Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ต.ค.2549   เมื่อเวลา 11.00 น. ตัวแทนขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (We Move) และเครือข่ายองค์กรประชาชน ประมาณ 50 คนได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อคัดค้านการแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น หนึ่งในองค์กรที่ร่วมลงรายชื่อกล่าวว่า การมายื่นคัดค้านการแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งนี้ เพราะตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติโดยตำแหน่ง ดังนั้น นอกจากจะต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยปราศจากข้อกังขา


 


"แต่นายมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมขัดขวางกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด และจัดทำกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม ตั้งแต่ การเป็นมือกฎหมายในการยึดทรัพย์ในสมัย รสช. แต่ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ จนเป็นที่สงสัยว่า เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ เป็นความจัดเจนอย่างจงใจ"


 


นายมีชัย  ยังต่อต้านคัดค้านการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในกรณีทุจริตยา ซึ่งเป็นกรณีแรกที่ภาคประชาชนได้ใช้กลไก 50,000 รายชื่อ ถอดถอนนักการเมือง แต่เพราะการตีความและตั้งเงื่อนไขของนายมีชัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ทำให้การถอดถอนต้องเป็นหมันไป จนภาคประชาชนต้องใช้ช่องทางอื่น จนสามารถยึดทรัพย์ และจับรัฐมนตรีเข้าคุกได้ในที่สุด


 


นอกจากนี้ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ นายมีชัย ยังมีส่วนสำคัญในการร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เป็นกฎหมายอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ทำลายหลักการขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และทำลายบูรณภาพของอธิปไตย โดยการแบ่งแยกรัฐซ้อนรัฐ และยังร่างธรรมนูญชั่วคราวที่หมกเม็ดไม่ต่างกับรัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ปี 2490 ทั้งที่นายมีชัยเองเคยพูดว่า จะให้นักวิชาการให้ความเห็น แต่พอนักวิชาการขอดูก็บอกไม่ทันแล้ว ทูลเกล้าฯไปแล้ว ทั้งที่จริงควรเป็นเรื่องเปิดเผย อีกทั้งเนื้อหาก็มีจุดหมกเม็ดจำนวนมาก


 


"ดังนั้น จากทัศนคติและพฤติกรรมของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ไว้ใจไม่ได้นี้ ทำให้เราต้องมายื่นคัดค้านการเป็นประธานสมัชชาแห่งชาติของนายมีชัย เพราะเกรงว่าในที่สุด จะนำไปสู่การบล็อกโหวต เกิดความไม่โปร่ง


ใส หรืออาจชักนำให้นายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มือกฎหมายระบอบทักษิณเข้ามาร่วมด้วยอีก" ตัวแทนกลุ่มที่มายื่นหนังสือกล่าว


 


เมื่อถูกถามว่า หากในที่สุดนายมีชัยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติจริง จะเป็นเช่นไร น.ส.รสนา ตัวแทนกลุ่มกล่าวว่า  "ถ้าในที่สุดนายมีชัย ได้รับการแต่งตั้ง ก็เป็นการแสดงอย่างชัดเจนว่า การรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ได้แค่กำจัดระบอบทักษิณ แต่เป็นการยึดอำนาจประชาชน ซึ่งเราไม่ต้องการเห็นชะตากรรมของคณะปฏิรูปฯ และ รัฐบาลชั่วคราว มีจุดจบเช่นเดียวกับ รสช. หรือ เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหลังจากนี้ เพราะสิ่งที่คณะปฏิรูปฯ พูดเสมอว่า ต้องการสร้างสังคมสมานฉันท์ขึ้นมา โดยสังคมสมานฉันท์นี้ต้องฟังประชาชน การที่ประชาชนคัดค้านคนบางคนล้วนมีเหตุผลที่ชัดเจน โดยเฉพาะนายมีชัยที่มีทัศนคติและพฤติกรรมที่ไว้ใจไม่ได้ ถ้าเสียงของประชาชนไม่มีความหมายอะไรเลย คณะปฏิรูปฯ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็คงล้มเหลวกับภารกิจในการสร้างความสมานฉันท์ของชาติ"


 


"ประชาชนก็จะถูกทำให้วิ่งวนระหว่างอำนาจเงิน กับอำนาจจากปากกระบอกปืน ซึ่งสิ่งที่น่าห่วงใยที่สุดก็คือ การคอรัปชั่น อำนาจที่เบ็ดเสร็จก็คือคอรัปชั่นเบ็ดเสร็จ การที่ประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านระบอบทักษิณ ก็เพราะปิดกั้นการตรวจสอบประชาชน เราต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง เราไม่ไม่ต้องการ "เสนาอมาตยาธิปไตย" เราไม่ต้องการ "วาณิชยาธิปไตย""


 


ทั้งนี้ ภายหลังจากยื่นหนังสือผ่าน ร.ท.เสกสรรค์ กาศยปนันท์ เจ้าหน้าที่ของกองทัพบกแล้วนั้น ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (We Move) และเครือข่ายองค์กรประชาชน ได้รับแจ้งว่า จะได้เข้าพบเพื่อหารือกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ในวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคมนี้  


 


สำหรับองค์กรที่ร่วมลงนามในการยื่นหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ครั้งนี้ประกอบไปด้วย


ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (We Move), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะทำงานโลกาภิวัตน์, เครือข่านยผู้หญิงพิทักษ์ทรัพยากร, เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น, แนวร่วมเพื่อความก้าวหน้าของผู้หญิง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)


 


ทั้งนี้ ขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (We Move) มีข้อเสนอต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดเกณฑ์และที่มาของสมัชชาแห่งชาติให้ยึดโยงกับพื้นที่ระดับจังหวัด และกำหนดสัดส่วนของประชาชนภาคส่วนต่างๆอย่างชัดเจน โดยให้แต่ละภาคส่วนเลือกกันเองให้ได้ 200 คน และเห็นด้วยกับข้อเสนอของนักวิชาการที่ให้แต่ละจังหวัดคัดเลือกจังหวัดละ 20 คน ส่วนที่เหลืออีก 480 คน ขอให้มีการรับสมัครจากกลุ่มที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนในสังคมในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ร่วมกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้หญิง กลุ่มด้อยโอกาส ผู้พิการ เพื่อให้ได้ประสบการณ์ที่หลากหลายในการร่างรัฐธรรมนูญ และต้องมีกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นอย่างชัดเจน และต้องดำเนินการตลอดกระบวนการตั้งแต่กิ่อนยกร่าง โดยสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนสามารถร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net