ลูกจ้างรัฐยังถูกละเมิดสิทธิ!

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมหมออนามัย สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย สหภาพครูแห่งชาติ และสหพันธ์แรงงานในกิจการสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ แถลงข่าว "การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานของคนทำงานภาครัฐ"

 

สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า จากนโยบายของภาครัฐที่จำกัดจำนวนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และลูกจ้างประจำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและการดูแลสวัสดิการต่างๆ ในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยใช้แนวทางการจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้าง และลูกจ้างเหมาช่วงผ่านบริษัทเอกชน ประมาณ 500,000 คน ในทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิแรงงานของลูกจ้างภาครัฐ และมีแนวโน้มว่าการจ้างงานในลักษณะนี้จะเพิ่มมากขึ้นทุกที อันมีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ลูกจ้างเหล่านี้ไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการ เช่น ข้าราชการและลูกจ้างประจำ และมีข้อยกเว้นไม่อยู่ในความดูแลคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานใดๆ

 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน คณะกรรมการสิทธิฯ ร่วมกับองค์กรต่างๆ รวมทั้งโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสัมมนา 2 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนคนทำงานภาครัฐ รวมทั้งแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องลูกจ้างภาครัฐ สามารถสรุปปัญหาได้ ดังนี้

 

1.ลูกจ้างขาดความมั่นคงในการทำงานและไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง โดยสัญญาจ้างเป็นแบบปีต่อปี ระยะสั้น หรือไม่มีแม้แต่สัญญาจ้าง ไม่มีความก้าวหน้าตามอายุการทำงาน ไม่มีหลักประกันใดๆ ในการถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีอำนาจต่อรองใดๆ และไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงาน หรือตัดสินใจใดๆ ในองค์กร  

 

2.ด้านสภาพการจ้างและสวัสดิการ พบว่า กลุ่มลูกจ้างชั่วคราว มีการกำหนดอัตราค่าจ้างคงที่ตามวุฒิการศึกษา ไม่มีการปรับตามอายุการทำงานหรือวุฒิการศึกษาที่เพิ่มขึ้น กลุ่มนี้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายจากการทำงานตามกองทุนเงินทดแทน

 

ส่วนกลุ่มลูกจ้างตามสัญญาจ้าง โดยระบบราชการกำหนดให้ต้องใช้สัญญาจ้างทำของ ซึ่งมีการตีความว่า ไม่เป็น "แรงงาน" ตามกฎหมายแรงงาน สัญญาจ้างปีต่อปี หรือไม่แน่นอน แม้บางหน่วยงานพยายามปรับค่าจ้างได้บ้างตามประสบการณ์และอายุงาน แต่ถูกจำกัดไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน

 

สุดท้าย คือ กลุ่มลูกจ้างเหมาช่วงผ่านบริษัทเอกชน เช่น งานบริการทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัย งานธุรการ โดยไม่มีการตรวจสอบและร่วมรับผิดชอบ ในค่าจ้างและสวัสดิการของลูกจ้างเหมาช่วงเหล่านี้ว่าจะมีสภาพเช่นใด

 

อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มมีปัญหาร่วมกันคือ ไม่ได้รับความคุ้มครองสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าตอบแทนนอกเวลา วันลาป่วย ลากิจ ลาคลอด วันหยุด และวันลาพักร้อน ที่สำคัญคือ ไม่ได้รับสิทธิจากกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน 

 

ทั้งนี้ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา ได้แก่ ให้แก้ไขปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างภาครัฐ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานตามกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยมีนโยบายเฉพาะหน้าเร่งด่วนคือ แก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายกองทุนเงินทดแทน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน เพื่อให้ใช้บังคับลูกจ้างภาครัฐทุกประเภท และการทำสัญญาจ้างเหมาช่วงงานด้านบริการแก่ภาคเอกชน ต้องมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีระบบลงโทษควบคู่ด้วย

 

สำหรับนโยบายระยะยาว ต้องสร้างหลักประกันในความมั่นคงและความก้าวหน้าในการทำงานและพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของคนทุกคนในสังคม นอกจากนี้ รัฐต้องรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อเป็นหลักประกันการรวมตัว การเจรจาต่อรองของคนทำงานภาครัฐทุกประเภท

 

นอกจากนี้ องค์กรร่วมแถลงยังจัดตั้งเครือข่ายสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของคนทำงานภาครัฐขึ้น เพื่อรณรงค์แก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของคนทำงานภาครัฐทุกประเภท โดยในการนี้ ได้เชิญชวนคนทำงานภาครัฐในหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการเข้าร่วมกับเครือข่าย ติดต่อได้ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

 

 

โอสถ สุวรรณเศวต ผู้ประสานงานของสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากหน่วยงานไหน ลูกจ้างตามสัญญาจ้างรวมตัวกันได้ หรือได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มก็จะได้เงินเดือนในอัตราที่สูงขึ้น นั่นคือ 5,360 บาทต่อเดือน แต่หน่วยงานที่ลูกจ้างไม่สามารถรวมตัวกันต่อรองได้ จะได้ค่าจ้างประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ทั้งที่ทางราชการรู้อยู่แล้วว่า งานที่ลูกจ้างต้องทำ เช่น เข็นเปล ช่วยเหลือคนไข้ เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะสูง ต้องมีประสบการณ์ จึงควรจ้างงานต่อเนื่อง แต่ก็ยังจ้างเป็นรายปี และไม่มีการขึ้นเงินเดือน

 

"นอกจากนี้ การลาป่วย แม้ความเจ็บป่วยจะเกิดจากการทำงานก็ไม่สามารถหยุดเกิน 15 วันได้ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกหักค่าจ้าง" โอสถกล่าว

 

สัญญลักษณ์ เดชาวรรณ กรรมการฝ่ายวิชาการของสมาพันธ์ฯ กล่าวว่า ลูกจ้างของสาธารณสุขส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ตามกฎกำหนดให้ลาคลอดได้ 90 วัน โดยจะได้ค่าจ้างจ่ายตามจริง 45 วัน แต่ในความเป็นจริงกลับลาได้เพียง 1 เดือน จะเกินจากนี้ไม่ได้ โดยผู้จ้างให้เหตุผลว่า ไม่มีคนทำงาน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสวัสดิการการเดินทางไปปฏิบัติงาน เนื่องจากลูกจ้างไม่มีสิทธิ์พักในบ้านพักของโรงพยาบาลเหมือนแพทย์และพยาบาลจึงต้องเดินทางไปกลับ โดยใช้รถจักรยานยนต์ เพราะไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ซึ่งก็เสี่ยงเพราะต้องเดินทางในเวลากลางคืนไปเข้าเวร ทั้งยังต้องเดินทางระยะทางกว่า 10-12กม. อีกด้วย   

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท