Skip to main content
sharethis

16 ต.ค.49 - วันที่ 16 ต.ค. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กรณีบ้านป่าผาก ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐทับที่ดินทำกิน


 


นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากอาศัยในหมู่บ้านป่าผากมานานจน พ.ศ.2537 ชาวบ้านบางส่วนได้รับเอกสาร ส.ป.ก.4-98 ต่อมาใน พ.ศ. 2538 กรมปศุสัตว์ขอสร้างสถานีพัฒนาอาหารสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี จนกระทั่ง พ.ศ. 2541 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศให้บริเวณดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ พุเตย


 


ทั้ง 2 กรณีทำให้ชาวบ้านต้องเข้าไปทำกินบริเวณห้วยน้ำพุและห้วยป่าผาก ต่อมามีการสร้างอ่างเก็บน้ำองค์พระทับที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากอีก ส่วนที่ดินป่าสงวนที่เหลืออีก 1200 ไร่ ที่ราษฎรจะเข้าไปทำกิน กรมป่าไม้ก็อ้างว่าเป็นแปลงปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ทำให้ชาวบ้านป่าผากบางส่วนไม่มีที่ทำกินมานานนับ 10 ปี


 


นางสุนี กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวหน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการช่วยเหลือใดๆจากการกระทำจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง คณะกรรมการสิทธิฯจึงได้ออกนังสือลงนาม นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิฯเสนอต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาโดยให้ดำเนินตามมาตรการนี้


 


ข้อแรก ให้ดำเนินการจัดหาพื้นที่รองรับที่สามารถทำไร่หมุนเวียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงชุมชน ภายใน 90 วันตั้งแต่ได้รับหนังสือนี้


 


ข้อสอง ให้ชดเชยค่าเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพภายหลังสูญเสียที่ทำกิน นับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโครงการสถานีพัฒนาอาหารสัตว์สุพรรณบุรี ภายใน 120  วันตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้


 


นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายอีกว่า ให้รัฐรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม โดยเฉพาะชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆโดยคำนึงถึงวิถีการผลิตดั้งเดิมของชุมชน กรรมสิทธิ์ชุมชน และการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของรัฐ


 


ประการต่อมาให้กระทรวงทรัพยากรฯดำเนินการทบทวนสัมปทานให้เช่าปลูกสวนป่าใหม่ทั้งหมด โดยให้ตรวจสอบอายุสัมปทานการเช่า จำนวนพื้นที่เช่า แล้วนำพื้นที่ที่ไม่มีพันธกรณีเกี่ยวกับสัมปทานการเช่าทั้งหมดมาจัดสรรแก่ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกิน และเมื่อหมดสัญญาเช่าปลูกสวนป่าให้ยุติการต่อสัญญาเพื่อนำมาฟื้นฟูหรือจัดสรรแก่ราษฎรไม่มีที่ทำกิน


 


ประการสุดท้าย การอนุรักษ์ป่าต้องดำเนินการด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน มิใช่หน่วยงานรัฐดำเนินการเอง และต้องยุติการดำเนินการโครงการใดๆโดยหน่วยงานของรัฐหรืออนุญาตต่อเอกชนที่มีผลกระทบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


นางสุนี กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหากรณีป่าผากเป็นสิ่งพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะถ้าไม่ช่วยต้องตอบให้ได้ว่าทำไมจึงไม่ช่วย เนื่องจากชาวบ้านเป็นผู้ถูกละเมิดที่ต้องเยียวยาโดยการเอาที่ดินคืนให้ซึ่งเป็นความชอบธรรม สิ่งที่รัฐกระทำที่ผ่านมาแม้จะทำให้ลำบากขึ้นแต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันที่จะรักษาสิทธิและไม่ยอมทิ้งถิ่นที่อยู่เดิมมาปัจจุบัน


 


ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิฯอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเห็นว่าการกระทำของรัฐที่ผ่านมาหลายอย่างเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารก็ยืนยันว่าจะทำการตามกติการะหว่างประเทศที่รับรองสิทธิตรงนี้ และไปกันได้กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540  ดังนั้นต่อให้ไม่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ระบุมาตรา 3 คณะรัฐประหารก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่แก้ไขปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก


 


รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ระบุว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครอง ประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้


 


 


