Skip to main content
sharethis

18 ต.ค. 49 - วันที่ 17 ต.ค. นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่18 ต.ค. เวลา 14.00 น. นักวิชาการจากเครือข่ายจุฬาฯ เชิดชูคุณธรรม นำประชาธิปไตย (จคป.) และเครือข่ายวิชาการเพื่อประชาธิปไตย (ควป.) จะร่วมกันแถลงข่าวที่ห้องประชุม 13 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อคัดค้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่มีข่าวว่าถูกวางตัวไว้ให้รับตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคัดค้านนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ทั้ง 2 คนได้ใช้วิชาชีพที่มีนำไปปกป้องและให้ความช่วยเหลือระบอบทักษิณ ในการแก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทักษิณยังมีอำนาจ


      


นอกจากนี้ทางนักวิชาการทั้ง 2 เครือข่ายจะติดตามกรณีที่กระทรวงต่างประเทศส่งนักการทูตไปดูแล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ประเทศอังกฤษ โดยอ้างว่าเป็นการดูแลในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี กรณี พ.ตท.ฤทธิรงค์ เทพจันดา ผกก.น.6 มีส่วนรู้เห็นกับอันธพาลในการทำร้ายประชาชนที่เซ็นทรัลเวิลด์ แต่จนถึงขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังไม่แสดงท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อกรณีดังกล่าว และประเด็นสุดท้าย คือ การเปิดโปงเครือข่ายบริวารของระบอบทักษิณในกรมสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ


 


วันเดียวกันที่กองทัพบก นายกฤตเมต เอ่งฉ้วนธาดา ประธานชมรมนักกฎหมายแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการแต่งตั้ง นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลในการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ประกอบการพิจารณาโดยมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของคมช. ที่กองบัญชาการกองทัพบก เป็นผู้รับหนังสือ



ประธานชมรมนักกฎหมายแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นายมีชัย เคยทำงานให้กับ คณะ รสช. ในการยกร่าง พ.ร.ก. นิรโทษกรรม และการรับเงินทุนวิจัยจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อจัดทำ พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ  และครั้งนี้ อาจแอบแฝงใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นเครื่องมือในการสร้างระบบและอำนาจ เพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ ซึ่งกรณีดังกล่าว ทางชมรมจะมีการหารือร่วมกับ นายสุริยใส กตะศิลา แกนนำเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เกี่ยวกับการแสดงจุดยืนในเรื่องอีกครั้ง



อย่างไรก็ตาม หากมติของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ นายมีชัย เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทางกลุ่มก็ยอมรับ โดยถือว่าเป็นการให้ข้อมูลกับคมช. เพื่อให้ความโปร่งใส ทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมทางการเมือง



ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ อดีตประธานวุฒิสภา ตอบคำถามในเว็บไซต์มีชัยไทยแลนด์ดอทคอมกรณีมีผู้คัดค้านไม่ให้เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ โดยให้เหตุผลว่าเคยรับเงินอดีตนายกฯ ทักษิณ และไม่มีความโปร่งใสว่า ตอนนี้เป็นเพียงสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ คนหนึ่ง แต่เพราะมีคนคาดการณ์กันไปต่าง ๆ นานาจึงมีคนออกมาต่อต้านทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น


 


ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ารับเงินรับ พ.ต.ท.ทักษิณทำกฎหมายเศรษฐกิจก็ไม่จริง แต่เคยทำงานวิจัยให้การนิคมอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นเขตเศรษฐกิจ เหมือนอย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับจ้างรัฐบาลทำกฎหมายเมืองสุวรรณภูมิ จำนวนเงินก็เหมือนกัน ใหม่ ๆ ก็ว่า 10 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 15 ล้านบาท มาถึงปัจจุบันกลายเป็น 20 ล้านบาท ซึ่งต่อไปยังไม่รู้ว่ากว่าจะจบเรื่องจะกลายเป็นกี่ล้านบาท



"ผมเคยเป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายในสมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 525 บาท ซึ่งสมัยนั้นใคร ๆ ก็เชียร์กันทั้งนั้น แม้แต่คุณชัยอนันต์ (สมุทวณิช) ซึ่งคุณทักษิณแต่งตั้งดำรงตำแหน่งอะไรต่อมิอะไรในรัฐวิสาหกิจมากมายหลายแห่ง การเป็นประธานของผมอยู่มาได้ระยะเดียว คุณทักษิณเขาก็ยกเลิก ตั้งใหม่โดยมีตัวเขาเองเป็นประธาน ความผูกพันก็มีอยู่เท่านั้น แต่มาบัดนี้ไหงกลายเป็นว่าผมเป็นพวกคุณทักษิณไปได้ก็ไม่รู้เหมือนกัน ถ้าใครที่เข้ามาอ่านคำตอบและบทความต่าง ๆ ในเว็บนี้ก็เห็นว่าบทความเรื่องความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีซึ่งก็ยังแสดงอยู่ในเว็บนี้เป็นบทความที่ผมแทบเอาตัวไม่รอด ฟังเขาต่อต้านแล้วก็อนาถใจไม่น้อย ข้อสำคัญก็คือ ต่างคนต่างอ้างว่าประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ แต่หากว่าคนกลุ่มหนึ่งพูดอะไรหรืออยากให้เป็นอย่างไรแล้วคนทุกคนจะเห็นแตกต่าง ไปไม่ได้ สิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะมีอยู่ได้อย่างไร ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกัน" นายมีชัย ระบุ


 



อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ในวงการทหารมีข่าวลือว่ามีการล็อกตัวบุคคลที่จะเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไว้เรียบร้อยแล้ว โดย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้ทำการล็อบบี้สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ สายทหาร และสายความมั่นคงรวมกับสายอื่นๆ ไว้จำนวน 140 คน เพื่อให้ลงคะแนนเลือกนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติฯ ในการประชุมสภาฯ วันที่ 24 ตุลาคมนี้


      


ทั้งนี้ จากจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งหมดที่มี 242 เสียง กึ่งหนึ่งคือ 121 ดังนั้น เมื่อมีการรวบรวมเสียงที่จะเลือกนายมีชัยไว้ได้ถึง 140 เสียง จึงถือว่านายมีชัยจะได้เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแน่นอน


      


      


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net