Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


โดย จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์


 


 



 


ปิดเทอมเล็กในเดือนตุลาคมนี้ นอกจากเด็กๆ จะได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ผ่านเดจาวูรัฐประหาร 19 กันยายนแล้ว ยังมีหนังที่สร้างจากการ์ตูนญี่ปุ่นที่เด็กหลายคน (รวมทั้งผู้ใหญ่) รอคอย นั่นคือ หนังญี่ปุ่นเรื่อง เดธโน้ต (Death Note) หรือชื่อไทยว่า "สมุดโน้ตกระชากวิญญาณ" ที่สร้างจากการ์ตูนญี่ปุ่นชื่อเดียวกัน


               


"เดธโน้ต" พูดถึงยางามิ ไลท์ เด็กมัธยมปลายคนหนึ่ง ซึ่งเคยหวังว่า จะทำให้โลกดีขึ้นได้ด้วยกฎหมาย แต่ก็ต้องผิดหวังและหดหู่เมื่อเขาได้แฮ็กเข้าไปในฐานข้อมูลของกรมตำรวจแล้วพบว่า อาชญากรทั้งหลายที่ถูกจับไปนั้น หลายคนไม่ได้รับการลงโทษอย่างที่ควรจะเป็น


 


แต่แล้ววันหนึ่งในคืนฝนพรำก็มีสมุดโน้ตปกดำตกลงมาจากฟ้า ช่วยทำให้ไลท์มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง สมุดเล่มนี้ ถูกเรียกว่า "เดธโน้ต" เป็นสมุดของยมทูตลุค ที่ (ตั้งใจ?) ทำตกไว้ ใครก็ตามที่ถูกเขียนชื่อลงในเดธโน้ตจะต้องตาย โดยมีข้อแม้ว่า ขณะที่เขียนคนเขียนต้องจำหน้าคนๆ นั้นได้


 


เพื่อทำให้ความฝันที่จะมีสังคมใหม่ที่มีแต่คนดีและด้วยเหตุผลว่า กฎหมายมีข้อจำกัด ไลท์จึงใช้เดธโน้ตสำเร็จโทษเหล่าอาชญากรด้วยตนเอง โดยเขียนชื่ออาชญากร หรือผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดลงในเดธโน้ต โดยไม่ต้องผ่านมือตำรวจหรือศาล


 


ทำไมต้องฆ่าคนพวกนั้น หากเพราะกฎหมายที่มี ไม่สามารถจัดการกับพวกเขาได้ ควรทำอย่างไร เราควรจะแก้ที่ตัวกฎหมาย แก้ที่กระบวนการยุติธรรมรึเปล่า หรือว่าควรโยนมันทิ้งไป แล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ และหากสร้างใหม่ ใครหรือคนแบบไหนที่จะมีโอกาสได้ออกแบบมัน ... รู้สึกว่าไลท์จะไม่ได้ถามคำถามนี้กับใคร    


 


และแม้จะมีคนตายโดยไม่รู้สาเหตุเพิ่มมากขึ้น ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจและไม่ใช่ประเด็นเช่นกัน เพราะคนเหล่านั้นได้ชื่อว่า "คนเลว" แถมจำนวนการก่ออาชญากรรมยังลดลงอีกต่างหาก ผู้คนจึงสนับสนุนการกระทำของไลท์กันมากขึ้น ราวกับพระเจ้าของโลกใหม่ และขนานนามผู้ที่ช่วยส่ง "คนเลว" ให้ตายตกไปว่า "คิระ" (Killer)


 


โดยไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า คิระ มีความชอบธรรมอะไรในการตัดสินโทษให้คนอื่น หรือเมื่อไหร่ที่เขาจะหยุดฆ่า เพราะคิระเอง ก็ไม่ได้สื่อสารหรือบอกใครว่า เขาจะหยุดใช้เดธโน้ตเมื่อไหร่ และถึงบอก ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า เขาจะรักษาคำพูด


 


ยังไงก็ตาม ถ้าปล่อยให้ไลท์ฆ่าคนได้อย่างสะดวกโยธินตลอดทั้งเรื่องก็คงไม่สนุก ผู้แต่งจึงให้ "แอล" นักสืบที่ช่วยเอฟบีไอและกรมตำรวจสืบคดีมาแล้วหลายครั้งมาช่วยหาตัว คิระ ที่ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยมาลงโทษ


 


เพื่อไม่ให้แอลสืบสาวมาถึงตัวเขาได้ คิระเริ่มทำทุกวิถีทาง แม้แต่ฆ่าคนที่ไม่ได้กระทำผิด ตอนนี้เองที่ตอกย้ำให้เห็นถึงอันตรายของอำนาจที่จะพิพากษาให้ใครตายก็ได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์หรือขอความเห็นชอบอีกครั้ง มาถึงตรงนี้ ไม่แน่ใจว่า คิระลืมเป้าหมายของตัวเองไปแล้วหรือยัง หรือว่าเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น เขาจึงต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ขวางทาง 


 


...หนังจบลงแล้ว โดยทิ้งท้ายว่าให้ติดตามการต่อสู้ระหว่างคิระกับแอลต่อในภาคสอง แต่คำถามต่างๆ ยังตกค้างอยู่กับเรา คนแบบไหนกันที่สมควรตาย ชอบธรรมหรือไม่ที่จะมอบอำนาจให้ใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว เพราะเห็นว่า เขาคนนั้นมีเจตนาที่ดี เราตัดสินจากอะไรว่า ใครดีหรือไม่ดี และจะเชื่อได้อย่างไรว่า การตัดสินใจของเขาจะไม่ผิดพลาด เพราะไม่มีใครตรวจสอบเขาได้ หรือจะให้ถูกก็คือ ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบทางไหน


 


ดูเหมือนว่าเราคงต้องคุยกันอีกยาว เพื่อตอบคำถามเหล่านี้...


 


ไม่รู้ว่า เมื่อภาคสองของเดธโน้ตมาฉาย เราจะตอบคำถามพวกนี้กันได้หรือยัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net