นางยุพิน งามยิ่ง ชาวบ้านป่าผากกล่าวว่า ที่ทำกินของชาวบ้านไม่ได้เข้าไปในป่าลึก แต่ต่อมาเมื่อมีการให้สัมปทานเอกชนทำไม้และสวนป่า ชาวบ้านก็ต้องย้ายที่ทำกิน แล้วก็มาถูกอ่างเก็บน้ำมาทับที่อีก พอย้ายไปทำไร่หมุนเวียนอีกจุดชาวบ้านก็โดนจับ เพราะเป็นพื้นที่ป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯแต่ชาวบ้านไม่รู้ เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาบอก ภาษาก็สื่อกันไม่ค่อยได้ ตอนนี้ชาวบ้านก็ต้องแบ่งๆที่รอบหมู่บ้านซึ่งเป็นจุดที่ไม่โดนอ่างเก็บน้ำทับมาทำกิน บางคนก็อดอยาก จนล่าสุดมี 3 คน ออกไปรับจ้างฟันไร่แล้วถูกจับอยู่ในคุกตอนนี้ในข้อหาบุกรุกป่า


 


ชาวกะเหรี่ยงป่าผาก มีวิถีชีวิตในการทำไร่หมุนเวียนเลี้ยงชีพ คือการปลูกข้าว พืชผักสวนครัวเช่นพริก สมุนไพร เอาไว้หลุมเดียวกัน หากบ้านไหนปลูกได้ไม่พอกินก็จะแบ่งปันกัน หลังจากทำกินแล้วจะปล่อยทิ้งไว้ให้ 1-2 ปีจนเป็นป่าเรียกว่า "ไร่ซาก" เพื่อฟื้นฟูดินและป่า แล้วจะไปถางไร่ซากอื่นที่เคยทิ้งไว้เพื่อทำ กินต่อหมุนเวียนไปเรื่อยๆในพื้นที่ซ้ำๆ จึงไม่ได้ขยายอาณาเขตในการบุกรุก


 


ชาวป่าผากเล่าต่อๆกันมาว่า อาศัยในพื้นที่นี้มากว่า 250 ปี ชื่อตระกูล "งามยิ่ง" มาจากการชาวบ้านที่เคยถวายงาช้างต่อรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงตรัสถามว่าจะเลือกอยู่ที่ไหน ชาวบ้านบอกว่าจะทำไร่หมุนเวียนเพื่อมีข้าวไว้ทานเองในบริเวณปัจจุบัน และไม่ได้โยกย้ายไปไหนจนทุกวันนี้ มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน รวมไปถึงบ้านห้วยดินดานและบ้านตะเพินคี่ด้วย


 


"เราไม่ได้รุกป่า เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บอกชาวบ้าน ฝ่ายปกครองเมื่อมาจัดการแล้วก็ขัดกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงป่าผาก จึงอยากฝากว่านโยบายหรือกฎหมายที่จะออกมาน่าจะทำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ที่เป็นมนุษย์"


 


นอกจากนี้ ยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้มาร่วมในห้องแถลงข่าวด้วยว่า สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ฯที่ตั้งขึ้นทับที่ชาวบ้านทำผิดสัญญาที่ทำไว้กับกรมป่าไม้ที่ว่าจะไม่ไถที่ เมื่อพ.ศ.2540-41 มีการไถที่กว่า 200 ไร่เพื่อปลูกหญ้าและมีการตัดต้นไม้ใหญ่จนหมด อีกทั้งสถานีดังกล่าวและหน่วยราชการต่างๆ 4-5 หน่วยที่มาสร้างทับพื้นที่ก็บอกว่าจะดูแลโดยการหาที่ให้ชาวบ้านก็ไม่มีใครทำตาม


 


"แม้แต่ยุคที่นายบรรหาร(ศิลปอาชา) เป็นนายกฯเมื่อ  พ.ศ. 2538 มีอำนาจสั่งการเต็มที่ คำร้องของชาวบ้านก็ถูกสะบัดก้นเพราะคิดว่าเป็นกะเหรี่ยง ไม่ใช่ฐานคะแนน หรือคุณกาญจนา (ศิลปอาชา)เมื่อครั้งนั้นชาวบ้านเอาปัญหาใส่ย่ามยื่นไปให้ ลูกน้อง 2 คนก็เอามาขยี้ทิ้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านแพ้การเมืองไทย"


 


ทางคณะกรรมการสิทธิฯยังยืนยันด้วยว่าชาวกะเหรี่ยงป่าผากมีบัตรประชาชนไทย


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net