ชุมนุมเกิน 5 คน ครั้งที่ 3 ค้านรัฐประหาร "ออกมาค้านโดยเร็ว เพราะถ้าช้าวีรบุรุษจะกลายพันธุ์"

เหตุผลที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้โดยเร็ว เพราะถ้าช้ากว่านี้วีรบุรุษจะกลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาด มันเคยเกิดขึ้นแล้วจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 จนทำให้มี เหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เนื่องมาจากการละเลยการจัดการกับสิ่งที่กลายพันธุ์

ประชาไท- 27 .. 2549 เวลา 16.00 มีการชุมนุมพูดคุยทางการเมืองเกินกว่า 5 คน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549  ณ ลานเฟรชชี่ หน้าตึก1 คณะรัฐศาสตร์ โดยมีการจัดเสวนาในหัวข้อ ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร? จัดโดยเครือข่ายนิสิตจุฬาเพื่อเสรีภาพจัดประชุม(ชุมนุม)ต้านรัฐประหาร ร..ใจ อึ๊งภากรณ์,ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ,นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้อภิปรายหลักและมีผู้สนใจอื่นๆเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมีชุดดำเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม


.. ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ออกมากล่าวไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่นักเสรีนิยมหลายคนในยุคนี้สนับสนุนรัฐประหารโดยอ้างว่าไม่มีทางเลือกอื่น ในฐานะที่เป็นนักสังคมนิยมและผู้ประท้วงการทำรัฐประหาร "ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร" และขออธิบายว่ามีทางเลือกอื่นที่เป็นประชาธิปไตย

 

คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันอ้างว่ามี 80% ของประชาชนสนับสนุนการทำรัฐประหาร ถ้าเป็นจริงและ 16 ล้านเสียงที่เลือกไทยรักไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้หันมาเปลี่ยนใจ คณะทหารควรจะตั้งพรรคการเมืองก่อนหน้านี้ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งที่กำหนดในปลายปีนี้ และด้วยเสียงสนับสนุน 80% พรรคนี้มีเสียงข้างมากชนะไทยรักไทยได้สบาย

 

ทุกคนที่ติดตามการเมืองต่างทราบดีว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมร่วมในการเลือกตั้งเดือนเมษายนก็เพราะรู้ว่าจะแพ้ นี่เป็นสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการทำรัฐประหาร

 

รศ.ใจ ได้ยกหนังสือ "สองนัคราประชาธิปไตย ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่เขียนก่อนกำเนิดพรรคไทยรักไทย มาอธิบายว่า อาจารย์เอนกต้องการว่าต้องมีการสร้างพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนเพื่อลดอิทธิพลของการซื้อเสียงและระบบอุปถัมภ์ในชนบท และดูเหมือนว่าพรรคไทยรักไทยจะทำตามคำแนะนำนั้น

 

พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเพราะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน พรรคนี้ก็ชนะการเลือกตั้งในครั้งต่อมาเพราะทำตามสัญญา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีนโยบายที่เป็นรูปธรรม มัวแต่วิจารณ์นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน เพราะอ้างว่าทำลายวินัยทางการเงิน

 

ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล การที่เขาเอาเงินภาษีของประชาชนคนจนไปจ่ายหนี้เสียของคนรวยในสถาบันการเงินถูกมองโดยประชาธิปัตย์และพวกเสรีนิยมใหม่ว่า ไม่ทำลายวินัยทางการเมืองแต่อย่างใด

 

.. ใจ อึ๊งภากรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เคยได้วิจารณ์การใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องของทักษิณในกรณีตากใบและสงครามยาเสพติด และเสนอว่ารัฐบาลควรลาออก ในขณะเดียวกันก็ได้วิจารณ์ประชาธิปัตย์ว่าไม่มีนโยบายอะไรเลย เรื่องแค่นี้คิดว่าทุกคนก็สามารถคิดได้เช่นกัน

 

"มีคนกล่าวว่ารัฐบาลทักษิณโกงกินบ้านเมือง แล้วทำไมเขาไม่คิดบ้างว่าประชาธิปัตย์ก็โกง และตอนนี้คนส่วนใหญ่ออกมาปลื้มรัฐประหารที่เป็นทหาร ทั้งพลเรือนและทหารก็โกงกินบ้านเมืองกันทั้งนั้น เมื่อไหร่จะยึดทรัพย์ย้อนหลังคนพวกนี้" รศ.ใจ กล่าว

