Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ


สำนักข่าวประชาธรรม


 


ขณะที่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศภายหลังการยึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะปฏิรูปการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)   การดำเนินการบริหารประเทศอยู่ระหว่างเสถียรภาพที่ยังไม่ลงตัวเช่นนี้  ยังมีคำถามจากประชาชนภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ตามภูมิภาคว่ารัฐบาลชั่วคราวจะดำเนินการอย่างไรบ้างกับอภิมหาโครงการต่างๆ  ที่ผุดขึ้นในช่วงรัฐบาลก่อน เช่น กรณีสวนสัตว์กลางคืนไนท์ซาฟารี  โครงการพืชสวนโลก จ.เชียงใหม่  หรือโครงการพัฒนาเหลี่ยมเศรษฐกิจที่ภาคใต้ เช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นต้น


 


อภิมหาโครงการจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ (Logistics Master Plan) ซึ่งมีโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Landbridge) เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ประกอบด้วย  1. โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล 2. ท่าเรือน้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา และ 3. การเชื่อมโยงระบบคมนาคม


 


ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถูกผลักดันให้เร่งดำเนินการในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลของการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้า โดยมีท่าเรือน้ำลึกบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลของภาคใต้ที่เชื่อมโยงกับการขนส่งระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ซึ่งจะเป็นประตูการค้ากับนานาชาติได้โดยตรงด้วยระบบคอนเทนเนอร์ เช่น เพื่อขนส่งยางพาราจากประเทศไทยสู่เอเชียตะวันออก ตลอดจนการพัฒนาสินค้าแปรรูปอาหารกระป๋อง และสินค้าแช่แข็ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมการลงทุนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอีกด้วย


 


ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางน้ำ ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องโดยว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมแนจเมนท์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิก คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ดำเนินการสำรวจออกแบบรายละเอียดท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล มีระยะเวลา 12 เดือน โดยเริ่มงานเดือนกรกฎาคม 2548 และมีกำหนดแล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2549 ซึ่งการสำรวจออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เป็นไปเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดประมาณ 50,000 ตันกรอส โดยมีองค์ประกอบหลักดังนี้ 1.ท่าเทียบเรือน้ำลึก และลานกองตู้สินค้า 2.ท่าเทียบเรือประมง 3.ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว 4.พื้นที่สนับสนุนท่าเรือ 5.เขื่อนกันคลื่น 6.ถนนและสะพานเชื่อมพื้นที่โครงการทางหลวงหมายเลข 4052 และ 7.การขุดลอกร่องน้ำเดินเรือและพื้นที่ทิ้งตะกอน


 


เบื้องต้น พื้นที่สร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเพตรา   ได้รับงบประมาณประจำปี 2548-2549 เป็นค่าสำรวจออกแบบรายละเอียด  มีการคัดเลือกวิศวกรที่ปรึกษาแล้วเสร็จ ในวงเงิน 38.40 ล้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ โครงการดังกล่าวต้องยื่นขออนุญาตผ่านอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพรรณพืช รวมทั้งรอการอนุมัติงบประมาณดำเนินการสร้างต่อไป


 


ต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป


 


นายกิติกุล ธรรมโชติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเพตรา กล่าวว่า โครงการที่จะเกิดขึ้นหากมองในแง่เศรษฐกิจเราก็ให้การสนับสนุน แต่ยอมรับว่าย่อมมีผลกระทบกับทรัพยากรด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมื่อประเมินความคุ้มค่า และเปรียบเทียบระหว่างผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และผลประโยชน์ที่จะได้รับแล้ว ผมเห็นว่าถ้าด้านเศรษฐกิจดีขึ้นก็ถือว่าคุ้มค่า ซึ่งข้อเท็จจริงตามแผนโครงการจากการสำรวจครั้งแรกนั้น จะทำการสร้างท่าเรือบริเวณเนินทรายซึ่งไม่มีแนวปะการรัง บริเวณดังกล่าว เมื่อน้ำลดจะสามารถมองเห็นเป็นเนินตะกอนหาดทรายทอดยาวลงไปข้างล่าง ซึ่ง เรียกว่า หาดปากบารา โครงสร้างท่าเรือจะเป็นแนวยื่นตรงลงไปตามเนินทรายลงไปหาจุดร่องน้ำในทะเล


 


