More than football : ฟุตบอลกับพรรคการเมือง : คนละเรื่องที่ไปกันได้!

วิทยากร บุญเรือง

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

ในขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคในสยามประเทศ ดูมีทีท่าว่าจะ "ร่อแร่" เมื่อเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจอย่างกระทันหัน แต่อีกมุมหนึ่งของโลก ที่ประเทศอังกฤษ พรรคการเมืองท้องถิ่น พรรคเล็กๆ พรรคหนึ่งกำลังจะได้เฉลิมฉลองในชัยชนะ …

 

และอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคนี้ มีเรื่องของ "ฟุตบอล" เป็นธงนำทัพ!

 

วันนี้ more than football จะขอนำเสนอเรื่อง "การเมือง-ฟุตบอล" ที่ไม่เกี่ยวนักการเมืองมืออาชีพ … แต่เป็นคนตัวเล็กๆ ที่ออกมาเรียกร้อง,ใช้สิทธิ์,และต่อสู้ เพื่อสิ่งที่เขาชอบ เพื่อสิ่งที่เขาศรัทธา เพื่อสิ่งที่เขาคลั่งไคล้ โดยใช้วิถีการเมืองและประชาธิปไตย --- อาจจะไม่โด่งดังเหมือนข่าวเศรษฐีใหม่จากลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ริอาจไปด้อมๆ มองทีมฟุตบอลเมืองผู้ดี แต่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามไม่น้อย สำหรับคนที่คิดว่าตัวเอง "บ้าบอล" … 

 

0 0 0

 

"ที่ทาง" และ "การดิ้นรน" ของแฟนบอล Brighton & Hove Albion

 

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

สโมสร Brighton & Hove Albion อาจจะไม่ใช่สโมสรที่มีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ เฉกเช่นสโมสรอื่นๆ ในแถบทางตอนใต้ของอังกฤษ แต่เป็นทีมสโมสรที่มีความผูกพันธ์กับแฟนบอลอย่างเหนียวแน่น  และขณะนี้สโมสร Brighton & Hove Albion กำลังทำการต่อสู้ --- นอกเหนือจากที่นักฟุตบอลและโค้ชกำลังใช้สนามหญ้าของสโมสรอื่น สู้ในเกม The Championship … แฟนบอล Brighton ส่วนหนึ่งก็กำลังสู้นอกสนาม เพื่อให้ได้สนามนัดเหย้าของตนเอง

 

แต่เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในอังกฤษและยุโรป ที่การสร้างสนามฟุตบอลใหม่ๆ ขึ้นมานั้นเป็นเรื่องยาก จากกฎระเบียบท้องถิ่น,การเงิน และยิ่งเป็นทีมเล็กๆ นั้น ก็แทบที่จะเรียกว่า "เลิกพูดไปได้เลย … เรื่องสนามใหม่"

 

… เมื่อ 9 ปีก่อน สนาม Goldstone ของ Brighton & Hove Albion มีอันจะต้องปิดใช้บริการไป ทำให้สโมสรต้องไปเช่าสนามที่ห่างออกไปถึง 70 กว่าไมล์เป็นสนามเหย้าในเกมที่เล่นในบ้าน

 

จุดเริ่มต้นของความคิดในการสร้างสนามแห่งใหม่ของ Brighton เกิดขึ้นเมื่อเดือน มีนาคม ค.. 1998  โดย Martin Perry ได้เขียนไว้ในโปรแกรมการแข่งขันวันที่ 21 มีนาคม ไว้ว่า "ถ้าเราจะหาที่ทางสร้างบ้านใหม่ของเราถาวร ในลิสต์รายชื่อที่มีทั้งหมด ทำเลในแถบ Falmer คือคำตอบ" ซึ่งในแถบ Falmer เป็นที่ดินรกร้างระหว่างมหาวิทยาลัย Brighton และทางรถไฟคู่ สาย A27

 

"ที่ตั้งนี้ได้เปรียบกว่าลิสต์รายชื่ออื่นๆ ที่ถูกหมายมั่นว่าจะเป็นบ้านใหม่ให้สโมสร เนื่องจากอยู่ทางด้านทิศใต้ของทางรถไฟ A27, ใกล้กับสถานีรถไฟ Falmer, ติดถนนและทางเชื่อมรถประจำทาง ... สิ่งนี้สร้างโอกาสอันตื่นเต้นให้สำหรับเรา' --- Perry กล่าวเสริม

 

จากนั้นกระบวนการสนับสนุนเพื่อให้เกิดบ้านใหม่แถบ Falmer ก็เริ่มทำเป็นอย่างมีระบบระเบียบ โดยเขียนจดหมายึงสภาแห่งเมือง Brighton & Hove สำหรับความเป็นไปได้ในการขออนุญาตสร้างสนามใหม่ในย่าน Falmer

 

ปี 1999 สภาแห่งเมือง Brighton & Hove ประกาศว่าจะให้มีการลงประชามติสำหรับการอนุญาตให้ชุมชนมีสนามฟุตบอลแห่งใหม่ โดยในแบบสำรวจประชามตินั้น มีการหามติสองข้อด้วยกันก็คือ  สโมสร Brighton & Hove Albion ควรมีสนามเหย้าแห่งใหม่หรือไม่? อีกข้อก็คือ สนามใหม่แห่งนั้นควรสร้างที่ย่าน Falmerหรือไม่?

 

หลังจากนั้นการรณรงค์ใน Campaign "YES-YES" ของแฟนบอลที่เห็นดีเห็นงามกับการสร้างสนามใหม่ในย่าน Falmer จึงเกิดขึ้น --- และในวันที่ 6 พฤษภาคม 1999 การโหวตก็เกิดขึ้น โดย 56,701 ( คิดเป็น 83.5%) ต้องการให้สโมสร Brighton & Hove Albion สร้างสนามใหม่ และ 44,985 (67.6%) ต้องการให้สร้างที่ย่าน Falmer

 

นอกเหนือที่แฟนบอลจะทำงานหนักนอกสนามเพื่อให้ทีมมีสนามแห่งใหม่แล้ว ผู้เล่นของทีม  Brighton & Hove Albion ปี ก็ไม่ได้อยู่นิ่งเฉย พวกเขาสมนาคุณแฟนบอลที่ "รัก" สโมสรแห่งนี้ด้วยการคว้าแชมป์ดิวิชั่น 3 ในปี ค.. 2001

 

ปี ค.. 2000 สภาแห่งเมือง Brighton & Hove เห็นควรว่าควรที่จะสร้างสนามใหม่ทางเหนืองของเมืองมากกว่าที่จะสร้างในย่าน Falmer แต่แฟนบอลที่สนับสนุนให้มีการสร้างในย่าน Falmer ก็ได้หอบข้อมูลจำนวน 32 ลัง ที่มีข้อมูลและความเห็นของสองแผนการที่จะสร้างสนามใหม่ ในการเปรียบเทียบกันระหว่างสร้างสนามใหม่ในแถบทางเหนือของเมือง กับสร้างในย่าน Falmer ให้กับสมาชิกสภาท้องถิ่นพิจารณา ความเหมาะสมในการสร้างสนามแห่งใหม่

 

ในปี ค.. 2002 แฟนบอลสามารถล่ารายชื่อได้ถึง 61452 รายชื่อ เสนอต่อสภาแห่งเมืองในการสร้างสนามใหม่ และสภาก็มีมติ 11:1 เห็นชอบด้วยในการสร้างสนามใหม่ในย่าน Falmer

 

ปี ค.. 2003 รัฐบาลกลางอังกฤษก็เรียกแผนการนี้นำเข้าไปสู่ส่วนกลาง และให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้าง,ผลกระทบต่อชุมชน โดยให้ระยะเวลา 4 เดือนในการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบต่อชุมชน การจลาจร มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และอาณาบริเวณของพื้นที่ … แต่ก็เริ่มมีความกังวลใจจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย Brighton กับสนามที่จะสร้างอยู่ใกล้ๆ กัน ว่าจะส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยหรือไม่

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

เดือนตุลาคมในปีเดียวกัน การศึกษาความเป็นไปได้สิ้นสุดลง และผู้เกี่ยวข้องก็มีความมั่นใจที่สนามแห่งใหม่นี้จะเกิดขึ้นที่ย่าน Falmer แฟนบอลตัวยงของ Brighton & Hove Albion ดีเจ Norman Cook แห่งวง Fatboy Slim นำทีมแฟนบอล Brighton & Hove Albion พร้อมด้วยจดหมาย 6200 ฉบับและรายชื่อ 61452 ลายเซ็น บุกบ้านเลขที่ 10 ถนน Downing เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษเปิดไฟเขียวในการสร้างสนามแห่งใหม่ โดยรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ John Prescott รับเรื่องไว้พิจารณา

