Skip to main content
sharethis

จาก  บทบรรณาธิการ 'เอฟทีเอวอทช์'



 


17 ต.ค.49-สัปดาห์ที่ผ่านมา พลันที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คุณนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จะหยุดดำเนินนโยบายข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไปก่อน เพราะรัฐบาลชุดนี้มีวาระดำเนินงานเพียง 1 ปี และจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดถัดไป


 


วันถัดมา คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นว่าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นซึ่งได้เจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่ขาดเพียงการลงนาม จะยังคงเดินหน้าต่อไป


 


ต่อมา คุณเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แสดงความเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้มีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง แต่สามารถเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอต่อได้เลย แต่จะระมัดระวังมากขึ้น โดยจะดูรายละเอียดในทุกส่วนให้รอบคอบเพื่อให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์มากที่สุด แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเริ่มการเจรจาได้เมื่อไร


 


หากใครนึกว่าทักษิณ = ระบอบทักษิณ และดังนั้น ทักษิณล้ม = ระบอบทักษิณล้ม แล้วหล่ะก็ เมื่ออ่านการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีข้างต้นแล้วอาจจะต้องเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่


 


จริงอยู่ วิกฤตของระบอบทักษิณ คือ การคอรัปชั่นโดยเฉพาะการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย แต่ภัยของระบอบทักษิณไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะลักษณะสำคัญอีกประการอันเป็นเหตุของการต่อต้านและคัดค้านรัฐบาลคุณทักษิณในช่วง 1 ปีที่ผ่านมานั้น ยังรวมถึง การ "บล็อก" ข้อมูลข่าวสารและการกีดกันประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกไปจากการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและหาทางออกของประเทศ


 


กรณีเอฟทีเอ การ "บล็อก" ข้อมูลและการมีส่วนร่วมที่ว่านั้น กินความรวมถึง การดิสเครดิตกระบวนการประชาธิปไตยแบบตัวแทนว่าไม่รู้เรื่อง การทุ่มงบหลายล้านในสป็อตโฆษณาเพื่อประชาสัมพันธ์แต่ข้อดี การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้หาทางจัดการกับกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในโรงแรมหรูกลางกรุง ซึ่งใช้เวลาส่วนมากไปกับการนำเสนอข้อดี การรับปากกับคู่เจรจาต่างประเทศว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลการเจรจาจนกว่าจะเสร็จ หรือแม้กระทั่งการเก็บงำข้อมูลการเจรจาไว้เป็นความลับแม้ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้นแล้วโดยอ้างว่าต้องให้ลงนามก่อน ฯลฯ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีจุดประสงค์ในการกีดกันประชาชนและอำพราง "ข้อเท็จจริง" บางอย่างที่ผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องการให้สังคมรับรู้


 


ถ้าเอฟทีเอดีจริงอย่างที่อ้าง จะกลัวอะไรกับการเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบจากภาคประชาชน???


 


สมัยที่คุณคุณนิตย์ พิบูลสงคราม ยังเป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯอยู่นั้น แม้อาจจะอ้างได้ว่าต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลคุณทักษิณ แต่ข้ออ้างนั่นก็ไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่า คุณนิตย์ไม่ได้มีสำนึกของความเป็นข้าราชการที่ต้องรับใช้ประชาชน จึงไม่ต้องการสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย


 


อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีข้างต้นทำให้เชื่อว่า นอกจากคุณนิตย์แล้ว ยังมีคนอื่นๆอีกที่เห็นหัวของประชาชนทั้งประเทศหดเหลือแค่หน้าของนักธุรกิจรายใหญ่ไม่กี่รายที่แวดล้อมตนหรือมีความสามารถในล็อบบี้ตน ดังนั้น ทายาททางความคิดของคุณทักษิณอันที่จริงก็ยังวนเวียนอยู่อย่างน้อย 2-3 ในกระทรวงนี้


 


พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่าจะบริหารเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นความผาสุกของประชาชน มากกว่าจีดีพี แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่กล้าที่จะประกาศชะลอนโยบายเอฟทีเอซึ่งไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวชิ้นส่วนของ "ความพอเพียง"


 


การสร้าง "ศีลธรรม" ให้กับผู้ปกครองและคณะเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ แต่การสร้าง "ความเป็นธรรม" ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน การพุ่งเป้าหมายไปที่การสรรหาคนดี ซื่อสัตย์ มีความสามารถ หรือการจัดการกับนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะ "ความเป็นธรรม" ที่ว่านั้นจะได้มาก็ต่อเมื่อประชาชนที่เคยถูกกีดกันออกไปจากระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองจะมีปากมีเสียงได้เท่านั้น


 


ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมามากพอแล้ว ประเทศไทยไม่ต้องการการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล (ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม) ตามมาด้วยการฉวยโอกาสเชิงนโยบายซ้ำๆซากๆโดยคนกลุ่มน้อยเพื่อคนกลุ่มน้อยอีก


 


รัฐบาลต้องทบทวนและเรียนรู้ความผิดพลาดต่างๆของระบอบทักษิณให้ครบถ้วน ไม่ใช่เลือกเฉพาะบางส่วน ขณะที่สานต่อมรดกบาปก้อนโต


 


สิ่งที่รัฐบาลควรกระทำช่วง 1 ปีนี้ คือ หยุดดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การสร้างท่อก๊าซ หรือ เอฟทีเอ ไปก่อน รอจนกว่าจะมีการปฏิรูปกระบวนการเจรจาให้เสร็จเรียบร้อย โดยให้มีการเปิดเผยข้อมูลข้อตกลงที่จะนำประเทศและคนไทยไปผูกพันแก่สาธารณะก่อนเป็นเบื้องต้น สนับสนุนให้ประชาชนทุกภาคส่วน (ไม่ใช่แต่เฉพาะกลุ่มตัวแทนธุรกิจบางกลุ่มที่กำลังล็อบบี้รัฐบาลชุดนี้ให้มีการเจรจาต่ออย่างไม่ลืมหูลืมตา) มีส่วนร่วมในการหาทางออกเรื่องนี้ร่วมกันผ่านระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งและประชาธิปไตยทางตรง


 


 


 


 


   


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net