"ผลกระทบกับแหล่งธรรมชาติของอุทยาน จะมีเรื่องตะกอนใต้น้ำ จำเป็นต้องอพยพปะการังบางส่วนออกจากพื้นที่นั้น   ตอนนี้เรากำลังให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลศึกษาการอพยพปะการังว่าเป็นไปได้หรือไม่ ตรงนี้เราต้องยื่นข้อมูลให้กับกรมเจ้าท่าทราบ หากว่าโครงการเกิดขึ้นทางโครงการก็ต้องรับผิดชอบงบประมาณในการเคลื่อนย้ายปะการัง และการฟื้นฟูธรรมชาติด้วย"


 


ด้าน นายนฤเบศ ชุมทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า การสร้างท่าเรือน้ำลึกจะส่งผลกระทบกับอุทยานแห่งชาติตะรุเตาด้วย เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ท่าเรือน้ำลึกจะทำให้เกิดการตกตะกอนของเศษดิน ไม่เพียงเท่านั้น กระแสน้ำจะมีการเปลี่ยนทิศทางได้เพราะไปขวางกั้นทางน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำปากบารามีการไหลเวียนน้ำขึ้น-ลง ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่มีปะการังอยู่บ้าง โดยเฉพาะบริเวณอ่าวฤาษี มีปะการังแข็ง ปะการังอ่อนอยู่ และเป็นที่แน่นอนว่าการจราจรทางน้ำที่คับคั่งมากขึ้นเมื่อมีท่าเรือน้ำลึก จะส่งผลกระทบต่อปะการังด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่การมองผลที่ได้รับกับผลที่เสียไปจากการมีท่าเรือน้ำลึก และสิ่งแวดล้อม สิ่งไหนจะมากกว่ากัน


 


 "แน่นอนว่าเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมก็ต้องมีการเปลี่ยนไป ปะการังที่มีอยู่อาจจะลดน้อยลง หรือถูกทำลายไปได้ ทั้งนี้ บริเวณใกล้เคียงคือ เกาะสาหร่าย มีปลาวาฬเข้ามาเกยตื้น นอกจากนั้นยังมีปลาโลมาค่อนข้างมาก แสดงว่าบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล  อย่างไรก็ตาม ท่าเรือน้ำลึกจะเกิดขึ้นหรือไม่ และผลประโยชน์ที่ได้รับกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะสูญเสียไป สิ่งไหนจะมากกว่ากัน คงต้องติดตามดูต่อไป แต่สำหรับหน้าที่ของทางกรมอุทยานฯ มีการเข้มงวดเรื่องการป้องกันสิ่งปฏิกูลต่างๆ ห้ามไม่ให้เรือที่เข้ามาเทียบท่าถ่ายทิ้งของเสีย หรือน้ำมันหล่อลื่นลงสู่ทะเลอย่างเด็ดขาด"


 


นอกจากนี้นายนฤเบศ ยังเห็นว่าพื้นที่บริเวณปากบารามีเกาะแก่งมากมาย ประมาณ 70 เกาะ ซึ่งเป็นที่หลบลมมรสุมของเรือเล็กของชาวประมงพื้นบ้าน   และเป็นที่หลบภัย หลบกระแสน้ำของปลาด้วย ถึงแม้ว่าในทางเศรษฐศาสตร์อาจมองว่า ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรมีการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ เพราะเกาะแก่งต่างๆ ทำให้บริเวณฝั่งทะเลอันดามันเกิดความไม่สะดวกเท่าที่ควรหากจะใช้เป็นทิศทางในการเดินเรือ ในขณะที่ฝั่งอ่าวไทยซึ่งไม่มีเกาะแก่งมากนัก จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างท่าเรือลึก


 


อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นักวิชาการและนักวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ความคืบหน้าเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ทราบว่ามีการดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ผลจากการการสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2547 ซึ่งใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 2 อาทิตย์ พบว่า บริเวณเกาะเขาใหญ่ และ เกาะเล็กบริเวณใกล้เคียงอีก 3-4 เกาะ เป็นแหล่งหญ้าทะเล และมีแนวปะการังที่สมบูรณ์อยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเขาใหญ่ ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบด้านระบบนิเวศน์ทางน้ำสรุปได้ว่า จะมีผลกระทบกับแนวปะการัง 2 ช่วงคือ ช่วงดำเนินการก่อสร้าง และช่วงดำเนินการใช้ท่าเรือน้ำลึก


 


ทั้งนี้ ผลกระทบอันดับแรกที่ประเมินไว้จากการสร้างท่าเรือ คือ ตะกอน ซึ่งจะกระทบกับแหล่งปะการังดังกล่าว ทั้งนี้เพราะเมื่อมีการสร้างท่าเรือจะทำการขุดลอกร่องน้ำ  จะทำเกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนไปทับถมบนปะการัง นอกจากนี้ยังมีช่วงหลังจากเปิดดำเนินการแล้ว ที่จะเกิดฝุ่นฟุ้งกระจายจากการเดินเรือ เนื่องจากช่องว่างระหว่างเกาะเขาใหญ่ ฝั่งที่อยู่ใกล้ๆ กับท่าเรือปากบารา ที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบบ้างจากตะกอนไปเกาะทับปะการัง ดังนั้นส่วนที่ใกล้กับปากแม่น้ำ และเส้นทางเดินเรือ ทำให้ปะการังมีสภาพเสื่อมโทรม นอกจากนี้ ภายหลังการสร้างท่าเรือ และมีเรือเข้ามาเทียบท่ามีมากขึ้น การฟุ้งกระจายก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ปะการังที่อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกของเกาะเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณร่องน้ำเดินเรือ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน


 


นอกจากนี้ อาจารย์ศักดิ์อนันต์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อโครงการว่า มีวิธีการป้องกันผลกระทบจากตะกอน ตั้งแต่การปรับเส้นทางการเดินเรือ   ไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน    ตามแผนเดิมที่ทราบนั้น ท่าเรือจะเป็นเส้นขนานกับเกาะเขาใหญ่ โดยมีร่องน้ำเดินเรือระหว่างตัวท่าเรือที่ถมลงไปในทะเล   หากยึดแบบโครงสร้างท่าเรือน้ำลึกตามเดิม ปะการังตายหมดแน่นอน แม้ว่าอาจจะสามารถป้องกันได้บ้างในช่วงแรก คือ ช่วงก่อสร้าง คือสามารถเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการก่อสร้าง คือ ช่วงที่มีคลื่นลมพายุไม่แรงมาก พฤศจิกายน-เมษายน  จะลดการพัดพาของตะกอนได้เยอะ และตะกอนที่เกิดจากการขุดร่องน้ำนั้นต้องมีพื้นที่รับตะกอนที่ขุดลอกมา   อาจจะเป็นท่อดูดที่ยาวดูดขึ้นไปทิ้งบนบก หรือทิ้งในส่วนที่ถมท่าเรือ อาจจะใช้แผ่นเหล็กกั้นเพื่อไม่ให้ฟุ้งกระจายไปทับปะการัง   ซึ่งคิดว่าทำได้ยาก   ดังนั้นจึงเหมือนต้องเลือกว่าถ้าจะสร้างท่าเรือ ก็ต้องสูญเสียปะการังแน่นอน


 


อย่างไรก็ตาม หากตัดสินใจว่าต้องสร้างท่าเรือจริง การย้ายปะการังก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ แต่ก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถย้ายได้ทั้งหมด เพราะปะการังบางก้อนมีขนาดใหญ่และขุดยาก จำเป็นต้องเลือกที่สามารถขุดได้ง่าย   จากการสำรวจพบว่ามีพื้นที่ปะการังประมาณ 2,500 ตารางเมตร ใช้งบประมาณการเคลื่อนย้ายประมาณ 50 ล้านบาท โดยงบประมาณในการดำเนินงานแบ่งเป็นสองช่วงคือ 1. ช่วงศึกษาศักยภาพพื้นที่ ซึ่งต้องสำรวจอย่างละเอียดว่ามีปะการังกี่ก้อน จากนั้นต้องทดลองย้ายว่าจะย้ายไปที่ไหนบ้าง โดยพื้นที่ที่เคยสำรวจการย้ายปะการังคือ บริเวณเกาะบุโหลน   ถือว่าเป็นบริเวณที่ใกล้และน้ำใส รวมทั้งต้องศึกษาศักยภาพการเติบโตของปะการังก่อนทำการย้ายจริงประมาณ 2-3 ปี 2. การดูแลปะการังภายหลังจากการเคลื่อนย้ายเพื่อให้อยู่รอด จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยที่เอื้ออย่างเหมาะสมจากเทคนิคการเคลื่อนย้าย และพื้นที่เหมาะสมต่อการเติบโตของปะการัง


 


 "โครงการที่จะเกิดขึ้นอยู่ในขั้นที่เราต้องตัดสินใจเลือกว่า จะเอาทรัพยากรแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างไร แม้ว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เราก็ต้องเก็บรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เอาไว้ เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดสัตว์น้ำเพื่อการทำการประมงให้ชาวบ้าน ซึ่งบางบริเวณของเกาะเขาใหญ่ทางด้านฝั่งตะวันตก เป็นบริเวณที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้ ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้ของคนในชุมชนด้วย" ดร.ศักดิ์อนันต์ กล่าว


 


สิทธิชุมชนอยู่ตรงไหน ?