 

นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้เราได้ยินคำพูดที่ดูถูกคนจนและหันหลังให้ประชาธิปไตย คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางอวดรู้แต่แท้จริงแล้วไม่เข้าใจเลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร ประชาธิปไตยสร้างจากล่างขึ้นบน ไม่ใช้สร้างจากกระบอกปืน คนพวกนี้อ้างว่าคนจนในชนบทและในเมืองขาดการศึกษาไม่เข้าใจระบบประชาธิปไตย รัฐบาลไม่ควรทำตามความต้องการของเขา

 

อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรไว้ใจเผด็จการทหาร การทำรัฐประหารไม่ใช่การปฏิรูป เผด็จการไม่ใช่ประชาธิปไตย รัฐประหารเป็นการถอยหลังสำหรับประชาธิปไตยไทย กองทัพไม่มีสิทธิ์ทำรัฐประหาร ไม่มีสิทธิ์ฉีกรัฐธรรมนูญ และไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งรัฐบาลพลเรือนใหม่ รัฐบาลนี้ควรจะถูกเลือกภายใต้การกำกับของรัฐสภาเก่า วุฒิสภาเก่าและใหม่ และตัวแทนของการเคลื่อนไหวทางสังคม

 

รัฐบาลนี้ควรมีหน้าที่อย่างเดียว คือ ประสานงานให้มีการปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยมีขบวนการภาคประชาชน ซึ่งประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพ และเกษตรกรคนจน เป็นส่วนใหญ่ของกระบวนการ และในเวลาอันใกล้นี้จะต้องมีการเลือกตั้ง

 

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายต่อว่าจะพูดจากมุมของคนจนชนชั้นล่าง ระบอบรัฐประหารครั้งนี้จะส่งผลกระทบมากแค่ไหนอย่างไรต่อคนจนชนชั้นรากหญ้า

 

มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านเขื่อนปากมูลเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเว้นวรรคประชาธิปไตยและการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดย คปค.ว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาและมีการทำข้อตกลงต่างๆที่เรียกร้องกันมานานแต่ตอนนี้เมื่อเว้นวรรคไป พื้นที่ทางการเมืองของชุมชนก็หายไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของระบอบรัฐประหาร สิ่งที่ตกลงกันไว้ถึงปัญหาเขื่อนปากมูลถูกยกเลิกไปด้วย ต้องรอท่าทีของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเอาอย่างไรต่อ

 

"สถานการณ์แบบนี้คิดว่าสิ่งที่มันคืบคลานเข้ามาในสังคมไทยจากทัศนะของคนชนชั้นล่าง คือระบอบเผด็จการของข้าราชการซึ่งมันเป็นปัญหามาโดยตลอด นี้คือสิ่งที่มันเกิดขึ้นในพื้นที่ สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะเว้นวรรคไปอีกกี่ปีแต่อย่างน้อย 1 ปีแน่แน่ เมื่อชุมนุมกันไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้านได้" ดร.ประภาส กล่าว

 

นอกจากนี้ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการคืนอำนาจจากการเว้นวรรคประชาธิปไตยสำหรับคนชนชั้นกลางคงใช้เวลาไม่ยาวนาน เพราะมีสื่อเข้ามาทำข่าว มีเว็บไซต์ต่างๆ แต่ว่าสำหรับคนจนคิดว่าจะยาวนาน และถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ในแง่ของเนื้อหาจะมีข้อบกพร่องเยอะมากก็ตาม แต่ชาวบ้านยังได้ใช้สิทธิที่สามารถหยิบยกเรื่องสิทธิชุมชนมาเคลื่อนไหวมาชุมนุมโดยอ้างถึงความชอบธรรมว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้พวกเขาได้ผลักดันกันมายาวนานและเป็นสิ่งที่สังคมก็ยอมรับ แต่ตอนนี้บทบัญญัติต่างๆที่เคยรับรองสิทธิต่างๆของชาวบ้าน สิทธิทรัพยากร หรือเรื่องของการชุมนุมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้มันหายไปพร้อมๆกับรัฐธรรมนูญที่เพิ่งถูกยกเลิกไปด้วย และไม่รู้ว่าจะเรียกคืนกลับมาได้เมื่อไรอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลในระบอบรัฐประหารต้องทำคือการคืนอำนาจให้กับคนรากหญ้าโดยเร็ว

