Skip to main content
sharethis

โดย  มุทิตา เชื้อชั่ง


 


 


ย้อนหลังไปวันที่ 20 กันยายน 2549  เหตุการณ์รัฐประหารในคืนก่อนหน้ากลายเป็นพาดหัวข่าวที่ดึงดูดความสนใจไปจากทุกข่าวตลอดสัปดาห์นั้น แม้แต่ข่าวการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สิงคโปร์ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลงก็ดูจะเงียบกว่าปกติ 


 


การประชุมขององค์กรการเงินระดับโลกที่มีสมาชิกถึง 184 ประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่น่าจับตามอง เพราะมีผลกระทบต่อนโยบายภายในของประเทศเล็กประเทศน้อยโดยเฉพาะประเทศที่ต้องกู้เงินจากธนาคารโลกและสถาบันในเครือข่าย


 


นโยบายสำคัญๆ ที่ออกมาจากธนาคารโลก และกำลังถูกตรวจสอบอย่างมากจากเอ็นจีโอประเทศต่างๆ ว่าทำได้จริงหรือไม่ มันแก้ปัญหาหรือเป็นปัญหาเสียเองก็เช่น ระบบธรรมาภิบาล การต่อต้านคอร์รัปชั่น การแก้ปัญหาโลกร้อน การแก้ปัญหาความยากจน การให้เงินกู้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ฯ


 


ก่อนที่จะมีการประชุมรอบฤดูใบไม้ผลิอีกครั้งในเดือนเมษายนปีหน้า ขอย้อนเหตุการณ์กลับไปในการประชุมครั้งที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งนับว่าเป็นครั้งที่คึกคักที่สุดครั้งหนึ่งบนประเทศที่ได้ชื่อว่า "เศรษฐกิจเปิด(มาก)แต่การเมืองปิด(มาก)" อย่างสิงคโปร์


 


ตามปกติในการประชุมองค์กรโลกบาลที่เน้นเรื่อง "ธรรมาภิบาล" และ "การมีส่วนร่วม" อย่างธนาคารโลกนั้น นอกจากจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก และการประชุมระหว่างคณะกรรมการต่างๆ แล้ว ยังมีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนทั้งภาคธุรกิจ ผู้สื่อข่าว รวมถึงนักพัฒนาเอกชนทั้งหลาย ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบนโยบายต่างๆ ด้วย


 


การประชุมคราวนี้มีคนเข้าร่วมประมาณ 10,000 คน แบ่งเป็นตัวแทนชาติสมาชิกของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟประมาณ 3,500 คน สื่อมวลชนเกือบ 1,000 คน ภาคเอกชน ธุรกิจ ธนาคาร ชุมชน เอ็นจีโอ อีกราว 5,000 คน โดยในจำนวนนี้มีตัวแทนภาคประชาสังคมอยู่ประมาณ 350 คน


 


แต่แล้วการประชุมที่สิงคโปร์ระหว่างวันที่ 14-20 กันยายนที่ผ่านมา กลับเป็นข่าวใหญ่โตทั่วโลก เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ได้สั่งห้ามเอ็นจีโอนานาประเทศราว 27 คนเข้าประเทศ และมีอีกหลายคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีดำอย่างไม่เป็นทางการ ทางการสิงคโปร์อ้างว่าพวกเขาเป็นภัยคุกคามความมั่นคงและความปลอดภัยในการจัดประชุม


 


หลายคนที่ได้รับเชิญโดยธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟให้เข้าร่วมประชุมโดนกักตัวที่สนามบินนานหลายชั่วโมงโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อใครจนกว่าจะถูกส่งตัวกลับประเทศ 


 


พอล วูโฟวิตช์ (Pual Wolfowitz) ประธานธนาคารโลกไม่รั้งรอที่จะออกมาตำหนิทางการสิงคโปร์ทันทีว่าเป็นพวก "อำนาจนิยม" จำกัดสิทธิการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน


 


"ธนาคารโลกรู้สึกเศร้าใจกับการจำกัดเสรีภาพ สิงคโปร์น่าจะมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่านี้ เราทำงานกับตัวแทนของนักเคลื่อนไหว เราให้คุณค่าพวกเขา ถึงแม้บางทีเราจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาพูดมาก็ตาม"


 


 


Paul Wolfowitz  รับตำแหน่งประธานธนาคารโลกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2005 


ที่มาของภาพ www.bicusa.org


 


ดูเหมือนการออกมาประณามรัฐบาลสิงคโปร์ของวูลโฟวิตช์เพียงเท่านี้จะไม่ช่วยอะไร องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และหลายประเทศทั่วโลก ยังคงเดินหน้าถล่มเขา เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าธนาคารโลกรู้ดีแก่ใจอยู่แล้วว่ารัฐบาลสิงคโปร์เป็นอย่างไร แต่ก็ยังเลือกที่จะจัดการประชุมที่นี่  


 


ท้ายที่สุดองค์กรพัฒนาเอกชนกว่า 163 องค์กรจากทั่วโลกก็ตัดสินใจใช้มาตรการ "บอยคอต" ไม่เข้าร่วมการประชุมใดๆ ทั้งสิ้น


 


"การบอยคอตของพวกเราเป็นไปเพื่อตอบโต้อภิมหาการหน้าไหว้หลังหลอก" เนเมนโซ (Ana Maria Nemenzo) ประธานกลุ่ม Freedom from Debt Coalition จากฟิลิปปินส์กล่าว


 


เธอระบุด้วยว่า ขณะที่วูลโฟวิตช์เสนอความคิดริเริ่มเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านการคอรัปชั่น แต่เขาล้มเหลวในการสนับสนุนหลักการพื้นฐานมากๆ แก่องค์กรของเขาที่จัดประชุมที่สิงคโปร์ ภาคประชาสังคมมีความไม่พอใจมายาวนานที่ถูกสถาบันเหล่านี้ผลักให้อยู่ชายขอบ


 


"สถาบันเหล่านี้จะสะดวกสบายค่อนข้างมากในประเทศที่ไม่มีการเคารพเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน ดูได้จากการเลือกสถานที่จัดประชุม ครั้งสุดท้ายที่จัดการประชุมนอกวอชิงตันก็คือปี 2003 ที่ประเทศดูไบ"



กลุ่มนักพัฒนาเอกชนที่บอยคอตการร่วมประชุม และจัดกิจกรรมประท้วง  สิงคโปร์ 2006 - ที่มาของภาพ www.bicusa.org


ซีเมีย โดซซานี (Semeer Dossani) จาก us network for global economic justice ระบุว่า "ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟไม่สามารถหนีจากการสมรู้ร่วมคิดนี้ไปได้ ไม่ใช่เฉพาะที่พวกเขาเลือกสิงคโปร์ทั้งที่รู้อยู่แล้ว แต่ทัศนคติของสิงคโปร์นั้นสะท้อนระบบเศรษฐกิจระดับโลกที่พวกเขากำหนดและดูแลอยู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ มันสร้างผลกำไรให้ชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง ขณะที่ลงโทษผู้คนอีกหลายล้านด้วยโครงสร้างความรุนแรงของความยากจน การไม่เห็นด้วยและสิทธิของประชาชนเป็นสิ่งคุกคามของชนชั้นนำ จริงๆ แล้วธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟให้การสนับสนุนระบอบการใช้อำนาจสิทธิขาดนี้มานาน มีประวัติศาสตร์อันสกปรกในการให้ความช่วยเหลือมากอสในฟิลิปปินส์ ซูฮาโตในอินโดนีเซีย และโมบูตูในคองโก"


 


ทำไมเขาถึงต้องคัดค้าน ตรวจสอบธนาคารโลกหนักหนาถึงเพียงนี้ ?


 


 


ทำความรู้จักธนาคารโลก


 ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นในเบื้องแรกเพื่อบูรณะยุโรปหลังเสียหายหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในภายหลังได้ปรับเปลี่ยนพันธกิจและขยายการดำเนินการให้กว้างขวางขึ้น รวมทั้งการขยายองค์กรในกำกับด้วย  ปัจจุบันนี้ภารกิจสำคัญของธนาคารโลกคือ การลดปัญหาความยากจนในโลก


 


ในปีแรกของการดำเนินงาน (2489) ธนาคารโลกมีสมาชิก 38 ประเทศ และยอดกู้เงินน้อยกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทุกวันนี้ธนาคารโลกมีสมาชิก 184 ประเทศ และให้เงินกู้มากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับกิจกรรมของรัฐและเอกชนทั่วโลก ตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงนโยบายการค้า สุขภาพ การศึกษา พลังงาน


 


กลุ่มประเทศจี 8 (สหรัฐ,อังกฤษ,แคนาดา,ฝรั่งเศส,เยอรมัน,อิตาลี,ญี่ปุ่น,รัสเซีย)  มีบทบาทมากที่สุดในธนาคารโลก และประเทศเหล่านี้รวมถึงจีนและซาอุ ต่างมีตัวแทนของตัวเองในคณะกรรมการบริหาร ส่วนอำนาจในการโหวตของบรรดาประเทศสมาชิกก็ขึ้นอยู่กับขนาดของเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จนเป็นที่แซวกันว่าธนาคารโลกใช้ระบบ "one-dollar-one-vote" อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีความพยายามผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนามีอำนาจในการออกเสียงภายในธนาคารโลกมากขึ้น


 


โครงการสร้างถนน เขื่อนและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก เป็นกิจกรรมที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดที่ธนาคารโลกให้กู้เงินไปลงทุน โดยข้ออ้างสำคัญก็คือเพื่อลดความยากจน ให้ประชาชนในประเทศนั้นๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น


 


ในปี 2005 ธนาคารโลกให้เงินกู้ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานถึง 9,100 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็น การขนส่ง 34% น้ำ และการป้องกันน้ำท่วม 24% การพัฒนาชนบท 20% พลังงานและถ่านหิน 20% ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร 2%


 


อีกส่วนที่เห็นได้ค่อนข้างชัดคือการให้กู้ไปพัฒนานโยบาย รัฐบาลประเทศต่างๆ จะนำเงินไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ระบบตรวจสอบและสถาบันต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ลำบาก และไม่มีผลกระทบให้ประชาชนเห็นได้ชัดเจนเหมือนโครงการก่อสร้าง


 


การให้เงินกู้ก้อนมหาศาลกับโครงการต่างๆ นั้น แม้จะเน้นหลักธรรมาภิบาล ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ควบคู่ไปด้วย แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ที่ออกมาจะไม่เป็นดังนั้น และยังส่งผลกระทบต่อคนเล็กคนน้อยที่ในตอนแรกเป็นเป้าหมายของโครงการว่าจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้พวกเขา


 


เวีย คัมปาซินา องค์กรชาวนาสากลซึ่งเป็นการรวมตัวของ 132 องค์กรใน    56 ประเทศทั้งในเอเชีย แอฟริกา ยุโรปและอเมริกา ออกมาชี้ว่า การเคลื่อนไหวของชาวนาเพื่อต่อต้านการดำเนินงานของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟเกิดขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เพราะมันได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตชาวนารายย่อยจำนวนมาก โดยเฉพาะการขับไล่เกษตรกรเพื่อโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน การแปรรูปที่ดินและน้ำ ตลอดจนนโยบายการค้าเสรี


 


หากลงไปดูในตัวอย่างรูปธรรม มานิส บัพนา (Manish Bapna) ผู้อำนวยการ Bank Information Center (BIC) ให้ข้อมูลไว้หลายกรณี เช่น


 


ท่อส่งน้ำมันระหว่างประเทศแชด-แคเมอรูน (Chad-Cameroon Oil Pipeline)   ธนาคารโลกให้เงินกู้สำหรับโครงการภาคเอกชนใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกาใต้นี้จำนวน 4,200 ล้านเหรียญเมื่อปี 2543 เพื่อหวังจะพัฒนาภูมิภาคนี้และแก้ปัญหาความยากจน


 


 


 


ขณะเดียวกันโครงการนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของธนาคารโลกเลยก็ว่าได้ ในการวางท่อส่งน้ำมัน 1,070 กิโลเมตรจากแหล่งน้ำมันทางตอนใต้ของแชดไปยังชายฝั่งแอตแลนติกของแคมเมอรูน หลังจากธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้ องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ออกมาเรียกร้องให้มีการพักชำระหนี้ไปก่อนจนกว่าจะบรรลุเงื่อนไขขั้นต่ำเกี่ยวกับธรรมาภิบาล การเคารพสิทธิมนุษยชน และความสามารถของรัฐในการจัดการปิโตรเลียม แต่ธนาคารโลกผู้ให้กู้เงินและมีมาตรฐาน เงื่อนไขต่างๆ ไว้อย่างดีก็ปล่อยทุกอย่างผ่านไปอย่างไหลรื่น  


 


หกปีถัดมาโครงการไม่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างที่โฆษณาไว้ รวมทั้งมีหลักฐานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่บ่งชี้ว่ามันช่วยพัฒนาชีวิตของคนจนและวิกฤตของประเทศ


 


ท่อส่งน้ำมันเริ่มใช้การได้ในปี 2003 ขณะที่ความสามารถในการจัดการของรัฐยังไล่หลังห่างไกลอยู่มาก ในปี 2006 ประเทศแชดมีปัญหาด้านการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการจัดเก็บภาษีน้ำมันโดยอนุญาตให้รัฐบาลใช้เงินจำนวนนี้ไปในการทหารอย่างเต็มที่  และแน่นอน คนจนถูกลืมไว้เบื้องหลังอีกตามเคย


 


ในฝั่งแคเมอรูนก็ยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมตลอดแนวท่อ ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดในการอุปโภค ปัญหาค่าชดเชยที่ไม่เพียงพอ ฯลฯ 


 


โครงการผันน้ำในเขตภูเขาเลโซโต (Lesotho Highlands Water Project) โครงการนี้เป็นโครงการผันน้ำที่ประกอบด้วยการสร้างเขื่อน 5 แห่ง มีอุโมงค์ผันน้ำผ่านกลางป่าของภูเขามาลูติ (Maluti Mountain) ยาว 200 กิโลเมตร เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าพลังน้ำป้อนเมืองอุตสาหกรรม


 



ภาพจาก www.businessafrica.net


 


 


โครงการนี้ประสบปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างหนัก โดยขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 2 เขื่อน เรื่องทางเลือกในการอนุรักษ์น้ำถูกเลื่อนไปพูดในการสร้างเขื่อนแห่งต่อไป ขณะเดียวกันทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ต่างก็ไม่ยอมทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างราคาของโครงการนี้และราคาค่าน้ำที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้บริโภคในแอฟริกาใต้


 


นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ผู้คนกว่า 20,000 คน ต้องอพยพออกจากบริเวณที่ตั้งโครงการ และมีการระบาดอย่างหนักของโรคเอดส์ ส่วนเขื่อนแห่งแรกที่สร้างไปนั้นต้องมีการอพยพคนออกราว 200,000 คน พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านจำนวนมหาศาลจมอยู่ใต้น้ำ ค่าชดเชยเพียงเล็กน้อยไม่อาจทดแทนสิ่งที่เขาสูญเสียไปได้


 



 


 


เหล่านี้คือตัวอย่างเล็กน้อยของโครงการขนาดใหญ่เจ้าปัญหาที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุน และพบว่าหลายครั้งที่มาตรฐานการพิจารณาต่างๆ หรือกระทั้งเป้าหมายของการดำเนินโครงการซึ่งกำหนดไว้สวยหรู....มีปัญหา


 


แม้แต่ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจของธนาคารโลกเองก็ยอมรับถึงปัญหานี้ในการประชุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2006 ที่ผ่านมา


 


"บทเรียนที่สำคัญเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ ที่พวกเราต้องเรียนรู้ก็คือ การเลิกทะนงตัว เพราะเราค่อยๆ เห็นข้อจำกัดของความรู้ของพวกเราในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวพันกับการตัดสินใจเชิงนโยบายในโครงการต่างๆ .... เช่น ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผลของโครงสร้างพื้นฐานที่มีต่อการเจริญเติบโต เพราะปราศจากข้อมูลที่มีมิติและหลากหลายเพียงพอ เมื่อหลักความรับผิดชอบล้มเหลว คนที่จนที่สุดและผู้เสียภาษีก็ต้องกลายเป็นผู้แบกรับต้นทุนของบริการที่ย่ำแย่และการคอรัปชั่น"


 


นี่คือการยอมรับในเบื้องต้น .... ว่าแต่ภาคประชาสังคมจะได้มีโอกาสเข้าร่วมนำเสนอทางเลือกหรือตรวจสอบโครงการต่างๆ หรือไม่ เสนอแล้วจะได้รับการพิจารณาเพียงไหน


 


หากมันเปลี่ยนแปลงอะไรได้ลำบากนัก อย่างน้อยที่สุด สถาบันการเงินระหว่างประเทศทั้งหลายก็น่าจะกล้าหาญพอที่จะยกเลิกการเอา "คนจน" มาเป็นข้ออ้างในการดำเนินงาน ...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net