 


ผลกระทบที่น่าวิตกอีกประการหนึ่งจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราคือ สิทธิและวิถีชีวิตชุมชนของชาวประมงพื้นบ้านในแถบนี้ ซึ่งมีเรือประมงประมาณ 400-500 ลำ จำต้องเปลี่ยนผันไปกับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่คนในชุมชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมในการเลือก


 


นางเสาวณีย์ สำลี ชาวบ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า พื้นที่ทิศตะวันออกของเกาะเขาใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญของการทำประมงในหน้ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ของชาวประมงเรือเล็กกว่า 400-500 ลำ จาก 2 ตำบล คือ ต.ปากน้ำ และต.ละงู ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน คือ บ้านหัวหิน บ้านปากละงู บ้านหลอมปืน บ้านปากบารา บ้านบ่อเจ็ดลูก บ้านตะลุสอย และบ้านท่ามาลัย ซึ่งไม่สามารถออกเรือไกลได้ จึงจำเป็นต้องใช้เกาะเขาใหญ่เป็นที่บังลมมรสุม การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราจึงน่าเป็นห่วงว่าจะแย่งพื้นที่ทำกินของชาวประมงขนาดเล็ก แต่เรือใหญ่กลับได้ประโยชน์


 


นายหมีด ม่าหมูด ชาวประมงพื้นบ้าน และประธานโครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชนบ้านหลอมปืน ต.ละงู อ.ละงู กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่าหากมีท่าเรือแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของชาวละงูดีขึ้น ทั้งนี้เพราะเป็นการยากที่ชาวประมงซึ่งจบการศึกษาไม่สูงจะสามารถเข้าไปทำงานในท่าเรือได้ตามที่กล่าวอ้าง   แม้ว่าจะเป็นแรงงานในท่าเรือ ตนก็คิดว่าจะทำให้วิถีชีวิตเป็นอยู่อย่างลำบากมากขึ้น เพราะเดิมทีวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านมีความคุ้นเคยกับทะเล   มีรายได้จากการทำประมงแบบพออยู่พอกิน เช่น หน้ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้   ทรัพยากรสัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน มีการวางอวนกุ้ง โดยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 500-1,000 บาท/วัน  นอกจากนี้ยังมีรายได้ตลอดปีจากการวางอวนปลาทู โดยเฉลี่ยประมาณ 1,000-2,000 บาท/วัน  โดยเฉพาะในช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม จะมีรายได้จากการวางอวนปลาทูมากกว่าช่วงอื่นๆ


 


"การส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านหันไปทำอาชีพอื่นๆ เช่น ปลูกยางพารา ปลูกข้าว แม้จะทำได้แต่ก็ไม่ถนัด เพราะวิถีชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับทะเล และแม้ว่าในความจริงโครงการพัฒนาจะไม่ได้ขัดกับหลักการทางศาสนาอิสลาม แต่ผลที่จะตามมานั้นจะขัดกับหลักศาสนาอิสลามได้ เพราะความเจริญก้าวพร้อมกับการขยายตัวของชุมชนที่มีคนภายนอกเข้ามาอยู่อาศัย โดยที่ชุมชนไม่ได้เตรียมการรับมือ แหล่งอบายมุขต่างๆ ย่อมเกิดขึ้น" ประธานโครงการส่งเสริมศักยภาพชุมชนบ้านหลอมปืน กล่าว


 


ด้าน นายยายา ตรุรักษ์ ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู กล่าวว่า โครงการใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาถามประชาชนก่อนว่าต้องการหรือไม่ เพราะหากเกิดผลกระทบขึ้น ชาวประมงเรือเล็กอีกหลายชีวิตจะได้รับความเดือดร้อน แล้วถามว่าใครจะรับผิดชอบ เพราะชาวประมงบ้านปากบาราประมาณ 80% ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทั้งนี้ ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันก็เป็นพื้นที่ของ อบต.ปากน้ำ ซึ่งชาวบ้านเช่าอยู่อาศัยปีละ 300 บาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ และสามารถย่นระยะเวลาในการขนส่งทางทะเลได้จริงตามที่ทางรัฐบาลอ้าง แต่คำถามสำคัญคือ ชีวิตชาวประมงเรือเล็ก จะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีพื้นที่หาปลาอีกต่อไปแล้ว ในขณะที่ผู้ได้ประโยชน์จากท่าเรือปากบาราส่วนใหญ่คือ ธุรกิจเรือทัวร์ รถทัวร์  ร้านค้า เป็นต้น


 


"ถ้าหากว่าโครงการส่งผลกระทบทำให้ชาวบ้านถึงขั้นไม่มีที่หาปลาจนต้องเปลี่ยนอาชีพ ผมคิดว่าเราคงจะอยู่ไม่ได้ เพราะการทำประมงเป็นอาชีพดั้งเดิม อยู่ในสายเลือดของเรา การที่จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เช่น ก่อสร้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ เราไม่ถนัด ความรู้หลักๆ ของชาวประมงพื้นบ้านคือการทำประมง ซึ่งหาได้ให้พอกินในแต่ละวันเท่านั้น ความพอใจของชาวประมงพื้นบ้านคือ ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่เกื้อกูลช่วยเหลือกันแบบพี่แบบน้อง" นายยายา กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม นายชูพงศ์ หวันสู นายก อบต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล กล่าวว่า ข้อวิตกกังวลของชาวประมงพื้นบ้านที่เกรงว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะส่งผลกระทบกับอาชีพประมงพื้นบ้านนั้น ตนเชื่อว่า เกาะเขาใหญ่ยังคงช่วยบังลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ทำกินของชาวประมงชายฝั่ง โดยเฉพาะหมู่ที่ 2 ต. ปากน้ำเอง ส่วนในหมู่ที่ 4 บ้านตะลุสอย และบริเวณเกาะดีดี ใกล้กับอุทยานแห่งชาติเกาะเพตรา ชาวบ้านก็ยังสามารถหากินได้เช่นเดิม นอกจากนี้ ทางกรมประมงยังได้จัดสรรงบประมาณในการสร้างปะการังเทียม ซึ่งที่ผ่านมามีพื้นที่ปะการังเทียมบริเวณเกาะบุโหลน และพื้นที่ไกล้เคียงแหลมสน เกาะกล้วย และเกาะตากใบ ทั้งนี้ พื้นที่ปะการังเทียมดังกล่าวจะให้ประโยชน์กับชาวประมงชายฝั่ง ทำให้สามารถหากินได้สะดวก และหาได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น ปลาทู ไม่ต้องออกไปไกลถึงเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ


 


นอกจากนี้นายก อบต. ปากน้ำยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนอยากขอชี้แจง และทำความเข้าใจว่า ชาวบ้านใน ต.ปากน้ำ 80% ต้องการท่าเรือน้ำลึก ทั้งนี้เพราะอย่างน้อยที่สุด ลูกหลานของชาว ต.ปากน้ำ ในอำเภอละงู หรือในจังหวัดสตูล ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท แต่ยังไม่มีงานทำสามารถเข้ามาทำงานในท่าเรือน้ำลึก ซึ่งตนเห็นว่าหน่วยงานท่าเรือจะต้องพิจารณาคนในท้องเป็นลำดับแรก


 


"ในอดีต ต. ปากน้ำ เคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจึงเป็นสิ่งที่น่ายินดีมากที่สุด เพราะจะเป็นการปลุกฟื้นภูมิหลังของชุมชนนี้ขึ้นมา อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาความเจริญมาสู่ท้องถิ่นอีกด้วย   แม้ว่ามีผลกระทบบ้าง แต่ถ้ามองก้าวไปในอนาคต ผมคิดว่าคนตกปลาจะลดลง และเด็กรุ่นใหม่ในอนาคตที่จบปริญญาตรี ปริญญาโท ย่อมเปลี่ยนไปทำอาชีพอย่างอื่น" นายชูพงศ์ กล่าวสรุป


 


นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของอภิมหาโปรเจ็คภายใต้แนวคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ที่ยังต้องการการพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกส่วนให้รอบด้านก่อนดำเนินโครงการ  และที่ขาดไม่ได้คือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดทิศทางของการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน มิใช่เป็นไปตามแนวทางที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้กำหนดดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเสมอมา


แหล่งข้อมูลอ้างอิง


1.       เอกสารประกอบการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ในการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกบริเวณปากคลองปากบารา อ.ละงู จ.สตูล, 2547


2.       เอกสารรายงานทางราชการ โครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล, 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net