Skip to main content
sharethis


และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ครั้งแรกคือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการขึ้นป้ายผ้าคัดค้านหลังมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 ในวันรุ่งขึ้น จากนั้นความเคลื่อนไหวอื่นๆ ก็ตามมา อย่างต่อเนื่อง เช่นที่การชุมนุมที่หน้าศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์

 


กลุ่ม "โดมแดง" เป็นกลุ่มหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างเต็มตัว และมีส่วนสร้างความเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 ในการชุมนุมพูดคุยทางการเมืองเกิน 5 คน ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


"ประชาไท" มีโอกาสสนทนากับ "เมธัส บัวชุม" ผู้ประดิษฐ์นาม "โดมแดง" ชูธงไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร และได้เปลี่ยนกลุ่มวรรณกรรม "โดมแดง" ไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องราวเป็นไปเป็นมาอย่างไร ขอนำบทสนทนามาแลกเปลี่ยนในพื้นที่สาธารณะนี้ เพราะยังเหลือเพียงไม่กี่แห่งที่ยังไม่ถูกปิดกั้นทางความคิดในสังคมไทยขณะนี้  


 


0 0 0


 


"โดมแดง" คืออะไร      


เป็นกลุ่มเฉพาะกิจของศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รวมตัวกันหลวมๆ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) โดยตรง นอกจากนี้ในฐานะที่สมาชิกบางคนในกลุ่มเรียนรัฐศาสตร์ และด้วยความเคารพและรักคณบดี จึงไม่อยากให้คณบดีไปแปดเปื้อนกับกลุ่มนี้ จึงได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเข้าไปมีส่วนร่วมของคณบดีรัฐศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีความชอบธรรม


 


คำว่า "โดมแดง" อาจหมายถึง สีเหลืองแดงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงของรัฐศาสตร์ หรือแนวคิดของมาร์กก็แล้วแต่จะตีความ แต่ลึกๆ แล้ว ความหมายคือเพื่อนพ้องชาวธรรมศาสตร์


 


เริ่มต้นรวมกลุ่มกันได้อย่างไร


เป็นการรวมตัวกันจากเพื่อนๆ 4-5 คนในช่วงเริ่มแรก ต่อมาจึงเริ่มมีการขยายตัวกันไปในกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เห็นด้วยกับการต้านรัฐประหาร เพราะเดิมไม่มีช่องทางแสดงพลังก็กระจาย ตอนนี้ก็มีคนอยากร่วมด้วยเยอะ


 


กลุ่มโดมแดงเริ่มแรกเป็นกลุ่มทางวรรณกรรม เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันคนมีความสนใจด้านนี้น้อยลง ในกลุ่มก็มีนักเขียนหลายคน แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมนัก เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงนำชื่อมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง


 


หลักการของกลุ่มคือ การรวมตัวกันหลวมๆ ทุกคนมีอิสระในตัวเอง มีแนวคิดแนวทางของตัวเอง แต่มีจุดร่วมกันคือ ไม่เอา คปค. คิดว่าเป็นการรวมกลุ่มที่ดี เพราะไม่มีการบังคับบัญชา เป็นตัวของตัวเอง และจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปเท่าที่ คปค.ยังอยู่


 


ถ้าหลัง 14 วัน แล้วมีรัฐบาลพลเรือน ยังจะต้านอีกหรือ


เราไม่รับรัฐบาลเถื่อน รัฐบาลหุ่นเชิด หรือมีเงาเบื้องหลัง เราจะเคลื่อนไหวต่อต้านต่อไป เพราะฐานคิด คปค.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตย จะมีรัฐบาลมาทำต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ การจัดการเลือกตั้งก็จะเป็นการเลือกตั้งที่โกหก เข้าใจไม่ได้


 


แต่มันดูสวนกระแสสังคมตอนนี้ที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร


ตรงนี้ก็มีความหนักใจ แต่คิดว่าคนที่ค้าน คปค.ก็มีเยอะ เพียงแต่ไม่มีทางออก โทรทัศน์หรือสื่อต่างๆ ก็โดนบล็อก แต่ถ้ามีเงื่อนไขอำนวยก็คงจะมีการแสดงความรู้สึกออกมาแน่ เราก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่จุดประเด็นขึ้น


 


ส่วนการเคลื่อนไหวจะไม่รุนแรง เพราะจะใช้การเคลื่อนไหวเชิงวิชาการและสันติ จะไม่มีการใช้คำหยาบคาย ไม่ด่าว่าในเรื่องส่วนตัว


 


นอกจากนี้ทางกลุ่มจะไม่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ และไม่ได้รับเงินจากที่ไหน เป็นการรวมตัวกันอย่างบริสุทธิ์ คงไม่นำไปสู่การปะทะ และคิดว่าคงไม่มีใครนำชื่อกลุ่มไปสร้างความรุนแรง


 


ทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับ คปค.


คปค.แก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหา พอปัญหามากก็โยนให้ประชาชนหมด ถึงจะมีการเลือกตั้งเร็วก็ไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ คปค.ไม่ได้ศรัทธาการเลือกตั้ง คำถามเบื้องต้นที่ควรถาม คปค. คือ ถือสิทธิ์อะไรมาทำรัฐประหาร จะอ้างคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ เพราะอย่างแท็กซี่หรือคนส่วนใหญ่ในภาคอีสานก็เอาทักษิณ แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้ชอบทักษิณ


                                           


เป้าหมายสุดท้ายอยากเห็นอะไร


อยากเห็นเพื่อนๆ แสดงความเห็นต่างจากสื่อที่ คปค.แทรกแซง เพราะมันจะช่วยทานไม่ให้ คปค. ใช้อำนาจเผด็จการได้เต็มรูปแบบ ถ้าไม่มีการเห็นต่างก็คือเผด็จการหรือทรราชเต็มร้อย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net