"จ๋ามตอง" หญิงสาวที่ต่อสู้เพื่อให้โลกได้ยิน "เสียง" ไทใหญ่

ที่มา Young activist's quest to give Myanmar's women a voice by Charlotte McDonald-Gibson, Agence France Press, Aug 2, 2006.

 

แปลและเรียบเรียงโดย พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ

 

 






หมายเหตุจากผู้แปล

เดือนกันยายนที่ผ่านมา สหประชาชาติได้บรรจุเรื่องการกดขี่ทางการเมืองและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเข้าสู่วาระของที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และได้มีการหยิบยกวาระดังกล่าวขึ้นมาหารือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายนนั้น

 

ในโอกาสนี้ "ประชาไท" ขอถ่ายทอดบทสัมภาษณ์จ๋ามตอง (ชื่อของเธอมีความหมายในภาษาไทยว่า "ดอกจำปาเงิน") นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวไทใหญ่และชาวพม่า หนึ่งในคณะทำงานรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" ซึ่งเปิดเผยเรื่องราวการทารุณกรรมทางเพศที่ทหารพม่ากระทำต่อผู้หญิงไทใหญ่ จ๋ามตองให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว AFP เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา แม้ระบอบการปกครองในพม่าไม่ต้องการให้โลกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนที่นั่น แต่เธอก็ยังมีความหวังว่า "เสียงของผู้หญิงเหล่านั้นโลกจะต้องได้รับรู้"

 

"ประชาไท" ขอถ่ายทอดคำสัมภาษณ์ดังกล่าว ด้วยหวังว่าเรื่องราวแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเป็นอนุสติให้กับสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการมีสิทธิเสรีในสังคมและหวังว่าสันติภาพและประชาธิปไตยจะกลับคืนมายังสองแผ่นดินไทย-พม่าโดยเร็ว

 


 

จ๋ามตอง สตรีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทใหญ่ผู้มีชื่อเสียง

(ที่มาของภาพ AFP/Saeed Khan)

 

สำหรับ "จ๋ามตอง" แล้ว เธอได้ยินคำว่า "ข่มขืน" เป็นครั้งแรก เมื่อเธอเป็นเพียงเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง

 

เมื่อจ๋ามตองอายุ 6 ขวบ พ่อแม่ได้นำเธอขึ้นหลังม้า เพื่อส่งเธอให้พ้นจากสงครามกลางเมืองในพม่าทางตะวันออกของรัฐฉานสู่ประเทศไทย ที่ซึ่งพ่อแม่ของเธอหวังว่าจ๋ามตองจะได้อยู่อย่างสงบและจะได้เรียนหนังสือ ซึ่งสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานเช่นนี้ สตรีไทใหญ่จำนวนมากในบ้านเกิดของจ๋ามตองถูกรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธ

 

จ๋ามตองในครั้งนั้นเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่เติบโตอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เขตแดนไทย-พม่า เธอได้ยินคำหลายคำซึ่งเธอยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ เธอจึงได้แต่สงสัยแต่ก็ไม่มีคำตอบ

 

 "เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในอีกฝั่งหนึ่งของเขตแดน เราเห็นผู้คนกำลังหนี" จ๋ามตองกล่าว "พวกเราเห็นผู้หญิงหลายคนและได้ยินเรื่องการข่มขืน ขณะนั้นฉันก็ได้แต่คิดว่า ฉันจะช่วยอะไรพวกเขาได้บ้าง?"

 

นับเป็นเวลา 12 ปี ที่จ๋ามตองได้ทำหลายต่อหลายอย่าง เธอมีชื่อเสียงจากการเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นผู้หนึ่งที่ก่อตั้งเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women"s Action network - SWAN) เธอเคยเยือนทำเนียบขาว เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่องค์การสหประชาชาติ ตลอดจนมีภาพข่าวของเธอปรากฏอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลก

 

ผลงานของเธอคือการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทารุณกรรมทางเพศต่อสตรีพม่า ซึ่งได้รับการปรบมือต้อนรับจากทุกคนตั้งแต่ในพรรคอนุรักษ์นิยมของเกาะอังกฤษจนถึงนิตยสารไทม์ แต่ทว่าได้รับการดูถูกจากผู้ปกครองในพม่า

 

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของทหารตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 (ค.ศ. 1962) แม้ผู้นำประชาธิปไตยชาวพม่าอย่างนางออง ซาน ซู จี (Aung San Suu Kyi) จะชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2533 (ค.ศ. 1990) ทหารไม่ยอมให้เธอขึ้นสู่อำนาจ แต่กลับลงโทษเธอด้วยการกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้าน และดำเนินการปราบปรามผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลและกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ชาวไทใหญ่นับพันต้องลี้ภัยระหว่างปฏิบัติการทารุณกรรม การข่มขืน และการประหัตประหารชีวิตของรัฐบาลทหารพม่า

 

"มันแทบไม่น่าเชื่อว่าการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและอาชญากรรมกับผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยปราศจากการลงโทษหรือตัดสินความผิดใดๆ ด้วยอาจจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง" นักเคลื่อนไหวผู้นี้กล่าว เธอคงไม่กลับไปยังดินแดนบ้านเกิดเพราะเกรงว่าจะถูกจับกุม

 

หนทางในการทำกิจกรรมของจ๋ามตองเริ่มต้นในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าของชาวคาทอลิกในเขตชายแดนไทย ที่ซึ่งพ่อแม่ของจ๋ามตองพาเธอมาส่งก่อนที่เขาจะกลับเข้าไปในพม่า ทิ้งให้เด็กวัย 6 ขวบโดดเดี่ยวและสับสน

 

"ฉันเคยคิดว่า ทำไมพ่อแม่ถึงส่งฉันออกมา?" เธอกล่าว "แม่ของฉันบอกว่ามันไม่ใช่เพราะพ่อกับแม่ไม่รักลูก แต่เพราะว่าฉันจะได้เรียนหนังสือ"

 

ด้วยเหตุนี้ จ๋ามตองจึงเริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียน สถานที่ที่เธอเป็นผู้กระหายในการเรียนรู้ เพราะการศึกษาของเธอไม่ได้หยุดลงเพียงแค่ในชั้นเรียนปกติ จ๋ามตองจึงมีความรู้ถึงสี่ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และไทยใหญ่ ไม่นาน เธอเริ่มที่จะหาคำตอบว่า ทำไมเด็กไทใหญ่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าถึงไม่ได้กลับบ้าน

 

"เพื่อนคนจีนของฉันอยากถามว่าทำไมฉันพูดภาษาของฉันไม่ได้ และทำไมฉันไม่ได้อยู่กับพ่อแม่" จ๋ามตองกล่าวถึงประสบการณ์จากโรงเรียนที่มีเพื่อนของเธอล้อเลียน "นั่นเป็นการล้อเล่นของเด็กๆ แต่บัดนั้นมาฉันก็คิดถึงเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าทำไมครอบครัวของฉันจึงต้องพลัดพราก"

 

เมื่อจ๋ามตองเรียนจบตอนอายุ 17 ปี เธอก็พบคำตอบของคำถาม เธอเห็นสำเนาของจดหมายข่าวที่จัดทำโดยสำนักข่าวฉาน (Shan Herald Agency for News - S.H.A.N.) ซึ่งจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการคุกคามสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ดังนั้นจ๋ามตองจึงตัดสินใจติดต่อไปยังพวกเขาทันที

 

พวกเขาส่งเธอให้ไปทำงานกับหลายองค์กรที่ชายแดน สถานที่ซึ่งเธอเริ่มทำงานอาสาสมัคร จ๋ามตองได้สัมภาษณ์ผู้หญิงหลายคนที่ได้หนีออกจากพม่า ขณะที่เธอได้รับฟังเรื่องราวของการถูกข่มขืนเด็กผู้หญิง และการบังคับผู้ชายให้เป็นแรงงานทาส เธอรู้สึกโกรธเป็นอย่างมาก

 

จ๋ามตองได้เรียนรู้ว่า เหตุใดคนไทใหญ่จึงไม่ได้รับการยอมรับสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเท่ากับว่าพวกเขาจะถูกปฏิเสธสิทธิที่จะได้เรียนหนังสือและสิทธิการได้รับการบริการสาธารณสุข เธอเห็นเพื่อนหลายคนถูกบังคับให้ไปขายบริการและบางคนออกมาพร้อมติดเชื้อเอชไอวี

 

"มันเป็นเรื่องน่าเศร้ามาก สำหรับเรื่องราวที่แต่ละคนพบเจอ" จ๋ามตองกล่าว "คนเหล่านี้ถูกกระทำให้ได้รับความบอบช้ำทางจิตใจเป็นอย่างมาก พวกเขาสูญเสียแผ่นดิน พลัดพรากจากลูก พ่อของพวกเขาต้องไปเป็นลูกหาบให้ทหารพม่าและไม่ได้กลับมาอีกเลย"

 

เรื่องราวซึ่งเป็นชีวิตจริงของพวกเขาเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดในกรุงเทพฯ และสร้างความสะเทือนใจให้จ๋ามตอง ซึ่งได้ทำงานอยู่กับกลุ่ม Altsean-Burma โดยจ๋ามตองเป็นล่ามแปลภาษาให้กับกลุ่มผู้หญิงที่หนีออกมาจากรัฐฉานแต่จะต้องถูกส่งกลับ

 

"เมื่อฉันเข้าไปในห้อง ฉันแทบไม่เชื่อเลยว่าคนหนุ่มสาวเหล่านี้อยู่กันได้อย่างไร พวกเขาอายุพอๆ กับฉัน 16 ถึง 17 ปี บางคนยังเป็นเด็กอายุประมาณ 14 หรือ 15 ปี" เธอกล่าว "พวกเขาได้แต่ร้องไห้ มันน่าสะเทือนใจที่ได้เห็นพวกเขาอยู่ในสภาพนี้"

 

ทั้งๆ ที่ต้องต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึก แต่หญิงสาวอย่างจ๋ามตองก็ทำทุกวิถีทางด้วยกำลังของเธอเพื่อช่วยเหลือและสร้างความมั่นใจให้กับเด็กผู้หญิงอีกหลายคน

 

"พวกเขาเล่าว่าพวกเขายากจนอย่างไร พ่อแม่ของเขาตายอย่างไร" จ๋ามตองเล่าย้อนถึงความทรงจำของเธอ

 

"ฉันคิดว่า ถ้าพวกเขากลับพม่าและรัฐฉานแล้ว เขาจะมีชีวิตอย่างสงบสุขได้อย่างไร"

 

จ๋ามตองไม่สามารถปกป้องผู้หญิงที่กำลังถูกขับไล่ออกจากประเทศหรือคนอื่นๆ แต่นับแต่นั้นเป็นต้นมา เธอได้แนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนที่กำลังเผชิญกับการถูกเนรเทศ และช่วยพวกเขาในการแปลภาษาซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจกระบวนการทางกฎหมาย

 

ไม่นานนักก่อนที่การอุทิศตนแก่สตรีชาวพม่าของจ๋ามตองจะได้รับการสนใจจากประชาคมโลก ในปี ค.ศ.1999 จ๋ามตองได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งสะเทือนอารมณ์ต่อคณะกรรมาธิการเพื่อสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN Commission for Human Rights) ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

 

"เสียงของฉันสั่นเครือ มันสะเทือนใจมาก แต่ฉันรู้สึกว่าฉันทำดีที่สุดแล้ว นี่คือโอกาสที่คุณจะสามารถเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน ทำให้สถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญได้รับการถ่ายทอด" เธอกล่าว

 

ตำแหน่งหน้าที่ของจ๋ามตองเหมือนเป็นปากเสียงของผู้หญิงไทใหญ่ซึ่งถูกกดขี่ ดังที่ปรากฏในปี พ.ศ.2545 (ค.ศ.2002) ผ่าน "ใบอนุญาตข่มขืน" (License to Rape) ซึ่งเป็นการรายงานโดยเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women's Action Network) และจากการรวบรวมเอกสารของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) โดยในรายงานระบุว่ามีผู้หญิงไทใหญ่ 625 คนถูกทหารพม่าข่มขืนระหว่างปี พ.ศ.2539-2544

 

"พวกเราแทบไม่อาจเชื่อได้ว่าความเป็นมนุษย์จะถูกคุกคามถึงเพียงนี้ได้อย่างไร" เธอกล่าวในการรายงานที่เธอช่วยจัดพิมพ์เผยแพร่

 

"แม่และลูกสาวถูกข่มขืนในเวลาเดียวกัน เด็กผู้หญิงหลายคนอายุเพียงแค่สี่ขวบก็ถูกรุมข่มขืนและทำร้าย ผู้หญิงท้อง 7 เดือนก็ยังถูกข่มขืน"

 

