เครือข่ายป่าชุมชนระบุ รธน.ใหม่ต้องคงอำนาจสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร

ประชาไท - 29 ก.ย. 2549 นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม หรือ วจส. กล่าวว่า ในทางกฎหมายนั้นถือว่าร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนตกไปตั้งแต่มีการยุบสภา ดังนั้นเรื่องนี้คงต้องดูว่าหากมีสภาใหม่ขึ้นมาจะมีการหยิบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาพิจารณาใหม่ภายใน 60 วันหรือไม่ แต่หากในทางการเมืองนั้นต้องพิจารณาว่าประชาชนที่เป็นผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภานั้นยังยินดีที่จะกลไกสภาดำเนินการต่อไปหรือไม่

 

ซึ่งหากเห็นว่าเมื่อเสนอไปแล้วจะมีการแปรเจตนารมณ์เป็นอย่างอื่นแล้วนำไปสู่การทำร้ายประชาชน ทั้งด้านการลิดรอนสิทธิ์ การปิดกั้นการมีส่วนร่วมก็คงต้องถอนออก แต่หากเสนอไปแล้วมีการดำเนินการตามเจตนารมณ์เดิมที่ภาคประชาชนเสนอไปก็ต้องมีการผลักดันต่อไปแน่

 

นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวเรื่องป่าชุมชนตอนนี้มีการเคลื่อนไหวในวาทกรรมกว้างๆ คือเรื่องสิทธิของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในหมวด 5 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นต่อไปในอนาคตตนอยากให้มีการคงหลักการสิทธิของประชาชนนี้ไว้ และหากรัฐบาลยืนยันตามหลักการนี้ต่อไปประชาชนก็ยังมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรต่อไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีช่องทางคงต้องอาศัยช่วงจังหวะการปฏิรูปการเมืองเพื่อนำเสนอประเด็นนี้ต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนนั้นนับเป็นกฎหมายที่เป็นส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นพ.ร.บ.ป่าชุมชนจึงถือเป็นกลไกสำคัญที่จะรักษาพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ ดังนั้นภายใต้สถานการณ์การเมืองตอนนี้ตนมีข้อเสนอต่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ คปค.รวมทั้งรัฐบาลชุดใหม่ว่า กรณีสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรนั้นแม้ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่อยากให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีการรองรับสิ่งเหล่านี้ด้วย

 

นายจักรพงศ์ ธนะวรพงศ์ กรรมการเครือข่ายป่าชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า สถานการณ์พ.ร.บ.ป่าชุมชนในพื้นที่ภาคอีสานนั้นปัจจุบันยังไม่สามารถเคลื่อนไหวใดๆได้ เพราะต้องรอความชัดเจน ต้องประเมินสถานการณ์การเมืองอย่างรอบด้าน แต่ที่ผ่านมาช่วงก่อนเกิดเหตุการคปค.ยึดอำนาจรัฐบาลนั้น เครือข่ายป่าชุมชนภาคอีสานมีการหารือไว้ใน 2 แนวทางคือ 1.หากเรายังเดินหน้าผลักดันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนต่อไปนั้นเราไม่สามารถฝากความหวังไว้กับใครได้เลย นั่นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวพบว่าทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภาล้วนเป็นสายการเมืองทั้งสิ้น และค่อนข้างชัดเจนว่าคนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ภาคประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมา ดังนั้นแนวทางนี้เราจะไม่ผลักดันพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนต่อไปอีกแล้ว

 

นายบรรจง นะแส กรรมการเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าภายใต้สถานการณ์การเมืองตอนนี้ภาคประชาชนจะเดินตามเกมของคปค.ไม่ได้ สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่การร้องขอสิ่งที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชน เรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน หรือเรื่องการจัดการน้ำจากคปค. แต่คปค.เองซึ่งตอนนี้มีอำนาจเต็มหากเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและจริงใจแก้ปัญหาตามที่กล่าวอ้างก็สามารถออกประกาศให้อำนาจชุมชนในการจัดการทรัพยากรได้

 

ขณะที่ นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน ประธานเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า กรณีร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนนั้นตนเห็นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีการประกาศใช้ต้องมีการบรรจุหลักการเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรไปด้วย ซึ่งหากสามารถทำได้ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนก็ยังสามารถใช้ช่องทางนี้ในการคลอดออกมาเป็นกฎหมายตามเจตนารมณ์เดิมของภาคประชาชนได้

 

ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท