Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 18 ต.ค.2549  สำนักข่าวเอเจนซี/เอเอฟพีรายงานว่า  ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ลงนามบังคับใช้กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สอบสวนนักโทษอย่างทารุณ จัดตั้งศาลทหารที่คุกกวนตานาโม และยอมให้คุกลับซีไอเอในต่างประเทศดำเนินการต่อไปอย่างถูกกฎหมาย โดยใช้ข้ออ้างเพื่อความปลอดภัยของชาวอเมริกัน ด้านพรรคเดโมแครตและกลุ่มสิทธิมนุษยชนโต้ กฎหมายฉบับนี้ยิ่งทำให้ประชาชนและทหารสหรัฐฯ เจอกับภัยคุกคามหนักกว่าเดิม ทั้งยังละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ


         


เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมาประธานธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐฯ ลงนามในรัฐบัญญัติคณะกรรมาธิการการทหาร 2006 กฎหมายฉบับนี้ยอมให้ใช้มาตรการสอบสวนนักโทษอย่างสุดโหดเพื่อให้สารภาพหรือคายข้อมูลความลับออกมา คุมขังผู้ต้องสงสัยว่าก่อการร้ายไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด อนุญาตให้คุกลับของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ ในต่างประเทศ คุมขังนักโทษได้ต่อ


         


พร้อมกันนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้จัดตั้งระบบศาลทหารที่เรือนจำในฐานทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวกวนตานาโมของคิวบา ซึ่งบุชอ้างว่า กระบวนการนี้จะเปิดช่องให้มีการพิจารณาและตัดสินคดี คาลิด เชค มูฮัมหมัด สมาชิกกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ผู้วางแผนก่อเหตุวินาศกรรมถล่มสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี2001 และผู้ก่อการร้ายคนอื่นๆอีกหลายร้อยคน


         


ประธานาธิบดีบุชพยายามชูนโยบายทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อดึงคะแนนเสียงกลับคืนมาสู่พรรครีบพลิกันในช่วงใกล้การเลือกตั้งกลางเทอม ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ โดยในพิธีลงนามผ่านกฎหมายฉบับใหม่นี้ บุชแถลงว่า การลงนามกฎหมายจะช่วยส่งข้อความไปยังนานาประเทศว่า สหรัฐฯ เป็นชาติที่มีขันติธรรม สุภาพ เคารพในหลักยุติธรรม แต่ก็ไม่มีวันยอมแพ้ต่อภัยที่คุกคามเสรีภาพของชาวอเมริกัน


         


บุชยังยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ละเมิดข้อกำหนดในอนุสัญญาเจนีวาซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองเชลยสงคราม อีกทั้งไม่ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธี'ทรมาน'นักโทษ ดังเช่น จับนักโทษกดน้ำ หรือขังนักโทษไว้ในห้องเย็น


         


อย่างไรก็ดี ทำเนียบขาวก็ไม่ยอมเปิดเผยว่าจะใช้วิธีใดสอบสวนนักโทษ


         


นอกจากนี้ บุชกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังเปิดทางให้ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองสามารถสอบสวนนักโทษ โดยไม่ต้องเกรงว่าจะถูกนักโทษฟ้องกลับ


         


ทั้งนี้ บุชและลูกพรรครีพับลิกันยังกล่าวโจมตีพรรคเดโมแครต ว่า ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายถล่มสหรัฐฯ ได้เต็มที่


         


ทางด้านเอ็ด มาร์กีย์ ส.ส.เดโมแครตออกมาโต้ว่า กฎหมายฉบับนี้ชี้ช่องให้บางประเทศ คุมขัง สอบสวน หรือพิจารณาคดีทหารอเมริกัน โดยไม่สนใจอนุสัญญาเจนีวา อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองที่มีผลย้อนหลัง ต่อเจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ ที่ก่ออาชญากรรมสงคราม


         


ขณะที่แอนโทนี โรเมโร ผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มสหภาพเสรีภาพของพลเรือนอเมริกัน(เอซีแอลยู) กล่าวว่า ณ ตอนนี้ บุชสามารถขังลืมประชาชนโดยไม่ตั้งข้อหา ละทิ้งมาตรการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดนักโทษ พิจารณาคดีนักโทษโดยยึดหลักฐานจากคำบอกเล่า อนุมัติให้ตัดสินประหารชีวิตผู้คนโดยอาศัยคำให้การที่ไม่มีพยานยืนยัน


         


ทั้งนี้ คาดกันว่า น่าจะมีผู้ออกมายื่นฟ้องกฎหมายฉบับนี้ต่อศาลสูงสุด ดังที่ศาลสูงสุดเคยตัดสินว่าระบบศาลทหารที่กวนตานาโมเป็นสิ่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ อย่างไรก็ดี การพิจารณาเรื่องนี้ของศาล ก็คงจะดำเนินไปหลังการเลือกตั้งกลางเทอมวันที่ 7 พ.ย.นี้ผ่านพ้นไปแล้ว


 


 


 


 


ที่มา :  ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net