Skip to main content
sharethis

ทีมข่าวประชาไทภาคเหนือ รายงาน


 



คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รับฟังข้อมูลโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ จากสมาชิกภาคีคนฮักเจียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา


 


สอบทุจริตเชียงใหม่หลังไร้เงาทักษิณ กรรมการสิทธิฯ เยือนเหนือพบภาคีคนฮักเจียงใหม่ พิสูจน์เมกะโปรเจคเชียงใหม่ยุคทักษิณ ภาคีฯ เผยข้อมูลไม่ชอบมาพากลทะลัก แฉอาจเลี่ยงกฎหมายสารพัดทั้งไนท์ซาฟารี-พืชสวนโลก กรรมการสิทธิเผยเตรียมรวบรวมข้อมูลยื่น คตส. หารือกับนายกรัฐมนตรี และ คมช. แถมอาจมีคุยกับ พล.ท.สพรั่ง


 


เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2549 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมเบญจมาศ สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดยนายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ารับทราบรายละเอียดของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบข้อมูลการทุจริตตามคำร้องที่ 667/2548 ลงวันที่ 7 พ.ย. 2548 (เรื่อง ขอให้ตรวจสอบกรณีการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาเมืองเชียงใหม่) โดยมีศาสตราจารย์เฉลิมพล แซมเพชร เป็นผู้ร้องเรียนในนามภาคีคนฮักเจียงใหม่ซึ่งขอให้มีการตรวจสอบแนวทางการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันที่ภาคีฯ มีความวิตกกังวลว่าเป็นไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน


 


เมกะโปรเจคเน้นวัตถุลืมวัฒนธรรม-สังคมเชียงใหม่


ศ.เฉลิมพล แซมเพชร ข้าราชการเกษียณ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามภาคีคนฮักเจียงใหม่กล่าวว่าการพัฒนาที่ผ่านมามีแนวโน้มของการพัฒนาเรื่องวัตถุ แต่ทำลายศิลปวัฒนธรรม ทำลายสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อมของเชียงใหม่ ซึ่งมันรุนแรงขึ้นตั้งแต่มีโครงการเมกะโปรเจค โดยเฉพาะโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี จึงนำมาสู่การรวมกันเป็นภาคีฮักเจียงใหม่ ทั้งนี้ประชาชนไม่ทราบเลยว่าจังหวัดจะพัฒนาไปในทิศทางใด โดยภาคีนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครองๆ ก็รับไม่ฟ้องเพราะไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองเชียงใหม่ เราจึงไปฟ้องศาลปกครองสูงสุด


 


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมามีการนำโครงการ 14 โครงการในเชียงใหม่ รวมทั้งโครงการสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิง เสนอไปยัง คปค. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย ศาสตราจารย์เฉลิมพลกล่าว


 


เผยเชียงใหม่เวิลด์จับไม่ได้ไล่มันทัน ประชาชนตรวจสอบยาก เหตุไม่มีแผนชัดเจน


นายบัณรส บัวคลี่ สมาชิกภาคีคนฮักเจียงใหม่ กล่าวว่าโครงการเมกะโปรเจค หรือโครงการเชียงใหม่เวิลด์มีความแตกต่างจากโครงการใหญ่ๆ ของภาครัฐที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง คือไม่มีโครงการชัดเจน นึกอะไรได้ก็ทำๆ ไปก่อน อยากจะสร้างอะไรเพิ่มก็สร้าง มัน flexible มาก ขนาดที่ว่านึกอยากจะถอดโครงการส่วนไหนออก อยากเอาโครงการไหนเพิ่มเข้าไประหว่างกระบวนการโดยอ้าง fast track โดยนายบัณรสได้ยกตัวอย่างโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่เห็นชิงช้าสวรรค์งาน EXPO ที่ญี่ปุ่น อยากจะเพิ่มเข้าไปก็เพิ่ม อยากทำร้านอาหารเมนูเปิบพิสดารแต่พอคนคัดค้านก็ถอดออก ดังนั้นตัวโครงการจึงจับต้องไม่ได้ จนสังคมไม่สามารถศึกษาได้ว่าเขาจะทำอะไร มีผลกระทบขนาดไหน


 


นอกจากนี้โครงการไนท์ซาฟารี มีการหาแหล่งน้ำสำหรับโครงการด้วยการไถกวาดป่าในอุทยานแห่งชาติบริเวณห้วยแม่เหียะน้อยเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ทั้งที่ไม่มีสิทธิไถเพราะเป็นพื้นที่อุทยาน แม้แต่เจ้าหน้าที่อุทยานก็ไม่มีสิทธิทำ แต่จู่ๆ ก็เปลี่ยนแผนมาทำฝายน้ำล้น นี่คือวิธีการทำงานแบบจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน นายบัณรสกล่าว


 


ปล่อยคนเข้าไนท์ซาฟารีวันเดียวเป็นแสน สะท้อนแนวคิดพัฒนา "ยั่งยืน" ของผู้บริหาร


นายบัณรสยังกล่าวว่า พื้นที่ไนท์ซาฟารีเป็นพื้นที่ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ซึ่งน่าจะมีความคิดเรื่องการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โครงการไนท์ซาฟารีมีความสามารถรองรับคนได้ 3,000 คน แต่เคยปล่อยคนเข้าไปเป็นแสนคนเพื่อการโปรโมตทางการเมือง เรื่องนี้สะท้อนว่าผู้บริหารไม่มีแนวคิดในการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริงๆ หรือเปล่า


 


นายบัณรส กล่าวเพิ่มเติมว่ามีคนน้อยคนที่รู้ว่ามีสัตว์อะไรอยู่ในนั้นบ้าง เพราะการนำเข้าสัตว์นั้นใช้วิธีแอบอิงรัฐทั้งที่อาจผิดเงื่อนไขสนธิสัญญาไซเตส มีกรณีหมาในซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อหลุดแล้วไม่ยอมแจ้งชาวบ้านบอกว่าไม่มีตัวอะไรหลุด ทั้งๆ ไม่ว่าที่ตัวอะไรหลุดต้องแจ้งคน สะท้อนว่าผู้บริหารไม่แยแสชีวิตคน


ที่สำคัญโครงการไนท์ซาฟารี ผิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.. 2535 เพราะการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องมีไซท์งานชัดเจน แต่เมื่อปีที่แล้วพื้นที่ๆ จะทำโครงการดังกล่าวยังไม่รู้เลยว่าจะทำตรงไหนจาก 5,000-6,000 เหลือเพียง 2,000 กว่าไร่


 


แฉ! เลี่ยงกฎหมายบอกทำแนวกันไฟ ที่แท้ถางที่เตรียมทำไนท์ซาฟารี


นอกจากนี้ยังมีการตัดถนนในพื้นที่อุทยานทั้งที่ อพท. ไม่มีสิทธิตัดต้นไม้ในพื้นที่อุยาน ยกเว้นเจ้าหน้าที่อุทยาน แถมออกเอกสารแจ้ง อบต.หนองควาย ว่าตนเป็นคนทำ พอเรื่องจวนตัวผิดกฎหมาย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จึงต้องออกหน้าว่าระบุเป็นแนวกันไฟ 2,600 ไร่ ซึ่งนายบัณรสตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงมีพื้นที่เท่ากับโครงการไนท์ซาฟารีเป๊ะ และทำไมทำแนวกันไฟในฤดูฝนเดือนมิถุนายน ทั้งที่น่าจะแนวกันไฟในเดือนมกราคม


 


อดีต ส.ว.เชียงใหม่ชี้ประชาพิจารณ์เป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะทำอะไร


นายอาคม ตุลาดิลก อดีต ส.ว.เชียงใหม่กล่าวว่าหากอยากสร้างไนท์ซาฟารีจริงๆ ทำไมไม่ไปสร้างที่อำเภอดอยเต่าซึ่งตนเคยเป็นนายอำเภอ เห็นว่าที่นั่นมีน้ำมากและมีที่ว่างเปล่ามากจะสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตนเห็นว่าต่อไปการจะสร้างอะไรต่อในเชียงใหม่ คิดว่าการประชาพิจารณ์เป็นเรื่องจำเป็น


 


ด้านนายคำรณ คุณะดิลก ผู้อำนวยการสำนักข่าวประชาธรรม กล่าวว่าโครงการของรัฐจะเคลื่อนตัวไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ถ้าไม่มีมิติทางจิตวิญญาณ ซึ่งหมายถึงมิติที่ไม่แยกคนออกจากธรรมชาติ ไม่แยกออกจากการท่องเที่ยว ทุกส่วนสัมพันธ์กัน มีผลกระทบซึ่งกันและกัน เราต้องพูดถึงมิติทางจิตวิญญาณจึงจะพูดเรื่องการใช้คุณธรรมและจริยธรรมเป็นตัวชี้วัดได้


 


ระบุน้ำท่วมเชียงใหม่เพราะบุกรุกน้ำปิง ไม่ใช่ฝายและพนัง


นายสืบสวัสดิ์ สนิทวงศ์ สมาชิกภาคีคนฮักเชียงใหม่กล่าวว่า เชียงใหม่-ลำพูนฝั่งตะวันออกแต่เดิมมีทุ่งนา มีระบบเหมืองฝายเป็นที่รับน้ำฝนและน้ำหลาก ต่อมามีการตัดถนน สร้างหมู่บ้านจัดสรรทำให้พื้นที่รับน้ำลดลง มีการทำลายเหมืองฝายทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ มีการขยายถนน ทำพนังกันน้ำทำให้เหมืองฝายซึ่งเดิมกว้าง 2 เมตร เหลือเพียง 1.50 เมตร และเหลือเพียง 50 เซนติเมตรก็มี ซึ่งตนเป็นห่วงว่าต่อไปถ้าไม่มีการณรงค์เรื่องนี้จะมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ตนเห็นว่าควรจะทำความเข้าใจกับ อบต. ว่าการรุกล้ำลำเหมืองแม้จะทำโดยรัฐ ก็ผิด พรบ.ชลประทานราษฎร์


 


ในเรื่องของการที่จังหวัดเชียงใหม่จะสร้างพนังกั้นแม่น้ำปิงและรื้อฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง ฝายท่าศาลา แล้วสร้างเขื่อนยางทำประตูระบายน้ำแทนโดยอ้างว่ารื้อฝายเพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้น ตนเห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่การบุกรุกแม่น้ำปิง ซึ่งแม้จะเคยมีการตกลงว่าจะขุดลอกขยายแม่น้ำปิง 90 ให้กว้างเมตร แต่ก็ยังมีการดำเนินโครงการก่อสร้างพนังต่อและมีการชี้นำชาวบ้านตลอดว่าจะเอาพนังไหมถ้าไม่เอาน้ำท่วมนะ มีการออกวิทยุชี้นำว่าผู้ที่คัดค้านการสร้างพนังขอให้เห็นแก่ผู้ที่เดือดร้อนบ้าง นายสืบสวัสดิ์กล่าวในที่สุด


 


ท่อส่งน้ำระเบิดไนท์ซาฟารีระเบิด เหตุทนแรงดันน้ำภูเขาไม่ไหว


ศ.เฉลิมพล แซมเพชร กล่าวเพิ่มเติมว่าในโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนอกจากการสูบน้ำจากคลองชลประทาน จากกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว ยังมีการขุดบ่อบาดาลลึกร้อยกว่าเมตรกว่า 20 บ่อซึ่งเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความชื้นของดอยสุเทพ นอกจากนี้น้ำตกตาดหมาไห้ซึ่งเดิมชาวบ้านใช้ภายในหมู่บ้านแม่เหียะใน ก็มีการต่อท่อขนาดใหญ่จากน้ำตกเพื่อนำน้ำไปใช้ที่ไนท์ซาฟารี และปรากฏว่าท่อน้ำระเบิดกว่า 15 ครั้ง


 


ทั้งนี้ประชาไทพบว่ามีการต่อท่อตั้งแต่ปี 2546 และมีข่าวท่อน้ำระเบิดเพราะทานแรงดันของน้ำจากภูเขาไม่ไหว ทุกครั้งที่ระเบิดท่อที่ฝังอยู่ใต้พื้นดินกว่า 1.5 เมตรจะฉีกขาดทำให้เกิดหลุมลึกและกว้างกว่า 1 เมตร จนชาวบ้านเกรงว่าสักวันอาจเกิดระเบิดทำอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากแนวท่อกระจายไปทั่วบริเวณ


 


ทพ.อุทัยวรรณระบุเกิดเมกะโปรเจค เหตุรัฐเอื้อให้โลกาภิวัฒน์ทำงาน


ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล ผู้อำนวยการวิทยุชุมชน FM 99.00 MHz จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดกลไกที่ทำให้เกิดความโปร่งใสของธรรมาภิบาล เพราะโครงการเมกะโปรเจคจะไม่เกิดขึ้นถ้ารัฐไม่ต้องการให้กระบวนการโลกาภิวัฒน์ทำงานได้เต็มที่และมีเสน่ห์ดึงดูดให้เอกชนเข้าไปดำเนินการ


 


แปรรูปไม่โปร่งใสจึงเกิดคอรัปชั่น ยังไม่พอชวนชาวบ้านร่วมอีก


โดย ทพ.อุทัยวรรณเห็นว่าเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมเราต้องมาทบทวนคำว่า Privatization (การแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นของเอกชน) ที่มันควรมีความโปร่งใส ซึ่งเมื่อมันไม่มีความโปร่งใสมันจึงทำให้เกิดโครงสร้างที่ก่อให้เกิดผลในการคอรัปชั่น โครงการที่เกิดในท้องถิ่นนั้นมันเกิดกระบวนการ Co-option (เอามาเป็นพวก) อย่างไนท์ซาฟารีมีการบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ ทำอย่างไรจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบกระบวนการเหล่านี้ คือเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ ก่อให้เกิดกระบวนการที่นโยบายสาธารณะเพื่อสิ่งแวดล้อม เมือง และคุณภาพชีวิต คือสร้างพื้นที่ทางสังคมให้ชาวบ้านได้ตระหนักถึงคุณค่าและให้ชาวบ้านทำกันเองอย่างโปร่งใส


 


เห็นผลประโยชน์เหาฉลาม จึงทนสนุกไปกับการข่มขืน


แต่ที่มีโครงการไนท์ซาฟารี ตอนแรกชาวบ้าน 4 ตำบลรอบโครงการไม่เห็นด้วย ต่อมาหัวหน้าของ 4 ตำบลกับคน 3,000 คน ได้รับผลประโยชน์แบบเหาฉลามคือเศษเล็กเศษน้อยของเหยื่อจากฉลาม มีการเอา อบต.ไปประชุม เอาผู้มีอิทธิพลมาประชุม เพราะงบประชาสัมพันธ์มากจึงเกิดการประชุมต่อเนื่อง ซึ่งคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับโครงการแต่เห็นว่า "ไหนๆ มันจะข่มขืนอยู่แล้วก็เลยทำใจสนุกไปกับมัน"


 


คือกระบวนการ Co-option เกิดมาหลายชั่วอายุคนแล้ว แต่เราจะทำอย่างไรจะให้เกิดกระบวนการโปร่งใสและธรรมาภิบาลของท้องถิ่นจากล่างสู่บน ซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิที่ลงพื้นที่แล้วทำให้เกิดแรงกระเพื่อมให้คนในท้องถิ่นมีแนวร่วมและพันธมิตรจากภายนอก ไม่ใช่แค่มามาฟังแล้วมาจากไป สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก็เคยมารับเรื่องราวร้องทุกข์แบบนี้ แต่กระบวนการนี้มันไม่ได้ผลถ้าหากคนเหล่านั้นมันยังมีอิทธิพล ทพ.อุทัยวรรณ กล่าว


 


ภาคีฯ ร้องถูกนักการเมืองท้องถิ่นแจกใบปลิวโจมตี ตำรวจได้แค่บันทึกประจำวัน


นอกจากนี้ ทพ.อุทัยวรรณ ยังเปิดเผยแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า ก่อนหน้านี้เคยมีนักการเมืองท้องถิ่นการแจกใบปลิวโจมตีตนกับพวกรวม 8 คน ว่าเป็นผู้ไม่หวังดีกับบ้านเมือง พร้อมมีข่าวการตั้งค่าหัวกับสมาชิกภาคีฮักเจียงใหม่ 8 คนว่าถ้ามีใครเอาเลือดหัวออกจะได้จะให้หัวละ 5,000 บาท โดยที่ตำรวจทำหน้าที่แค่บันทึกประจำวัน โดยตนเห็นว่า "สังคมถูกทอนกำลัง เจ้าพ่อนั่งครองเมือง" ถ้าหากกรรมการสิทธิฯ อยากให้มีการทำงานเชิงรุก จำเป็นต้องทำให้เกิดโครงการและกระแสที่จะสร้างพลเมืองที่ทำให้เกิดกระบวนการโปร่งใสและธรรมาภิบาลของท้องถิ่น แทนที่จะเป็นกิจกรรมร้องทุกข์ของคนในชุมชนอย่างเดียว


 


