Skip to main content
sharethis

กรรมกรโรงงาน - เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2549 เวลา 15.00 น. ที่ผ่านมา สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM100.00 MHz ได้กระจายเสียงรายการผญาชุมชน ซึ่งดำเนินรายการโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ซึ่งรายการที่ออกอากาศในวันดังกล่าว เป็นการสนทนาในประเด็นของการความคาดหวังต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะมีการยกร่าง หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว


 


โดนนายมนูญ ไชยนุรักษ์ กรรมการบริหารเครือข่ายชุมชนเมือง กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับนี้ยังเรียกเป็น "รัฐธรรมนูญ" ไม่ได้ อยากให้พี่น้องชาวบ้านทำความเข้าใจว่าเป็นการก่อร่างสร้างตัวเพื่อให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับจริง คือคงจะตั้งใจให้ประชาชนมีส่วนร่วมแต่จะเกิดขึ้นหรือไม่ต้องดูต่อไป หากเปรียบเป็นบ้าน ตอนนี้ก็ไม่ใช่แค่บ้านจะไม่งามเท่านั้นแต่ยังไม่มีแนวทางให้ชาวบ้านให้ประชาชนปฏิบัติ


 


ทั้งนี้ หากมองความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 รัฐธรรมนูญปี 2540 เราได้ร่วมกันระดมความคิด ได้ร่วมกันผลักดันสร้างกันแต่ละมาตราที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ได้ร่วมรณรงค์ ได้ร่วมช่วยกันเสนอหลายๆ ครั้ง เกี่ยวกับกฎหมายที่ควรจะออก เพราะเรากลัว ส.ส., ส.ส., ส.ส.ร. จะไม่รับรอง นี่คือความแตกต่างหากเทียบกับปี 2540 นายมนูญกล่าว


 


"ทุกวันนี้ที่ผ่านมาถ้าไม่เกิดกรณีนี้ (รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549) เราก็ยังภูมิใจว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างน้อยๆ พวกเราก็มีส่วนได้เข้าไปร่วมด้วย แม้ว่าคำพูดหรือคำเสนอของเราไม่ได้นำไปเป็นตัวบทกฎหมาย แต่ก็มีแนวโน้มแนวทางแบบที่เราคุยกันตลอด ทั้งการผลักดันโดยคณาจารย์ และจากทุกๆ ภาคส่วน"


 


คือหากจะพูดถึงรัฐธรรมนูญ 39 มาตราฉบับนี้ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็คงจะแตกต่างกันอย่างมาก รัฐธรรมนูญปี 2540 บอกว่าประชาชนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้นะ แต่ของ คปค. ยังไม่มี มีแต่ว่าคณะจะทำแบบนั้นแบบนี้นะ นายมนูญกล่าว


 


นายณัฐพงษ์ อุดเวียง ประธานสหภาพแรงงานงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน) กล่าวว่ารัฐธรรมนูญใหม่นั้น ตนยังไม่ได้อ่าน แต่ในมุมมองของตนถือว่าออกในสถานการณ์ที่ฉุกเฉินนะ เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญในด้านของแรงงานตนถือว่ายังไม่มีส่วนร่วม ถ้าเป็นไปได้อยากให้แรงงานมีส่วนร่วมด้วย จะได้เห็นภาพที่ชัดของปัญหา


 


อนุชา มีทรัพย์ รองประธานสหภาพแรงงานงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน) กล่าวว่าในภาคเหนือผู้ใช้แรงงานจะรู้แค่เรื่องกฎหมายคนงาน คือจะรู้เรื่องประกันสังคม และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ถ้าเป็นเรื่ององค์กรแรงงานจะไม่มีความรู้ ซึ่งภาคเหนือก็มีเพียงสหภาพแรงงานเพียงแห่งเดียวซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นไม่กี่เดือน อยากฝากให้มีการให้ความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ด้วย โดยนายอนุชา มีทรัพย์กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 มีดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็ขอให้มันคล้ายฉบับเก่าและอยากให้ด้านแรงงานหรือด้านชุมชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา


 


เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงความคาดหวังต่อการปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะกำลังจะร่างนี้ นายณัฐพงษ์ อุดเวียงกล่าวว่าอยากให้มีการสนใจเรื่องค่าแรง ช่วงที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดค่าแรงไม่เหมือนกัน ตนเสนอว่าน่ากำหนดค่าแรงเป็นภาค เพราะจะเห็นได้ชัดว่าค่าแรงมันต่างกัน


 


"อย่างเช่นจังหวัดเชียงใหม่กับลำพูน โดยลำพูนเป็นเขตที่นิคมอุตสาหกรรมจริงๆ มีคนงานหนุ่มสาวเยอะ แต่ค่าแรงวันละ 145 บาท แต่เชียงใหม่ค่าแรงวันละ 155 ทั้งที่ระยะทางห่างกัน 10 กิโลเมตร และค่าแรง 155 บาทของเชียงใหม่ก็ใช้ไปถึงอำเภอชายแดนอย่าง อ.ฝาง ก็ยัง 155 บาท มันเห็นภาพที่ชัดมาก นิคมเป็นเขตเศรษฐกิจแต่ค่าแรงต่ำ โดยบริษัทที่ไม่มีโอที พนักงานจะลาออกไปทำงานกับบริษัทที่มีโอที เพราะค่าครองชีพสูง ค่าแรงต่ำ คนงานก็อยากทำโอทีไม่งั้นจะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นค่าแรงของแรงงานควรสูงกว่านี้" นายณัฐพงษ์กล่าว


 


อนุชา มีทรัพย์ กล่าวว่าหากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่คนงาน และส่งเสริมการร่วมกลุ่มของผู้ใช้แรงงาน "ทั้งนี้ถ้าเป็นการอบรมของฝ่ายผู้บริหารจะมีค่าอบรมมีค่ากับข้าวให้แต่เป็นเรื่องอะไรไม่รู้ แต่ถ้าเป็นเรื่องแรงงาน ที่ทำสหภาพแรงงานกันอยู่นี้บางทีก็ต้องใช้เงินส่วนตัว เพราะส่วนราชการกับเอกชนไมสนับสนุนเพราะเป็นการรวมกลุ่มของคนงานที่เขาไม่ได้ผลประโยชน์"


 


ถ้ามีกฎหมายฉบับใหม่ออกมาสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงาน อย่างนักศึกษาจบใหม่ จบปริญญาตรี หรือจบปริญญาเอก ถามถึงพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ปี 2518 ไม่มีใครรู้จัก ทั้งที่ควรเป็นของติดตัว ถ้าแรงงานไทยรู้กฎหมายมากขึ้นจะทำให้ความคิดและชีวิตของทุกคนเจริญขึ้นด้วย นายอนุชากล่าว


 


ในส่วนของชุมชนเมืองนั้น นายมนูญ ไชยนุรักษ์กล่าวว่า ชุมชนเมืองและเครือข่ายสลัม 4 ภาค เจอกันก่อนรัฐประหาร 1 วัน ได้คุยกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อตั้งคณะปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน แต่ก็มาเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จนอยากบอกให้พี่น้องที่มีอุดมการณ์ร่วมกันว่าเราต้องมา "ตั้งเค้า" ใหม่ (เริ่มต้นใหม่) อีกแล้ว


 


"โดยเอาสัก 90% รัฐธรรมนูญปี 2540 คือความหวัง จะไม่เสียเวลาและพี่น้องไม่เหนื่อย คณะที่มายกร่างฯ ก็ไม่เหนื่อย คปค. บอกว่าจะมีสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ เราคงต้องมาช่วยมาคิด ไม่ใช่ให้คนมีเงินมีทอง มีอำนาจมาบอกว่า ฉันไปร่างนะ มาช่วยฉันหน่อย ไม่ใช่นะ พวกเราต้องไปช่วยกัน ไม่ต้องเป็นผู้มีอำนาจหรอก เอาชาวไร่ชาวนาไปในนามประชาชนนี่แหละ อยากฝากให้ทุกภาคส่วนที่จะมาผลักดันรัฐธรรมนูญ อยากให้คิดถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เราร่างมา คือจะมันจะดีหรือไม่อยู่ที่คนนำไปปฏิบัติ"


 


นายมนูญกล่าวในท้ายรายการว่า ชุมชนเมืองต่อสู้เพื่อพระราชบัญญัติชุมชนแออัด มาตั้งแต่สมัย พ.ศ.2528-2529 แล้ว เพราะฉะนั้นหวังว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ข้อเรียกร้องของชุมชนเมือง เครือข่ายสลัมสี่ภาคจะได้เข้าไปบ้าง ถ้า คปค. จะทำนะมัน อยากบอกว่ามันพื้นฐานแล้วละ แค่เข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อุดช่องโหว่ไม่ให้มีมาก ไม่อยากให้ออกมาตราซ้ำซาก ผู้มีอำนาจจะได้เลี่ยงไม่ได้ นายมนูญกล่าวในที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net