นานาชาติให้ความสนใจเมื่อไม่นานมานี้ภายหลังจากที่รายงานดังกล่าวได้รับการนำเสนอ แต่กับการถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษและวีรสตรีแห่งอาเซียนประจำปี พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005) ของนิตยสารไทม์ (Time magazine's Asian Heroes of 2005) และเป็นผู้เข้ารับรางวัลสิทธิมนุษยชนของรีบอก (a recipient of Reebok's Human Rights Award) สำหรับจ๋ามตองแล้วเธอรู้สึกถ่อมตัวระคนกับความประหลาดใจ

 

"ฉันคิดว่ารางวัลทั้งหลายและการได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเพราะฉัน" จ๋ามตองกล่าวพร้อมกับยักไหล่ "งานนี้เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของกลุ่ม ผู้หญิงหลายคนที่หนีออกมาพวกเขาไม่ได้เป็นแค่เหยื่อ แต่พวกเขาต้องการที่จะหยัดยืนและพูดออกมา"

 

ในเดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2005) จ๋ามตองได้รับการเชิญจากจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไปยังทำเนียบขาวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

 

เป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุใดประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจึงมีความสนใจในตัวจ๋ามตอง เพราะการพูดจาอย่างนุ่มนวลและมีชั้นเชิงอย่างไม่ขาด เด็กผู้หญิงคนนี้ได้ถ่ายทอดการทำร้ายทำลาย การถูกรังแก และความทุกข์ทรมานของพี่น้องร่วมเผ่าพันธุ์ของเธอด้วยความมุ่งมั่น

 

"จ๋ามตองเป็นผู้มีความมั่นคง" เด็บบี สโตทาร์ด (Debbie Stothard) ผู้ประสานงานของ Altsean-Burma กล่าว "เธอปฏิเสธที่จะเป็นเพียงเหยื่อ...เธอเป็นคนมีภูมิความรู้มากมายและบอกได้เลยเป็นการยากที่ใครจะไม่สนับสนุนเธอ"

 

จ๋ามตอง แบ่งเวลาให้กับการทำงานรณรงค์ในระดับสากลและโรงเรียนสำหรับเด็กฉาน ที่เธอก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) ซึ่งเธอหวังว่าจะสามารถให้โอกาสทางการศึกษาแก่พวกเด็กๆ เธอรู้สึกโชคดีที่ได้ทำเช่นนั้น

 

สโตทาร์ดจำได้ว่าจ๋ามตองเคยบอกเธอเกี่ยวกับแผนการที่จะตั้งโรงเรียนเพื่อเด็กฉาน เธอก็เลยเตือนจ๋ามตองไปว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ไม่นานนักจ๋ามตองก็ได้โทรศัพท์เพื่อขอคอมพิวเตอร์เก่าๆ จาก Altsean-Burma และตอนนี้ทางโรงเรียนก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการฝึกฝนนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ "ใจของจ๋ามตองมักคิดอยู่เสมอว่าจะวิเศษสักเพียงไหนที่ได้ทำอะไรๆ ให้มันดีขึ้นมาได้" สโตทาร์ด กล่าว

 

จ๋ามตองงานยุ่งมาก ทำให้เธอได้ไปเยี่ยมแม่และพี่น้องอีก 6 คนที่อยู่ในชายแดนไทยเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี

 

พ่อของจ๋ามตองซึ่งเป็นนายทหารของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State Army) ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ได้เสียชีวิตในปี ค.ศ.2004

 

ชีวิตส่วนตัวของจ๋ามตองเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานที่เธอทำ ซึ่งเมื่อถามเธอว่างานนี้มันสนุกอย่างไร จ๋ามตองตอบว่า "ฉันมีความสุขในการได้พบปะผู้คนและเล่าเรื่องราวของชาวไทใหญ่ให้เขาฟัง"

 

สิ่งหนึ่งที่จ๋ามตองกังวลก็คือ เธอจะสามารถต่อสู้และทำให้ประชาคมโลกมีความเชื่อมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชนในบ้านเกิดของเธอให้มากกว่านี้ได้อย่างไร

 

"ระบอบการปกครองในพม่าไม่ต้องการให้โลกนี้รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน แต่เสียงของผู้หญิงเหล่านั้นโลกจะต้องได้รับรู้" เธอกล่าวในที่สุด

 

 

…………………………………………….

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง หญิงไทใหญ่ที่ "บุช ขอพบ โดย : กองบรรณาธิการประชาไท 21 พ.ย. 2548

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท