Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 


ราวสามทุ่มเศษๆ ของคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน 2549…


 


ก่อนจะมีคำประกาศฉบับที่ 1 (ถึงฉบับที่เท่าไหร่ไม่รู้) ของ "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ทยอยออกมาให้ได้ฟังกัน... ใครๆ คงได้ยินทั้ง "คำเตือน" และ "ข่าวลือ" เรื่องการปฏิวัติรัฐประหารมาบ้างแล้ว 


 


พอได้ฟังว่ามีคำแถลงการณ์ของคณะปฏิรูปฯ จากวิทยุในรถแท๊กซี่ ที่หมายซึ่งฉันบอกให้คนขับมุ่งตรงไปทันทีก็คือ "หน้าทำเนียบรัฐบาล"


 


คนขับแท๊กซี่หันมามองด้วยท่าทีลังเลใจก่อนจะเอ่ยถาม "เขาปฏิวัติกันอยู่ไม่ใช่หรือครับ"


 


เมื่อเห็นว่าผู้โดยสารที่อยู่ข้างหลังยืนยันว่าจะไปแน่ๆ เขาจึงขับรถออกไปอย่างเงียบๆ


 


ระหว่างทางที่ทอดไปยังหน้าทำเนียบ ถนนเส้นที่ขับผ่านเต็มไปด้วยทหารใส่ชุดลายพราง ถืออาวุธครบมือ บนบ่าและปลายกระบอกปืนของทหารเหล่านั้นถูกพันไว้ด้วยผ้าสีเหลืองที่เห็นได้ชัดเจนแม้อยู่กลางแสงไฟข้างถนน


 


คนขับแท๊กซี่ไม่พูดอะไรเลย จนกระทั่งขับรถมาถึงหน้าทำเนียบ เขาอวยพรให้ผู้โดยสารโชคดี...


 


พื้นที่สองฝั่งของถนนหน้าทำเนียบถูกยึดครองด้วยรถถัง 2 คัน คันหนึ่งหันปลายกระบอกปืนเข้าทำเนียบ อีกคันหนึ่งหันปากกระบอกปืนไปยังอีกฝั่งถนน และทหารที่ประจำอยู่บนรถถังล้วนแต่มีผ้าเหลืองผูกไว้กับตัวทุกคน


   



นอกเหนือจากช่างภาพและนักข่าวที่ทำหน้าที่ถ่ายรูปและรายงานสถานการณ์กันอย่างขมีขมัน ที่ยืนออใกล้กันนั้นคือผู้คนมากมายที่ออกมาดูความเป็นไปในคืนปฏิวัติที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน


 


เด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยแต่งตัวด้วยชุดอยู่บ้าน กางเกงขาสั้น เสื้อยืด และรองเท้าแตะ ในมือมีกล้องถ่ายรูปแบบพกพาติดมาด้วย พวกเขายกกล้องขึ้นมาเล็งภาพทหารและรถถังด้วยแววตาตื่นเต้น


 


ไม่เว้นแม้กระทั่งหญิงวัยกลางคนแต่งตัวด้วยชุดนอน เดินดูสถานการณ์ด้วยท่าทีที่ไม่มีความวิตกกังวลให้เห็นเลยสักนิด ฝนที่ตกปรอยๆ ลงมาไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเธอมีร่มลายดอกไม้อยู่ในมือแล้ว


 


ข้างฝ่ายนักข่าวต่างประเทศก็ขมีขมันต่อสายไฟมาจากอีกฝั่งถนน และพยายามทำหน้าที่ของตัวเอง แต่สีหน้าขณะรายงานข่าวของเขาดูเคร่งเครียดจริงจัง


 


ความแตกต่างบนถนนหน้าทำเนียบในคืนปฏิวัติ น่าจะเป็นตัวบอกเรื่องราวต่างๆ ได้มากมาย


 


เด็กหนุ่มทั้งหลายอาจเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่จำไม่ได้ว่าเหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต-เพียงสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่นี่คงเป็นการปฏิวัติครั้งแรกที่พวกเขาได้มีส่วนรู้เห็น มันจึงอาจเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากกว่าจะนึกกลัว


 


แต่ในสายตาของหญิงวัยกลางคน เธออาจมองว่านี่คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว และไม่เห็นแปลกหากมันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง


 


ในขณะที่นักข่าวต่างประเทศคงจะมองสถานการณ์ด้วยความหวาดหวั่น เพราะไม่รู้ว่าจะมีการนองเลือดเกิดขึ้นอีกหรือเปล่า


 


แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดก็เป็นเพียงการคาดคะเนผ่านสายตาคนหนึ่งคนที่ผ่านไปพบเห็นเหตุการณ์เช่นกัน...


