มาแว้ววว! ประชุม EIA เหมืองเวียงแหง เหตุประชุมนอก อ.เวียงแหง จึงไร้เงากลุ่มต้านเหมือง

ทีมข่าวประชาไทภาคเหนือ

 

ประชุมสัมมนาด้านผลกระทบสังคม-สิ่งแวดล้อม โครงการเหมืองลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ครั้งที่ 2 จัดนอกพื้นที่เวียงแหงจึงไร้เงากลุ่มต้านตามเคย คณะวิจัยยันทำเหมืองหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักวิจัย ยันไม่ใช่มือปืนรับจ้าง กฟผ. ชาวบ้านเสนอทำสัญญากับ กฟผ. ลั่นต้องรับผิดชอบหากเปิดเหมืองแล้วเวียงแหงเสียหาย

 

 

 

ป้ายบอกทางเข้าการจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (SIA) ของโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ณ ห้องเลควิว 1-2 สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก(ลานนา) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่ผ่านมาสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (SIA) ของโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ขึ้น ณ ห้องเลควิว 1-2 สถานพักฟื้นและพักผ่อนกองทัพบก(ลานนา) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้ร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ อ.เวียงแหง ประมาณ 180 คน

 

สำหรับคณะนักวิจัยที่เป็นวิทยากรการประชุมได้แก่ นายธนวิชญ์ ชุลิกาวิทย์ ผอ.สถานบริการวิศวกรรม มช.,รศ.ประหยัด ปานดี อาจารย์พิเศษสาขาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มช., ดร.อมรินทร์ บุญตัน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ มช. และอาจารย์ชาตรี เรืองเดชณรงค์ คณะนิติศาสตร์ มช.

 

ผู้ดำเนินรายการชี้ นักวิจัยเป็นกลางไม่เข้าข้าง กฟผ. เหมืองจะสร้างหรือไม่ขึ้นกับรัฐบาล

นายวิเชียร นุ่นรอด ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน ผู้ดำเนินรายการ กล่าวระหว่างการประชุมว่า มช.เป็นกลางสร้างสรรค์ ไม่เข้าข้าง กฟผ. เป็นแหล่งวิชาการที่ทรงเกียรติ มีความเที่ยงตรงเชื่อถือได้ ถ้ามีความเห็นว่าขาดตกบกพร่องก็สามารถเสนอได้ โดยจะนำไปเสนอกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ส่วนเหมืองจะสร้างหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

 

ผอ.สถานวิศวกรรม มช. ชี้แจงความเป็นมาของการจัดเวที

นายธนวิชญ์ ชุลิกาวิทย์ ผอ.สถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะผู้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหง กล่าวถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการจัดเวทีครั้งนี้ว่า สืบเนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ดำเนินการผลิตถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการนำไปผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 และพบว่าคุณภาพถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะมีคุณภาพต่ำ ทำให้ต้องมีการควบคุมปริมาณสารที่ปนเปื้อนออกสู่อากาศอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยนำถ่านหินที่มีคุณภาพดีซึ่งมีค่ากำมะถันต่ำจากที่อื่นมาผสมกับถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะ

 

"ซึ่งปัจจุบันแหล่งถ่านหินที่มีคุณภาพดีอยู่ในเขตภาคเหนือที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่สามารถนำมาใช้ผสมกับถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะปริมาณสำรองเหลือไม่มาก ทำให้ กฟผ.ต้องหาแหล่งถ่านหินที่มีคุณภาพดีที่มีสารกำมะถันต่ำเพื่อนำมาใช้ผสมกับถ่านหินลิกไนต์ที่เหมืองแม่เมาะเพิ่มเติม ทั้งนี้แหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ เป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์ ดังนั้น กฟผ. จึงได้ศึกษาและสำรวจทางธรณีวิทยาเพื่อประเมินความเหมาะสมด้านฐานการพัฒนาแหล่งถ่านหิน"

 

นำเสนอ สผ. พิจารณา หลังทำอีไอเอแล้วเสร็จ

"ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงได้ขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากมีการพัฒนาเหมืองลิกไนต์เวียงแหง รวมทั้งจัดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง และนำเสนอขอความเห็นชอบต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ต่อไป" นายธนวิชญ์กล่าว

 

ประชุมนอกพื้นที่เวียงแหง อาจหวั่นกลุ่มต้าน

ก่อนหน้านี้สถานบริการวิศวกรรม ได้เคยจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นของประชาชนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครั้งที่ 1 ไปแล้วเมื่อศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2549 ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้านนา ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงความเป็นมาของโครงการ แผนการดำเนินงานศึกษาในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการจัดประชุมทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวจัดขึ้นนอกพื้นที่อำเภอเวียงแหง ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกประท้วงโดยชาวบ้านกลุ่มต่อต้านเหมืองเวียงแหง ซึ่งในพื้นที่ปรากฏว่าชาวบ้าน 98% ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว จากการออกสำรวจเมื่อช่วงต้นปี 2547 โดย ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง

 

เผยกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเหมืองเวียงแหง 3 ด้านหลัก

โดยกรอบการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในโครงการเหมืองลิกไนต์เวียงแหงนั้น ประกอบด้วย 1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติด้านกายภาพ ประกอบด้วย สภาพภูมิประเทศและธรณีวิทยา อุตุนิยมวิทยาและคุณภาพอากาศ เสียง แรงสั่นสะเทือน การปลิวกระเด็นของหิน ทรัพยากรดิน การชะล้างพังทลาย การฟื้นฟูสภาพเหมือง อุทกวิยาและคุณภาพน้ำผิวดิน การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม อุทกธรณีวิทยาและคุณภาพน้ำใต้ดิน 2.ทรัพยากรธรรมชาติด้านชีวภาพ ประกอบด้วยทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรสัตว์ป่า และนิเวศวิทยาทางน้ำ และ 3.การใช้ประโยชน์ของมนุษย์และคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย การใช้ที่ดินและเกษตรกรรม การใช้น้ำ การคมนาคมสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เศรษฐกิจและสังคม มวลชนสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ สาธารณสุข อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณคดี และการท่องเที่ยว

 

ทางโครงการฯ ระบุว่า ในการศึกษาได้เน้นการศึกษาในหัวข้อเหล่านี้เป็นพิเศษ คือ อุทกวิทยาและคุณภาพน้ำใต้ดิน ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การคมนาคม รวมไปถึง การประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน

 

ชี้ถ่านหินเป็นของชาติ จะเอามาใช้ต้องพิจารณารอบคอบ

นายอภิวัตน์ คุณารักษ์ ผอ.สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการศึกษาในครั้งนี้ เราคงทราบดีว่ารัฐมีนโยบายให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชน

 

โดยโครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งของรัฐเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์กับพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช้เพียงแค่ในภูมิภาคภาคเหนือเท่านั้น อย่างไรก็ตามแหล่งถ่านหินลิกไนต์ที่ อ.เวียงแหง ถือเป็นสมบัติของชาติ แต่การที่จะนำมาใช้เราต้องพิจารณาให้รอบคอบทุกด้าน ทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และประการสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราทุกคนล้วนเป็นผู้ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น เช่น การหายใจเข้าออกของคนเราก็เป็นการสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแต่ว่ามันมีความสมดุล ปัญหาจึงไม่เกิด ฉะนั้น จึงมีคำถามว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการหมุนเวียนของสิ่งแวดล้อมของแหล่งถ่านหินที่เราจะนำมาใช้ เราต้องทำให้เกิดความหมุนเวียนระบบนิเวศน์เพื่อความสมดุลซึ่งเป็นหลักในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ชาติต้องการความสมานฉันท์ ขอให้ทุกคนแสดงความเห็นเต็มที่

"การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหา อาจเป็นการเสนอแนะหรือร่วมกันตัดสินใจต่อโครงการ โดยที่การพัฒนานั้นหากขาดการร่วมมือในขึ้นตอนแรกย่อมไปไม่รอด ทุกๆ อย่างต้องมีความสามัคคีกัน เพราะขณะนี้วาระสำคัญของชาติคือการสมัครสมานสามัคคีกัน สมานฉันท์กัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะประเทศเราแตกความสามัคคีกัน ดังนั้นต้องหันหน้าพูดคุยเพื่อให้สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ไม่ใช่ตั้งต้นมาก็ทะเลาะกัน เพื่อนำไปสู้เป้าหมายที่สำคัญสูงสุดคือการร่วมรับผลประโยชน์ จึงอยากขอให้ทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่" นายอภิวัตน์ กล่าว

 

จะทำหรือไม่ทำเหมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักวิจัย ลั่นไม่ใช่มือปืนรับจ้าง กฟผ.

รศ.ประหยัด ปานดี อาจารย์พิเศษสาขาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มช. หนึ่งในคณะผู้วิจัยด้านผลกระทบทางสังคม (SIA) กล่าวว่าเหมืองจะทำหรือไม่ทำไม่ได้อยู่กับคณะผู้วิจัย ไม่ได้อยู่กับท่าน เราไม่ใช่มือปืนรับจ้างทำงานกับ กฟผ. เพื่อเปิดเหมือง ผมไม่เคยพูดกับท่านแบบนั้นเลยเวลาลงพื้นที ผมเพียงแต่นำเสนอข้อมูลตามที่เขากำหนดมาว่าจะศึกษาอย่างไร เป็นอย่างไร

 

นักวิจัยชี้น้ำในลำเหมืองแล้งอยู่แล้วเหตุเพราะโค่นถางป่า แย่งใช้น้ำ

ประชากรเวียงแหงทำการเกษตร ดังนั้นสิ่งที่ท่านเป็นห่วงคือน้ำเพราะต้องใช้ตลอดปี สิ่งที่ชาวบ้านถามตลอดคือ ไม่รู้ว่าเหมืองทำถึงไหน ชาวบ้านจะถามว่าทำเหมืองแล้วน้ำจะหายไปจากลำน้ำแม่แตงไหม จะต้องโยกย้ายหมู่บ้านไหม ขอเรียนว่า พรบ.การทำเหมือง ห้ามขุดเหมือง ตัดเหมืองผ่านหมู่บ้านและแหล่งน้ำ อย่างไรก็ตามสองฝั่งลำน้ำแม่แตงมีการใช้น้ำ ในหน้าแล้งน้ำในแม่แตงก็แห้งเพราะมีการสูบรดกระเทียม แม้จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ 4 แห่ง มีฝายทดน้ำ 14 แห่ง แต่การโค่นถางป่าก็ทำให้แห้งแล้ง

 

ชาวบ้านข้องใจเปิดเหมืองแล้วมีสารพิษใครจะรับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในเวทีประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ยังมีคำถามต่อคณะผู้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น อาทิ ผลกระทบทั้งเรื่องที่ดิน แหล่งน้ำ พื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน

 

นิรันดร จิตตำบล ชาวบ้านอำเภอเวียงแหงถามว่าถ้าเปิดเหมืองจะมีสารพิษ มีกำมะถันออกมาจากการขุดเหมืองหรือไม่ จะมีผลกระทบต่อการเกษตร ต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าเกิดปัญหาตรงนี้จะมีการป้องกันอย่างไรและใครจะรับผิดชอบ อยากให้ตอบให้ชัดเจนที่ผ่านมาไม่มีการตอบคำถามให้เข้าใจ

 

ดร.อมรินทร์ บุญตัน อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ มช. คณะนักวิจัยกล่าวว่า ณ ปัจจุบัน มีการนำดินปกติไปทดสอบการชะละลายว่าเนื้อดินมีโลหะหนักมากน้อยขนาดไหน ดินที่อยู่ในแต่ละชั้นของดินที่จะทำเหมือง มีปริมาณโลหะหนักที่เป็นพิษน้อยมาก จึงคาดการณ์ไว้ว่าขณะที่ทำเหมืองเปิดจะไม่มีสารพิษที่เกิดจากการชะลาย

