เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ บุกสหรัฐฯ เดินหน้ารณรงค์ต้านเอฟทีเอ

ประชาไท - 7 ต.ค.2549 เมื่อเวลา 14.00 น. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมกับองค์กรเอ็นเกท (ENGAGE-the Educational Network for Global and Grassroots Exchange) องค์กรที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้ทำงานร่วมกับภาคประชาชนของประเทศที่ตนศึกษา จัดการแถลงข่าวการส่งตัวแทนผู้ติดเชื้อฯ และคนทำงานด้านเอดส์ไปสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 3 อาทิตย์ ระหว่างวันที่ 8-29 ตุลาคม เพื่อรณรงค์ให้ชาวอเมริกันตระหนักถึงผลกระทบของข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่กำลังเจรจาอยู่ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ว่าจะส่งผลต่อชีวิตของคนไทยและอเมริกันอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการเข้าถึงยาและการรักษาของทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ

 

แสงศิริ ตรีมรรคา เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การเดินทางไปครั้งนี้ จะไปให้ข้อมูลกับนักศึกษาที่สนใจประเด็นการค้าเสรี เครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงนักการเมืองบางกลุ่มที่จะมีบทบาทผลักดันนโยบายด้านการค้า ผู้ติดเชื้อฯ และเอ็นจีโอชาวอเมริกัน เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่จะกระทบกับทั้งคนไทยและอเมริกัน หากมีการลงนามในข้อตกลงทางการค้าฯ

 

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า คนอเมริกันเองก็มีปัญหาเรื่องยาเช่นกัน เนื่องจากไม่มีระบบสวัสดิการด้านการรักษา ทำให้ประชาชนต้องเสียเงินซื้อยาในราคาแพง จึงอยากให้ชาวอเมริกันลุกขึ้นมาตรวจสอบนโยบายของรัฐบาลตนเอง และเรียกร้องให้ยุติการกดดันให้ประเทศไทยลงนามในข้อตกลงทางการค้าฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนยากจน

 

ขณะที่บริพัตร ดอนมอญ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง มีสิทธิในเรื่องสุขภาพที่จะเข้าถึงยาในราคาที่สามารถที่จะจ่ายได้ ปัจจุบันเขาดื้อยาสูตรพื้นฐานหลังจากกินมานานกว่า 5 ปี และจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาสูตรที่สูงขึ้น แต่ยาเหล่านั้นส่วนใหญ่จะติดสิทธิบัตรและมีราคาแพง ทำให้ไม่รวมอยู่สิทธิประโยชน์ภายใต้สวัสดิการ ประกันสังคม ที่ใช้อยู่

 

"ผมต้องซื้อยามากินเอง แต่เพราะยาแพงมาก ทำให้ไม่สามารถซื้อยากินเองได้มากว่าหนึ่งปีแล้ว การทำข้อตกลงเอฟทีเอจะทำให้ข้อจำกัดที่เป็นปัญหาอยู่แล้วต้องมีอุปสรรคมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเพื่อนผู้ติดเชื้อฯ อีกอย่างน้อยกว่า 80,000 คนที่อาจจะต้องเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับยา"

 

ด้านจิราพร ลิมปนานนท์ นักวิชาการด้านเภสัชฯ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในปี พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก การแก้ไขกฎหมายครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยมีปัญหาการเข้าถึงยาในระดับหนึ่งแล้ว หากไทย ตกลงตามข้อเสนอของสหรัฐฯ ว่าด้วยสิทธิบัตรยา จะเป็นซ้ำเติมปัญหาการเข้าถึงยาที่มีอยู่มากขึ้นไปอีก

 

เนื่องจากสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ไทยขยายอายุสิทธิบัตรและสร้างกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นซึ่งครอบคลุมถึงการคุ้มครองข้อมูล การยกเลิกการนำมาตรการบังคับใช้สิทธิมาใช้ และการจำกัดการคัดค้านสิทธิบัตรให้เป็นโมฆะ เท่ากับเป็นการจำกัดความสามารถในการผลิตยาชื่อสามัญที่ราคาถูกกว่า ถ้าประเทศไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรยาเพื่อตอบสนอง ผลประโยชน์ของบริษัทยาสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการผูกขาดราคา และส่งผลให้ยามีราคาแพงในที่สุด

 

ต่อคำถามว่า เมื่อปี 2535 หลังเกิดการรัฐประหาร ไทยต้องเร่งแก้กฎหมายสิทธิบัตรเร็วขึ้น เนื่องจากแรงกดดันจากสหรัฐฯ แล้วในช่วงนี้ที่ไทยเพิ่งผ่านรัฐประหาร 19 กันยามา นโยบายของไทยจะเป็นอย่างไร นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จะต้องจับตารัฐบาลอย่างเท่าทัน เนื่องจากหากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นนายนิตย์ พิบูลสงครามตามโผจริง ก็น่าสงสัยว่า รัฐบาลต้องการสร้างภาพกับสหรัฐฯ หรือไม่ และจะเอาการลงนามเอฟทีเอ เป็นตัวประกันเพื่อให้สหรัฐฯ ยอมรับประเทศไทยหรือไม่

 

นอกจากนี้ ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่า รัฐมนตรีที่มาดูแลด้านเศรษฐกิจจะเชื่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อย่างที่นายกฯ เชื่อหรือไม่ เกรงว่าหากมาจากภาคการเงิน ก็น่าเป็นห่วงว่า จะมาเร่งให้เกิดเอฟทีเอ เพื่อผลประโยชน์ของพวกตัวเองหรือไม่  

 

สุดท้าย ยังไม่เห็นวี่แววว่า คนในรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับกระทรวงสาธารณสุขสักเท่าใด โดยยังไม่เห็นวิสัยทัศน์ในด้านนี้เลย ทั้งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท