Skip to main content
sharethis

สุเมธ ปานเพชร


อับดุลเลาะ หวังหนิ


สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เอกสาร 14 หน้า ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการพบปะหารือระหว่างแกนนำผู้ก่อความไม่สงบในอดีต กับตัวแทนรัฐบาลไทย ซึ่งเนื้อหาบรรจุด้วยข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลไทยปฏิบัติ ในสายตาของคนพื้นที่ อย่าง นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) และที่ปรึกษาสมาพันธ์ครู จ.ยะลา ซึ่งอยู่ในพื้นที่มาไม่น้อยกว่า 30 ปี เห็นว่า เป็นข้อเรียกร้องของคนซึ่งมิได้อยู่ในพื้นที่ และไม่รู้จริงถึงปัญหา เพราะแนวทางตามที่เรียกร้องมานั้น เป็นแนวทาง นโยบายที่รัฐไทยพยายามจะปฏิบัติอยู่แล้ว ในขณะที่ประเด็นใหญ่และสำคัญ คืออุดมการณ์ชาตินิยมนั้น ไม่มีการเรียกร้องเพื่อร่วมกันหาข้อสรุปออกมาเลย


 



 


นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติและที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดยะลา กล่าวถึงข้อเรียกร้องจากกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบที่เคยมีการหารือผ่านการประสานงานของนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่า มีเพียงเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพพลเรือนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเรื่องเดียวที่ค่อนข้างใหม่ โดยรวมเป็นเนื้อหาเดิมที่มีอยู่ในอดีตแล้วทั้งสิ้น


 


เขาเห็นว่าการก่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น คงมิใช่เพียงแค่การเรียกร้องเพียงเท่านี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐทำอยู่แล้ว เหมือนตั้งคณะกรรมการอิสลามนี้ก็มีอยู่แล้ว


 


"ข้อเรียกร้องนี้ผมมองว่า น่าจะมาจากคนที่ไม่ใช่มสุลิมและคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ คนที่ไปตกลงเจรจากับทางอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย คงไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตัวจริง เพราะว่าการมียุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่จะทำให้คนบาดเจ็บล้มตายในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 5,000 คน มันไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นการสร้างภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบ้างหน่วยงานมากกว่า หรือถ้าข้อเรียกร้องนี้เป็นความจริง แสดงว่าคนกลุ่มนี้ไม่รู้เรื่องเลยในความเป็นไปของสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในทุกวันนี้"


 


ในความเห็นของประสิทธิ์เขาเห็นว่า ขบวนการก่อความไม่สงบ น่าจะเรียกร้องเรื่องที่ใหญ่กว่านี้ เช่น เขตปกครองพิเศษ เพื่อพัฒนาไปสู่การก่อตั้งรัฐเอกราช อย่างที่เคยประกาศมาตลอด  ซึ่งมาจากความเชื่อว่า ชนชาติมลายูมีความรุ่งเรื่องในเชิงวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางรัฐอิสลามในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ขบวนการต้องการมากกว่า


 


"อยู่ๆ มาทางอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มายื่นข้อเสนอแค่นี้ ผมมองว่ามันสร้างภาพ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีรายละเอียดใดๆ เลยที่จะเป็นรัฐอิสลามขึ้นมาตามอุดมคติ เคยฆ่ากันถึงเลือดถึงเนื้อแล้วมาคุยกันง่ายๆ เสนอข้อเรียกร้องแค่นี้ มันไม่ใช่เรื่องของนักอุดมคติ คนที่มาเสนอข้อเรียกร้อง เป็นเพียงพวกที่อยู่ใน 3 จังหวัดไม่ได้ อยู่ในบัญชีดำ เข้าประเทศไม่ได้ เสนอเพียงเพื่อนิรโทษกรรม เป็นการยกเลิกข้อกำหนด เพื่อให้ตัวเองกลับบ้านได้ ไม่ใช่ขบวนการที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ของจริง"


 


เหตุผลรองรับในความคิดของประสิทธิ์ก็คือ แทบทุกประเด็นที่เรียกร้องล้วนเป็นสิ่งที่มีอยู่ หรือกำลังดำเนินการ


 


"การจัดตั้งคณะกรรมการกลางอิสลาม ก็มีอยู่แล้ว โต๊ะครูและอิหม่ามจะให้เป็นผู้นำ มันเป็นเรื่องตลก เพราะปัจจุบันก็เป็นผู้นำที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ การจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับกิจกรรมมุสลิมเป็นข้อเสนอที่ธรรมดามาก เครือข่ายการสื่อสารภาครัฐ กลุ่มติดอาวุธมีความคิดในรูปแบบนี้แล้วหรือ กอ.สสส.จชต. ก็มีมุสลิมเกือบ 600 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอยู่แล้ว มันเป็นนโยบายปัจจุบัน เรื่องการรับรองการศึกษาจาก ปอเนาะ มันก็เป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ทำให้จริงจังเท่านั้น" 


 


"ผมดูการปฏิบัติมาตั้งแต่อดีต มันก่อสงครามฆ่ากันบาดเจ็บเสียชีวิต ยุทธวิธีที่ออกมาใช้ก็เข้าข่ายมืออาชีพ เพราะฉะนั้นการใดก็ตามที่ปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ผมไม่เห็นตรงไหนเลยว่าจะเป็นเรื่องของมลายูจริงๆ อัตลักษณ์ที่ว่าพูดได้แต่มันทำอยู่แล้ว ถามว่าที่อยู่ปัจจุบันมีใครไปยุ่งบ้างในเรื่องของวัฒนธรรม ไม่มีใครเข้าไปยุ่งเลย มันมีอยู่แล้วตั้งแต่ในอดีต"


 


ในมุมมองของประสิทธิ์ เขาเห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้ เป็นที่ที่น่าเคลือบแคลง เขาให้คะแนนแนวทางนี้แค่ 10 เต็ม 100 เพราะมีหลายข้อที่เรียกร้องให้บางหน่วยงานเข้ามาดูแล ให้การปฏิบัติตามข้อเรียกร้องบรรลุผล ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ อำนาจหน้าที่และงบประมาณ


 


เขามองว่า การเจรจาเป็นสิ่งที่ดีที่จะนำไปสู่ความคืบหน้าและความสำเร็จได้นั้น มันอยู่ที่ว่า แต่ละฝ่ายมองการเจรจาอย่างไร  ถ้ามองการเจรจาเป็นเพียงยุทธวิธีที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามก็น่าจะไม่เกิดผลดี และส่งผลต่อความสำเร็จที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบ แต่หากทั้งสองฝ่ายมองการเจรจาในครั้งนี้ เป็นการเจรจาด้วยความจริงใจ เพื่อนำความสันติสุขมาสู่พื้นที่จริงๆ อาจเป็นไปได้ที่ทำให้เกิดผลสำเร็จในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบ


 


"การเจรจาจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ขึ้นอยู่ว่าฝ่ายรัฐและฝ่ายก่อการจะมีความตั้งใจจริงแค่ไหน แนวคิดเรื่องการเจรจาหรือการสานเสวนา ใน กอส.ก็เคยคุยกันว่า หากเป็นไปได้ มีเงื่อนไขเหมาะสม เราก็น่าจะคุยกับทุกฝ่าย เพื่อให้รู้แน่ชัดว่า เงื่อนไขจริงๆมันคืออะไร เงื่อนไขความไม่เป็นธรรม เงื่อนไขความไม่ยุติธรรมในแง่ของกฎหมาย ของการปฏิบัติของข้าราชการของการสร้างความรู้สึกที่เป็นลบ ต้องดูและเข้าใจเงื่อนไขเหล่านี้"


 


เขาให้ความเห็นว่าการเจรจาเป็นเรื่องใหม่สำหรับฝ่ายรัฐเพราะแต่เดิมรัฐไม่เคยเชื่อเลยว่า ขบวนการที่มีจุดประสงค์แบ่งแยกดินแดนจะมีอิทธิพลจริง 


 


"ผมทราบว่าในช่วงหลัง ก็เริ่มมีการยอมรับว่าเป็นกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองจริง เพราะแนวคิดของการคุยกันในแง่ของอุดมการณ์มันเกิดขึ้นจริง จากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเชิงลึก มันมีมาตั้งนานแล้ว แต่ยังไม่ตกผลึก เพราะรัฐเชื่อว่าการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความยุติธรรม ได้ปัญหาจะแก้ได้ เพราะนี่คือเงื่อนไข แต่ช่วงหลังรู้สึกว่าเงื่อนไขเริ่มเปลี่ยนไป"


 


เขามองในเรื่องของเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปว่า ความเป็นธรรมยังมีอยู่แต่เป็นเพียงเงื่อนไขเสริม แต่เงื่อนไขของอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งมีปัจจัยประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องสำคัญสูงสุดที่ทุกคนมองข้ามเมื่อก่อนนี้ แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าจะมีการยอมรับกันมากขึ้น เช่นแนวความคิดของกลุ่มคนที่มีเชื่อสายมลายู เขาสำนึกในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ในอดีตเขาเคยมีประเทศที่รุ่งเรื่องเคยมีวัฒนธรรมอะไรๆ เป็นของตนเอง ที่เป็นเอกสักษณ์จำเพาะ แต่เดียวนี้มันหายไป เขาเกิดความสำนึกในเรื่องเหล่านี้ จึงตั้งกลุ่มรณรงค์ทางการเมืองสังคมเศรษฐกิจขึ้นมา ต่อสู้เพื่อความเป็นรัฐปัตตานีเดิมขึ้นมาใหม่


 


"ผมว่าแนวคิดนี้ หากถามว่าคนมลายูคิดผิดไหม คนมลายูคิดไม่ผิด เหมือนกับที่เราเห็นอยุธยาถูกเผา รู้สึกตกทอดกันมา ที่นี้เราจะไปโทษกันไม่ได้ว่าไม่ให้คนที่นี่คิดแบบนี้ มันห้ามไม่ได้ แต่รัฐจะต้องคำนึงถึงทางออก ต้องหาจุดลงตัว ต้องหาคำตอบให้คนกลุ่มนี้ว่า นอกจากอุดมการณ์สถาปนารัฐเอกราชปัตตานีแล้ว จะมีทางไหนอีกที่สามารถอยู่ได้ โดยคงความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆ ครบถ้วน แต่ว่าอยู่ร่วมกันได้ในสังคมใหญ่ คือสังคมไทย จะมีทางออกไหนบ้างที่จะอยู่อย่างนี้ได้ นี้คือภูมิปัญญาของรัฐบาลไทย ที่จะต้องคิดและหาทางออกให้ได้เป็นการท้าทายภูมิปัญญา ถ้าหาคำตอบไม่ได้-ปัญหาที่เกิดขึ้นก็แก้ไม่ได้"


 


เขามองว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่ารัฐหาคำตอบไม่ได้ แต่รัฐพยายามเลี่ยงไม่อยากตอบ คนของรัฐที่ทำงานเชิงลึกเรื่องนี้รู้ดี แต่ว่าไม่เชื่อถือและพยายามหลีกเลี่ยงไม่อยากให้ความสำคัญ เพราะกลัวจะกลายเป็นพลังหนึ่งซึ่งมีฐานะเป็นองค์กรระดับประเทศขึ้นแล้วมันจะพูดกันยากขึ้น กลายเป็นการแก้ปัยหาที่เชื่อมโยงกับอาเซียน เชื่อมโยงกับสากล จึงเป็นที่มาของการหลีกเลี่ยง


 


"สาเหตุที่รัฐกลัวในเรื่องนี้ เพราะอาจจะอ่านยุทธศาสตร์ของฝ่ายตรงกันข้ามว่ามีแผนต้องการยกระดับกลุ่มของตนเองให้มีเกียรติภูมิที่สากลยอมรับ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ สร้างแนวร่วมกับโลกมุสลิม เอ็นจีโอ ในระดับโลกหรือระดับสหประชาชาติ เพื่อที่จะให้น้ำหนักของเหตุผลที่พวกเขาต่อสู้มีความเชื่อโยงสากลและมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อรัฐอ่านเพียงยุทธศาสตร์ของฝ่ายก่อการเช่นนี้ จึงไม่พยายามที่จะเน้นเรื่องนี้ให้เป็นจริงเป็นจังขึ้น" 


 


เขาบอกอีกว่า กรณีการเปลี่ยนจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาเป็นโจรก่อการร้ายที่เคยทำในอดีต เป็นเพียงการดิสเครดิสฝ่ายตรงกันข้าม โดยที่ในความเป็นจริงปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เพียงแค่ลดระดับความสำคัญของคู่ต่อสู้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในการต่อสู้ 


 


"ในอดีตเราใช้แต่อำนาจในการสยบคู่ต่อสู่ เหมือนกรณีผมสอนเด็กนักเรียน แล้วเด็กทะเลาะกัน เราใช้ไม้เรียวไปตีเด็ก การทะเลาะจบก็จริง แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เผลอจากเราเด็กก็ทะเลาะกันอีก มันก็คล้ายๆเรื่องนี้"


 


การแก้ปัญหาโดยแท้จริงต้องหาจุดลงตัวว่า เท่าที่กติกาทางสังคมหรือกฎหมายที่มี เราจะมีทางไหนบ้างที่จะทำให้เกิดประสบความสำเร็จกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายก่อการที่ต้องการดูแลตัวเอง ก็ได้ในระดับที่พอใจ แล้วทางฝ่ายรักษากฎหมายที่บอกว่าประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้อยู่ได้ด้วย จะต้องทำอย่างไร ผมเชื่อว่าหากไม่คุยกันจริงๆ อาจจะไม่เกิดปัญหาใหญ่อย่างที่เราคิด


 


เขาให้ความเห็นอีกว่า เห็นด้วยกับการเจรจาที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และให้ข้อแนะนำถึงการเจรจาว่า อันดับแรกต้องอย่างมองการเจรจาเป็นเพียงยุทธวิธี ที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ข้อให้ตั้งต้นการเจรจาอย่างจริงใจ ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ก่อการแล้วหนทางของเหตุผลจะตามมา นอกจากนี้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการก่อรัฐประหาร มันมีความล่อแหลมมากต่อการที่จะสร้างเรื่องไปให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้กำลัง จึงต้องพยายามควบคุมพยายามดูแลอย่างให้มีการใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังมากเกินขอบเขตของกฎหมาย


 


"อยากให้รัฐสังเกตให้ดีๆ ว่าสังคมส่วนใหญ่ยังดีอยู่ โดยเฉพาะสังคมมุสลิม เห็นได้จากตัวชี้วัดดังนี้ คือ 1.คนมุสลิมให้ความสำคัญกับการศึกษามากขึ้น จนกลไกของรัฐและเอกชนรัฐไม่ไหว 2.การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ มีสูงมากในพื้นที่ หากเขาต่อต้านและเกลียดระบบของรัฐ เขาคงไม่มายุ่งกับระบบพวกนี้ สุดท้าย คนส่วนใหญ่ในพื้นที่อยากให้ปัญหาจบและอยากอยู่อย่างสงบสุขเหมือนที่เคยเป็นมา อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเสรีภาพในการปฏิบัติตนทางศาสนาอย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้มันอยู่ในใจของทุกคน หากความไม่สงบยุติลงได้โดยเร็ว ผมเชื่อว่า เป็นการดีต่อทุกคนอยู่แล้ว"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net