Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 25 ก.ย. 49 เมื่อวันที่ 25 ก.ย. กลุ่มโดมแดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์กล่าวกิจกรรมนักศึกษา และสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ร่วมจัดการชุมนุมเพื่อพูดคุยทางการเมืองเกินกว่า 5 คน โดยระบุว่าเป็นการอารยะขัดขืนภาคปฏิบัติ เพื่อคัดค้านการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา


 


การชุมนุมดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ที่ ลานโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางผู้สนใจจำนวนมาก แบ่งเป็นกลุ่มที่แสดงเจตนารมณ์ในการคัดค้านนั่งล้อมวงนั่งฟังการสนทนาประมาณ 50 คน  ผู้สนใจที่มายืนฟังและผู้สื่อข่าวอีกกว่า 100 คน โดยผู้อภิปรายหลักได้แก่ นางสาวอรุณวณา สมิกวาที นักศึกษาคณะวารสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน นายเมธัส บัวชุม นักศึกษาปริญญาโทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวกนกรัตน์ เลิศชูสกุล  อาจารย์ประจำรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


นางสาวอรุณวณา กล่าวแสดงความเห็นในการอารยะขัดขืนภาคปฏิบัติครั้งนี้ว่า มาเพราะมีคนเชิญให้มามั่วสุมทางการเมืองเกิน 5  คน คิดว่าเป็นคำเชิญที่น่ารักมาก ถ้าอยู่บ้านเฉยๆก็หงุดหงิดเพราะโทรทัศน์มีอะไรมาตัดบ่อยๆ    


 


นางสาวอรุวณา กล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่ได้เกลียดทหารแต่ที่ต้องออกมาเพราะเสรีภาพเป็นสิ่งที่มากับเราไม่มีใครจะเอาไปได้  เชื่อว่าทุกคนคงมีความเชื่อเช่นนี้ อย่างไรก็ตามคิดว่าสิ่งที่ทำให้คนไทยจำนวนมากยอมรับรัฐประหารเพราะคนไทยจำนวนมากเกลียดทักษิณ จึงยืนดีปรีดาที่มีคนมาไล่ทักษิณออกไปให้


 


ข้อสอง เพราะคนไทยเป็นคนใจอ่อน ไม่สงสัยเจตนาคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่ไปที่มา เช่น เห็นรถถังก็รู้เพียงแค่มันยังไม่ยิง แต่ไม่ได้สนใจว่ามาจากที่ไหน มาทำอะไร เพราะฉะนั้นภาพความรื่นเริงระหว่างประชาชนและรถถังที่เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์จึงเป็นเรื่องตลกที่ขมขื่นมาก


 


ข้อสาม สังคมไทยไม่เชื่อการพึ่งพาตัวเอง แต่มักยึดติดที่ตัวบุคคล เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ  เชื่อเรื่องฮีโร่ เมื่อ 5 ปีก่อนก็รู้สึกกับทักษิณแบบนี้ แต่ขณะนี้เปลี่ยนไปแล้วกลายเป็นเชื่อ คปค.แทน ทั้งๆที่ประกาศของ คปค.หลายฉบับกระทบต่อเราโดยตรงโดยเฉพาะการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เพราะเกรงว่าชาติจะแตกสามัคคี คิดว่าเป็นความคิดที่ผิด ขอย้ำว่าการเห็นต่างไม่ใช่การแตกสามัคคีอย่างแน่นอน


 


ส่วน นายธนาพล กล่าวในการชุมนุมว่า วันนี้คือการมาด่าการรัฐประหาร แต่ขอพูดถึงข้อดีก่อนว่าคือการรัฐประหารครั้งนี้ทำให้มีวันเด็กเพิ่มขึ้น


 


ต่อจากนั้นจึงได้ด่าการรัฐประหารว่า การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยมีโทษจำคุกและปรับ รู้สึกว่าทำไมค่าตัวของเราจึงมีแค่นี้ เป็นการดูถูกและดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนการชุมนุมในวันนี้คือการอารยะขัดขืนเป็นหนึ่งในวิธีการสันติวิธี


 


นายธนาพล ได้ถามดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยืนสังเกตการณ์การชุมนุมบริเวณนั้นด้วยว่า จำได้หรือไม่ว่า 15 ปีก่อน ในการรัฐประหารที่นำโดย สุ เต้ ตุ๋ย ให้เหตุผลอะไรบ้าง 5 ข้อ ได้แก่ พฤติการฉ้อราษฎร์บังหลวง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์ สุจริต ข้าราชการเป็นเผด็จการทางรัฐสภา  การทำลายสถาบันทางทหาร และการบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์


 


ส่วนในครั้งนี้ก็ให้เหตุผลไปทางเดียวกันและบอกด้วยว่าทำให้สังคมแตกแยก ดังคือการกำลังบอกว่าการชุมนุมก่อให้เกิดความวุ่นวาย อีกนัยหนึ่งคณะรัฐประหารกำลังบอกว่ากลุ่มผู้ไล่ทักษิณที่ออกมาชุมนุมก่อนหน้านี้สร้างความวุ่นวาย สร้างการแบ่งแยกทางการเมือง เขาด่าแล้วยังออกมายินดีไม่รู้ว่าเกิดการวิปริตแบบใด


 


นอกจากนี้ คณะรัฐประหารได้อ้างถึงการที่รัฐธรรมนูญไม่ทำงานทำให้ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และในกรณีการจัดการกับนักการเมืองที่คอรัปชั่น หากย้อนกลับไปที่การรัฐประหารเมื่อ 15 ปีก่อน ก็เคยมีการตั้งมิสเตอร์ไม้บรรทัดเพื่อจัดการนักการเมืองทุจริต แต่ต่อมากลายเป็นการซูเอี๋ย กรรโชกทรัพย์นักการเมืองมาสู่พรรคสามัคคีธรรม


