Skip to main content
sharethis

โดย   กฤษฎา บุญชัย


Guitarkob@yahoo.co.th


 



 


ผู้เขียนเป็นนักกิจกรรมเชิงวิชาการอิสระ ซึ่งไม่อาจอ้างตัวได้ว่าเป็นคนชายขอบ แม้จะทำงานร่วมกับคนชายขอบในชนบทส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหนของชุมชนท้องถิ่นในการเรียกร้องสิทธิการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนาตนเองมาระดับหนึ่งก็ตาม


 


ดังนั้น ทัศนะต่อไปนี้ จึงเป็นไม่ใช่ทัศนะของคนชายขอบ แต่เป็นการตีความของผู้เขียนต่อมโนทัศน์ วิธีคิดทางการเมืองของคนชายขอบเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ไม่อาจอ้างว่าเป็นตัวแทนใดๆ ได้


 


ในสายตาของผู้เขียนที่ทำความเข้าใจคนชายขอบที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนต่อฐานทรัพยากร ข้อถกเถียงทางการเมืองทั้งในหมู่รัฐ นักวิชาการ ปัญญาชนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณครองอำนาจ และโดยเฉพาะในช่วงรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ไม่ได้ตอบ หรือสนใจจะตอบคำถามต่อการเมืองของคนชายเลย


 


ในช่วงการต่อต้านทักษิณ กลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยอันเป็นหัวหอกหลักในขบวนการประชาชนเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณ สิ่งที่พวกเขาเสนอเป็นเรื่องการจัดการกับอำนาจทักษิณโดยเฉพาะการทุจริต คอรัปชั่น การไร้จริยธรรม และการละเมิดสถาบันเป็นธงนำ


 


ถ้าเป็นคนชายขอบ เขาจะไม่ได้สนใจคำถามแบบเป็นองค์รวมขนาดนั้น รู้แต่ว่า สมัยรัฐบาลทักษิณ ความรุนแรงต่อพวกเขามันมากกว่าสมัยก่อนเยอะ สิทธิในด้านทรัพยากรยังคงผูกขาดอยู่ที่รัฐ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยหรือทำกินในป่าอนุรักษ์ยิ่งถูกจับมากขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ เช่น กะเหรี่ยงบ้านป่าผาก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกอพยพครั้งแล้วครั้งเล่า หรือกรณีชาวบ้านปากมูล ราษีไศลที่รัฐบาลทักษิณก็หาได้ใส่ใจพวกเขา และมีแนวโน้มถูกดันมากขึ้น ผู้นำชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องพลีชีพไปด้วยความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่มีใครใส่ใจ


 


นอกจากนี้ รัฐบาลของทักษิณกำลังแปลงทรัพยากรสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐและของประชาชนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่ทำให้ป่าของชาวบ้านหลายแห่งถูกไถเพื่อเตรียมรับนโยบายดังกล่าว ชาวบ้านที่ลำพูน หรือที่กระบี่ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิในที่ดิน โดยบุกยึดพื้นที่ที่นายทุนครอบครองอย่างไม่ชอบธรรมก็ถูกรัฐบาลจัดการจับเข้าคุกไปหลายราย หรือกรณีชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองแร่โปแตสที่อุดร ชาวบ้านที่ต่อต้านท่อก๊าซจากจะนะ และอื่นๆ ความรุนแรงเหล่านี้รัฐเข้ามามีบทบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อม


 


พวกเขาอาจไม่เข้าใจการตีความระบอบทักษิณแบบคนชั้นกลาง แต่พวกเขาเริ่มตระหนักแล้วว่า มาตราเหล่านี้ไร้น้ำยามากๆ จนแทบไม่เหลือพื้นที่การต่อสู้ใดๆ ของเขาเลย


 


ขณะเดียวกัน ก็มีปรากฏการณ์ตรงกันข้าม ก็มีกลุ่มประชาชนรากหญ้าซึ่งดูเหมือนเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่แสดงตัวออกมาสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทักษิณ เช่น คาราวานคนจน และการที่ประชาชนรากหญ้าออกกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสนับสนุนพรรคไทยรักไทยถึง 16 ล้านเสียง จนกลุ่มและขบวนการเหล่านี้อ้างความชอบธรรมในฐานะเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ตามตรรกะประชาธิปไตยเสียงข้างมากที่ต้องจรรโลงไว้


 


ขบวนการประชาชนรากหญ้าเหล่านี้ก็อาจเป็นเช่นเดียวกับกลุ่มชายขอบด้านทรัพยากร ในแง่ไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจต่อการวิพากษ์ปัญหาระบอบทักษิณแบบองค์รวมแบบคนชั้นกลาง แต่สนใจสิทธิและความมั่นคงในชีวิตซึ่งไม่เคยมีมาเลยในรัฐบาลทุกยุค แต่สิ่งต่างกันอย่างยิ่งก็คือ ขบวนการประชาชนรากหญ้าส่วนใหญ่ เป็นทั้งกลุ่มผู้มีบทบาทนำในตำบล หมู่บ้าน เป็นกลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรของรัฐในรูปของกองทุนหมู่บ้าน นโยบายสินค้าโอทอป แปลงสินทรัพย์ 30 บาทรักษาทุกโรค ขณะเดียวกันก็เป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่มีวิถีชีวิตปกติแม้จะไม่สุขนัก แต่ก็ไม่ได้เผชิญปัญหาการใช้อำนาจของรัฐบาลในยุคทักษิณที่เข้ามาลิดรอนสิทธิการทำมาหากินและสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนโดยตรง


 


ในแง่นี้ ทั้งปัญหา ความต้องการ และผลประโยชน์ของสิ่งที่เรียกว่า "รากหญ้า" จึงแตกต่างกันมาก แต่ความเป็น "รากหญ้า" ได้กลบเสียงของคนชายขอบไปอย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำยังถูกนำไปอยู่ในตรรกะความคิดแบบคู่ตรงข้ามของคนในสังคม ที่อ่านความแตกต่างเหล่านี้ไม่ออก


 


เพราะคนชายขอบเหล่านี้ ใช่ว่าจะเข้าถึงกองทุนหมู่บ้านได้ง่ายๆ เนื่องจากผูกขาดไปโดยกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือญาติบริวารที่สัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่น คนชายขอบเหล่านี้กลับถูกปิดกั้นหรือช่วงชิงทรัพยากร จากหมู่ชาวบ้านกระแสหลักที่เข้ายึดที่ดินสาธารณะที่เคยใช้ร่วมกันให้เป็นทรัพย์สินของตนตามวิถีแปลงทรัพย์เป็นทุน


 


หากใช่วิธีคิดแบบสองนคราประชาธิปไตย วิธีคิดแบบคู่ตรงข้าม วิธีคิดแบบขาวดำ และวิธีคิดแบบประชาธิปไตยคือเสียงส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้ง เราไม่มีทางเปิดพื้นที่ให้กับการเมืองของคนชายขอบได้เลย


 


เพราะการเมืองที่คนชายขอบสนใจคือ การเมืองแห่งการดำรงชีพ พวกเขาจะไม่อ่านอำนาจ หรือเผชิญอำนาจโดยใช้วิธีคิดที่เป็นนามธรรม แต่จะใช้หลักการผสมผสาน ถ่วงดุลอำนาจนานาประการเพื่อให้ชุมชนมีสิทธิจัดการชีวิตตนเองเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมทั้งในด้านนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เช่น มีข้าวกิน หาผักหาปลาได้ ดำเนินประเพณี พิธีกรรมของตนเองได้ พวกเขาอาจจะไม่ได้ตั้งคำถามว่า อำนาจที่เขาดึงเข้ามานั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เพราะเขาไม่ได้โอกาสเลือกได้เช่นนั้น หรือเพราะเขาก็ไม่ได้อยู่ในสูญญากาศทางอำนาจที่จะช้อบปิ้งทางเลือกได้อย่างอิสระ แต่สิ่งที่พวกเขาสนใจมากกว่าคือ ต้องให้อำนาจทั้งหลายไม่เข้ามาครอบงำชุมชน ไม่ทำให้สิทธิในการดำรงชีพกระทบกระเทือน สิ่งที่พวกเขารู้อย่างหนึ่งก็คือต้องให้อำนาจเหล่านั้นมันถ่วงดุลกัน เช่น เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้มาจับชาวบ้าน ก็อาจต้องผูกมิตรกับนายอำเภอ เอ็นจีโอ นักวิชาการ เพื่อสู้กับกฎหมายป่าไม้ พวกเขาอาจเลือกวิถีบวชป่าเฉลิมพระเกียรติ์ เพื่อสู้กับโครงการขนาดใหญ่ หลายครั้งต้องอ้างรัฐธรรมนูญ เดินขบวนประท้วง ซึ่งหลายครั้งดูหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย และต่อแนวทางสันติวิธี พวกเขาบ้างก็รู้ว่าในบรรดาเครื่องมือเหล่านี้พวกเขาอาจคุมมันไม่ได้ทั้งหมด


