Skip to main content
sharethis

11 ต.ค.49 - สหพันธ์ผู้บริโภค ออกแถลงการณ์กระทรวงพลังงาน ต้องมีความชัดเจนในการการทำงาน 2 ส่วนควบคู่กันไป คือ การปฏิรูปกิจการพลังงานเพื่อการพัฒนาระบบพลังงานในอนาคต กับ การตรวจสอบการทุจริต คอรัปชั่น ผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์โดยมิชอบจากกระบวนการแปรรูปกิจการพลังงานที่ผ่านมา


 


แถลงการณ์ดังกล่าวลงชื่อนางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มีเนื้อหาระบุว่าจากกรณีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแนวนโยบายในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กิจการพลังงาน เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ   โดยจะมีองค์กรอิสระที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ เรียกว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ นั้นถือเป็นหลักการที่ดี  หากทำมาเพื่อเป็นการนำร่องปูทางไปสู่การปฎิรูปกิจการพลังงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม  การมีธรรมาภิบาลต่อสังคม  การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมมากขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม การปฎิรูปกิจการพลังงาน โดยการกำหนดนโยบาย การตรา แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายใด ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ควรมีธงเพื่อการแก้ต่างความผิดในการแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคด้านพลังงานที่ผ่านมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกฟผ. หรือปตท. 


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมควรจะทำการปฎิรูปนโยบายและระบบพลังงานที่จะส่งผลดีในอนาคตควบคู่ไปกับการตรวจสอบกระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้านพลังงาน เช่น กฟผ. และปตท.ที่ผ่านมาในอดีตว่ามีกระบวนการแปรรูปที่ก่อให้เกิด การทุจริต คอรัปชั่น คอรัปชั่นเชิงนโยบาย  ผลประโยชน์ทับซ้อน  หรือกลไกที่ก่อให้เกิดการโครงสร้างฮั้วกันระหว่างผู้กำหนดนโยบาย ผู้กำกับดูแล ผู้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจ จนเป็นที่มาของผลประโยชน์โดยมิชอบสร้างความเสียหายแก่รัฐ และประชาชนอย่างไรบ้าง


 


ดังนั้น แถลงการณ์สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้มีข้อเรียกร้องต่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันดังนี้


 


1. การตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ไม่เป็นธรรมต่อสังคม รัฐ ประชาชน ในการแปรรูปกิจการพลังงานที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องไม่เบี่ยงเบนประเด็นเพิกเฉย หากไม่ดำเนินการเอง ต้องส่งเรื่องดังกล่าวแก่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)  ดำเนินการตรวจสอบต่อไป  โดยมีประเด็นที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อตั้งเรื่องการตรวจสอบได้ เช่น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและกระบวนการแปรรูปกฟผ. และปตท.    การประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกฟผ.และปตท.ก่อนแปรรูป เป็นการประเมินทรัพย์สินของรัฐราคาถูก ทำให้รัฐเสียหาย เพื่อใครได้ประโยชน์หรือไม่อย่างไร   กรณีการขายหุ้นไอพีโอ   มีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงหรือไม่รวมทั้งข้อครหาถึงการนำหุ้นของกิจการพลังงานไปแจกจ่ายกับกลุ่มบุคคลใดๆเพื่อเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองมีหรือไม่


 


ทั้งนี้ เพื่อสามารถแก้ไข เยียวยา เอาผิดกับผู้กระทำผิด ยกเลิกนโยบายหรือกฎหมายที่เป็นปัญหาได้ตรงประเด็น เช่น ควรยกเลิก รบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ  ที่ทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจกระทำได้โดยง่าย ไม่รอบคอบ ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาและขาดการมีส่วนร่วมที่เพียงพอ


 


2. การปฎิรูปกิจการพลังงาน  ให้มีการปฏิรูปนโยบาย และโครงสร้างการบริหารงานด้านเศรษฐกิจและพลังงานไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยยึดประโยชน์ของสังคมส่วนรวมเป็นตัวตั้ง เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม โปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน พอเพียง และ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ


 


อีกทั้ง ดำเนินการการแยกอำนาจ  บทบาทหน้าที่ของรัฐทางด้านการกำหนดนโยบาย การกำกับดูแล และการปฏิบัติการออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใส ขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนและความสับสนของรัฐในการปกป้องและคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภค โดยการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระสาขาพลังงานมาทำหน้าที่กำกับดูแล


 


เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบในกิจการพลังงานและเป็นกิจการสาธารณูปโภค  ครอบคลุมทั้งกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจน้ำมัน  โดยเริ่มด้วยการเปิดประชาพิจารณ์ สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของประชาชนในการจัดทำพรบ.กิจการพลังงาน และการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่มีกฎมายรองรับ เป็นการเริ่มต้น "ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูประบบพลังงาน"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net