 

แต่ในปี ค.. 2004 นาย Prescott กลับตัดสินใจให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ขึ้นใหม่ เพื่อให้มั่นใจที่สุดว่าย่าน Falmer เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างสนามแห่งใหม่ ทั้งนี้ Prescott ยังให้ทำการศึกษาถึงพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจากย่าน Falmer ด้วย --- การกระทำของ Prescott ทำให้เกิดปฏิกริยาตอบโต้จากแฟนบอล Brighton & Hove Albion โดยแฟนบอลพันกว่าคน ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน (พรรครัฐบาลของอังกฤษ)

 

26 กันยายน ค.. 2005 แฟนบอลร่วมหมื่นคน ออกมาเดินขบวนสนับสนุนให้สร้างสนามใหม่ในแถบ Falmer

 

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

เดือนตุลาคม ปี ค.. 2005 การศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบรอบสองยุติลง โดยรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษ John Prescott มีท่าทียอมรับในการสร้างสนาม ณ ย่าน Falmer การเฉลิมฉลองของแฟนบอลจึงเกิดขึ้น แต่ทว่า …

 

ชุมชนและสภาท้องถิ่นในย่าน Falmer ส่วนหนึ่งเองก็ไม่อยากให้เกิดสนามแห่งใหม่ในท้องที่ มีการล่ารายชื่อเพื่ออุธรณ์ให้พิจารณาการสร้างสนามในย่านนี้โดยล่ารายชื่อได้มากกว่า 5000 ลายชื่อ และมีการร้องเรียนต่อศาลสูงอังกฤษให้มีการพิจารณาใหม่

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

ความขัดแย้งอันใหม่นี้เอง ที่ทำให้แฟนบอลส่วนใหญ่ของเมือง Brighton & Hove ที่ต้องการให้มีสนามในย่าน Falmer แต่ก็รู้ดีถึงผลกระทบที่คนแถบ Falmer จะได้รับ และการหาหนทางแก้ไขปัญหาครั้งนี้ กลุ่มที่อยากให้สร้างสนามในแถบ Falmer ได้เคลื่อนไหวในรูปแบบที่คาดไม่ถึง คือการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อประสานความเข้าใจในชุมชน …

 

พรรค "นกนางนวลรักฟุตบอล" --- คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อคนคลั่งไคล้ฟุตบอล!

 

ที่มาของภาพ http://www.seagullsparty.org

 

 

วันที่ 5 มิถุนายน ค.. 2006 แฟนบอล Brighton & Hove Albion ที่ต้องการให้มีสนามใหม่ในแถบ Falmer ก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อใช้เป็น "เครื่องมือในการสมานฉันทร์ความขัดแย้ง" กับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้มีสนามในท้องถิ่น โดยมีนโยบายดังนี้..

 

นโยบายพรรคนกนางนวล

 

·         เปิดกว้าง

·         ซื่อสัตย์

·         มีเหตุผล

·         เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม

 

พรรคนกนางนวลเกิดขึ้นโดยปราศจากความมุ่งหวังที่จะขจัดขบวนการขัดขวางการสร้างสนามใหม่ในย่านชุมชนใกล้เคียง โดยใช้กระบวนการทางการเมืองเป็นเครื่องมือประสาน และไม่ใช่เกิดขึ้นเพื่อเรื่องของฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เพราะยังเกี่ยวโยงกับความสำคัญในด้านอื่นๆ 

 

พรรคต้องการที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับชุมชน โดยมุ่งหวังที่จะ ..

 

·         ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น , การศึกษา , ทักษะต่างๆ พัฒนาขึ้นในท้องถิ่น

·         ขยายโอกาสให้กับเสียงส่วนน้อยที่ได้รับผลกระทบ

·         สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน

·         สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและธุรกิจท้องถิ่น

·         ช่วยลดอาชญากรรมและพัฒนาท้องถิ่นให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

 

แน่นอนว่าการทำความเข้าใจกับคนส่วนน้อยที่เสียผลประโยชน์ การให้เกียรติ และการหาข้อตกลงร่วมกันเป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ในสังคมที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง

 

ทั้งนี้พรรคนกนางนวล มุ่งหวังที่จะทำความเข้าใจกับชุมชนท้องถิ่น และส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งในสภาท้องถิ่น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบในการสร้างสนามในย่าน "Falmer" หาข้อตกลงร่วมกันได้ อย่างที่ต่างฝ่ายต่างพึงพอใจมากที่สุด