ชัยพันธุ์ ปูดเพิ่มโครงการสร้างกระเช้าขึ้นดอยสุเทพด้านไนท์ซาฟารีลานครูบา


นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัติ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่าตอนนี้มีคณะวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาโครงการสร้างเคเบิลคาร์ภายในไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก อุทยานช้าง และจากอุทยานช้างขึ้นไปยังหอดูดาว (หอดูดาวสิรินธร ก่อนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ) และวัดพระธาตุดอยสุเทพ แทนการสร้างที่ลานครูบา (ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกต่อต้านหนักเมื่อเดือนกันยายน 2548) ซึ่งเห็นว่าที่ทำการศึกษาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นั้นได้ขออนุญาตอุทยานฯ แล้วหรือเปล่า และจะทำโครงการได้หรือเพราะอยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน


 


นอกจากนี้ นายชัยพันธุ์เห็นว่ามหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ : ราชพฤกษ์ 2549 เป็นการใช้พื้นที่จำนวน 470 ไร่ ของสำนักงานพัฒนาเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีทั้งพืชไร่และพืชยืนต้น แต่พอทำโครงการพืชสวนโลกก็ไถไปหมดไม่เหลือเลย มีการขุดอ่าง ซึ่งการทำแบบนี้ในพื้นที่อุทยานเป็นเรื่องต้องห้าม เจ้าหน้าที่อุทยานทำยังต้องขอหลายขั้นหลายตอน


 


ม.เกษตรแหกสัญญากรมวิชาการเกษตร ให้บริษัทรับช่วงต่อ หวั่นมีกินหัวคิว


และเพื่อไม่ให้ใครแตะโครงการดังกล่าวก็อ้างเป็นการเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ 60 ปี และเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 80 ปี โดยโครงการใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท โดยกรมวิชาการเกษตรก็ให้งานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อ้างว่ามีบุคลากรพร้อม แต่วันแรกที่ประชุมก็เอาบริษัทอย่างฟีลกรีนดีไซน์ ในเครือของสวนนงนุช และบริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ปจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ ช.การช่าง เข้าไปประชุมเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รับทำ TOR (ออกแบบและควบคุมงาน) เบื้องต้น 35 ล้านบาท แต่ผลที่สุดก็จ้างบริษัทอินเด็กซ์ฯ และบริษัทฟีลกรีน โดยมหาวิทยาลัยฯ หักนายหน้าไว้ 6 ล้านบาท ทั้งที่ในสัญญาที่ทำกับกรมวิชาการเกษตรระบุว่าห้ามมิให้รับเหมาช่วง แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อ้างว่าทำไม่ทัน


 


ชี้ "ช.การช่าง-สวนนงนุช" ประมูลไม่ชอบมาพากล


ส่วนบริษัทที่ชนะการประมูลงานก่อสร้างคือ CKNNL ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ ช.การช่าง และ สวนนงนุช คือทั้งออกแบบเอง คุมงานเอง รับเหมาเอง โดยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รู้เรื่องหมด โดยประมูลในวงเงิน 1,259,850,000 ล้านบาท จากราคากลาง 1,259,850,100 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 100 บาท!) แต่ที่ประมูลได้มีการแก้แบบโดยลดวงเงินอีก 59 ล้าน แต่มีการลดรายการก่อสร้าง ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อการประมูล


 


นอกจากนี้มีการให้บริษัทรีด เทรดเด็กซ์ ใช้งบ 396 ล้านบาทในการโฆษณางาน มีการให้อภิสิทธิใช้พื้นที่จอดรถหากินเปิดร้านค้านอกเหนือจากงาน นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากการไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ว่าถูกบริษัทดังกล่าวเรียกเก็บเงินพิเศษเพื่อช่วยโครงการอุดหนุนงาน ตนจึงอยากรู้ว่าใบเสร็จเข้ากระเป๋าใคร นอกจากนี้ยังเปิดมีร้านค้าโอท็อป มีอะไรผิดต่อมิอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์พืชสวนโลก


 


