Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 ก.ย.2549 โครงการรณรงค์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 72 ศูนย์ 42 จังหวัด และเครือข่ายประชาชน 15 เครือข่าย ได้จัดประชุมขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ สนับสนุนการดำเนินการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป แม้ว่าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา


 


นายเกื้อ แก้วเกตุ ประธานโครงการรณรงค์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชน อันประกอบด้วยข้อเรียกร้อง 11 ประการ มีเนื้อหาสำคัญที่เรียกร้องให้ คปค. สนับสนุนการดำเนินการตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อไป เพราะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน


 


นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงปัญหาที่ประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ ได้รับความสับสนว่าโครงการหลักประกันสุขภาพจะถูกยกเลิก หลังจากที่ คปค. รัฐประหารรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้สำเร็จ และความเชื่อว่าโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ของพรรคไทยรักไทยเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ โครงการนี้ก็จะถูกยกเลิกไป ประชาชนหลายรายที่ป่วยจึงไม่กล้าไปรักษาพยาบาลที่สถานบริการ เพราะเกรงว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพฯ โดยมากเป็นผู้มีฐานะยากจน


 


จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงข้อมูลให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันว่าโครงการนี้มิได้ผูกขาดกับพรคการเมืองใด และจะไม่มีการยกเลิกด้วย จึงเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุขทำจดหมายถึงหน่วยบริการเพื่อให้บริการประชาชนต่อไป ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าโรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดปฏิเสธการให้บริการแก่ประชาชน


 


อย่างไรก็ตาม ในวงประชุมและแถลงข่าวได้มีการเรียกร้องว่าบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ และรมว. ต้องพร้อมจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขและระบบบริการ พร้อมให้การสนับสนุนและหาแหล่งรายได้เพิ่มให้แก่โครงการฯ


 


เพราะที่ผ่านมา โครงการประสบปัญหาว่างบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้ไม่มีความสม่ำเสมอ และขาดความครอบคลุมในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังหลายโรค เช่น ไตวาย และจิตเวช ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากโครงการ เพราะเป็นโรคที่ใช้เงินมากในการรักษา และปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถูกมองว่าเป็นโครงการที่สร้างปัญหา


 


โครงการรณรงค์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเครือข่ายภาคประชาชน 15 เครือข่าย เสนอให้ คปค. แก้ไขเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีต่างๆ อย่างเป็นธรรม และควรฟังข้อมูลให้รอบด้านเสียก่อน โดยแนวทางที่โครงการฯ เสนอ ได้แก่ การเรียกร้องให้เก็บภาษีที่เกิดความเป็นธรรม เช่น นำกำไรของโรงพยาบาลจากนโยบายศูนย์การแพทย์ของเอเชีย (Medical Hub) มาจัดสรรอย่างเหมาะสม หรือจัดให้มีการเก็บภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า เป็นต้น


 


ภายหลังการประชุม ตัวแทนของเครือข่ายภาคประชาชนและโครงการรณรงค์ฯ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง คปค.ให้ดำเนินการเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนต่อไป


 


...........................................................................................................


 


แถลงการณ์ข้อเสนอของประชาชน


ต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ


 


เครือข่ายภาคประชาชน เรียกร้องให้แพทย์บางกลุ่มหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขให้หยุดกระทำการใดๆ ที่ผลักดันการแก้ไขหลักการของระบบหลักประกันที่รับรองการเข้าถึงบริการสุขภาพว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองให้เป็นระบบสังคมสงเคราะห์ และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การดำเนินการเรื่องศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและกองทุนสุขภาพในระดับพื้นที่


 


ตลอดจนให้หน่วยบริการสาธารณสุขให้บริการสุขภาพประชาชน ตามสิทธิอันพึงมีพีงได้ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ได้ถูกยกเลิกโดย คปค. แต่ประการใด พร้อมเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุขทำจดหมายถึงหน่วยบริการ ให้บริการประชาชนตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ในกฏหมายเช่นเดิม


 


พร้อมเรียกร้องให้บุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นบุคคลที่พร้อมจะปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขและระบบบริการ พร้อมทั้งเข้าใจและสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นของคนทุกคน


 


ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชน 15 เครือข่าย จำนวน 123 คน จาก 23 จังหวัด ได้รับข้อมูลความกังวล และเสียงล่ำลือจากประชาชนในหลายจังหวัดว่าไม่กล้าไปใช้บริการเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่าย เพราะคิดว่า 30 บาท ถูกยกเลิก และสำนักงานสาธารณสุขบางจังหวัดหยุดให้การสนับสนุนความร่วมมือในการดำเนินการกองทุนสุขภาพในระดับพื้นที่ จึงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และยืนยันเจตนารมณ์ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพมีประชาชนเป็นเจ้าของ และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน จึงมีข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้


 


1. พัฒนาระบบให้ประชาชนที่ไปรับบริการในสถานบริการไม่ต้องจ้าย 30 บาท เพราะหลักประกันสุขภาพไม่ใช่ของพรรคการเมืองใด แต่มีประชาชน ประชาสังคม ข้าราชการที่ดี และนักวิชาการ ร่วมผลักดันมากมาย



 


2. ให้ใช้บัตรประชาชน หรือบัตรแสดงฐานะบุคคล หรือบัตรอื่นใดแทนบัตรทอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการทำบัตรทองหลายล้านบาทต่อปี 


 


3. ให้คงระบบการจัดสรรเงินให้เกิดความเท่าเทียม โดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับจำนวนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการกระจายของบุคลาการทางการแพทย์ เช่น สูติแพทย์มีในกรุงเทพฯ มากถึง 44.5 เปอร์เซ็นต์ และให้มีกองทุนบริหารความเสี่ยง จัดการในพื้นที่พิเศษ หรือในพื้นที่ที่งบประมาณไม่เพียงพอ


 


4. ต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้พอเพียงอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อใช้ในการดำเนินการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น ในปี 2549 ควรได้รับการจัดสรรจำนวน 1,659 บาท และในปี 2550 ควรจัดสรรจำนวน 2,089 บาทต่อคนต่อปี


 


5. สปสช. จะต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพิ่มขึ้นมากกว่าเกิม 10 เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันในทุกระดับ เช่น ให้มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในทุกจังหวัด ขณะนี้มี 72 ศูนย์ใน 42 จังหวัด ขยายการมีส่วนร่วมกับกลุ่มประชาชนทั้ง 9 เครือข่าย และสนับสนุนกองทุนสุขภาพชุมชน/ พื้นที่ เป็นต้น


 


6. ทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมและเท่าเทียมกันทั้ง 3 ระบบ และขยายครอบคลุมให้ทุกโรค เช่น ไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรัง ผู้ใช้ยาเสพติด การส่งเสริมป้องกันโรค และการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เป็นต้น


 


7. คุณภาพและมาตรฐานบริการ เป็นมาตรฐานเดียวในการให้บริการกับประชาชน ในระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ และให้โรงพยาบาลมีแนวทางการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว และบัญชียาบัญชีเดียว


 


8. ในระยะสั้นให้มีกองทุนสนับสนุนระบบหลักประกันเพิ่ม 2 กองทุน เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า


          8.1 กองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุข (สุขภาพ) สำหรับทุกคน เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดภาระในการพิสูจน์ความผิดและความทุกข์ในการฟ้องร้อง รวมทั้งลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้


          8.2 กองทุนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการของคนที่ไม่มีบัตรประชขาชน เช่น คนไทยพลัดถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์


 


9. เปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติซื้อบริการได้โดยเสรี ไม่ผูกติดกับการจ้างงาน และนำเงินรวมในการจัดสรรการให้บริการ


 


10. ให้นำงบประมาณในส่วนการรักษาพยาบาลตามกฏหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


 


11. ให้เก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เก็บภาษีพิเศษจากโอกาสทางนโยบาย เช่น กำไรของโรงพยาบาลจากนโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเชีย ภาษีที่ดินบริเวณสุวรรณภูมิ ภาษีการยึดทรัพย์ทีเกี่ยวข้อง ภาษีการนำเข้าสารเคมี ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แก้ไขการจัดเก็บภาษีเป็นระบบภาษีก้าวหน้า


 


 


โดย


โครงการรณรงค์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถาคประชาชน


ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 72 ศูนย์ 42 จังหวัด


เครือข่ายประชาชน 15 เครือข่าย ได้แก่ ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผู้พิการ เกษตรกร ผู้หญิง แรงงานนอกระบบ เด็กและเยาวชน ชาติพันธุ์ ชุมชนแออัด ผู้สูงอายุ


ผู้ใช้ยาและผู้บริโภค


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net