 


คนชายขอบอาจไม่ได้ถามว่า วิถีและเครื่องมือที่หยิบยืมมาเหล่านั้น มันประชาธิปไตยไหม มันเผด็จการหรือเปล่า มันไปเสริมสร้างอำนาจอื่นหรือไม่ หรือมันจะมากำกับวิธีคิด และวิถีทางการต่อสู้ของเขาไหม เพราะในโลกเชิงปฏิบัติคำถามเหล่านี้ไม่มีความหมายมากนัก การเมืองที่เขาคิดถึงเป็นการเมืองที่อยู่บนชีวิตและเลือดเนื้อที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรก็ตาม


 


หากจะตีความโดยอาศัยวาทกรรมทางการเมืองที่มีอยู่ ก็อาจบอกได้ว่า เป็นการเมืองที่คนจนกินและสัมผัสได้ เป็นประชาธิปไตยแบบที่พวกเขามีสิทธิในการเลี้ยงปากท้อง จัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อชีวิตของชุมชน สามารถปฏิบัติจารีต ประเพณี ความเชื่ออย่างที่เขาทำมาได้ แม้หลักคิดเช่นนี้จะถูกปัญญาชนชั้นนำโจมตีได้ว่า เป็นพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังเช่นที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประณามสมัชชาคนจนมาแล้วว่าไม่เข้าร่วมการต่อสู้ แต่ก็น่าคิดเช่นกันว่า มีการเมืองแบบไหนที่ผู้เสนอไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงรูปธรรม หรือในทางอุดมการณ์ที่ตนเป็นศูนย์กลาง เพียงแต่เรามองประโยชน์กันคนละฐานคิด และมองเรื่องการเรียกร้องประโยชน์ของคนจนเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวเสมอ


 


อาจจะต่างจากปัญญาชนคนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย ที่ประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์นามธรรมที่รู้ว่าต้องรักษาไว้แต่โยงกับชีวิตตัวเองได้ไม่มากนัก อาจได้แค่ในระดับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รับรู้ข้อมูลข่าวสาร แสดงออกทางการเมือง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกที่สิทธิเหล่านั้นมันเคยเป็นอภิสิทธิ์ของคนชั้นกลางอยู่แล้ว แม้สิทธิเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งยวดต่อคนชายขอบ เพราะมันจะเปิดพื้นที่ให้กับสิทธิการดำรงชีพมากยิ่งขึ้น เสียแต่เพียงว่ารูปธรรมของประชาธิปไตยแบบคนชั้นกลางไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหน ไม่เคยแตะลงมาถึงคนชายขอบเสียที ไม่แตะเรื่องปฏิรูปที่ดิน สิทธิจัดการทรัพยากร ปัญหาหนี้สิน การธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น


 


การเมืองเชิงปฏิบัติบนฐานเพื่อการยังชีพแบบคนชายขอบ อาจทำให้พวกเขาแม้จะต่อต้านโครงการนโยบายของรัฐบาลทักษิณจำนวนมาก แต่ก็ไม่ถึงขั้นเรียกร้องให้ล้มทั้งระบบ เพราะเขาไม่ได้มีทางเลือกที่จะเอารัฐบาลแบบไหน มีแต่การต่อสู้ ต่อรองเพื่อให้ชุมชนมีที่ยืนอยู่ได้ เห็นได้จากสมัชชาคนจนจะเงียบเสียงมากไม่ว่าจะเป็นการไล่หรือสนับสนุนทักษิณ เพราะนั่นไม่ใช่การเมืองแบบของเขา


 


การเมืองเชิงปฏิบัติของคนชายขอบ ก็จะไม่ต่อต้านการรัฐประหารทั้งระบบด้วยเหตุผลของปัญญาชนเรื่องทำลายประชาธิปไตย แต่ก็จะไม่ชื่มชมยินดี ไปให้ดอกไม้หรือประกาศตัวสนับสนุน คปค. ที่ขจัดระบอบทักษิณ เพราะนั่นก็ไม่ใช่การเมืองแบบของเขาเช่นกัน ในสายตาของพวกเขาการรัฐประหารหรือฝ่ายต่อต้านรัฐประหารก็คือการแย่งอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งไม่สามารถเป็นหลักประกันการเมืองของคนชายขอบได้เลย มีแต่ต้องจับตา และหาทางรุกให้มีหลักประกันสำหรับคนจน และจะต่อต้านเมื่ออำนาจไม่ว่าในนามเผด็จการหรือในนามประชาธิปไตยเสียงข้างมากใดๆ ก็ตามที่มากระทบต่อสิทธิการดำรงชีพของเขา แต่วิธีการรับและรุกโดยไม่สนใจนามธรรมที่จับต้องยากก็เสี่ยงถูกกล่าวหาว่าฉวยโอกาสจากบรรดานักอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้


 


สิ่งที่พวกเขาคิดและน่าจะกำลังเคลื่อนไหวก็คือ ต้องต่อสู้ ต่อรองเพื่อให้หลักประกันสิทธิในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การจัดการทรัพยากร และอื่นๆ ที่ถูกรวมเรียกว่าการเมืองแบบที่พวกเขามีที่ยืนให้ดำรงอยู่ได้


 


การที่คปค.ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิชุมชนก็กระทบกระเทือนต่อพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาอย่างมาก อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะยุบองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระเพียงไม่กี่แห่งที่ให้ความสำคัญกับสิทธิของคนชายขอบ


 


มาตราต่างๆ และองค์กรอิสระเหล่านี้มีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมระดับหนึ่งต่อการคุ้มครองสิทธิของพวกเขา ดังนั้นหากทิศทางการปฏิรูปการเมืองในยุคคปค.ยังคงเป็นเพียงแค่การกำจัดระบอบทักษิณทั้งการตรวจสอบคอรัปชั่น การผูกขาดอำนาจการเมืองในสถาบัน ขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนด้านทรัพยากรจะต้องต่อสู้เพื่อให้เกิดหลักประกันด้านสิทธิชุมชน หรือให้เกิดประชาธิปไตยที่กินได้ขึ้นมา เช่น การคงไว้ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การนำรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ด้านสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรกลับมาใช้ หรือจะปรับปรุงให้มีความก้าวหน้าในด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชุมชนมากยิ่งขึ้น


 


แต่การเมืองแบบขาวดำจะมีพื้นที่ให้พวกเขามากน้อยเพียงใด ผู้เขียนไม่ได้เรียกร้องให้วิธีคิดการเมืองแบบคนชายขอบตามการตีความของผู้เขียนจะเป็นมาตรฐานสากล หรือใช้ครอบงำวิธีคิดแบบอื่น หากแต่ใครให้เกิดการใคร่ครวญกระบวนการการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ว่ามีพื้นที่ให้กับการเมืองแบบชายขอบหรือไม่


 


ในฐานะผู้เขียนเองอยู่ในสนามวาทกรรมทางการเมืองหลายแบบ ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในระบบคิดการเมืองแบบคนชายขอบเสียทั้งหมด แต่ก็เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการเมืองที่เป็นอยู่และจะเป็นไปต้องเปิดพื้นที่ให้กับการเมืองแบบคนชายขอบ ผู้เขียนควรจะต้องเตือนและวิจารณ์ตนเองเสมอว่า อย่าประมาทในอำนาจใดๆ อย่าติดกับในอุดมการณ์ทางการเมืองที่ห่างไกลจากชีวิตของผู้คน พร้อมกับร่วมปฏิบัติการอย่างเต็มที่ทั้งการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ ต่อสู้ให้เพื่อสิทธิชุมชนต่อทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง กลายเป็นสถาบันการเมืองที่สำคัญที่เป็นที่ยืนแก่คนชายขอบไว้ให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net