 

ฝุ่นละอองมีแน่หากขุดเหมือง แต่จะแก้ด้วยการรดน้ำไม่ให้เข้าชุมชน

ในขณะทำเหมืองมีการขุดดินและมีฝุ่น ในฝุ่นของเวียงแหงปัจจุบันมีโลหะหนักมากน้อยขนาดไหน และคาดการณ์ว่าดินไม่มีโลหะหนักเท่าไหร่จะไม่มีโลหะที่เป็นพิษปลิวไปกับฝุ่น บริเวณที่ทำเหมืองคงมีฝุ่น แต่จะมีมาตรการรดน้ำกองดิน กองถ่านไม่ให้ปลิวไปชุมชน เราต้องมีจุดวัดอากาศที่ชุมชนด้วย เพราะเราต้องการเก็บข้อมูลว่าถ้ามีเหมืองจะทำให้เกิดฝุ่นหรือเปล่า

 

ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือกำมะถันตอนนี้ในดินมันยังไม่มี ส่วนในถ่านหินที่เวียงแหงมีซัลเฟอร์น้อยมากและเราขุดเอาไปใช้ที่อื่น ไม่ให้หยุดที่เวียงแหงก็เบาใจได้ เรื่องฝุ่นจะพยายามใช้มาตรการให้มากที่สุดไม่ให้ฝุ่นออกไป

 

ชาวบ้านถามแนวทางการเวนคืน และผลกระทบจากกองดิน

ทองคำ สายผึ้ง ชาวบ้านเวียงแหงถามว่าถ้ามีการเปิดเหมืองในพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่ของเกษตรกรและพื้นที่ป่า จะมีการป้องกัน การเวนคืน และการชดเชยค่าเสียหายอย่างไร รศ.ประหยัด ปานดี กล่าวว่าถ้ามีหลักฐานมีโฉนด จะมีการตกลงว่าต้องการค่าเวนคืนเท่าไหร่ จะมี 3 ฝ่าย คือ อบต. อำเภอ การไฟฟ้า ป่าไม้มาตกลงกัน

 

เฉลิมศักดิ์ จอมน้อยแสง ถามว่าถ้ามีการทำเหมืองขุดดินแล้วดินไหลไปทับพืชผลประชาชน จะรับผิดชอบไหม ดร.อมรินทร์ บุญตัน กล่าวว่าวิธีการทำเหมืองจะบดอัดให้ดี ไม่ให้ถล่มทับพืชผลชาวบ้าน โดยกองเหมืองจะมีขอบเขตของการถม มีร่องระบายน้ำ รอบๆ กองดินด้วย ด้านนายธนวิชญ์ ชุลิกาวิทย์ ผอ.สถานบริการวิศวกรรม มช. กล่าวเพิ่มเติมว่าหากมีการขุดแร่พื้นที่สวนที่อยู่ใกล้กองดินจะถูกกันออกไป โดยใกล้กองดินจะไม่มีที่สวนของประชาชน

 

ชาวบ้านร้องทำสัญญา กฟผ. ก่อนเปิดเหมืองประกันความเสียหาย

นายศรีจันทร์ ประธานชมรมผู้สูงอายุอำเภอเวียงแหง ก่อนจะเปิดเหมือง ชาวเวียงแหงจะทำสัญญากับ กฟผ. ได้หรือไม่ เพื่อประกันการเสียหายด้านการเกษตร อากาศของเวียงแหง ถ้าการไฟฟ้าทำตามที่ มช. ทำผลการศึกษาก็อาจเปิดเหมืองได้ ด้านนายธนวิชญ์ ชุลิกาวิทย์ กล่าวว่าหากมีปัญหา มช.จะช่วยทวงถาม กฟผ. ด้วย เพราะเอกสารวิจัยเป็นของ มช.

 

นักกฎหมายเสนอตั้งกองทุนประกันความเสียหาย เยียวยาชาวบ้านหากเกิดมลภาวะ

ชาตรี เรืองเดชณรงค์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะผู้วิจัยด้านกฎหมายกล่าวว่า การเปิดเหมืองอาจมีความเสียหายอาจเกิดขึ้นแม้ป้องกันเต็มที่แล้ว และในแง่กระบวนการทางกม.ชาวบ้านมีสิทธิฟ้องฐานละเมิด แต่การขึ้นศาลซึ่งยุ่งยาก ในรายงานจึงจะเสนอให้มีกระบวนการ กองทุนประกันความเสี่ยงในแง่ค่าเสียหาย ทั้งในรูปของสัญญา กฟผ. ที่เคยมีกับโรงไฟฟ้าที่อื่น คือถ้ามีผลกระทบกองทุนจะเข้ามาชดเชยความเสียหาย ไม่ต้องขึ้นศาล ในแง่การจัดการควรมีเงินก้อนหนึ่ง

 

ลิกไนต์เป็นของประเทศ แต่อยู่ในพื้นที่คนเวียงแหง ซึ่งควรมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ในเรื่องการบริหารกองทุนประกันความเสี่ยง รายได้ที่จากการขายแร่ คนที่จะเข้ามาอยู่ในกองทุนประกันความเสี่ยง ชาวบ้านควรเข้าไปอยู่ในกองทุนบริหาร มาตรการเยียวยาความเสียหาย

 

ทรัพย์สินเวนคืน ที่ดิน น.ส.3 ที่ดินมีโฉนด จะจ่ายตามราคาประเมิน ในกระบวนการทางกฎหมายต้องเป็นธรรม ถ้าไม่เป็นธรรมชาวบ้านสามารถอุทธรณ์ได้

 

อบต.ถามจะเอาจุดขายไหนไปส่งเสริมการท่องเที่ยว

เจริญ โสมมะนะ อบต.เมืองแหง ถ้าเปิดเหมืองจริง ชาวเวียงแหงจะได้อะไรจากการเปิดเหมือง เรื่องที่ 2 ถ้าจะส่งเสริมการท่องเที่ยว จะขายจุดไหนเป็นการท่องเที่ยว ตอนนี้ที่แม่เมาะมีการท่องเที่ยวจุดเด่นตรงไหน

 

รศ.ประหยัด ปานดี กล่าวว่า อบต.ได้ค่าภาคหลวง เหมือนกับ อบต.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งได้ 70-80 ล้าน งบส่วนนั้นสำหรับลง อบต. 3 แห่งเอาไปพัฒนาอาชีพและพื้นที่ประชาชน เอาไปจ้างจ้างแรงงาน คนมาท่องเที่ยว นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เขาอาจไปดูโบราณสถานก่อนประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ขับรถไปดูเหมืองอย่างเดียวไม่คุ้ม เวียงแหงยังมีสถูปพระนเรศวร และมาลาเบี่ยง อันเป็นผลจากการพัฒนา

 

เยาวชนชี้ ประชุมอีไอเอวันนี้ประเด็นยังไม่เคลียร์

นายเบน อุปละ เยาวชนบ้านกองลม ต.เมืองแหง อ.เวียงแหง ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนคิดว่าข้อมูลผลการศึกษาที่ได้นำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ในวันนี้ ยังไม่ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ทั้งหมด เช่น ข้อมูลป่าเสื่อมโทรมที่ทางคณะศึกษาให้ข้อมูลมานั้น ไม่ทราบว่าเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัดว่าพื้นที่ไหนเป็นป่าเสื่อมโทรม เพราะข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันศึกษาไว้ ตั้งแต่เริ่มมีการเข้ามาสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะเปิดเหมืองถ่านหินลิกไนต์เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านนี้ อีกทั้งข้อมูลพันธุ์ปลาในแม่น้ำที่คณะศึกษาฯ ได้สำรวจ ก็มีจำนวนน้อยกว่าที่ชาวบ้านได้ค้นพบมาก

 

ห่วงผลกระทบแบบแม่เมาะ ชี้นักท่องเที่ยวไม่ได้อยากดูโรงไฟฟ้า-หลุมถ่านหิน

"และแม้การเปิดเหมืองอาจทำให้คนในพื้นที่มีรายได้มากขึ้น แต่ผมว่าการไม่มีเหมืองที่เวียงแหง แต่เราก็สามารถอยู่กันได้แบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำอาชีพเกษตร ทำไร่ ทำนา ไม่ต้องเพิ่งพาเทคโนโลยีมากนั และผมเป็นห่วงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่เหมืองแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยเฉพาะเรื่องสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ทางคณะศึกษาฯ บอกว่ามีซัลเฟอร์ฯ น้อยนั้นน้อยอย่างไร ต้องทำการทดลองให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย"

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าคณะผู้วิจัยเสนอว่าถ้ามีการเปิดเหมืองแล้วจะมีนักท่องเที่ยวเยอะ นายเบนกล่าวว่าทุกวันนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาก เวียงแหงมีแต่ทุ่งนา และคิดว่าคนคงไม่อยากดูโรงไฟไฟฟ้า และหลุมที่เกิดจากการขุดถ่านหิน" นายเบนกล่าวในที่สุด

 

เผยที่มาโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง

อนึ่ง สำหรับโครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหงนั้น เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เสนอแนวทางการพัฒนาแหล่งถ่านหินในประเทศ โดยให้ กฟผ.จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาแหล่งถ่านหินอำเภอเวียงแหง ซึ่งหากได้รายงานผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วและได้รับการอนุมัติ กฟผ.จะนำเสนอ ครม.เพื่อกันพื้นที่แหล่งถ่านหินเวียงแหง ให้ กฟผ.เข้าไปพัฒนา เพื่อนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล

 

สถานบริการวิศวกรรมได้รับมอบหมายจาก กฟผ. ทำอีไอเอ

และต่อมาสถานบริการวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาเหมืองเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 17.9 ล้านบาท และทำการศึกษาในระยะเวลา 16 เดือน ได้มีพิธีลงนามสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2547 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บางกรวย

 

เผชิญแรงต้านตลอด ชาวบ้านลั่นติดป้ายไม่เอาอีไอเอ แม้แต่ ส.ส.ก็เอาไปหาเสียง

อย่างไรก็ตามคณะผู้วิจัยประสบกับแรงต้านจากคนในพื้นที่มาก ช่วงต้นปี 2547 ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.เวียงแหง ได้ร่วมกันออกแบบสำรวจ ปรากฏว่าชาวบ้าน 98% ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว มีเพียง 2% เท่านั้นที่เห็นด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการคัดค้านและต่อต้านอย่างเต็มตัว กระทั่งทั้ง อ.เวียงแหงขณะนี้มีการติดป้ายคัดค้านการทำเหมืองแทบทุกครัวเรือน จนไม่สามารถทำการศึกษาแล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด

 

นอกจากนี้มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองลิกไนต์เวียงแหงมาโดยตลอด แม้แต่ช่วงเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 2548 ผู้สมัคร ส.ส. ทั้งพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ ต่างก็กันชูนโยบาย "ไม่เอาเหมืองถ่านหิน" โดยมีการนำเทปเสียงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคที่ได้มาเปิดเวทีหาเสียงที่สนามกีฬาเทศบาล จ.เชียงใหม่ และพ.ต.ท.ทักษิณก็พูดชัดเจนว่าจะไม่มีการเปิดเหมืองอย่างแน่นอนเพราะผลกระทบเยอะมาก อย่างไรก็ตามฝ่ายชาวบ้านเองก็ไม่ปักใจเชื่อว่าจะมียกเลิกเหมืองจริง เพราะรัฐบาลทักษิณไม่ยอมประกาศเป็นมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

 

กระทั่งในเดือนกรกฎาคม 2549 และหลังการทำรัฐประหารคือเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ก็ปรากฏการประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นของประชาชนของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการศึกษาผลกระทบด้านสังคม (SIA) ของโครงการพัฒนาเหมืองลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ดังกล่าว.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท