Skip to main content
sharethis

จากรายการ "เช้าทันโลก"


เอฟเอ็ม 96.5 เมกกะเฮิร์ต


วันที่ 26 กันยายน 2549


ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


 


 


ตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในสายตาของต่างชาติอย่างใกล้ชิด ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งในสำนักข่าวข่าวต่างประเทศหลายวัน


 


ประเด็นก็คือว่ามันมีความกังวลจากหลายประเทศถึงระบบประชาธิปไตยในประเทศเรา แต่ก็มีอีกหลายเสียงเหมือนกันที่พูดว่า ประเทศไทยควรจะดำเนินตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเดิม เพื่อที่ว่าเขาจะสามารถสังฆกรรมหรือว่าทำกิจกรรมทางการค้ากับประเทศไทยต่อไป และหนึ่งในหลายเสียงนั้นก็คือสหรัฐอเมริกา


 


วันนี้เราจะไปพูดคุยกับกับคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแลสังคมแห่งชาติ ถึงแรงกดดันเหล่านั้น


 


เท่าที่คุณวิฑูรย์ได้ติดตามมานับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น กระแสเสียงเหล่านี้ที่กดดันประเทศไทยเป็นอย่างไร?


ชัดเจนว่าประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา คัดค้านการรัฐประหารในประเทศไทย เรียกร้องให้คืนอำนาจให้แก่ประชาชน ให้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แล้วที่สำคัญอันหนึ่งที่โฆษกของรัฐบาลสหรัฐฯ พูดมีนัยยะว่า การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐจะเกิดขึ้นต่อไป ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมอบอำนาจให้กับประชาชนและให้มีการจัดการเลือกตั้ง


 


อีกอันหนึ่งเกี่ยวกับความช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐที่ให้กับประเทศไทย ซึ่งดูแล้วก็ไม่มากประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 600 ล้านบาท


 


อีกอันหนึ่งก็คือ การระงับความร่วมมือในการฝึกทหาร แต่ถ้าดูไปแล้ว ถ้ายกประเด็นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว ข้อที่เหลือสองข้อไม่ว่าจะเป็นประเด็นของ FTA ก็ตาม ความช่วยเหลือทางด้านการทหารการฝึกทหาร จริงๆ แล้วก็เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาทั้งสิ้น


 


กรณีเรื่อง FTA ที่สหรัฐบอกว่าเหมือนกับจะยุติการเจรจา FTA เอาไว้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมคิดว่าอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เขาเรียกร้องมาจากใจจริงของเขา


 


ทำไมถึงมองอย่างนี้?


ก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ในช่วงรัฐบาลรสช. ช่วงนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร คือในช่วงนั้นรัฐบาลอยู่ในช่วงรัฐบาลหลังรัฐประหาร เป็นรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งต้องการแรงสนับสนุนจากภายนอกโดยเฉพาะประชาคมโลกให้การยอมรับ สิ่งที่รัฐบาลอเมริกาทำก็คือ การกดดันให้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายที่รับรองผลประโยชน์ของบริษัทของสหรัฐในระหว่างนั้น เหมือนกับเป็นการแลกกันระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐกับการให้การยอมรับกับรัฐบาลชั่วคราวในสมัยรสช.


 


รัฐบาลชั่วคราวถูกผลักดันให้ต้องยอมรับกฎหมายสิทธิบัตรของสหรัฐฯ โดยในขณะนั้นกฎหมายไทยใช้ พ.ร.บ.สิทธิบัตรปี พ.ศ. 2522 ซึ่งยกเว้นที่จะให้มีการจดสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์ยา (Product Patent)  


 


ก่อนหน้านั้นหลายรัฐบาลไม่ว่าสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็ดี สมัยของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ดี ต่างปฏิเสธที่จะยอมตามแรงกดดันของสหรัฐฯ แต่ว่าในท้ายที่สุดการต่อสู้กับแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีมาเกือบทศวรรษก็พ่ายแพ้ลงในสมัยรสช. นี้เอง


 


ผมอยากจะใช้คำว่าด้านหนึ่งในการพยายามพูดถึงประชาธิปไตยซึ่งให้มีการเลือกตั้ง แต่ว่าในขณะเดียวกันนั้นรัฐบาลอเมริกาก็ใช้สองเรื่องนี้กดดันเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ


 


ถึงแม้โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ว่าท่าทีของสหรัฐฯ และมหาอำนาจในการเจรจาเพื่อผลประโยชน์นั้น บางทีดูเหมือนจะไม่ได้มองถึงเรื่องประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว มีการแทรกผลประโยชน์ของพวกเขาไปด้วย


 


ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของปากีสถาน ผู้นำของเขาก็มาจากรัฐประหารแต่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐประณามการรัฐประหารในประเทศไทยในพม่าและในประเทศอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันกลับยอมรับรัฐบาลเผด็จการของปากีสถาน ก็เพราะเขาแลกกับผลประโยชน์ที่ปากีสถานยอมให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าไปจัดการกับปัญหาอัฟกานิสถาน เป็นต้น นี่เป็นเรื่องที่ผมคิดว่ามันแฝงประโยชน์ของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศอุตสาหกรรมอยู่ด้วย


 


ฉะนั้นแล้วข้อเสนอทางออกต่อ คปค. ไหมในประเด็นนี้ ทั้งโดยส่วนตัวหรือในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ?


ในแง่บทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ ก็เป็นที่ยืนยันว่าสภาที่ปรึกษาฯ จะยังคงทำหน้าที่นี้ต่อไป และในวันพฤหัสบดีจะมีการประชุมใหญ่ของสภาที่ปรึกษาฯ ผมคิดว่าสภาที่ปรึกษาฯ คงจะต้องเสนอแนะในทางนโยบายให้จับตาเรื่องพวกนี้เช่นเดียวกัน เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว


 


เรามีความหวั่นเกรงจากเมื่อสองสามวันที่แล้ว คุณมีชัย ฤชุพันธ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวสำหรับการบริหารประเทศในช่วง คปค. เขาพูดค่อนข้างชัดถึงเรื่องที่จะระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้มีการค้ำประกันระบบเศรษฐกิจแบบเสรีรวมถึงการค้าเสรี เพื่อที่จะสร้างการยอมรับให้กับประเทศมหาอำนาจ ประเทศตะวันตก แล้วเมื่อคืนนี้ (25 ก.ย.) ก็มีประกาศของคณะปฏิรูปฯ ที่พูดถึงเรื่องของหลักประกันที่จะธำรงระบบเศรษฐกิจเสรี ให้เอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงการอนุญาตให้การไหลของเงินทุนเป็นไปโดยเสรี


 


หลังจากที่มีประกาศ ฝุ่นตลบเลย เพราะว่าทางสภาอุตสาหกรรมและกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 35 กลุ่ม ก็กำลังจะทำเรื่องเสนอ คปค.ให้เดินหน้านโยบายของรัฐบาลเก่าทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการเจรจา เขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ  การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐหรือเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งที่จริงแล้วหลายเรื่องเป็นเรื่องที่เป็นข้อตั้งสงสัยในเรื่องความสุจริตของรัฐบาลที่แล้วด้วยซ้ำไป


 


การัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นโดยเหตุผลเพราะว่ารัฐบาลที่แล้วดำเนินนโยบายหลายประการที่เป็นการคอรัปชั่น และที่เป็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็คือเรื่องของการแปรรูปกิจการหลายอย่างของประเทศ การขายกิจการของประเทศให้กับต่างประเทศ ซึ่งเป็นกิจการที่มีความสำคัญมาก ทั้งเรื่องการสื่อสาร โทรทัศน์ เป็นต้น รวมถึงเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศ ซึ่งทำให้ประชาชนในประเทศโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้บริโภค ได้รับผลกระทบอย่างมาก


 


ในขณะเดียวกันกลุ่มผลประโยชน์ในรัฐบาลกับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผยกว้างขวาง จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ถ้าสมมุติว่าการรัฐประหารครั้งนี้ รัฐบาลชั่วคราวจะเดินหน้านโยบายที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลชั่วคราวจะมาเดินหน้าในสิ่งที่เป็นความผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง แล้วก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้การยอมรับต่อคณะรัฐประหารครั้งนี้ลดน้อยถอยลงในระยะเวลาอันรวดเร็ว


 


แต่ก็หวังว่านี่จะเป็นแถลงการณ์หรือกับการสัมภาษณ์ที่มุ่งหวังเพียงลดกระแสการต่อต้านจากต่างประเทศ แต่หากจะต้องการสร้างการยอมรับโดยมีการเดินหน้านโยบายเรื่องการค้าเสรีซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชนจริงๆ อันนี้ก็จะเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับคนในประเทศ


 


ในที่ประชุมสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งหน้านี้ ประเด็นนี้คงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง?


ผมคิดว่าคงจะมีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องใหญ่ทั้งสิ้นเลย


 


เช่นอะไรบ้าง?


เรื่องที่สำคัญที่สุดตอนนี้ก็คือ ผมคิดว่าเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม ของสื่อมวลชนในการเสนอความคิดเห็น


 


เรื่องที่สองคงเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะมีผลกระทบอย่างไรหรือเปล่าที่มีการประกาศออกมา  เท่าที่ผมฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกหลายท่าน ก็คิดว่าจริงๆ แล้วรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มีความเหมาะสมและไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปยกร่างอะไรใหม่หมด อาจจะเลือกปรับปรุงบางมาตราที่จะมีผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองในขณะนี้บ้าง อันนั้นอาจจะยอมรับได้ แต่ว่าการฉีกทิ้งทั้งหมดก็คิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม


 


ประการที่สามคือ นโยบายและจุดยืนของประเทศในทางเศรษฐกิจและในทางที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างเช่น FTA เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับสภาที่ปรึกษาฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องติดตาม


 


โดยส่วนตัวมีนายกฯ ในดวงใจไหม ท่ามกลางโผที่ออกมามากมาย ?


ผมคิดว่าตอนนี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นนโยบายต่างๆ ที่เป็นเรื่องระยะยาว มีความจำเป็นที่จะต้องรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งและมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างเสียก่อนจึงตัดสินใจ โดยเฉพาะเพื่อเป็นการลบข้อครหาหลายเรื่องหลายประการที่เป็นปัญหาในช่วงรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งข้อตกลงหลายเรื่องไม่ได้ผ่านสภาเลย ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ต้องเร่งแก้ไขตรงนี้ก่อน


 


ดังนั้น นายกรัฐมนตรี สำคัญที่สุดคือเป็นคนที่มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตย ส่วนจะเป็นนักกฎหมายจะเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจหรือไม่เป็นเรื่องรอง และตอนนี้คนเดียวก็คงไม่พอ เพราะนอกเหนือจากนายกรัฐมนตรีแล้ว จะมีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เราต้องการคนที่มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่เป็นพื้นฐาน


 


 


สรุปจบท้ายรายการโดยผู้จัด


 


เรื่องนี้ควรต้องจับตา เพราะประวัติศาสตร์ในบ้านเรามีอยู่ ในช่วงการแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร ซึ่งมีแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2528 รัฐบาลขณะนั้นคือ รัฐบาลของพลเอกเปรม ไม่เห็นด้วยกับการทำตามแรงกดดันดังกล่าว เพราะว่าคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องยาที่จะทำให้ยามีราคาแพงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมในประเทศต้องเรียกว่าถูกฆ่าตัดตอนไปเลย มาจนถึงรัฐบาลของสมัยพลเอกชาติชาย ช่วงนั้นถือว่าประชาธิปไตยเปิดมากทีเดียว ทำให้มีงานวิจัย มีนักวิชาการ มีนักกิจกรรมออกมาพูดเรื่องนี้เยอะมาก มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ที่เปิดเผยให้เห็นว่า ถ้ามีการเพิ่มอายุสิทธิบัตรแล้วก็รับรองสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์จากเดิมที่รับรองเฉพาะกระบวนการผลิตตามที่สหรัฐเรียกร้อง มันจะส่งผลกระทบขนาดไหน มีการประเมินว่าจะทำให้ประเทศชาตินี้สูญเสีย จะต้องใช้จ่ายในค่ายาต่างๆ มากขึ้นหลายหมื่นล้านทีเดียว


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าอยู่ในยุครสช. มาจนถึงรัฐบาลคุณอานันต์ ปันยารชุณ ในปี 2535 นั้นเองที่ทำให้เราต้องยอมแรงกดดันของสหรัฐ เพียงเพราะว่าต้องการรักษาภาพพจน์แล้วก็สร้างการยอมรับโดยไม่ได้คำนึงว่าประเทศชาติจะได้รับผลเสียหายอย่างไร ตอนนี้เราจึงต้องมารับผลตรงนั้นไว้


 


ฉะนั้น การตัดสินใจอะไรบางอย่างเพียงเพื่อการทำให้ต่างชาติยอมรับ แต่ว่าเกิดผลเสียหายร้ายแรงกับคนในประเทศชาติของตัวเอง คงต้องคิดให้หนักมากขึ้น และนี่ก็คงเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์สำคัญทีเดียวสำหรับคณะปฏิรูปฯ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net