 

.. การรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของแฟนบอลอังกฤษแบบนี้ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในกิจกรรมนอกสนามของประเทศแม่แบบลูกหนังและประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แฟนบอลอังกฤษไม่ได้เก่งแค่รวมกลุ่มกันไปตีคนอื่นๆ แต่พวกเขาก้าวหน้าไปกว่านั้นหลายพันลี้แล้ว

 

0 0 0

 

เฮ้อ! … "ฟุตบอล - การเมือง - สังคม - เศรษฐกิจ" เดี๋ยวนี้มันเริ่มมาพัวพันกันยุ่งเหยิงจนแกะไม่ออก --- ใครจะว่า "ฟุตบอล" มันเป็นเรื่องสำคัญกว่าชีวิต หรือ ใครจะว่ามันไม่สำคัญอะไรหนักหนา คงได้แต่ออกความเห็นของใครของมัน เราคงบังคับให้ใครคิดอย่างที่เราอยากให้เขาคิดแบบนั้นคงไม่ได้ นานาจิตตังครับ! เรื่องของฟุตบอล ;-)

 

และก็อย่างว่า..ในสังคมที่แตกต่างและหลากหลายทางความคิด คงจะเป็นการยากที่จะให้อะไรๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด ชาวบ้านในละแวก Falmer เองบางส่วน ก็ไม่อยากให้มีสนามฟุตบอลแถวบ้าน และก็รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเข้มแข็งเพื่อต่อต้านสนามฟุตบอลใหม่นี้อย่างแข็งขัน

 

แต่การต่อสู้ในศาล การต่อสู้ในสภาท้องถิ่น และการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนทางการเมือง ของ 2 กลุ่มที่มีความเห็นตรงกันข้ามกันนี้เป็นตัวที่แสดงให้เห็นว่า อย่างน้อย กระบวนการทางการเมือง กระบวนการทางประชาธิปไตย ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหาข้อสรุปทางความขัดแย้งได้ ไม่ต้องถึงขั้นกระทำการรุนแรงห้ำหั่นกันอย่างที่เคยเป็นมา …

 

ในประเทศที่เจริญแล้ว เรื่องราว "การสร้างสรรค์ - ความขัดแย้ง" วิถีประชาธิปไตยสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือ "พัฒนา" หรือว่า "แก้ไข" สิ่งต่างๆ ได้เสมอ

 

ผิดกลับบางประเทศ ที่รับเอาอารยธรรมตะวันตกแต่เปลือกนอก กระแดะทำตัวเหมือนฝรั่งไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการ แต่งตัว บริโภคฟุ่มเฟือย แข่งขันเอาเปรียบ หรือแม้แต่การคลั่งไคล้ฟุตบอลอย่างหัวปักหัวปำ ;-) ... แต่สิ่งที่ดีที่สุดของแนวคิดฝรั่งคือ "เสรีภาพ-ประชาธิปไตย" ไม่เคยรับมันมาใช้ และกลับบอกว่ามัน "ไม่เหมาะ" กับสังคมตัวเอง (ที "กล้องดิจิตอล" หรือ "รถถัง" ที่ตะวันตกเป็นต้นคิด กลับเหมาะสมกว่า ;-)

 

พอมีปัญหาความขัดแย้งในสังคม ก็กลับมอบหมายให้มันเป็นเรื่องของ "กลุ่มชนชั้นนำ" เป็นผู้จัดการแทนให้หมด ส่วนจิตสำนึกประชาธิปไตยของคนตัวเล็กๆ ที่หลากหลาย กลับบอกว่า "ช่างแม่งมัน! มันไม่ใช่วิถีที่เหมาะสำหรับสังคมเรา" 

 

ทายซิจ๊ะ! ประเทศไหนเอ่ย ;-)

 

0 0 0

 

 

ประกอบการเขียน - แหล่งข้อมูลแนะนำ

"Brighton face stadium legal fight" www.bbc.co.uk วันที่ 11 มกราคม 2006

"Brighton stadium plans approved" www.bbc.co.uk วันที่ 28 ตุลาคม 2005

"Club's fans form political party" www.bbc.co.uk วันที่ 5 มกราคม 2006

www.footballeconomy.com

www.seagullsparty.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท