไปตามกติกาที่ตัวเองวางไว้จากคำสั่งที่บัญญัติโดยศาสนา  ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน  แบ่งเวลาของตัวเองในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น แบ่งเวลาสำหรับการทำงานหาเลี้ยงชีพ  นอนพักผ่อน  ออกกำลังกาย  ปฏิบัติศาสนกิจ  ร่วมกิจกรรมทางสังคม

๓. หมั่นเพียรประกอบศาสนกิจอย่างเอาจริงเอาจังและเคร่งครัด (มุญาฮะดะฮ์)  ต้องให้ความสำคัญแก่ศาสนกิจเหนือกว่ากิจกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น  ศาสนกิจมีทั้งส่วนที่ต้องทำเป็นประจำวัน  เช่น ละหมาดวันละ ๕ เวลา  ละหมาดประจำสัปดาห์  เช่น  ละหมาดวันศุกร์  ละหมาดประจำปี เช่น ละหมาดวันอีด  และศาสนกิจประจำชีวิต เช่น การประกอบพิธีฮัจญ์

๔. ต้องประเมินผลตัวเองทุกวัน  (มุฮาซะบะฮ์)  ในสิ่งที่ตนเองได้กระทำผ่านพ้นไป เพื่อการปรับปรุงตัวเองในวันต่อไป  เมื่อตื่นจากนอน  ชีวิตเริ่มมีกิจกรรมของตัวเองหลังจากพักผ่อนอย่างเพียงพอ  จนถึงเวลาก่อนนอนเป็นเวลาที่ประเมินผลตัวเองในกิจกรรมที่ได้กระทำทั้งวันนั้นได้อย่างสมบูรณ์  อัลกุรอานบัญญัติ ความว่า และเจ้าจงพินิจพิเคราะห์สิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเพื่อวันพรุ่ง…" (ฮัซร์
18)

การพลีหรือการต่อสู้ ย่อมมีความหมายกว้างขวาง รวมทั้งการเสียสละก็ถือเป็นญิฮาด หากการกระทำเป็นไปตามข้อบัญญัติของพระเจ้า  สิ่งที่ใช้เพื่อการพลีหรือต่อสู้หรือเสียสละในทางของพระเจ้าได้แก่ทรัพย์สินหรือชีวิต

คำว่า ทรัพย์สิน  หมายถึง ทรัพย์สินทั่วไปที่เข้าใจกัน  ส่วนคำว่าชีวิต  หมายความรวมไปหมดทั้งสมอง แรงงาน ร่างกาย และวิญญาณ  ดังนั้น ผู้เสียสละในทางของพระเจ้า จะโดยปัจจัยใด ๆ ก็ตามย่อมได้รับผลตอบแทนจากพระเจ้า  บัญญัติจากอัลกุรอานความว่า "…เจ้าทั้งหลายจงเสียสละทรัพย์สินของพวกเจ้าและชีวิตของพวกเจ้าในทางของอัลลอฮ์เถิด…" (อัตเตาบะฮ์ :
41)


 


จากคำสอนของท่านศาสดาการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจก็ถือเป็นญิฮาด คือ การต่อสู้หรือการพลีหรือการเสียสละชนิดหนึ่ง  ดังท่านศาสดาสอนไว้ความว่า  "การญิฮาดที่ประเสริฐสุดคือการพูดจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉลดังนั้นมุสลิมทุกคนจึงกล้าคิดกล้าพูดกล้าทำ  เพราะนั่นคือการญิฮาดที่ได้รับกุศลจากพระเจ้า


ญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก
ดังนั้นญิฮาดจึงมีหลายประเภท
สำหรับญิฮาดที่เป็นประเด็นร้อนของสังคมโลก กล่าวคือญิฮาดที่หมายถึงการต่อสู้และการทำสงคราม จะเรียกว่าญิฮาดชนิดนี้ได้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.ถูกกดขี่และถูกขับไล่อย่างอยุติธรรม
2.ถูกริดรอนสิทธิด้านศาสนา
3.จะต้องญิฮาดเพื่อนำสิทธิในข้อหนึ่งและสองกลับคืน
4.อยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงครามเช่น ต่อสู้ต่อบรรดาผู้เป็นศัตรู แต่อย่าเริ่มการเป็นศัตรูก่อน แท้จริง

อัลลอฮฺไม่ทรงรักผู้รุกราน (ดูกุรอาน2:190) ไม่ทำลายศพ ฆ่าเด็กๆ คนแก่ ผู้หญิง หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีสัญญาสงบศึก ไม่ตัดหรือเผาทำลายต้นไม้ที่ออกผล ไม่ฆ่าสัตว์เช่นแกะวัวหรืออูฐนอกจากเพื่อเป็นอาหาร,ให้ความเมตตาและการเอาใจใส่หรือบริการทางการแพทย์และการพยาบาลต่อเชลยสงคราม เพราะอัลลอฮฺดำรัสความว่า แท้จริงบรรดาผู้ทรงคุณธรรมนั้นจะได้ดื่มน้ำที่ผสมด้วยการบูรหอมจากแก้วน้ำเป็นตาน้ำพุที่บ่าวของอัลลอฮฺจะได้ดื่มโดยทำให้มันพุ่งออกมาอย่างล้นเหลือ เพราะพวกเขาปฏิบัติตามคำสัตย์สาบาน และกลัววันที่ความชั่วร้ายของมันแพร่กระจายออกไป  และพวกเขาให้อาหารแก่คนขัดสน เด็กกำพร้าและเชลยเพราะความรักต่อพระองค์


 


พวกเขากล่าวว่า "เราให้แก่พวกท่านโดยหวังความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้นและเรามิได้หวังการตอบแทนหรือการขอบคุณจากท่านแต่ประการใด" (อัลอินซาน :5-9) และท่านนบีมุฮัมมัดได้สั่งบรรดาสาวกของท่านให้ทำดีต่อเชลยโดยครั้งหนึ่งท่านได้สั่งสาวกของท่านโดยกล่าวว่า "ท่านจะต้องปฏิบัติต่อเชลยด้วยดี"


 


การระเบิดที่หาดใหญ่หรือที่ไหนๆที่ทำให้ผู้บริสุทธิเสียชีวิตจะเรียกว่าญิฮาดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นสงครามใดในยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นที่ภาคใต้ของไทยหรือต่างประเทศหากไม่ได้อยู่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฏเกณฑ์ดังกล่าวคือการก่อการร้าย (ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของรัฐหรือผู้ก่อการ)


เหตุการณ์ระเบิดที่หาดใหญ่ไม่เพียงว่าไม่เรียกว่าญิฮาดและไม่สมควรเรียกว่านักรบเพื่อพระเจ้าหรือศาสนาแต่จำเป็นต้องออกมาประณามดังที่ปราชญ์โลกมุสลิมเคยประณามการทำร้ายผู้บริสุทธิของมุสลิมเอง
 
เช่นชัยคฺซัลมาน อัลเอาดะฮฺ ได้ประณามผุ้ระเบิดทำลายผู้บริสุทธอย่างรุนแรงถึงแม้จะเป็นต่างศาสนิกผ่านเว็บไซต์ www.islamtoday.net ของท่าน "... เรื่องราวได้เกินเลยขอบเขตของความสมเหตุสมเหตุผล โดยที่ไม่ต้องกล่าวถึงกฏหมายของอิสลาม(ชะริอะฮฺ)เลย..." "...พวกเขาไม่ได้ทำความเสื่อมเสียเฉพาะแก่ตัวพวกเขาเองเท่านั้น แต่จะเกิดแก่มุสลิมทั่วทั้งโลก ผลการกระทำของพวกเขาทำให้เกิดความอับอาย..." "...ฉันเรียกร้องผู้ที่ทำสิ่งเหล่านี้อย่างน้อยที่สุดคือ การพิจารณาถึงเกียรติยศและศักดิศรีของมุสลิม..."

ยุซุฟ อัลก็อรฏอวีย์ เรียกร้องให้มุสลิมหยุด
ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งมันจะทำความหม่นหมองให้กับภาพลักษณ์ของอิสลามและนำอิสลามข้องเกี่ยวกับลัทธิก่อการร้าย "ฉันขอเรียกร้องให้พวกเขารำลึกถึงอัลลอฮฺ ซบ. และหยุดการกระทำของพวกเขาเถิด ซึ่งมันจะตีตราอย่างอธรรมต่ออิสลามและเป็นการเสียหายแก่ผู้ที่ยึดมั่นอิสลาม"


สรุป : จะเรียกญิฮาดได้ต้องมีเงื่อนไขที่สมบูรณ์ เจตนาดีและวิธีการถูกต้อง หากมีเพียงเงื่อนไขสมบูรณ์ เจตนาดีแต่ไม่คำนึงวิธีการจะไม่เรียกว่าญิฮาดแต่จะกลับกลายเป็นการก่อการร้ายทันที


 


วิธีแก้ปัญหาแนวคิดสุดโต่งในหมู่มุสลิมโดยเฉพาะเยาวชน


เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและบทบัญญัติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิกหรือต่างวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงมุสลิมส่วนใหญ่โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษา และ เยาวชนมุสลิมส่วนใหญ่อย่างเพียงพอ และมีโอกาสค่อนข้างจำกัดที่นิสิตนักศึกษาและเยาวชนมุสลิมจะได้รับฟังในเวทีของการทำความเข้าใจต่างๆ รวมทั้งยังคงเห็นบทบาทของบุคลเหล่านี้ไม่เด่นชัดนัก ในเป็นแนวร่วมของการสร้างสันติภาพสู่สังคม 


ดังนั้นองค์กรศาสนาอิสลามโดยเฉพาะคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยหรือห้าจังหวัดชายแดนใต้ควรร่วมมือกับสมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม(ส.น.ท.) และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย(ยมท.) ควรจะจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในการสร้างสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยเป็นเวทีในการสร้างความเข้าใจแก่ นิสิตนักศึกษามุสลิมและเยาวชนมุสลิม ซึ่งมีภูมิลำเนาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้   อีกทั้งนิสิตนักศึกษามุสลิมถือเป็นปัญญาชนที่ควรได้รับความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวนี้อย่างลึกซึ้ง


 


การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติและอบรมอย่างจริงจังต่อเนื่องดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ของนิสิตนักศึกษามุสลิมและเยาวชน ที่จะมาทำหน้าที่เป็นฑูตแห่งสันติภาพ ที่จะทำการเคลื่อนไหว สร้างความเข้าใจ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อันนำไปสู่สันติภาพของสังคมไทยต่อไป


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net