Skip to main content
sharethis

30 ก.ย.2549  -  วานนี้ (29ก.ย.) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอทช์) จัดแถลงข่าว "สัญญาณอันตรายเอฟทีเอภายใต้เงา คปค." แสดงข้อห่วงใยหลายประการหลังจากคณะปฏิรูปฯ ออกแถลงการณ์เดินหน้าการดำเนินนโยบายการค้าเสรีแนวทางเดิม


 


สารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ดูจากรายชื่อที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของ คปค.แล้วมีความกังวลมาก เพราะล้วนแต่เป็นผู้เคยสนับสนุนและผลักดันเรื่องเอฟทีเอทั้งสิ้น โดยที่ผ่านมานั้นการเจรจาเอฟทีเอในประเทศไทยไม่มีกระบวนการที่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งที่ผลกระทบด้านลบจะเกิดขึ้นกว้างขวาง


 


เธอระบุด้วยว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์  นอกจากกำลังแก้กฎหมายสิทธิบัตร  ยังจะแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย  ก่อนหน้านี้ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาว่าการถ่ายเอกสารของนักศึกษาไม่ผิดเพราะเป็นไปเพื่อการศึกษา แต่เรากำลังจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์แบบใหม่ที่การถ่ายเอกสารทำได้ไม่เกิน 10 บรรทัด หรือ การทำ temporary file ในอินเตอร์เน็ตก็อาจมีความผิด ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับกับข้อเรียกร้องจากสหรัฐฯ


 


จักรชัย โฉมทองดี กล่าวว่า ปัญหาของเอฟทีเอที่มีกระบวนการไม่โปร่งใสและเนื้อหาที่ไม่เป็นประโยชน์ของชาติโดยส่วนร่วมนั้น  ทั้งสองแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะกระบวนการไม่ดีนำมาสู่ผลลัพธ์ที่อันตราย  ทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และก่อให้เกิดความแตกแยก เนื่องจากผลกระทบเป็นวงกระจายแต่ผลประโยชน์กระจุก 


           


เขากล่าวอีกว่า รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการสร้างพันธะกรณีในต่างประเทศไม่ว่าจะในระดับพหุภาคีหรือทวิภาคี  เพราะว่าข้อตกลงทางเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกระดับ  และเป็นแรงปรารถนาของประชาชนที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม  หลายคนคิดว่าการทำรัฐประหารจะทำให้การเจรจาชะลอไปโดยปริยาย  ต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็ได้ประณามการทำรัฐประหาร แต่การทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจไม่มีข้อกำหนดใดที่ระบุว่าจะต้องทำกับประเทศที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งและมีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์  เช่น จอร์แดนและโมร็อคโค ก็ได้ทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อมีรัฐบาลในอาทิตย์หน้า อาจเป็นไปได้ว่าจะมีการดำเนินการเจรจาในทันที


 


จักรชัย ยังยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลไทยที่มาจากรัฐประหารปี 2534 ด้วยว่า รัฐบาลชุดนั้นได้รับแรงกดดันจากนานาประเทศและมักมีความห่วงใยต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ  ดังนั้น จึงโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของต่างประเทศ  มีการยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทยาข้ามชาติจนทำให้มีการแก้กฎหมายหลายฉบับ


 


"ไม่กี่สัปดาห์จากนี้ไป  รัฐบาลมหาอำนาจจะไม่รีรอเดินหน้าทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจ  เหตุการณ์เทียนอันเหมินได้รับการประณามจากต่างประเทศรวมถึงสหรัฐฯ  แต่เมื่อไปดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ  พบว่าการค้าขายและการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น  และเป็นนาทีทองที่บริษัทข้ามชาติรู้ดีว่าสามารถเข้าไปยึดตลาดประเทศกำลังพัฒนาได้" จักรชัยกล่าวและว่า การเร่งทำข้อตกลงในช่วงรัฐบาลชั่วคราวนอกจากจะไม่ชอบธรรมและยังมีโอกาสเสียเปรียบด้วย


 


อย่างไรก็ตาม เขาระบุด้วยว่า กฎหมายการค้าของสหรัฐฯ (TPA) จะหมดอายุในเดือนกรกฎาคม 2550 หากสหรัฐฯ จะทำข้อตกลงเอฟทีเอกับประเทศใด  ประธานาธิบดีบุชต้องยื่นเจตจำนงภายในวันที่ 2 เม.ย. 2550 และลงนามภายใน 30 มิ.ย. 2550 โอกาสยืดเวลาออกไปมีน้อยมาก  และเท่าที่ผ่านมานักวิชาการทุกสำนักชี้ตรงกันว่าการใช้เวลาต่อรองถึงมิถุนายนปีหน้า  เป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีข้อตกลงที่มีประโยชน์และเสมอภาค


 


กิ่งกร  นรินทรกุล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเอาภาคเกษตรไปสังเวยหรือแลกกับสิ่งที่จะได้ เช่น อิเล็คโทรนิก สิ่งทอ  หรือการร่วมทุนกับต่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม  ในกรณีของจีน เราเอาสินค้าเกษตร 150 กว่ารายการที่เป็นผักและผลไม้ไปแลก  ทำให้ราคาสินค้าผักและผลไม้ภายในประเทศตกลงถึง 60% เมื่อผักและผลไม้จากจีนทะลักเข้ามา  การทำสนธิสัญญาเกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่น้อย  เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 25 ล้านคนได้รับผลกระทบ  ดังนั้น มันจึงต้องมีกระบวนการที่มีคนเข้าร่วม  หรือที่เราเรียกว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะ 


 


ที่ผ่านมา ประชาชนโดนยึดอำนาจไปเยอะ  ต้องมีกระบวนการคืนอำนาจให้ประชาชน  สิ่งที่จะแสดงความจริงใจ คือพัฒนากระบวนการให้คนมีส่วนร่วมในการพิจารณานโยบายที่เกี่ยวพันกับชีวิตคน   ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างจากระบอบทักษิณที่ยึดอำนาจประชาชนไปแล้วก็ไปตัดสินใจเองโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม  ในสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ในปี 2535 มีการออกกฎหมายไปมากกว่า 400 ฉบับ  ดังนั้นช่วง 6 เดือน- 1 ปีเป็นระยะอันตรายที่ทั้งสื่อมวลชนและภาคประชาชนต้องจับตามอง


 


กรรณิการ์  กิจติเวชกุล กล่าวว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเอฟทีเอเป็นมรดกบาปของระบอบทักษิณ  แต่ที่กังวลที่สุดขณะนี้ คือ คณะที่ปรึกษาต่างประเทศ และที่ปรึกษาเศรษฐกิจบางส่วนของคปค.มีส่วนร่วมในการสร้างมรดกบาป  พยายามช่วยเหลือในการเซ็นเอฟทีเอโดยละเมิดรัฐธรรมนูญ 


 


กรรณิการ์เพิ่มเติมรายละเอียดปัญหาเอฟทีเอในรัฐบาลก่อนว่า ในเชิงผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น การเซ็นกับจีน  ทำให้มีการขยับวงโคจรของไอพีสตาร์และบางกลุ่มทุนได้ข้อมูลภายในจากการเซ็น  สามารถส่งสินค้าไปได้ง่ายดายโดยไม่ถูกตรวจสอบอย่างละเอียด  ในเอฟทีเอกับออสเตรเลีย  ทำให้กลุ่มไอพีสตาร์ตั้งสถานีภาคพื้นในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้  สินค้าที่ขายดิบขายดีคือการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์  ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่ผูกพันกับรัฐบาลชุดที่แล้ว  มีการนำเข้าสินค้าราคาถูก เช่น เหล็ก ทองแดง  ซึ่งผู้ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเปิดโรงงานไว้ล่วงหน้า  ดังนั้น จึงน่าสนใจว่ามีการใช้ข้อมูลภายในหรือไม่  รวมทั้งตั้งแต่มีเอฟทีเอ  อุตสาหกรรมแปรรูปนมจำนวนมากไม่ยอมใช้นมดิบของเกษตรกรไทยอีกเลย 


 


เธอระบุว่า ในวันเดียวกันกับที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯประณามการรัฐประหารในไทย  ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศท่าทีว่าพร้อมที่จะเดินหน้าเจรจาถ้ามีรัฐบาลโดยไม่ได้บอกว่ารัฐบาลต้องมาจากประชาชนหรือไม่ 


 


กรรณิการ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลทักษิณไม่ยอมเอาเอฟทีเอเข้าสู่การพิจารณารัฐสภาเพราะอ้างว่าไม่มีการแก้กฎหมายจากการเซ็นข้อตกลงนี้  แต่ขณะเดียวกันก็ได้แก้กฎหมายไว้ก่อนเพื่อรองรับเอฟทีเอไว้แล้ว  หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.สิทธิบัตร  ร่างสุดท้ายขณะนี้อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์และกำลังจะส่งเข้า ครม. มีข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ยื่นในการเจรจารอบ 6 ที่ผ่านมาบรรจุอยู่ไม่ต่ำกว่า 80% รวมถึงเรื่องที่ใหญ่ที่สุด คือ การตัดการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร  หรือ pre-grant opposition


 

เอกสารประกอบ

จักรชัย โฉมทองดี : อนาคต เอฟทีเอ ภายใต้ "คณะปฏิรูปฯ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net