หวั่นนำพืชต่างถิ่นทำลายความหลากหลายทางชีวภาพดอยสุเทพ


นายชัยพันธุ์ ยังกล่าวว่ามีการละเมิด พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 คือนำพืชจากต่างถิ่นเข้าในเขตอุทยาน ในกรณีของชาวบ้านเชิงดอยสุเทพ จะเอาปาล์มมาปลูก เจ้าหน้าที่อุทยานไปบอกให้เขาถอน แต่กับโครงการพืชสวนโลกไม่มีใครดำเนินการ ทั้งที่นี่มันมากมายมหาศาล หากพืชมีสปอร์จะปนกับพืชในอุทยาน ความหลากหลายทางชีวภาพของดอยสุเทพจะเสียหาย แล้วเรื่องนี้ก็หาใครมาตอบให้ไมได้เพราะโครงการดังกล่าวไม่มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)


 


อุปทูตหลายประเทศบอกว่าเป็นห่วงแต่ไม่รู้จะทำไง โดยการนำเข้าพืชใช้เอกสิทธิทางการทูตนำเข้ามาไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ไม่ต้องมีด่านกักกันโรค เราจึงไม่รู้เลยว่าพืชที่เอามามีพิษหรือไม่ เวลามันบานมันกระจายไอซึ่งบางคนแพ้ พืชบางตัวไม่รู้ว่าเป็น GMOs หรือไม่ ซึ่งในงานจะมีการจัดแสดงพืชตัดแต่งพันธุ์กรรมนั่นก็คือ GMOs ซึ่งผิดกฎหมายและเอามาลงในอุทยานยิ่งผิดใหญ่ นี่คือสิ่งซึ่งสังคมไม่ได้รับรู้มองแต่เรื่องสวยงาม อันตรายที่จะเกิดในอนาคต ผมจึงเสนอว่าต้องระงับการเปิดโครงการพืชสวนโลกไว้ แต่บางคนว่ามันหยุดไม่ได้


 


เผยเตรียมกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ


ผมคิดว่าต้องไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ ที่จะทรงมาเปิดงาน เพราะหน่วยงานที่จัดงานนี้และอีก 40 กว่าประเทศกำลังละเมิดกฎหมายไทยอย่างร้ายแรง และไปแจ้งความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะกล้าดำเนินคดีไหม ทีกับคนตัวเล็กตัวน้อยเข้มงวดมากแต่พอรัฐทำผิดเองใครจะรับผิดชอบเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องร้ายแรงกรณีพืชสวนโลกไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้วเราก็บอกให้ทำไปก่อน แต่มันแก้ไม่ได้ถ้าเกิดความเสียหาย นายชัยพันธุ์กล่าวในที่สุด


 


แฉจัดตั้งงานราชพฤกษ์เป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน เลี่ยง พรบ.กักกันพืช


นอกจากนี้นายบัณรส บัวคลี่ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากนี้โครงการพืชสวนโลกยังมีการประกาศให้เป็นคลังสินค้า โดยกรมวิชาการเกษตรจึงจัดตั้ง "คลังสินค้าทัณฑ์บนราชพฤกษ์" เสมือนหนึ่งว่าเป็นด่านตรวจสินค้า เพื่อแก้ปัญหานำเข้าโดยผิด พรบ.กักกันพืช (หมายเหตุจากประชาไท - "คลังสินค้าทัณฑ์บนราชพฤกษ์" และ "ด่านตรวจพืชราชพฤกษ์" มีการเปิดตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ภายในงานพืชสวนโลกโดยกรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อให้สิทธิประโยชน์หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศนำสิ่งของเข้ามาแสดง โดยยกเว้นอากรตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่น แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องส่งออกนอกราชอาณาจักรภายใน 60 วันนับตั้งแต่สิ้นสุดการจัดงานคือ 31 มกราคม 2550)


 


เปิด 18 โครงการเชียงใหม่เวิลด์ใต้เงารัฐบาลทักษิณ


อนึ่ง สำหรับโครงการขนาดใหญ่ใน จ.เชียงใหม่ หรือเชียงใหม่เวิลด์ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีทั้งสิ้น 18 โครงการ คือ 1.โครงการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง 2 จุด 2.วางท่อร้อยสายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคใต้ดินเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 3.งานก่อสร้างของกรมทางหลวง 9 เส้นทาง ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี 3 โครงการ และแก้ปัญหาจราจร 6 โครงการ 4.งานก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบท 2 แห่ง 5.ก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ และศูนย์เอสเอ็มอี 6.ตลาดกลางการเกษตรภาคเหนือ 7.งานก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง 4 แห่ง 8.พัฒนาและแก้ปัญหาพื้นที่สูง อ.อมก๋อย 9.พัฒนาถนนสายวัฒนธรรมเชียงใหม่-สันกำแพง 10.ปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองเชียงใหม่ 11.บริการรถโดยสารสาธารณะ 12.ศึกษาจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเมืองเชียงใหม่ 13.การแก้ปัญหาขยะ 14.แผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ 15.พัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกห้วยแก้ว 16.ฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่สา 17.เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีและอุทยานช้าง 18.มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติ โดยล่าสุดโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ อาจถูกระงับยาวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล


 



 


 


(ซ้าย) นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการสิทธิฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ (ขวา) นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


กรรมการสิทธิฯ เตือนสพรั่งจะถูกเชือดคอถ้าไม่รับใช้ประชาชน


ด้านนายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่ในเชียงใหม่แล้วจะมีการเขียนรายงานสรุป มีการปรึกษาหารือเรื่องการเสนอข้อมูลประเด็นที่ภาคประชาชนได้รับผลกระทบ และให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไข โดย กสม.จะเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ดำเนินการต่อไป และจะแจ้งกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้าคณะปฏิรูปด้วย


 


นอกจากนี้ยังกล่าวว่าส่วนตัวอยากรวบรวมเรื่องเหล่านี้ เพื่อไปพบ พล.ท.สพรั่ง กัลยาณมิตร เพราะว่าคุณจะถูกเชือดคอถ้าคุณไม่รับใช้ประชาชน เราจะเข้าไปประสานตรงนี้ เพราะบางเรื่องมันสมานฉันท์ไม่ได้ต้องดำเนินคดี สมานฉันท์ไปหมดก็ลำบาก


 


นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิ กสม. กล่าวว่าโครงการมหกรรมพืชสวนโลก ถ้าเราไม่เข้าไปร่วมดูแล ก็คงเหมือนโปรเจคอื่นๆ ของรัฐที่รัฐเป็นฝ่ายลงทุนแล้วให้เอกชนหากิน เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่กรณี รฟม.ลงทุน 100,000 ล้าน เอกชนลงทุน 10,000 ล้าน แล้วเอกชนไปหาผลประโยชน์ คือโครงการพืชสวนโลกก็อาจมีการบริหารให้ขาดทุนแล้วอ้างว่าเป็นภาระงบประมาณแล้วให้เอกชนเทคโอเวอร์ ไนท์ซาฟารีก็อาจเหมือนกันและให้มีการกินหัวคิว ซึ่งเรื่องนี้ต้องจับตามอง โดนตนเห็นว่าจะทำอย่างไรเมื่อมีโครงการของรัฐเกิดขึ้นแล้วอยากให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


 


กสม.เผยหลังพบชาวบ้าน เสนอให้ยกเลิกอุทยานช้าง หนุน พรฎ.ส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืน


หลังจากการพบกับภาคีฮักเจียงใหม่ในวันที่ 13 ต.ค. แล้ว ในวันที่ 14 ต.ค. กสม.จะพบกับชาวบ้านบ้านตองกาย ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ และวันที่ 15 ต.ค. เวลา 13.00 น. พบกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี


 


โดยในวันที่ 14 ต.ค. ทีผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่เพิ่มเติมในส่วนของชาวบ้านบ้านตองกาย ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ มีการก่อสร้างโครงการพืชสวนโลก และอุทยานช้าง ซึ่งชาวบ้านมีปัญหาเรื่องถูกเวนคืนที่ดินรอบหมู่บ้านเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยภายหลังจากการลงพื้นที่นายกมล กมลตระกูล อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิ กสม. เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า คณะทำงานซึ่งลงพื้นที่พบว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านดังกล่าวอยู่มานานแล้วและต้องการอยู่ต่อ โดยข้อเสนอของ กสม. อาจจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐออกโฉนดชุมชนแทน ซึ่งมีลักษณะต่างจากเอกสารสิทธิแบบ สปก. เพราะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนตัว แต่โฉนดจะเป็นของชุมชน รัฐเป็นเจ้าของร่วม ชาวบ้านอยู่อาศัยได้ ทำเกษตรได้ แต่ห้ามโอนห้ามขาย ในส่วนของโครงการอุทยานช้างจะเสนอรัฐบาลให้มีการยกเลิก นอกจากนี้ กสม. จะผลักดันให้มีพระราชกฤษฎีกาส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป นายกมลกล่าวในที่สุด


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net