Skip to main content
sharethis








ตามที่ "นายบรรหาร ศิลปอาชา" อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคชาติไทย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงกรณีที่เสนอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้หรือไม่


 


ซึ่งนายบรรหาร กล่าวว่า ไม่อยากพูดเรื่องนี้เพราะตอนเป็นรัฐบาลเคยอนุมัติการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ไปแล้วแต่วันรุ่งขึ้นก็มีพวงหรีดมาวางเต็มหน้าบ้าน ตรงนี้ต้องไปถามเอ็นจีโอที่ไม่ยอมให้มีการก่อสร้าง อ้างว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีป่าสักทอง แต่มาตอนนี้ อยากถามว่า กลุ่มที่คัดค้านรู้สึกอย่างไร ชาวบ้านในลุ่มน้ำยม และริมน้ำเจ้าพระยาต้องประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี หากน้ำท่วมบ้านของกลุ่มเอ็นจีโอยังจะห้ามอยู่หรือไม่ เพราะหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว จังหวัดทางภาคเหนือ ตั้งแต่แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ก็จะไม่ต้องประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก


 


ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ "หาญณรงค์ เยาวเลิศ" จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ทำงาน ทำการศึกษาถึงผลกระทบของโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด


0 0 0


 


เหตุใดนายบรรหาร ศิลปอาชา จึงออกมาเสนอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง?


จะเห็นว่าหลายครั้งที่นายบรรหาร ได้ออกมาสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมาสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็ได้แปรญัตติงบประมาณปี 2548 ปี และก็ออกมาทักท้วงว่าทำไมไม่มีงบประมาณสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น สร้างความสงสัยให้กับชาวบ้านสะเอียบมาโดยตลอดว่า นายบรรหารยังไม่บรรลุสัจธรรมอีกหรือว่า การสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อชาวบ้าน และไม่สามารถป้องกันอย่างที่คาดหวังไว้


 


สมัยที่นายบรรหาร เป็นนายกรัฐมนตรี จำได้ว่าในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2538 ได้ไปเยี่ยมเขื่อนแม่สกึ๋น โดยได้ออกมาแถลงว่า เขื่อนไม่พังหรอก ถ้าพังจะลาออก นายกบรรหาร กลับมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่สัปดาห์เขื่อนแม่สกึ๋นก็พังลงมา ท่านก็ไม่ลาออกและไม่พูดถึงอีกเลย


 


และในปี 2538 ชาวบ้านได้ไปชุมชุมที่หน้าทำเนียบ กระทั่งได้มีมติคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นว่า ให้ชะลอการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเอาไว้ก่อน แล้วให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม และทำให้มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียของเขื่อนว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ไม่คืบหน้า เพราะกรมชลประทานตอบคำถามข้อสงสัยไม่ได้แม้แต่นอยว่าวัตถุประสงค์ของเขื่อน จะป้องกันน้ำท่วมหรือแก้ไขภัยแล้ง หรือสามารถบรรลุวัตถุประสงค์นั้นได้จริงหรือไม่ จนถึงวันนี้ก็ไม่ยืนยันว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ รวมไปถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชน ทั้งหมดนี้ก็ยังตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบันว่าจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน จะจัดการอย่างไร


 


แล้วทำไมตอนนี้ถึงมีบางคนออกมาสนับสนุนแนวคิดนายบรรหาร?                           


การที่วันนี้มีคนออกมาสนับสนุนคุณบรรหาร ไม่ว่าจะอธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคนใหม่ ที่มารับตำแหน่งปั๊บก็ออกมาแถลงว่า อาจจะทบทวนแก่งเสือเต้นแบบหลับหูหลับตาไม่ได้ดูสถานการณ์จริงว่า น้ำที่ท่วมอยู่นั้นมาจากไหน แต่ที่แน่ๆ ก็มาจากเขื่อนที่ท่านเก็บน้ำต้นทุนไว้มาก$ๆ และชำนาญด้านเก็บน้ำ แต่ขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการว่าจะพร่องน้ำแค่ไหนเพื่อรับน้ำ ทังหมดนี้ไม่มีการตัดสินใจ พอข้อมูลไม่แม่นก็ไม่มีคนตัดสินใจ ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ณ วันนี้


 


หมายความว่า สาเหตุที่น้ำท่วมในหลายพื้นที่ เป็นเพราะเขื่อน?         


หลายปีที่ผ่านมา น้ำท่วมเชียงใหม่ทุกปี ก็มาจากจากแม่งัด น้ำท่วมจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาจากเขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนปราณบุรี น้ำท่วมจังหวัดร้อยเอ็ด ก็มาจากเขื่อนลำปาว น้ำท่วมจังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร ก็มาจากแม่น้ำน่าน ซึ่งตอนบนก็มีเขื่อนใหญ่กั้นแม่น้ำน่านอยู่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดอยุธยา น้ำท่วมเกือบทุกปี น้ำก็มาจากเขื่อนป่าสัก นี่ยังไม่รวมเขื่อนแม่ประจุ๋มพังปี 2548 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไหลทะลักเข้าท่วมเขตอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และเขื่อนคลองลอยพังที่จังหวัดประจวบฯ พังในปีเดียวกัน สร้างความเสียหายมหาศาล


 


ยังยืนยันใช่ไหม ว่าเขื่อนไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาน้ำท่วม                            


ใช่ เขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง ตามปริมาณที่เขื่อนกักเก็บได้ และฝนตกไม่มากเกินที่เขื่อนจะรับได้ แต่พอน้ำมามากกว่านั้น มันก็ต้องปล่อยทิ้งลงมาด้านล่าง ไม่ต่างอะไรที่เรามีโอ่งน้ำรับน้ำจากหลังคา ก่อนฝนตกน้ำก็มีอยู่ครึ่งโอ่ง ฝนตกครึ่งชั่วโมงก็รับน้ำได้ไม่ล้น ก็กล่าวขานกันหนักหนาว่าโอ่งรับได้หมด พอฝนมาอีกรอบ ตก 3 ชั่วโมง ในขณะที่น้ำมีอยู่ในโอ่งแล้วเกินกว่าครึ่ง ก็รับน้ำได้อีกเพียงนิดเดียว รับน้ำได้ไม่มากนักก็ต้องล้นโอ่ง


 


ดังนั้น เขื่อนก็ไม่ต่างอะไรกับโอ่ง เมื่อฝนตกอย่างต่อเนื่อง เกินกว่าปริมาณที่เขื่อนจะรับได้ก็ต้องปล่อยน้ำลงมาด้านล่าง น้ำท่วมตอนล่างอยู่ดี เปรียบเหมือนน้ำที่กำลังท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่และลุ่มน้ำอื่นๆ ที่มีเขื่อนอยู่แล้ว หลายคนพบสัจธรรมว่า เขื่อนก็มีขีดความสามารถ ไม่ได้วิเศษเหมือนตอนเสนอการสร้างเขื่อน ว่าต่อจากนี้ไปน้ำจะไม่ท่วมถ้ามีการสร้างเขื่อน แต่เราก็พบว่าก็ยังมีน้ำท่วมทุกปี


 


แม่น้ำน่าน ปีนี้ ท่วมตั้งแต่จังหวัดน่าน เหนือเขื่อน ซึ่งท่วมจากน้ำไหลไม่ทัน ถนนขวางทางน้ำ สร้างถนนใหม่ ซึ่งเป็นน้ำสาขาก่อนลงแม่น้ำน่านจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อยู่ใต้เขื่อน ที่ท่วมรอบแรกเพราะฝนตกใต้เขื่อน ก็ท่วมหลายจุด ทั้งพิจิตรและพิษณุโลก ก็ทำให้น้ำท่วมได้ทั้งนั้น


 


กรมชลประทานตอบได้ไหมว่า เขื่อนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้?


ที่ผ่านมา มีรายการโทรทัศน์ต้องการทราบว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ได้อย่างไร กรมชลประทานแทบไม่มีข้อมูลว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะน้ำมาจากทั่วทุกทิศทุกทาง ก่อนหน้านี้เคยหวังเขื่อนใหญ่มาอธิบาย แต่วันนี้เต็มหมดทุกเขื่อน ก็ไม่สามารถอธิบายได้


 


แล้วทำไมถึงมีการยกข้ออ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น แก้ปัญหาน้ำท่วมได้?


ที่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงมีการยกเรื่องแก่งเสือเต้นขึ้นมาช่วงนี้ ก็เพราะอาจจะต้องการเบี่ยงประเด็น ให้คนไปสนใจว่าจะมีคนออกมาค้านกันอย่างไร หรือไปสนใจกับแก่งเสือเต้น แทนที่จะมาสนใจว่าเขื่อนไหนเต็มบ้าง กรุงเทพฯจะรับมืออย่างไร ผสมโรงกับได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ ดูชื่อก็น่าจะทราบว่า เคยมีอธิบดีกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิมที่เคยดันทุรังให้สร้างโครงการ โขง ชี มูล จนเกิดผลกระทบจนถึงปัจจุบัน ชื่อ ประเทศ สูตะบุตร ไม่ทราบว่าเป็นอะไรกันกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคนปัจจุบัน


 


ดูแล้วยังไงๆ อยู่นะ?


นั่นนะสิ ช่างเหมาะเจาะที่ 3 ประสาน อดีตนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และรัฐมนตรีฯคนใหม่ ได้เสนอแก่งเสือเต้นพร้อมกัน ท่วมกลางกระแสน้ำท่วมอยู่ขณะนี้ ถือได้ว่ากล้าทวนกระแสดีมาก


ที่ทุกคนเห็นอยู่ว่า เขื่อนปล่อยน้ำท่วมข้างล่างอย่างหนักอยู่แล้ว จะหวังอะไรกับแก่งเสือเต้น ที่จะรับน้ำประมาณเขื่อนป่าสัก หรือจำนวนเพียง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเวลาน้ำมาจริง ๆ กับน้ำต้นทุนที่จะต้องสำรองเขื่อนไว้ ที่เรียกว่าน้ำตาย ก็จะรับน้ำจริง ๆ ไม่เกิน 3 หรือ 4 ร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าเทียบกับการผันน้ำเข้าทุ่งหรือหนองน้ำธรรมชาติ ก็ประมาณที่สัก 1 แสนไร่ เก็บน้ำสัก 1 เมตร 50 เซนติเมตร ก็เท่ากับน้ำที่เขื่อนจะรับได้ในยามน้ำหลากอย่างนี้


 


มีการรายงานว่า น้ำท่วมเมืองแพร่เมื่อช่วงที่ผ่านมา เพราะน้ำที่มาจากแม่น้ำยมจริงหรือ?


วันที่ 11 ตุลาคม มีรายงานข่าวว่าน้ำท่วมจังหวัดแพร่ ในเขตเทศบาล แต่ที่น้ำท่วมมาจากลำน้ำสาขาที่อยู่รอบตัวเมือง มีฝนตกหนัก จึงปล่อยน้ำท่วมตัวเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวกับลำน้ำยมเลย บริเวณที่ฝนตกอยู่ทางตอนใต้จุดที่จะสร้างเขื่อน ถ้ามีเขื่อนวันนี้ กล่าวได้ง่ายๆ ว่าน้ำไม่ลงเขื่อนหรอก เทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เพราะฝนตกบริเวณนั้น ถึงแม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ทางตอนบนก็ไม่สามารถป้องกันฝนที่ตกลงมาได้ ก็ต้องท่วมอยู่ดี


 


ดังนั้นฝนที่ตก น้ำท่วมบางส่วนก็มาจากน้ำที่ตกใต้เขื่อน เขื่อนไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก ใช้ได้กับเหตุการณ์ที่ฝนตกเหนือเขื่อน และมีปริมาณไม่มาก ถ้าน้ำเต็มแล้วก็ต้องปล่อยลงมาอยู่นั่นเอง อันนี้คือกฎเกณฑ์ธรรมชาติ แม้ชาวบ้านก็ยังรู้ และก้าวหน้าไปมากแล้ว


 


ล่าสุด นายเส็ง ขวัญยืน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลสะเอียบ ก็ได้ออกมากล่าวว่า ปีนี้น้ำท่วมตั้งแต่ดินถล่มเป็นต้นมา ฝนแทบไม่ได้ตกเหนือจุดที่จะสร้างเขื่อนสักเท่าไหร่หรอก จะตกก็เป็นบริเวณด้านล่างเสียมากกว่า และตกเฉพาะจุดมากขึ้น หรือแม้จะตกในลำน้ำยมก็มีเพียงครั้งเดียว น้ำสูงในลำดับบริเวณผาอิง ประมาณ 5 เมตร ไม่ถึงกับท่วม เป็นไปตามปกติ น้ำก็ไหล แต่ไม่ท่วมจังหวัดแพร่ในช่วงน้ำ


 


อย่างเช่นกรณีดินถล่มก็จะตกบริเวณบ้านป่าแดง และน้ำได้ไหลผ่านอำเภอสูงเม่น อำเภอเด่นชัย จนดินถล่มบ้านเรือนเสียหายไม่แพ้อำเภอลับแล แต่ไม่มีน้ำในแม่น้ำยมในช่วงนั้นเลย อย่างนี้จะมาเสนอสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่ออะไร


 


แต่ ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดพิจิตร ก็ออกมาเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น?


หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมจึงมีคนบางกลุ่ม แม้แต่นายบรรหาร ที่ถือว่ามีประสบการณ์มากมาย ทำไมไม่ทบทวนว่าเขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วมจริงหรือไม่ แม่น้ำแต่ละสายให้น้ำมากเพียงใด คงไม่พอให้กับความต้องการของมนุษย์ที่จะใช้โดยไม่มีที่สิ้นสุดหรอก แม้แต่แม่น้ำแต่ละสายผ่านจังหวัดอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เข้าใจผิดพลาดหลายครั้ง น้ำท่วมจังหวัดพิจิตร ก็ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในขณะที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน ไม่ใช่แม่น้ำยม แต่ไม่เคยตรวจสอบข้อเท็จจริง


 


บุคคลที่สนับสนุนสร้างเขื่อนพบว่า เป็นเพราะความเชื่อ และตำราเขียนว่า เขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ แก่งเสือเต้นก็จะมีระดับรัฐมนตรี อธิบดี อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างนี้ ทำให้คนทั่วไปยิ่งเชื่อในดีกรีของบุคคลเหล่านี้ว่า นี่แหละสามารถแก้ไขได้ โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ไม่ใช่ว่าเพราะแม่น้ำไม่มีเขื่อนใหญ่ แต่มีปัจจัยอย่างอื่นอีกมากมายที่เกิดน้ำท่วม บางครั้งสร้างถนนสายเดียวก็ทำให้น้ำท่วมเกิดความเสียหายเป็นหมื่นล้าน เช่นกรณี น้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ที่สร้างถนนขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจ เสียหายมหาศาล ปัญหาไม่ใช่เพราะไม่มีเขื่อน แต่เป็นปัจจัยอื่น


 


แล้วมีทางออกอย่างไร ถ้าไม่มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น?


ทางออกของสังคมต่อข้อถกเถียงเรื่องนี้ จำเป็นต้องพูดความจริง แล้วดูเหตุการณ์ต่อเหตุการณ์ และใช้หลักวิชาการมาช่วย ไม่ใช่ตัดสินใจบนความรู้สึก ว่าน่าจะป้องกันน้ำท่วมได้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะกรมชลประทานยังตอบคำถามนี้ไม่ได้เลยว่าจะป้องกันได้จริงหรือไม่ ถ้าตอบว่าจริง กับเหตุการณ์ที่เกิดที่ผ่านมา ก็น่าจะเชื่อเพราะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คงไม่โกหก แต่ถ้าเหตุการณ์เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำมาจาก 4 ถึง 5 ลุ่มน้ำ ตั้งแต่ ปิง วัง ยม น่าน ป่าสัก และทุกแม่น้ำก็มีเขื่อนใหญ่กันทั้งนั้น แล้วมาอ้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่จะสร้างในต้นน้ำยม แล้วบอกว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ อย่างนี้ต้องถือว่าโกหกแล้ว แต่ถ้าจะบอกว่าป้องกันน้ำท่วมได้ ก็ต้องแผนที่มากางแล้วล่ะว่า จะป้องกันตรงไหนบ้าง ห้ามเหมาแล้วตอบไม่ได้ เหมือนที่ผ่านมานับสิบปีที่ท่านไม่ได้ตอบว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์อะไร


 


ที่สำคัญ เขื่อนแก่งเสือเต้น มีหลายประเด็นที่ยังไม่ผ่านคณะผู้ชำนาญการ หรือที่เรียกว่าอีไอเอ (EIA) ก็ยังไม่ผ่าน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมก็มีมติที่ต้องไปศึกษา 4 ประเด็น ตั้งแต่สมัยนายบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ เรื่องผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้และสัตว์ป่า แผ่นดินไหว การอพยพโยกย้าย และผลกระทบด้านสังคมและสาธารณสุข ทั้ง 4 ประเด็นยังไม่กระจ่าง เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปประเด็นอื่นเลย


 


การที่นายบรรหาร ออกมาแหย่เรื่องการเขื่อนแก่งเสือเต้นครั้งนี้ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่?


ทั้งหมดนี้นายบรรหาร เคยส่งลูกท๊อปไปล้วงสมัยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์มาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จ อาจจะหวังสำเร็จในยุคนี้ แต่คิดว่าสถานการณ์เช่นนี้ อยากจะให้ฟังชาวบ้าน ต่อการจัดการทรัพยากรว่าเขามีความคิดอย่างไร ชาวบ้านไม่โง่แล้ว และถ้าไม่โง่ ประเด็นการเสนอเรื่องแก่งเสือเต้นก็จะมีผลต่อความเชื่อถือทางการเมืองที่จะถึงในปีหน้าได้เช่นกันว่าจะเลือกนักวิทยาศาสตร์ หรือนักไสยศาสตร์


 


 


 


.....................


อ่านข่าวประกอบ


"หาญณรงค์" โต้ "ดุสิต ศิริวรรณ" แก่งเสือเต้นไม่ได้แก้น้ำท่วม


สัมภาษณ์ : หาญณรงค์ เยาวเลิศ "ถึงเวลาที่ธรรมชาติเริ่มทวงคืน"


 


งานวิจัยจาวบ้านสะเอียบ (แก่งเสือเต้น) 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net