 


แท้จริงแล้วคงไม่มีใครบอกได้ว่าอารมณ์และความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ขณะที่รู้ข่าวว่ามีการปฏิวัติจะเป็นอย่างไร และอะไรเป็นแรงผลักดันให้คนมากมายออกจากบ้านไปดูสถานการณ์อย่างไม่เกรงกลัวอันตรายใดๆ จะเกิดขึ้น…


 



 


ผู้คนยืนออกันอยู่หน้าทำเนียบสักพักใหญ่ๆ จากนั้นจึงค่อยๆ แยกย้ายกันไปเมื่อได้รับข่าวว่าคณะปฏิรูปฯ ออกมาแถลงการณ์เรื่องการยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว


 


แต่ทหารที่ตรึงกำลังอยู่ตามจุดต่างๆ บนถนนสายสำคัญๆ ยังยืนทำหน้าที่ที่ได้รับ "คำสั่ง" อย่างเคร่งครัด


 


ระหว่างที่เดินจากถนนหน้าทำเนียบไปจนถึงถนนหน้าลานพระบรมรูปฯ เรื่อยไปจนถึงถนนหน้าหอประชุมกองทัพบก ผู้คนมากมายหยุดขอถ่ายรูปกับรถถังและทหาร ซึ่งคำขอก็ถูกตอบรับอย่างดีจากเหล่าทหารที่ยืนประจำการอยู่ข้างรถถัง


 


อีกสิ่งหนึ่งที่พบบ่อยไม่แพ้กันในคืนปฏิวัติก็คือคำถามที่ใครต่อใครถามเหล่าทหารด้วยความสงสัยใครรู้


 


"มาจากหน่วยไหนกัน?"


 


คำตอบที่ได้คือ "ม.พัน ๑ รอ. ที่บางกระบือ"


 


ส่วนประโยคที่ถูกถามซ้ำมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ "ผ้าเหลืองที่ผูกอยู่มีความหมายว่ายังไง?"


 


คำตอบก็คงเดากันได้... "ผ้าเหลืองหมายถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ครับผม!"


 


แต่คำถามประมาณว่า "ใครสั่งให้มา?" หรือ "รู้ไหมว่าเขาสั่งให้มาทำไม?" กลับเป็นประโยคที่ไม่มีคำตอบอะไรกลับมา นอกจากคำยืนกรานว่า "มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง..."


 


หรือบางทีก็ได้รับคำตอบว่า "ต้องไปถามผู้บังคับบัญชาเอาเอง"


 



 



 


แม้จะมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเบาๆ ที่ตอบกลับมาของฝ่ายทหาร ทำให้สถานการณ์ไม่ตึงเครียดอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ยังไม่ได้ยินใครสักคนกล้าตั้งคำถามว่า "ทหารออกมาปฏิวัติทำไม" หรือ "ทหารจะทำอะไรต่อไป"


 


เพราะถึงที่สุดแล้ว ต่อให้การปฏิวัติเป็นไปอย่างราบรื่นแค่ไหน


 


เราก็ต้องบอกตัวเองเสมอว่ากระสุนที่บรรจุอยู่ข้างในมันเป็นของจริง...


 


แต่ถ้าเปรียบเทียบความตึงเครียดระหว่างประชาชนคนอื่นๆ ที่นั่งหน้าจอทีวีเพื่อรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป กับประชาชนที่ออกมาจากบ้านเพื่อสังเกตความเป็นไปในคืนวันที่ 19 ก.ย. คงไม่ผิดความจริงนักถ้าจะบอกว่าบรรยากาศในคืนวันนั้นเต็มไปด้วยความครึกครื้นตื่นตาของผู้คน จนทำให้เคลิ้มๆ ไปเหมือนกันว่านี่น่าจะเป็นการปฏิวัติที่สนุกสนานราวกับมหกรรมบันเทิงมากที่สุด


 


จนกระทั่งเดินไปถึงถนนสี่เสาร์เทเวศน์ราวๆ ตีสองกว่า นายทหารกลุ่มหนึ่งกำลังเดินลาดตระเวณตามถนนที่โล่งว่างและเงียบสงัด หลังจากไถ่ถามกันสักพัก เขาก็บอกให้กลับบ้านไปดีกว่า เพราะไม่มีอะไร "น่าเป็นห่วง" อีกแล้ว


 


แม้จะไม่ได้เชื่อตามนั้นทั้งหมด แต่สถานการณ์ที่ดูสงบ และอาการหมดแรงหลังจากที่เดินอยู่นานก็ทำให้ฉันยอมผละมาจากถนนสายที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่รู้กี่ครั้งกี่หนนั้น


 


ระหว่างนั่งรถแท๊กซี่กะเช้ากลับบ้าน ถนนสองข้างทางยังเต็มไปด้วยทหารถือปืน แต่พ่อค้าแม่ขายที่ต้องทำมาหากินในตลาดเช้าก็เริ่มดำเนินกิจวัตรของตัวเองไปตามปกติ


 


คืนปฏิวัติผ่านพ้นไปแล้ว พร้อมกับคำกล่าวขานไปทั่วโลกว่านี่คือการปฏิวัติที่เรียบร้อยที่สุด และละมุนละม่อมที่สุด


 


แต่ใครจะรู้ว่าอะไรจะเกิดตามมาต่อจากนี้?


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net