Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ต.ค.2549  เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารเปิดจดหมายเปิดผนึกถึงผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ชี้แจงสถานการณ์ภายในเกี่ยวกับข้ออ้างความชอบธรรมของการรัฐประหารที่ระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุน ดังนี้


 


 


จดหมายเปิดผนึกถึง ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ


           


ในปัจจุบันได้มีกลุ่มต่างๆออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะสื่อสารต่อสาธารณะทั้งในและต่างประเทศว่า สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549  เรื่อยมาจนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตลอดจนการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีนั้น ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้


 


เราในนามของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นประชาชนจำนวนหนึ่งในสังคมไทย ขอแสดงความเห็นและขอให้ข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากการพยายามสร้างภาพพจน์ของบรรดาชนชั้นนำต่างๆในสังคมไทยที่พยายามจะอธิบายว่า การรัฐประหารครั้งนี้คือการรัฐประหารที่ชอบธรรม ดังนี้


 


1.เราขอใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกว่าเราคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งนี้เนื่องจากเป็นการกระทำที่ทำลายระบอบและพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่มีมาทั้งหมด รัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่การรัฐประหารโดยสันติ แต่คือการยึดอำนาจรัฐ ฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรงที่สุด 


 


2.การประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และการตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน คือความต้องการที่จะสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารให้ยืนยาว การประกาศว่าจะยุติบทบาทลงสองสัปดาห์หลังรัฐประหารเป็นการโกหกคำโตของเผด็จการทหารเพื่อให้ประชาชนไม่ลุกขึ้นมาคัดค้าน


 


3.ภายหลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติยังมิได้ยกเลิกกฎอัยการศึกแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่นักวิชาชีพสื่อไม่ควรมองข้าม การปิดกั้นและละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนทั้งที่เป็นกระแสหลัก เช่น สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และสื่อทางเลือก เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ ฯลฯ ยังเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทหารยังคงไม่ถอนกำลังออกจากสำนักข่าวหลายสำนัก เราจึงไม่อาจบอกว่าประชาชนและสื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพในการพูด อ่าน เขียน ได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นสื่อมวลชนไทยจำนวนมากยังให้การสนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ด้วย ดังนั้นในภาวะที่การนำเสนอข่าวและการแสดงความคิดเห็นยังไม่สามารถทำได้ตามปกติ เราจึงไม่อาจสรุปได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือสนับสนุนการรัฐประหาร


 


เรา " เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร " จึงขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนต่างประเทศโดยความเชื่อมั่นในหลักการของสิทธิเสรีภาพของมนุษย์และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ดังนี้


 


1.ขอให้สื่อมวลชนต่างประเทศช่วยนำเสนอข่าวสารและการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เห็นต่างไปจากทิศทางของข่าวสารที่ถูกกำกับและควบคุมโดยรัฐ เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวถูกนำเสนอจากสื่อมวลชนไทยน้อยมากจนดูราวกับว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่คัดค้านซึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารครั้งนี้น็น


 


2.ขอให้สื่อมวลชนต่างประเทศช่วยทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ติดตามการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน และเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ แก่สาธารณชนต่อไปให้มากที่สุด


 


3.ขอเรียกร้องต่อสื่อมวลชนต่างประเทศร่วมผลักดันให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยที่ถูกบิดเบือนไปไม่ว่าจะโดยการใช้กำลังบีบบังคับคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด


 


เครือข่าย ฯ เห็นว่าหนทางที่ดีที่สุดในการคลี่คลายปัญหาคือ การยกเลิกกฎอัยการศึก และคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการกลับไปสู่กระบวนการเลือกตั้ง ภายใต้กติกาและกลไกตามรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชนต่อไป


 


 


                                                                       เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร


                                                                            12 ตุลาคม 2549


                                                                        สองวันก่อนวัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย


                                                                         ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net