 

อีกประเด็นคือเรื่องประชานิยมที่เป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างมากในระบอบรัฐประหาร เพราะไปคิดว่าระบอบประชานิยมไปสร้างความนิยมให้ชาวบ้านแบบปัจเจกนิยมแก่ชาวบ้าน แต่ปัญหานี้เป็นทรัพยากรก้อนใหญ่ที่ระบบอุปถัมภ์ในบ้าน ผู้มีอิทธิพลได้อาศัยเป็นฐานทรัพยากรในการผูกพันชาวบ้าน ระบบนี้จะนำไปสู่ระบบอนุรักษ์นิยมมากกว่าที่จะสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนถือเป็นปรปักษ์กับการเมืองภาคประชาชนด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านหลุดออกจากระบบอุปถัมภ์ และไม่ควรไปต่ออายุให้แก่ระบบนี้ด้วย ทั้งนี้การผลักดันให้สร้างสังคมสวัสดิการของภาคประชาชนจะทำให้ประชาชนหลุดพ้นจากระบบอุปถัมภ์ในชนบทได้

 

นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวายอิ สหรัฐอเมริกา และอดีตนักศึกษาที่เคยมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 กล่าวว่า สิ่งที่ต้องมองให้ตรงกันหมดอันดับแรกคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่สิ่งที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นปัญหาคือ การใช้อำนาจมาก นโยบายการปราบปรามต่างๆที่ฆ่าคนจำนวนมาก การทำลายสถาบันการเมืองทั้งรัฐสภาและระบอบกลไกการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอำนาจนิยม

 

แต่เมื่อหันมาพิจารณาสิ่งที่ คปค. กำลังทำเห็นว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โมเดลของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ออกมาให้เห็น เกิดจากการที่มีผู้ร่างไม่กี่คนแต่จะสามารถบังคับได้กับคนไทยทุกคน หรือต่อมาแม้จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้คนอีก 2,000 คน ก็ไม่รู้ว่าจะมาจากบุคคลที่ คปค.ชอบหรือไม่

 

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดจากการรัฐประหารคือ กติกาที่จะมีผลกระทบกับคนไทยไปอีกหลายปีภายใต้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และใช้คนไม่กี่คนมาร่างกติกา ลักษณะแบบนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็เคยทำในการออกแบบกฎหมายที่ใช้คนไม่กี่คน ทำให้อำนาจเป็นเรื่องของชนชั้นไม่ต่างจากในสมัยรัฐบาลทักษิณ ผู้มีคอนเนคชั่นกับธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ได้ประโยชน์ ในขณะที่ตอนนี้ คปค. มีอำนาจ ผู้มีคอนเนคชั่นกับคนในเครื่องแบบก็ได้ประโยชน์ ทำให้ประชาธิปไตยไทยกลับสู่ช่วงเวลาก่อน พ.ศ.2475 ที่รัฐธรรมนูญเป็นของคนชั้นนำโดยอ้างว่าฟังเสียงประชาชนแล้ว

 

นายศิโรฒน์ กล่าวถึงวิธีการร่างรัฐธรรมนูญในการรัฐประหารหลายๆครั้ง รวมทั้งการรัฐประหาร พ.ศ.2534 ว่าใช้วิธีการเดียวกันตลอดคือ เอาใครไม่รู้มาทำการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องคิดต่อว่าการที่ คปค.อ้างว่าจะปฏิรูปให้มีประชาธิปไตยด้วยการตั้งใครก็ไม่รู้มาร่างรัฐธรรมนูญ มันเป็นสัญญาณที่ไม่ดีแก่ประชาชน เป็นการยึดอำนาจจน เป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของนายทหารไม่กี่คนมาตั้งกติกา เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดในสังคมประชาธิปไตยเพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องการมุบมิบคุย ประชาชนทั้งหลายต้องมีส่วนร่วม

 

นายศิโรฒน์ กล่าวอีกประเด็นว่า ในการยึดอำนาจของ คปค. ได้โจมตีเรื่องนโยบายของรัฐบาลทักษิณ เช่นนโยบายขายชาติ การทำเอฟทีเอ  เป็นต้น แต่คิดว่าเมื่อ คปค.มีอำนาจแล้ว เรื่องที่เคยใช้โจมตีรัฐบาลก่อนจะยังไม่หยุด เนื่องจากนโยบายเหล่านี้เป็นความเห็นร่วมกันของรัฐไทย ชนชั้นนำ ทหาร กลุ่มทุน ไม่เชื่อว่า คปค.จะเป็นอิสระจากโครงสร้างเหล่านี้ และนอกจากไม่ให้คนส่วนมากมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองแล้ว คปค.ก็ไม่เคยพูดถึงการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองเลยด้วย

 

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในผู้มาร่วมการชุมนุมและผู้ทำเว็บไซต์ www.19sep.net ต้านการรัฐประหาร ได้ออกมาแลกเปลี่ยนความเห็นและชี้แจงเหตุผลที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้โดยเร็วว่า จากประสบการณ์ในชีวิต ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารโดยเร็ว เพราะถ้าช้ากว่านี้วีรบุรุษจะกลายพันธุ์เป็นสัตว์ประหลาด มันเคยเกิดขึ้นแล้วจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 ทำให้มี เหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เนื่องมาจากการละเลยการจัดการกับสิ่งที่กลายพันธุ์

 

"แน่นอนว่าเชื่อว่ามนุษย์มีความดีอยู่บ้าง แต่มนุษย์เป็นสิ่งที่เมื่อเสพอำนาจต่อเนื่องโดยไม่มีระบบใดๆจัดการ อัศวินม้าขาวก็จะกลายร่างเป็นทรราช เราต้องมีรัฐธรรมนูญ มีกลไกตรวจสอบ เอามันออกมาอยู่ในที่แจ้ง ทักษิณเองก็ถูกตรวจสอบจนล่อนจ้อนหมดแล้ว เกือบจะไปอยู่แล้ว แต่เราก็ไม่เชื่อในอำนาจของตัวเอง แล้วไปรออัศวินม้าขาว"

 

นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า ทหารถูกพัฒนาการทำให้เป็นรั้วของชาติมานานแล้วซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังมีเชื้อเล็กๆทางประวัติศาสตร์อยู่ในใจที่จะออกมาทำหน้าที่วีรบุรุษ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าจะไม่สามารถเอา คปค.ออกไปได้โดยเร็ว

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กำลังทำก็เพราะอยากจะให้ทหารรุ่นน้องของพวกเขาเหล่านี้รู้ว่าการจะออกมาทำแบบนี้ในวันหลังต้องคิดเพิ่มด้วยว่า แม้จะมีคนอยากให้พวกเขาออกมาเพราะเกิดวิกฤติ แต่ก็จะต้องมีประชาชนออกมายืนด่าแบบนี้ว่า สิ่งที่เขาทำมันผิด แม้กลุ่มที่ด่าจะมีส่วนน้อยก็ตาม

 

ทั้งนี้ ทางเดียวที่จะทำให้วีรบุรุษไม่กลายพันธุ์ได้ก็คือการตรวจสอบ การมีรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระและมีความเป็นมืออาชีพมาทำหน้าที่ เพราะในสถานการณ์แบบนี้จะมีความคิดที่แตกต่างเสมอ จึงควรจะต้องมีพื้นที่ให้ทุกคนที่คิดต่าง ไม่ว่ากลุ่มรอดูสถานการณ์ กลุ่มสนับสนุน หรือกลุ่มคัดค้าน ซึ่งหลักประกันความเสี่ยงคือการค้านรัฐประหารจึงอยากให้กลุ่มค้านเพิ่มปริมาณขึ้นและยืนหยัดตลอดเวลา

 

สำหรับ ผู้มาชุมนุมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 100 คน ก่อนจะสลายการชุมนุม ได้มีการนัดชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คนสัญจรอีกครั้งในวันที่ 2 ตุลาคมหน้ากองทัพบก

 

วันที่ 4 ตุลาคมที่ หน้าคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 5 ตุลาคม ที่ลานโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

นอกจากนี้จะมีการนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท