Skip to main content
sharethis

ประชาไท—29 ก.ย. 2549 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายเสน่ห์ จามริกนางสุนี ไชยรส คุณหญิงอัมพร มีศุข นายสุรสีห์ โกศลนาวิน และนายจรัล ดิษฐาภิชัย ร่วมกันแถลงท่าทีของคณะกรรมการสิทธิต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


โดยนายเสน่ห์ จามริก แถลงว่ากระบวนกรร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยย้ำว่า ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่มีส่วนร่วมอย่างหลอกๆ และการปฏิรูปการเมืองต้องมาก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ


 


"ปัญหาต่างๆ ตอนนี้น่าจะเริ่มจากการปฏิรูปการเมืองเป็นหลักไม่ใช่เริ่มด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะถ้าไปแก้รัฐธรรมนูญก็จะเข้าไปสู่กลไกเกมอำนาจ ทำให้การเมืองไทยซ้ำซาก ฉะนั้นในแนวทางที่ผ่าออกไปก็คือยึดถือการปฏิรูปในจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องตามหลังไม่ใช่มาก่อน"


 


 


ทั้งนี้นายเสน่ห์ระบุว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็คือกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น


 


"เป็นห่วงที่กระบวนการร่างฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ไม่อยากให้ไปถกเถียงกันที่มาตรานี้มาตรานั้น แต่การร่างฯต้องอยู่ในความดูแลรับผิดชอบขอประชาชนด้วย และกระบวรการประชาพิจารณ์ที่เป็นกระบวนการหลอกๆ อย่างที่ผ่านมา เราอยากทำให้มันเป็นจริง"


 


พร้อมกันนี้ ทางกรรมการสิทธิได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคณะปฏิรูปการปกครอง โดยมีใจความเน้นย้ำว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 บัญญัติ และให้ตัดข้อความที่ว่า "ทั้งนี้ตามด้วยกฎหมายบัญญัติ" ทิ้งไป


 


"ที่เสนอให้ยกรับธรรมนูญ 2540 มาทั้งหมดเพราะเป็นพัฒนาการขั้นล่าสุดที่มาจากการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชนไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เสียเปล่า น่าจะหยิบยกมาเป็นหลักเพื่อให้พัฒนากรรทางการเมืองต่อเนื่องไป เพราะที่ผ่านมาเรามักจะเริ่มใหม่เสมอทำให้การเมืองก้าวกระโดด ไม่อยากให้พัฒนาการของเราต้องหยุดชะงักไปเราขอย้ำว่าขอให้ตัดข้อความคำว่าตามที่กฎหมายบัญญัติ เพราะนี่คือกับดักของประชาธิปไตยเพราะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกำมือของคนที่มีอำนาจ"


 


"ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญที่สวยหรูอย่างไรก็ตามแต่ถ้าประชาชนไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันสิทธิของตัวเองก็ไร้ความหมาย" นายเสน่ห์กล่าวพร้อมกับสรุปว่า ไม่ว่าเราจะมองการยึดอำนาจครั้งนี้ดีหรือร้ายอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่เราจะละเลยไม่ได้คือความระแวดระวังของเราที่จะมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงในความประพฤติปฏิบัติของผู้มีอำนาจ เราก็มีบทบาทที่ต้องรับผิดชอบความเป็นไปในบ้านเมืองเหมือนกัน และการรัฐประหารครั้งนี้แตกต่างไปจากการรัฐประหารที่ผ่านๆ มาเพราะเกิดขึ้นท่ามกลางการเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้นหากประชาชนช่วยกันจับตา และระแวดระวัง ก็จะทำให้ คปค. ต้องกระทำการใดๆ ด้วยความระแวดระวังเช่นกัน


 


สำหรับกระบวนการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นางสุนี ไชยรส กล่าวว่า กรรมการสิทธิจะดำเนินการร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ คู่ขนานกันไปกับการดำเนินงานของฝ่ายรัฐบาล โดยจะทบทวนรัฐธรรมนูญเก่า และเสนอประเด็นใหม่ คู่ขนานกันไป และคาดหวังว่าจะต้องประกันให้สิทธิของชุมชนเป็นจริงให้ได้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net