Skip to main content
sharethis

การเมืองระบอบ "ลูกขุน/ลูกป๋าอุปถัมภ์" แบบประชาธิปไตย ? [1]


 


โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์



……………………………………………………………............................................................……..


 

 


(ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก หน้า 4 เมื่อวันที่ 17 กันยายน เพื่อส่งไปตีพิมพ์ในวันที่ 20 กันยายน และตีพิมพ์จริงในตอนบ่ายวันที่ 19 กันยายน 2549 เผยแพร่ซ้ำใน Onopen Special ใน www.onopen.com เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 และเข้าชมไม่ได้แล้วในช่วงบ่ายของวัน บางส่วนของบทความอาจจะล้าสมัยไปแล้ว แต่ผู้เขียนได้เพิ่มเติมขยายความไว้ในส่วนท้ายของบทความ) 


 


0 0 0


 


... ถ้าลองย้อนไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยหลายสิบปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เราอาจต้องตั้งคำถามก็คือ ปรากฏการณ์ของการเชิดชูผู้นำการเมืองบางคนเป็นวีรบุรุษ เป็นอัศวิน เป็นผู้กู้วิกฤติ ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่เคยแสดงออกถึงความต้องการของ "พลเมือง" ในการเลือก "ผู้แทน" ของเขา มากเท่ากับความต้องการเลือก "ผู้นำ" หรือ "ผู้อุปภัมภ์" ที่จะมา "นำ" หรือมา "อุปถัมภ์" เขา


 


ถ้าเราลองแบ่งสภาวการณ์เผชิญหน้าทางการเมืองปัจจุบันออกเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือบรรดาชาวบ้าน 16 ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทย กับอีกด้านหนึ่งคือบรรดาพันธมิตรประชาธิปไตยและบรรดานักวิชาการเชิดชูคุณธรรมและประชาธิปไตยทั้งหลายที่เดือดร้อนเรื่องบ้านเมือง เราจะพบว่า คนที่เราเรียกว่าเป็นชนชั้นกลางที่ไม่เอาทักษิณนั้นดูเหมือนจะมีอาการโหยหาผู้นำและโหยหาคุณธรรมมากกว่าบรรดาชาวบ้านที่ถูกวิจารณ์ว่าไม่สามารถหูตาสว่างจากระบอบทักษิณและการเมืองประชานิยม และโหยหาผู้อุปภัมภ์ [2]


 


อาการโหยหาผู้นำที่มีคุณธรรมถึงขนาดร้องหา "นายกพระราชทาน" ในช่วงหนึ่งที่ผ่านมา รวมทั้งการพยายามเข้าหาและแสดงตนว่าเป็น "ลูกป๋า" และดีใจที่เกิดการเข้าแทรกแซงทางการเมืองของบรรดา "ลูกขุน" ผ่านการพิพากษา (หมายถึงการตีความและการตัดสิน ไม่ใช่แค่การตัดสิน) ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ รวมทั้งเสนอชื่อ กกต.ใหม่นั้น ไม่ควรจะถูกตัดสินผ่านการแขวนป้ายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนลักษณะการมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือไม่


 


เพราะประชาธิปไตยในความหมายของแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันไป


 


เอาเข้าจริงประชาธิปไตยของไทยกลับต้องการ "ผู้อุปถัมภ์" พอๆ กันทั้งในเมืองและชนบท หรืออาจกล่าวได้ว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของทุกฝ่ายนั้น ความจริงแล้วเป็นเพียงการเรียกร้องผู้อุปถัมภ์มากกว่าการเรียกร้องตัวแทนของเขาที่สามารถถูกตรวจสอบได้และบังคับให้มีการรับผิดได้ (accountable)


 


กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การจรรโลงประชาธิปไตย (democratization) ของไทยนั้นอาจอยู่ได้และดำเนินไปด้วยปัจจัยที่เราเคยนึกว่าเป็นปัจจัยนอกประชาธิปไตย


 


ทั้งนี้เป็นผลมาจากสภาวะเฉพาะประการหนึ่งของประชาธิปไตยเอง เมื่อเกิดขึ้นในสังคมที่ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแตกต่างกัน ได้แก่การที่โดยหลักการและอุดมคติประชาธิปไตยนั้น มีสภาวะสองด้านที่เกิดขึ้นพร้อมกันและนำไปสู่แรงตึงเครียดทางการเมืองและอุดมการณ์ ในห้วงจังหวะที่ระบอบประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งทำการปลดปล่อยผู้คนออกไปสู่พื้นที่ทางการเมืองภายใต้ความเชื่อที่ว่าทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน


 


สภาวะของการที่ทำให้ทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันนั้นเองที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นกับการดำรงชีวิตของผู้คน เนื่องจากการที่บอกว่า ทุกคนมีเสียงเดียวเท่ากันนั้น แม้ว่าจะเหมือนกับการบอกว่าทุกคนมีสิทธิในชุมชนทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเสียงเสียงเดียวนั้นตกอยู่ท่ามกลางเสียงจำนวนมากกว่านั้น การบอกว่าเสียงเสียงเดียวมีอำนาจนั้นจึงกลายเป็นเรื่องการทำให้เสียงเดียวนั้นโดดเดี่ยวและรู้สึกว่าตนเป็นเสียงส่วนน้อยขึ้นมาทันที


 


การแสวงหาผู้อุปถัมภ์จึงดำเนินไปทั้งในเมืองและชนบท ในชนบทนั้นผู้อุปภัมภ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองประชาธิปไตยได้ ด้วยการเติมเต็มส่วนที่ชาวบ้านขาดไปในทางเศรษฐกิจผ่านการควบคุมกลไกรัฐที่หมกมุ่นกับการพัฒนาให้กระจายทรัพยากรและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา


 


ในขณะที่ในเมืองนั้นการแสวงหาผู้อุปถัมภ์ในทางคุณธรรมผ่านความเป็น "มืออาชีพ" ที่ไม่โกงกิน อาทิ ข้าราชการพลเรือนหรือทหารนั้น ก็มีขึ้นเพื่อคานอำนาจนักการเมืองอุปภัมภ์จากชนบทมาโดยตลอด เพื่อปกป้องความได้เปรียบในทางโครงสร้างของพวกเขาผ่านนโยบายการพัฒนาประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้พวกเขาก่อนคนในชนบท อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมในเมือง การพัฒนาเมืองและปล่อยให้คนชนบทเข้ามาเป็นแรงงาน


 


ดังนั้นเมื่อเขาต้องเผชิญกับปัญหาของการพยายามกระจายทรัพยากรและอำนาจลงสู่ชนบท พวกเขาจึงมองเห็นว่าสิ่งนั้นไม่สมเหตุสมผล เป็นการสร้างหนี้ให้กับพวกเขาเพิ่มขึ้น และวิธีเดียวก็คือการหาผู้นำที่เข้มแข็งที่จัดการทั้งนักการเมืองอุปถัมภ์ท้องถิ่นและนักธุรกิจขนาดใหญ่จากส่วนกลาง (คือใช้ "คนดี" มาจัดการคอรัปชั่น ไม่ได้ใช้ "กฏหมาย" มาจัดการคอรัปชั่น) [3]


 


จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครศรัทธาในกฏหมายและการปกครองด้วยหลักกฏหมาย (rule of law) ในการแก้ปัญหาในสังคมประชาธิปไตยเท่ากับการแสวงหาผู้อุปถัมภ์มา "ค้ำยัน" การเมืองประชาธิปไตยในแบบของตนเอง ไม่ว่าจะผ่านนโยบายหาเสียงแบบประชานิยมของพรรคการเมืองที่ทำให้รัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ หรือผ่านการพยายามแสดงตัวเป็นลูกป๋า และชื่นชมการอุปถัมภ์จากคณะลูกขุน (ในแง่ของความมั่นใจในการตัดสินใจผ่านการอ้างอิงคุณธรรมของลูกขุน มากกว่าเข้าใจเนื้อหาคำพิพากษาและความเข้าใจในการทำงานของระบบยุติธรรม) ... [4]


 


หลายปีก่อนเราเคยพูดถึงคำว่า "ประชาสังคม" กันอย่างครึกโครมว่าเป็นแกนสำคัญในการจรรโลงประชาธิปไตย


 


มาวันนี้ทุกฝ่ายยังสนใจแต่การหาผู้อุปถัมภ์มาค้ำยันระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ตามที่ฝ่ายตนจะกำหนดเนื้อหาเอาเอง) เท่านั้นเอง [5]


 



 


 





เชิงอรรถขยายความ


 


[1] งานเขียนชิ้นนี้เมื่อเริ่มเขียนบทความ ผมได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านงานของอาจารย์ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่แปลเป็นไทยว่า "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" (Thak Chaloemtiarana. Thailand: The Politics of Despotic Paternalism. Bangkok: Social Science Association of Thailand, 1979. ฉบับภาษาไทยดูที่ ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และ ม...ประกายทอง สิริสุข. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526.)


 


วัตถุประสงค์ของการเขียนและตั้งชื่อบทความนั้นต้องการจะ "ยั่วล้อ" (ทำนอง parody) ชื่อภาษาไทยของหนังสืออาจารย์ทักษ์ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่บุคลากรฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาททางการเมือง (ภายใต้การตีความตามกรอบรัฐธรรมนูญและได้รับการเรียกขานว่าเป็น "ตุลาการภิวัตน์") กับยุคสมัยที่ใครๆก็วิ่งหาป๋า รวมทั้งบรรดานักวิชาการทั้งหลายที่เข้าพบป๋า ก่อนหน้าการปฏิวัติไม่กี่วัน


 


การยั่วล้อนั้นอยู่ตรงที่คำว่าลูกขุนและลูกป๋า เพราะเราไปใช้คำที่ดูสมัยใหม่ว่า "ตุลาการ" ทั้งที่ผมคิดว่าการทำงานของคณะตุลาการนั้นมีลักษณะเหมือน "ลูกขุน" เสียมากกว่า ส่วนคำว่า "ลูกป๋า" ถ้าใครเติบโตมาในช่วงที่ป๋าเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นย่อมจะเข้าใจดีว่าป๋านั้นมีลูกอยู่สามกลุ่มใหญ่ คือ นักวิชาการที่เป็นเทคโนแครทในหน่วยงานกำหนดนโยบายของรัฐหรือที่ปรึกษา ทหาร และสื่อมวลชนที่ป๋าชอบกล่าวว่า "กลับบ้านเถอะลูก"


 


นอกเหนือจากนั้น ผมยังอยากจะยั่วล้อบรรดานักวิชาการที่ "ติดหนวด" ให้ทักษิณเป็นประจำโดยชอบเปรียบทักษิณกับจอมพลสฤษดิ์ (ทั้งจากงานเขียนประเภทที่อ้างสุนทรพจน์ของสฤษดิ์กับทักษิณ การอ้างพฤติกรรมการใช้อำนาจของทักษิณกับสฏษดิ์ หรือแม้กระทั่งการจัดงานเปิดตัวหนังสือของอาจารย์ทักษ์ฉบับพิมพ์ครั้งใหม่เมื่ออภิปรายเรื่องสฤษดิ์นิยม) ทั้งที่ผมกลับรู้สึกว่า เรื่องที่น่าสนใจก็คือการก่อตัวของระบอบใหม่ที่เปลี่ยนจาก "พ่อขุน" มาสู่ "ลูกขุนและลูกป๋า" ต่างหาก


 


ทีนี้คำสำคัญในท้ายชื่อบทความก็คือคำว่า "แบบประชาธิปไตย" ผมเองก็ตัดสินใจว่าจะเรียกว่าประชาธิปไตยดี หรือเผด็จการดี แต่เนื่องจากในช่วงที่เขียนนั้นเรายังมีกรอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอยู่เป็นฐานในการต่อสู้ต่อรองทางการเมือง ผมจึงคิดว่าคำว่าประชาธิปไตยน่าจะเหมาะสมกว่า แล้วค่อยไปขยายความในตัวเนื้อหาแทนว่าคำว่าประชาธิปไตยนั้นมีด้วยกันหลายความหมาย ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากความหมายของคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


 


ด้วยเหตุนี้ในการขยายความบทความนี้อีกครั้ง ผมจึงคิดว่าควรจะใส่ "เครื่องหมายคำถาม" เอาไว้จะดีกว่า เพราะการตั้งคำถามกับ "ความหมาย" ของการอ้างถึง "ประชาธิปไตย" นั้นมีความสำคัญกว่าการเที่ยวไป "ติดหนวดหรือแขวนป้าย" ว่าใครเป็นเผด็จการตั้งเยอะ ... อาทิเช่นเราควรจะตั้งคำถามกับคปค.ว่าคำว่าประชาธิปไตยของท่านหมายถึงอะไรกันแน่ หรือความเข้าใจของประชาชนที่ออกมาสนับสนุนคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (หรือเขาแค่ออกมาสนับสนุน "การปฏิวัติของทหาร") เพราะจอมพลสฤษดิ์เองนั้นแม้ว่าจะเป็นทหาร หรือถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการ แต่ก็ยังพยายามให้ความหมายของประชาธิปไตยแบบไทยมากกว่าผู้นำทางการเมืองที่เป็นทหารอีกตั้งหลายคน


 


[2] มาถึงบรรทัดนี้ ข้อผิดพลาดในข้อเสนอของผมก็คือ ผมมองไม่เห็นว่าเรามีฝ่ายที่สามอยู่ในการเผชิญหน้าด้วย นั่นก็คือบรรดากลุ่มพลังที่กลายตัวเป็นผู้อุปถัมภ์เสียเอง ที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดความรุนแรงของสองฝ่ายแรก


 


[3] อนึ่ง หากเราลองพิจารณาเรื่องของคนดีที่มีคุณธรรมในการจัดการกับบรรดานักธุรกิจและตัวธุรกิจนั้น เราจะพบกับปัญหาของเส้นแบ่งอันบางเบามากระหว่างความเป็นผู้นำมือสะอาดที่ควบคุมนักธุรกิจได้ กับการรับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทขนาดใหญ่สักแห่งหรือหลายแห่ง เมื่อผู้นำที่เป็นคนดีมีคุณธรรมเหล่านั้นก้าวลงจากตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นทางการ แต่ยังคงสถานภาพของการมีอิทธิพลอยู่กับเครือข่ายกลไกรัฐที่มีอยู่เดิม


 


[4] การปกครองด้วยหลักแห่งกฏหมาย (rule of law) กับการปกครองด้วยกฏหมาย (rule by law) นั้นไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสียทีเดียว ดังที่อาจารย์ ธีรยุทธ บุญมีได้เสนอเอาไว้ (โปรดดู "ตุลาการภิวัตน์ 2: ข้อเสนอ "ธีรยุทธ บุญมี" ปฏิรูปการเมือง". มติชนรายวัน. 3 สิงหาคม 2549. หน้า 2,15.) พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สังคมที่มีกฏหมายไม่จำเป็นจะต้องปกครองด้วยหลักแห่งกฏหมายเสมอไป เพราะสังคมที่มีกฏหมายนั้น กฏหมายอาจจะเป็นเพียง "คำสั่งของผู้ปกครอง หรือคำสั่งของรัฐ" ไม่ใช่ข้อตกลงของประชาชนที่จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วยกระบวนการและขั้นตอนเดียวกัน และในสังคมที่อ้างว่ากฏหมายมาจากประชาชน ผู้ปกครองที่อ้างว่ามาจากประชาชนก็สามารถหลบเลี่ยงกฏหมายได้เช่นกันดังที่ได้เห็นมาโดยตลอด


 


[5] ดังนั้นแทนที่จะจบบทความนี้ด้วยคำถามคาใจของสื่อมวลชนต่างชาติในแง่ที่ว่า การปฏิรูปการปกครอง (โดยคณะทหาร) ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นจะตอบปัญหาการสนับสนุนระบอบทักษิณถึง 16 ล้านเสียงได้อย่างไร (ไม่ว่าระบอบทักษิณนั้นจะมาด้วยการซื้อเสียง หรือด้วยการแจกของก็ตาม) ผมก็จะขอลองอธิบายว่าการปฏิรูปการปกครอง (ด้วยคณะทหาร) ในครั้งนี้นั้นได้กระทำการอย่างสำคัญประการหนึ่ง "ในทางอุดมการณ์" ที่แตกต่างไปจากการกระทำที่ผ่านมาทุกครั้ง และสามารถที่จะก้าวพ้นปัญหาที่จะต้องเผชิญกับกรอบคิดเรื่องรัฐกับประชาสังคมที่กำกับกระบวนการจรรโลงประชาธิปไตยไปได้


 


โดยการเข้าไป "ก่อร่าง-เน้นย้ำ" และเผชิญหน้ากับระบอบทักษิณอย่างเต็มตัวในคืนวันที่มีการปฏิรูปการปกครอง (โดยคณะทหาร) ด้วยการเปิดเพลงเฉลิมพระเกียรติแทนเพลงมาร์ชรักชาติทั่วไป และยังฉายสารคดีเฉลิมพระเกียรติให้เห็นถึงโครงการพัฒนาต่างๆอันเกิดมาจากพระราชดำริ ซึ่งสารคดีจำนวนมากนั้นเป็นสารคดีที่ได้มีการนำออกมาฉายในช่วงการเฉลิมฉลองการครองราชย์อันยาวนานขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (รวมถึงก่อนหน้านั้นด้วย)


 


ความสำคัญของการถ่ายทอดสารคดีเฉลิมพระเกียรติสลับกับเพลงเฉลิมพระเกียรติและการประกาศข่าวการปฏิรูปการครอง (ด้วยคณะทหาร) ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติริย์เป็นประมุข นั้นจึงมีความสำคัญในการกำหนดคำนิยามว่าระบอบประชานิยมที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ระบอบประชานิยมของทักษิณผ่านนโยบายของพรรคไทยรักไทย แต่เป็นภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายให้กับพสกนิกรของท่านมาโดยตลอดโดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน      สิ่งนี้ก็คือการช่วงชิงการกำหนดนิยามในสิ่งที่ Chatterjee เรียกว่าการเมืองของผู้ถูกปกครอง (the politics of the governed) ที่ความจริงแล้วประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นมาก่อนนั้น เขาไม่ได้สัมพันธ์กับรัฐในลักษณะของปัจเจกบุคคล (อันเป็นพื้นฐานของกรอบคิดแบบประชาสังคม) หากแต่เขาสัมพันธ์กับรัฐผ่านโครงการทางการปกครองของรัฐที่เกิดขึ้นมาก่อนและเป็นโครงการที่ทำการปกครองพวกเขาผ่านทั้งการ "หยิบยื่น" สิ่งต่างๆให้และผ่านการ "จัดประเภท" พวกเขาเพื่อควบคุมพวกเขาในรูปแบบอันสลับซับซ้อน นับตั้งแต่ยุคอาณานิคมมาจนถึงยุคพัฒนา อาทิการกำหนดพวกเขาให้เป็นประชากร มีโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ แต่ทั้งนี้แม้ว่าจะมีความพยายามในการปกครองผ่านการให้สวัสดิการกับคนผ่านการพัฒนาอย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่พอเพียงกับคนในสังคม โดยเฉพาะคนยากคนจน        


 


ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถสื่อสารกับสังคมได้ก็คือความแตกต่างของการใช้นโยบายประชานิยมแบบระบอบทักษิณที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งถึงความพยายามในการแลกเปลี่ยนสวัสดิการกับความจงรักภักดีผ่านการเลือกตั้ง กับการดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นหนึ่งในพระกรณียกิจที่สถาบันกษัตริย์ของไทยได้กระทำสืบต่อกันมาในการพัฒนาประเทศให้เป็นสมัยใหม่ ตั้งแต่การปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ทั้งการสถาปนาการปกครองส่วนภูมิภาคที่เกิดรากฐานของจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน อันเป็น "รากฐาน" และ "หน่วย" ของโครงการพัฒนา ในยุคถัดมาเมื่อมีการพัฒนาสมัยการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาในยุคประชานิยมที่ยังใช้โครงสร้างเดิมเป็นหน่วยและฐานรากในการกระจายสวัสดิการต่างๆที่จะต้องได้มาจากการร้องขอ มิใช่การเลือกผู้แทนที่พร้อมจะโกงกินและหาประโยชน์เข้าตัวเอง


 


ดังนั้นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในทางอุดมการณ์ในคืนวันที่ ๑๙ จึงเป็นการต่อสู้ผ่านปริมณฑลที่ Chatterjee เรียกว่า political society มากกว่า civil society (ดูที่ Partha Chatterjee. The Politics of the Governed: Reflections on Popular Politics in Most of the World. New York: Columbia University Press.) ซึ่งทำให้การกล่าวหาทักษิณในเรื่องของการคอรัปชั่น การสร้างความแตกแยกให้สังคมและ การหมิ่นเบื้องสูงตามที่ฝ่ายพันธมิตรนั้นเรียกร้องและเน้นย้ำมาโดยตลอด ดูจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับ "แถลงการณ์ที่ไม่ได้อ่านโดยผู้นำและโฆษกของคณะปฏิรูปการเมือง" ที่นำเสนอมาตลอดคืนวันที่ ๑๙ และเช้าวันที่ ๒๐ นั่นเอง            หรือ ไม่ใช่เรื่องที่สื่อมวลชนฝรั่งเข้าใจว่าการปฏิรูปการปกครอง (โดยคณะทหาร) นั้นเป็นเรื่องของการยึดอำนาจด้วยรถถัง ดังที่สื่อต่างชาติเข้าใจผ่านการพยายามถ่ายภาพรถถังที่วิ่งอยู่บนท้องถนนหรือตามสถานที่ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ หรือมองว่ามีการปิดกั้นข่าวสารตลอดทั้งคืน โดยลืมไปว่าสิ่งที่สำคัญนั้นมิได้อยู่ที่คำแถลงการณ์ของคปค เท่ากับอยู่ที่สารคดีเฉลิมพระเกียรติและเพลงเทิดพระเกียรติต่างๆต่างหาก


 


ว่าง่ายๆว่าในอนาคตนั้น การเมืองแบบประชานิยมจะยังดำเนินต่อไปผ่านการดำรงอยู่ของ political society มากกว่า civil society ที่นักวิชาการหอคอยช่างฝันและบรรดา "องค์กรพัฒนาเอกชน" นำมาขายในช่วงที่ผ่านมา ด้วยว่าแนวคิด civil society นั้นมองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการเมือง และความสัมพันธ์ของเทคนิควิธีการปกครองที่ซับซ้อนและควบคุมจิตใจของผู้คนได้ (governmentality) ที่รัฐมีให้กับ พสกนิกร (subject หรือพลเมืองในฐานะ subject มิใช่ citizen) ของเขา ในลักษณะของการทั้งคุ้มครองและหยิบยื่นสิ่งต่างๆให้ที่มีมาโดยตลอดนั่นเอง


 


ย้ำให้ชัดอีกทีก็คือ สิ่งที่ทักษิณทำลายนั้นไม่ใช่ รัฐธรรมนูญ แต่ทักษิณทำลาย "ภูมิคุ้มกันรัฐธรรมนูญ" ที่สำคัญที่สุดก็คือประชาสังคม หรือภาคประชาชน ผ่านนโยบายประชานิยมที่ทำให้เกิดการสร้างพันธมิตรระหว่างทุนระดับชาติ ทุนภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ทุนท้องถิ่น กับชนบท และทำให้กลไกรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำงานได้ และทำให้เกิด "ความเปราะบาง" ของประชาสังคมที่ไม่สามารถเป็นพลังกดดันให้การเกิดการทำงานของกลไกรัฐธรรมนูญได้


 


กล่าวคือจุดเปราะบางที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมิได้อยู่ที่ "เนื้อหา" ของรัฐธรรมนูญ หากแต่อยู่ที่การปล่อยให้รัฐธรรมนูญนั้น "อยู่ในมือ" ของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อมีการประกาศใช้ไปแล้วนั่นเอง นั่นคือที่มาที่ทักษิฯบอกเสมอว่าทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะพวกเขาไม่ได้ร่าง


 


การออกมาสัมภาษณ์ของตัวแทนฝ่ายประชาสังคมที่ให้ความชอบธรรมกับการทำรัฐประหารในฐานะที่เป็นทางเลือกสุดท้าย จึงสะท้อนความอ่อนแอของประชาสังคมเอง ที่ถูกทำลายลงในยุคระบอบทักษิณ อาทิการเกิดการฆ่าตัดตอน การเกิดการปราบปรามอย่างรุนแรงด้วยกลไกของรัฐ นี่คือสิ่งที่เราสามารถเห็นได้ว่าทักษิณไม่ได้ทำลาย "กฏหมายรัฐธรรมนูญ" แต่ทำลาย "บรรยากาศ" และ "สถาบัน" ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนั้นทำงานได้ นั่นก็คือทำลายประชาสังคมนั่นเอง จนทำให้เกิดการฉีกรัฐธรรมนูญโดยทหารและการที่ประชาสังคมนั้นยอมรับคณะรัฐประหาร (คือทหารที่กลายสภาพจากกลไกรัฐมาเป็นรัฐเสียเอง) ในฐานะผู้อุปถัมภ์ของประชาสังคมในท้ายที่สุด


 


นั่นหมายความว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคตภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นถุกทำลายคือการล่มสลายจองประชาสังคมและการเมืองภายภาคหน้าจะเป็นเรื่องของการเมืองใน political society มากกว่า civil society


 


และด้วยการวิเคราะห์เช่นนี้เองที่ทำให้เรา "เห็น" ในสิ่งที่เราคิดว่าเรา "มองไม่เห็น" ทั้งที่สิ่งนั้นปรากฏอยู่ตรงหน้าเราตลอดเวลา


 


มากกว่าสนใจวิเคราะห์การปฏิรูปการปกครอง (โดยคณะทหาร) เพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผ่าน "ข้อมูลใหม่" และ "ข้อมูลลับ" ตลอดเวลา ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net