 


"ในครั้งนี้ขอท้าเลยว่าคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นต่างๆ เช่น ปปช. กกต. ในครั้งนี้จะไม่สามารถยึดทรัพย์นักการเมืองคนใดได้  คงทำได้บ้างในส่วนปลาซิวปลาสร้อย เพราะการเมืองไทยมันแคบดังนั้น การที่ทักษิณได้สัมปทานต่างๆ เป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีส่วนรู้เห็นของกลไกราชการซึ่งก็คือคณะปฏิรูปในครั้งนี้ ดังนั้นเมื่อมีส่วนในการคอรัปชั่น จึงไม่มีทางจะจัดการกับนักการเมืองคนใดได้ การคาดหวังลมๆแล้งๆก็ต้องเตรียมใจไว้ด้วย"


 


นายธนาพล กล่าวถึงความไม่มีเหตุผลที่ คปค.มีคำสั่งยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า คปค.ได้อ้างการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงต้องยกเลิก แต่ขอให้ดูว่าในรัฐธรรมนูญนี้ที่มีกว่า 300 มาตรา ว่ามีองค์กรที่ตั้งขึ้นมากมาย แม้แต่ทหารหรือมาตรา 7 ก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องยกเลิกไปด้วย  ดังนั้นการยกเลิกบางองค์กรคือการยกเลิกอะไรที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ของกูนั่นเอง


 


นายเมธัส กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการข่มขืนทางการเมือง สิทธิเราอยู่ในมือคนอื่น เหมือนเราล่อนจ้อนไม่มีอะไรคุ้มครองกาย


 


ทั้งนี้ นายเมธัส ให้ความหมายการข่มขืนว่า เป็นการละเมิดทางร่างกายและจิตใจ โดยการล่อหลอกและใช้กำลังบังคับ ในครั้งนี้คือการใช้รถถังบังคับ ปิดปาก การข่มขืนมักเกิดจากผู้ใหญ่ กระทำต่อเด็กและสตรี หรือการกระทำของคนที่มีอำนาจมากกว่า 


 


"เราถูกทำให้เป็นเด็กภายใต้กฎอัยการศึกโดยคณะรัฐประหารและง่ายต่อการถูกข่มขืน"


 


นายเมธัสกล่าวอีกว่า การที่ พล..สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้า คปค. บอกว่า จะขอเวลา 2  สัปดาห์ ซึ่งต่อไปคงจะให้นายกรัฐมนตรีเถื่อน คณะรัฐมนตรีเถื่อนมาด้วยวิธีการที่นุ่มนวล  โดยส่วนตัวเชื่อว่า คปค. ชุดนี้ไม่ศรัทธาประชาธิปไตย ถามว่า  คปค. จะร่างรัฐธรรมนูญแล้วจัดการเลือกตั้งทำไมในเมื่อได้ฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วจึงถือว่าเป็นคำมั่นสัญญาที่ไม่จริงใจ


 


ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำโดยเร็ว คือการเยียวยาความรู้สึกของสังคมไทย  แต่การเยียวยาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  ถ้ายังไม่ไล่คณะทรราชย์ออกไปก่อน


 


นางสาวกนกรัตน์ กล่าวถึง ผลกระทบของการทำรัฐประหารต่อสังคมไทยว่าคือการบั่นทอนพลังและกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองแบบสันติวิธีและวิถีประชาธิปไตยที่มิใช่เพียงการเลือกตั้ง เนื่องจากภาพความสำเร็จของการจัดการกับนายกทักษิณโดยการรัฐประหาร บดบังภาพของพลังประชาชนที่ต่อสู้มาก่อนหน้านี้ ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อถือที่สังคมมีต่อกระบวนการต่อสู้แบบประชาธิปไตย 


 


อีกทั้ง การประกาศห้ามชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง ยังเป็นการผลักให้คนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างยิ่งไร้พื้นที่ยืนในสังคม และที่สำคัญเป็นการสร้างสภาวะที่ทำให้คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นต่อการแสดงออกและการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระยะยาวอีกด้วย


           


นอกจากนี้ การรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาและป้องกันการกลับมาของระบอบทักษิณได้ เพราะยังมีประชาชนที่ยึดติดกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และจะเห็นได้ว่าปัญหาของระบอบทักษิณนั้นไม่ใช่ปัญหาเพียงแค่ตัวของทักษิณ แต่เป็นปัญหาของระบบการดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว การแก้ไขจึงไม่ใช่เพียงการเข้าจัดการกับทักษิณเพียงคนเดียว


 


อีกประการหนึ่ง การรัฐประหารไม่สามารถรับรองสิทธิความเป็นประชาชนและสิทธิทางการเมืองที่สูญเสียไปภายใต้ระบอบทักษิณ เพราะมาตรการต่างๆที่ประกาศใช้ในการห้ามชุมนุมและห้ามแสดงออกทางการเมือง กำลังละเมิดสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกและมีส่วนร่วมในกระบวนทางการเมือง


 


ประการสุดท้าย การรัฐประหารผูกขาดอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ผิดพลาดของกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น การตัดสินใจแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมาย ป.ป.ง. หรือ กระบวนการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีงล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นและเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม


 


แม้ว่าการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้จะมีเกินกว่า 5 คน แต่ก็เป็นไปอย่างสงบ สันติ และไม่มีการจับกุมผู้มาร่วมแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net