Skip to main content
sharethis

18 ต.ค. 49 - พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี  แถลงผลการการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำวันที่ 17 ต.ค. 49 ว่า อยากจะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมือง โดยจะเปิดโอกาสและรับข้อคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อสำคัญ 3 เรื่อง เรื่องแรกคือข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือแนวคิดในการจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 


                   


เรื่องที่สองคือ แนวคิดที่จะมีการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม และเรื่องสุดท้ายคือแนวคิดที่จะปรับปรุงการศึกษาเพื่อให้มีการนำเอาคุณธรรมมาอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้นให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้



นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการแก้ไขประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 7 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนว่า


 


" ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่อยู่ที่ประเด็นประกาศของคณะปฏิรูป ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน มติที่ประชุมครม.วันนี้ เห็นว่าการที่จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น จำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้สถานที่ที่จะประชุมและสามารถประชุมกันเกินกว่า 5 คน ได้ ซึ่งผมจะนำเรื่องนี้ไปประชุมกับสมช.(สภาความมั่นคงแห่งชาติ)ในบ่ายวันเดียวกันนี้ และจะขอปรับแก้ประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 7 ซึ่งมีบทลงโทษทางอาญาด้วย เพราะขณะนี้ถือว่าเป็น พ.ร.บ.ไปแล้ว จึงต้องขอปรับแก้โดยจะนำเรื่องแก้ไขผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเปิดประชุมในเร็วๆนี้  ซึ่งหลักการแล้วทาง คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ)เห็นด้วยในหลักการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและใช้สถานที่ชุมนุมและพบปะเจรจากัน โดยไม่ได้ใช้สถานที่สาธารณะ เช่น ถนน แต่สามารถใช้สถานที่ตามมหาวิทยาลัย หอประชุม หรือสถานที่ที่สามารถจัดการประชุมได้เพื่อดำเนินการในเรื่องเหล่านี้"


 



เมื่อถามว่าการปรับแก้ประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 7 ดังกล่าว หมายถึงเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองได้ใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ประเด็นที่หารือกันคือไม่ให้ใช้สถานที่ที่เป็นสาธารณะคือตามท้องถนน หรือพื้นที่ต่าง ๆดำเนินกิจกรรมใดๆ แต่ถ้าจะทำในพื้นที่ที่เป็นพรรคการเมือง หรือที่ประชุมของพรรคก็เป็นสิทธิสามารถทำได้ แต่ขอให้เป็นไปในลักษณะเชิงสร้างสรรค์ ที่จะมาช่วยกันแก้ไขปัญหาเพื่ออนาคตที่ดีกว่าของบ้านเมือง


 



อย่างไรก็ตาม พล.อ.สุรยุทธ์ ระบุว่า ขณะนี้กฎอัยการศึกยังอยู่ ดังนั้น คมช.ยังคงมีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายได้หากมีการฝ่าฝืน บทลงโทษก็เป็นเรื่องทางกฎหมาย การยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น ยังไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คงจะมีการหารือกันต่อไป โดยสถานการณ์จะเป็นเครื่องกำหนดว่าควรมีการยกเลิกเมื่อไหร่  ซึ่งสื่อมวลชนก็คงทราบดีว่ามี ความเคลื่อนไหวอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์


 



เมื่อถามว่าตราบใดที่กฎอัยการศึกยังไม่มีการยกเลิกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนนั้นคงไม่เกี่ยวกัน แต่อยู่ที่การพูดจาทำความเข้าใจกันมากกว่า การกลับมาไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎอัยการศึก



 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net