Skip to main content
sharethis

ประชาไท - เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2549   ดร.พีระยศ ราฮิมมูลา อดีตนักวิชาการรัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เชี่ยวชาญปัญหาชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเดินทางเยือนมาเลเซียถือเป็นผลบวกอย่างมากในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้นในสายตาของประเทศโลกมุสลิม โดยเฉพาะสมาชิกองค์การการประชุมอิสลามโลก (โอไอซี) เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้จับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นสิทธิเสรีภาพ


 



ดร.พีระยศ กล่าวว่า ขณะนี้มาเลเซียอยู่ในสถานะประธานการจัดการประชุมโอไอซี ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เวทีดังกล่าวประเทศเพื่อนบ้านจะสามารถสร้างความเข้าใจและชี้แจงความร่วมมือในนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบกับรัฐบาลไทยภายใต้กรอบสันติวิธี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังมีมลทินที่จะต้องเร่งชี้แจงต่อสังคมโลกมุสลิมให้กระจ่างชัด 3 ประเด็น คือ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์สลายกลุ่มผู้ชุมนุมหน้า สภ.อ.ตากใบ และกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ


 



"ผมมีข้อมูลจากคณะทูตหลายประเทศว่า เหตุการณ์ทั้งสามเรื่องอยู่ในมือของสมาชิกประเทศมุสลิม หรือโอไอซี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลชุดนี้จะต้องทำให้กระจ่าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเรากำลังตั้งใจเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี" ดร.พีระยศ กล่าว


 



เผยนายกฯ สั่งไม่ฟ้อง 58 ผู้ต้องหาตากใบ


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวในรายการ "คม ชัด ลึก" ทางเนชั่น แชนนัล ซึ่งดำเนินรายการโดย นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ว่า ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ และต้องมีการปฏิบัติให้เห็นจริง จึงเสนอต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีว่า ในกรณีเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งมีผู้ต้องหาทั้งสิ้น 58 ราย ได้ขอให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง โดยนายกรัฐมนตรีมีข้อยุติแล้วว่าจะถอนฟ้องโดยเร็วที่สุด ส่วนกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลที่แล้วมีการตกลงชดใช้เป็นเงิน 42 ล้านบาทเศษ แต่มีการเกี่ยงกันว่าได้ช่วยเหลือไปแล้วจะหักออก จึงยังตกลงกันไม่ได้ ซึ่งกรณีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ตกลงแล้วว่าจะชดใช้ให้ 42 ล้านบาทเศษ โดยไม่หักของเดิม


 



ส่วนเหตุการณ์ตากใบ เกิดเมื่อวันที่ 25 ต.ค.47 มีชาวบ้านนับพันคนมารวมตัวกันที่บริเวณหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว หลังเกิดเหตุกลุ่มโจรปล้นอาวุธปืนลูกซอง จนในที่สุดมีการสลายการชุมนุม และเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมที่จับกุมไว้ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยจับนอนทับซ้อนกันในรถจนมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 78 ศพ และมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมอีก 7 ศพ มีผู้ต้องหา 58 คน ถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันก่อเหตุชุมนุมประท้วง


 



อัยการชี้พร้อมถอนฟ้องหากได้รับคำสั่ง


นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงการถอนฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบว่า เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ได้รับการติดต่อจากรัฐบาล ประกอบกับนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เดินทางไปประเทศออสเตรีย จึงต้องรอให้อัยการสูงสุดกลับมาก่อน ส่วนกรณีที่ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องคดีเกี่ยวกับความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด โดยอ้างว่าเพื่อตั้งต้นกันใหม่ในการให้ความเป็นธรรมนั้น ที่ผ่านมา นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดยุติธรรมและอัยการสูงสุด เคยหารือเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา และการปฏิบัติกับผู้ต้องสงสัย ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น โดยมีข้อสรุปว่าในชั้นสอบสวนควรมี ทนายความ อัยการ หรือบุคคลที่ผู้ต้องหา หรือผู้สงสัยให้ความไว้วางใจนั่งฟังอยู่ด้วย


 



"ทั้งคดีตากใบและคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ได้มีการคุยกันถึงขนาดที่ว่าจะถอนฟ้องหรือไม่ แต่ถ้าหากรัฐบาลสั่งมาให้ถอนฟ้อง โดยเป็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล เช่น เหตุผลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือเพื่อความมั่นคง ทางอัยการก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล เพราะอัยการเป็นตัวแทนรัฐอยู่แล้ว และในอดีตก็เคยมีตัวอย่างเกี่ยวกับการที่อัยการถอนฟ้องคดีเกี่ยวกับความมั่นคงมาแล้ว เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น" นายปรเมศวร์ กล่าว



 


เสนอ"สนธิ"ยกฟ้องคดีไฟใต้ทั้งหมด


นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ เลขานุการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การเริ่มต้นแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธีของรัฐบาลชุดนี้ เป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อความรู้สึกชาวบ้าน ขณะนี้จึงได้รวบรวมคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นเสนอไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผบ.ทบ.เพื่อให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องคดีที่เกี่ยวกับความไม่สงบเพื่อตั้งต้นกันใหม่ ให้ความเป็นธรรมในกระบวนการสืบสวนสอบสวนอย่างชัดเจน



 


นายกิจจา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการรวบรวมคดีของศูนย์ยุติธรรมฯ ในคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางอำเภอของ จ.สงขลา พบว่ามีคดีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง การก่อการร้ายและคดีที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบ จำนวน 78 คดี อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลแยกตามจังหวัด ดังนี้ ปัตตานี 23 คดี ยะลา 17 คดี นราธิวาส 14 คดี สงขลา 20 คดี และกรุงเทพฯ 4 คดี



คดีที่ประชาชนดำเนินคดีต่อหน่วยงานรัฐ ด้วยสาเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 6 คดี คดีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีและอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน 22 คดี ประเภทคดีที่ประชาชนร้องเรียนขอความเป็นธรรม ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และร้องขอให้ทนายความของศูนย์เข้าไปช่วยเหลือ 23 คดี ประเภทคดีที่ประชาชนร้องเรียนขอความเป็นธรรม กรณีบุคคลในครอบครัวสูญหาย 14 ราย ประเภทคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพ 27 คดี ทั้งนี้ จาก 78 คดีที่ศูนย์รับผิดชอบและดำเนินการในชั้นศาล มี 7 คดีที่ศาลชั้นต้นพิจารณายกฟ้อง โดยอยู่ในชั้นอุทธรณ์ แยกเป็นคดีศาลจังหวัดปัตตานี 3 คดี และศาลจังหวัดยะลา 4 คดี



 


เมื่อพิจารณาโดยแยกจำนวนบุคคล พบว่า ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสิ้น 390 คน และมีประชาชนที่ร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์นิติธรรมฯ จำนวน 117 คน(เรื่อง)


 



นายจรัญ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้สังคมเรียกร้องให้เข้ามาคลี่คลายคดีสำคัญของบ้านเมืองที่ค้างอยู่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คือ คดีอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งประเทศไทยตกเป็นจำเลยในเวทีโลก และถูกตั้งข้อรังเกียจว่าเป็นประเทศป่าเถื่อนมานานนับปี ดังนั้น จึงต้องทำความจริงให้ปรากฏต่อประชาชนคนไทยและชาวโลกว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไร คนที่ทำความผิดต้องออกมารับผิดชอบโดยเร็วที่สุด



 


นายกฯ ยันต้องลงพื้นที่พูดคุยให้เข้าใจ


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ว่า เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนพอๆ กับเรื่องการเมือง ซึ่งจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมา ก็เห็นว่าเรามีโอกาสในการแก้ปัญหา เพราะมาเลเซียแสดงท่าทีที่ชัดเจน พร้อมให้ความร่วมมือที่จะช่วยเหลือ



"ท่านให้เบอร์โทรศัพท์กับผม ซึ่งเบอร์ที่ท่านจดให้ผมก็ยังอยู่ในกระเป๋าเสื้อ และผมก็จดเบอร์มือถือของผมให้ท่านไปด้วย ถือว่าเป็นความปรารถนาดีของท่านที่แสดงออกมาชัดเจนว่า มีเรื่องอะไรก็สามารถยกหูโทรศัพท์บอกกันได้ ก็เป็นความประทับใจในความเป็นกันเอง และความเอื้อเฟื้อของนายกฯ มาเลเซีย ที่ต้องการร่วมมือกับเราจริงจัง" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว



 


พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวอีกว่า จะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี แต่แน่นอนว่ามีคนที่นิยมความรุนแรงอยู่ ทั้งจากฝ่ายภาครัฐ และผู้ที่ต้องการสร้างให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นแนวความคิดเก่าๆ ที่อยากแบ่งแยกดินแดน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจก็อยู่ที่คนส่วนใหญ่ และวิธีที่ง่ายที่สุดไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการปรับความเข้าใจ พูดคุย



 


"ผมและรัฐมนตรีบางคน รวมถึงประธาน คมช.คงต้องทำงานหนักในการลงไปพูดทำความเข้าใจกับคนส่วนใหญ่ที่ยังเกิดความลังเล ไม่มั่นใจว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เราจะพยายามลงไปพูดกับเยาวชน ผู้นำศาสนา เจ้าของโรงเรียนสอนศาสนา เมื่อเกิดความเข้าใจแล้วว่าเรามีเจตนาที่ดีตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานมาให้ เรื่องการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ก็จะทำไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะเมื่อเยาวชนจบการศึกษาแล้วไม่มีอาชีพ หรือรายได้ ก็จะหันไปก่ออาชญากรรม ยาเสพติด ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมือง แต่การแก้ไขปัญหาคงไม่จบสิ้นในระยะเวลาอันสั้น" นายกฯ กล่าว



 


 


         


 


ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net